KM แบบ “ตีเข้าไปที่ใจ” กับ KM แบบที่ได้ “ตีพิมพ์”


. . . การสื่อสารที่ได้ผลจะต้อง “ตีเข้าไปที่ใจ” ทำให้ผู้ฟังเข้าใจและมีไฟอยากที่จะทำ ไม่ใช่ไปติดอยู่แค่การได้ “ตีพิมพ์” โดยที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติใดๆ . . .

        ในเวทีภาคีงานวิจัย KM เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ที่ผ่านมา ผมมานึกย้อนดูว่ามีประเด็นหนึ่งที่ผมตั้งใจจะสื่อออกไป แต่ก็ยังทำได้ไม่ชัดเท่าใดนักก็คือ ตอนที่ผมพยายามจะพูดถึงความแตกต่างระหว่าง การคิดค้น กับ การสื่อความ ผมมองว่าประเด็นที่เรา ลปรร. กันในวันนั้นเป็นเรื่องของ การคิดค้น เป็นเรื่องของการวิจัย เช่น จะตั้งโจทย์อย่างไร? . . . โจทย์ใดที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต่อสังคมไทย? . . . และจะมีวิธีตอบโจทย์ต่างๆ ได้อย่างไรบ้าง?

        ในช่วงบ่ายที่ผมดำเนินรายการก็ได้พยายามชี้ช่องให้เห็นว่า ถ้าเราไม่วิจัย ไม่คิดค้นสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เช่น ไม่รู้ว่า Learning Culture ของข้าราชการไทยนั้นเป็นอย่างไร . . . ไม่รู้ว่า KM แบบไหนจึงจะเหมาะกับส่วนราชการไทย ถ้าเราไม่มีการวิจัย Model ที่เหมาะสมส่งให้กับ กพร. เราก็ไม่ควรต่อว่า กพร. ว่า ทำไมจึงใช้ KM Model ที่ยุ่งยาก ไม่เหมาะสม ผมถือว่าสิ่งนี้เป็นความรับผิดชอบของภาคการศึกษาที่จะต้องช่วยกัน ตั้งโจทย์ที่สังคมไทยได้ประโยชน์ ไม่ใช่สักแต่ว่า เร่งผลิตนักศึกษา มุ่งการทำวิจัยแบบ “Fast Food” ให้เสร็จๆ ไปเท่านั้น

        ในตอนที่ผมพูดเรื่อง ภาษา ว่าเป็นเครื่องมือที่ใช้ สื่อความ ที่ทรงพลังแต่ก็มี ข้อจำกัด นั้น ก็เพียงแต่ต้องการบอกนักวิชาการทั้งหลายว่าอย่าไปติดกับ ภาษา มากเกินไป เช่น บางคนอาจจะทนไม่ได้เวลาที่ผมใช้ภาษาที่ง่ายเกินไป เช่นใช้คำว่า หัวปลา เพื่อสื่อให้เห็นถึงความจำเป็นในการเลือกประเด็นความรู้ที่จะมาแชร์กัน หรือใช้คำว่า หางปลา เพื่อเตือนสติว่าถ้าแชร์กันแล้วได้อะไรดีๆ ต้องอย่าลืมเอามาเก็บไว้ เป็นต้น เจตนาการใช้ภาษาของผม (ใน Model ปลาทู) ก็เพื่อสื่อสารให้เกิดความเข้าใจเพื่อให้นำไปใช้ นำไปปฏิบัติได้ ก็แค่นั้นครับ! การสื่อสารที่ได้ผลจะต้อง ตีเข้าไปที่ใจ ทำให้ผู้ฟังเข้าใจและมีไฟอยากที่จะทำ ไม่ใช่ไปติดอยู่แค่การได้ ตีพิมพ์ โดยที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติใดๆ

        ผมไม่เถียงครับว่าถ้างานวิจัยของท่านได้ตีพิมพ์ในวารสารชื่อดังระดับโลกย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าผลงาน การคิดค้น ของท่านนั้น ยิ่งใหญ่ เพียงใด แต่สิ่งที่ผมอยากให้นักวิจัยถามดัวเองก็คือคำถามที่ว่า ...แล้วสังคมไทยได้รับประโยชน์ใดๆ จากการ คิดค้นอันยิ่งใหญ่ ของท่านหรือไม่? ปัจจุบันนี้มีงานวิจัยมากมายที่กลับกลายเป็นสิ่งที่ไร้ค่า ไม่ได้นำออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์แต่อย่างใด รู้ไหมครับว่าเป็นเพราะอะไร? . . . เป็นเพราะนักวิจัยไม่สามารถ สื่อความ ให้คนทั่วไปเข้าใจถึง การคิดค้น อันยิ่งใหญ่ของท่านได้ หรือไม่เช่นนั้นก็อาจเป็นเพราะโจทย์วิจัยที่ท่านตั้งไว้นั้นสูงส่งเกินไป จนสังคมไทยไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ จากงานวิจัยนั้นเลย!!  
หมายเลขบันทึก: 82148เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2007 08:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

ไม่สามารถ สื่อความ” ให้คนทั่วไปเข้าใจถึง “การคิดค้น” 

จริงโดยแท้เลยค่ะอาจารย์...มีหลายครั้งค่ะที่ได้มีโอกาสได้เจอลักษณะอย่างนี้ ยังนึกเสียดายอยู่เลยว่าถ้าอธิบายง่ายๆ น่าจะฟังเข้าใจกว่านี้  บางครั้งคงต้องคิดเสมอว่าจริงๆอย่างจะ "สื่อความ" อะไรให้ผู้รับสารรับ "สื่อ" นั้นจริงๆ

"คิดอย่างปราชญ์ ...พูดอย่างชาวบ้าน"

  • รู้สึกว่า บันทึกนี้จะตีแสกหน้าของ..ใคร หลายๆ คนเลย
  • ...แล้วสังคมไทยได้รับประโยชน์ใดๆ จากการ “คิดค้นอันยิ่งใหญ่” ของท่านหรือไม่? นี่คือคำถาม ที่นักวิจัยต้องคิดก่อนเสมอ
  • อีกคำถามหนึ่งคือ "ทำเพื่อตัวเอง" หรือ "ทำเพื่อสังคม" กันแน่ ขอเป็น ๔๙ : ๕๑ ได้ไหม

การที่ไม่ต้องแปลไทย เป็นไทย อีกรอบหนึ่ง มีความสำคัญอย่างที่อาจารย์อธิบาย พวกเบี้ยน้อยหอยน้อยระดับผมตามนักวิชาการได้กระท่อนกระแท่น ยกตัวอย่างไปซื้อสินค้า ฉลากมันเป็นภาษาต่างด้าวทั้งหมด อ่านไม่ออก ปฏิบัติตามขั้นตอนไม่ได้ แต่หน่วยงานฯเฮงซวยก็ไม่เคยคิดถึงประเด็นนี้ น่าจะออกกฏหมายให้มีการแปลฉลากเป็นภาษาไทยกำกับทุกชนิดสินค้า

สมาคมคุ้มครองผู้บริโภคมันก็ไอ้แค่นั่นแหละ เรื่องสำคัญๆก็ไม่คิดทำ ไม่รู้ว่าใครคุ้มครองใคร หรือไปคุ้มครองอะไร

เรื่องวิชาการแบบไทยๆ สายพันธุ์ไทยต้องการคนอย่างอาจารย์นี่แหละมาตั้งหลักปักโจทย์

  • ไม่อย่างนั้นก็หลงเข้าป่ากู่ไม่กลับ
  • เราจะปรับแก้นักวิชาการสุดกู่ทีที่ยังมีอยู่มาก ให้หันมาวิจัยเรื่องเป็นเรื่องตายของคนไทยได้อย่างไรครับ
  • การเรียงลำดับความสำคีญของเรื่องวิจัยยังไม่ค่อยเห็นใครให้ความสำคัญเท่าที่ควร
  • ยังวิจัยเพื่อไปอวดฝรั่งมังฆ๊อง ไม่วิจัยมาอวดคนไทยด้วยกันเองบ้างเลย
  • ครูบาเขียนได้สะใจจริงๆ ครับ
  • โดยเฉพาะอันสุดท้ายเนี่ย "ยังวิจัยเพื่อไปอวดฝรั่งมังฆ๊อง ไม่วิจัยมาอวดคนไทยด้วยกันเองบ้างเลย"
  • กราบสวัสดีครับท่านอาจารย์
  • ผมคิดว่าเมื่อวันหนึ่งความเดือนร้อนมาใกล้ตัวมากขึ้น งานวิจัยที่จะเกิดขึ้นจะได้นำมาใช้ประโยชน์แน่ครับ ซึ่งมีสองอย่างคือตายก่อนได้ทำวิจัย กับได้งานวิจัยมาช่วยก่อนตายครับ
  • เพราะว่าจำเป็นต้องทำวิจัยเพราะเพื่อป้องกันชีวิตให้ยังอยู่ได้
  • ประเทศไทยเราคงโชคดีเกินไปครับ เรื่องทรัพยากรที่ดี แต่วันหนึ่งเราก็คงเจอปัญหาครับ
  • ผมไม่รู้ว่าเราคิดสั้นเกินไปหรือเปล่าครับ
  • พูดสรุปง่ายๆ คือ คนเราจะรู้สึกตัวเมื่อความหายนะมาถึงครับ อย่างญี่ปุ่นครับ โดนระเบิด โดนสึนามิอยู่ตลอด แผ่นดินไหว งานส่วนใหญ่เกิดครับ
  • หากวันใดประเทศไทยเกิดแผ่นดินแยกอยู่เป็นซักสี่ห้าชิ้นครับ ผมว่าเราจะให้ความสำคัญมากขึ้นแน่นอนครับ
  • กราบขอบพระคุณมากครับ
  • มาร่วมเสริม เรื่องวิชาการแบบไทยๆ สายพันธุ์ไทย
  • และ คนอย่างอาจารย์ อีกคนครับ
  • อ่านแล้วต้องแปลและหันกลับมาคิดเช่นนั้นจริงๆ นะคะ "การตีพิมพ์" และ ตีเข้าไปที่ใจ” สิ่งไหนยากกว่ากัน
  • สวัสดีอีกรอบครับ 
  • งานวิจัยผมว่าอาจจะจำเป็นต้องทำทั้งสองระดับครับ ทั้งในไทยและต่างชาติครับ แต่เป้าหมายคือการนำไปใช้จริงครับ
  • บางครั้งเราต้องตีพิมพ์ต่างชาติก็เพราะเอาไว้อย่าให้ต่างชาติมาเขกหัวเราครับ ไม่งั้นเราก็ซื้อเค้าวันยังค่ำครับ
  • แล้วอีกอย่างที่ผมสังเกตหากงานวิจัยชิ้นใดส่งไปฟอกตัวต่างประเทศมา คนไทยมักจะยอมรับ
  • งานวิจัยแบบบูรณาการจริงๆ ระหว่างรัฐกับเอกชนในประเทศ เกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหนครับ ส่วนใหญ่จะซื้อๆ กันเป็นส่วนใหญ่ครับ
  • ความอัดอั้นของผมในเรื่องงานวิจัยในเมืองไทยได้เขียนไว้เมื่อปีก่อนครับ อ่านได้ที่นี่ครับ
  • ส่วนในไทยก็ต้องศึกษาปัญหาของเราแล้วประยุกต์ใช้ครับ หรือวิ่งไปเรื่องมาตั้งแต่ต้นของปัญหา คงต้องทำกันในหลายๆ ระดับครับ เพราะจากระดับเซลล์ กว่าจะมาเป็นคนได้ ก็มีหลายระบบหลายระดับครับ งานวิจัยก็คงเช่นกันครับ บางชิ้นก็ต้องทำก่อนเพื่อนำทาง เพื่อให้ชิ้นอื่นๆ มาต่อยอด นำไปสู่การใช้จริงครับ ที่สำคัญคือความต่อเนื่องในการทำครับ
  • แล้วนักวิจัยต้องไม่ใช่ถั่วงอกครับ ที่ใครจะมาเปิดไฟส่องตรงไหนแล้วแล้วเอนไปทางนั้น
  • นักวิจัยที่ผมพูดถึงนี้ ไม่ใช่แค่นักวิชาการในมหาวิทยาลัยนะครับ ประชาชน ชาวบ้านก็เป็นนักวิจัยได้ครับ
  • งานวิจัยที่ผมทำอยู่ตอนนี้ ก็ใช่ว่าจะนำไปใช้ประโยชน์ได้เลยครับ แต่งานอดิเรกกลับมีประโยชน์มากกว่าครับ
  • อย่างคอมพิวเตอร์ที่พวกเรานั่งพิมพ์กันอยู่นี่ครับ บนโปรแกรมบราวเซอร์เหล่านี้ครับ ก็มีงานวิจัยอยู่ชั้นล่างๆ เยอะมากครับ อย่างน้อยก็เจ็ดชั้นครับ แต่เรามองมันไม่เห็นครับ
  • ท้ายที่สุดแล้วที่กล่าวมาให้ตีเข้าไปที่การนำไปใช้ประโยชน์เป็นหลักครับ ส่วนการตีพิมพ์ น่าจะเป็นผลพลอยได้ครับ

   การวิจัยหรือการแสวงหาความจริง มาได้จากฐานคิด 2 อย่างครับ

  1. ใช้กิเลสเป็นตัวนำ .. วิจัยเพื่อให้ได้เงินใช้  ได้ชื่อเสียง ได้เลื่อนตำแหน่ง  ได้รู้สึกว่าเหนือคนอื่น ฯลฯ คำอธิบายไม่ต้องมี  ชัดเจนอยู่ในตัวแล้ว  จะเขียนไว้สวยอย่างไร มักจะหาความจริงใจไม่เจอ
  2. ใช้เมตตาเป็นตัวนำ .. เห็นปัญหา ความทุกข์ยาก  ความหายนะ ของเพื่อนมนุษย์ ที่มีอยู่ หรือกำลังจะเกิดขึ้น  ว่าต้องช่วยขจัดปัดเป่า ให้ทุเลาหรือหมดสิ้นไป  จึงตั้งโจทย์เพื่อแสวงหาคำตอบที่เป็นเหตุเป็นผล  เพื่อใช้องค์ความรู้ที่ค้นพบ ไม่ว่าระดับไหน เชิงปริมาณ เชิงคุณภาพ หรือเชิงอะไร ไปจัดการกับปัญหา  ในขั้นของการสื่อสารเผยแพร่ก็ทำด้วยเมตตา ใช้สำนวนภาษาให้คนเข้าใจโดยง่ายและแพร่กระจายไปกว้างไกลที่สุด  ไม่มัวติดยึดกับรูปแบบ  วางมาด  วางท่า ว่าไม่ใช่ระดับพวกข้าแล้วอย่าแหยม .. อ่านไม่รู้เรื่องหรอก  นี่แหละฝีมือ ฯลฯ

แวะเข้ามาทักทาย ...สบายกันดีนะครับ สงสัยเรื่องนี้จะ "โดนใจ" หลายๆ ท่าน พรุ่งนี้มีประเด็นที่ต่อเนื่องกัน แต่ไม่รู้ว่าจะ "หลุดโลก" เกินไปหรือเปล่า

  • อาจารย์ครับ ผมจะพยายามทำให้ได้ทั้งสองอย่างครับ คือการวิจัยที่เกิดประโยชน์แก่สังคมไทยและสามารถตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติได้ครับ
  • ขอยกเว้นงานวิจัยของการเรียนป.เอก นะครับเพราะถ้าไม่ตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติก็จะไม่จบครับ ดังนั้นสัดส่วนจึงเป็นดังนี้
  • การตีพิมพ์ในวารสาร 51  : 49 ประโยชน์สังคมไทย :>

เห็นด้วยกับอาจารย์อย่างยิ่งค่ะ เรื่องการใช้ภาษาในการสื่อความ  ผู้รับสื่อจะต้องดูให้ลึกถึง เจตนาของผู้ที่ใช้ภาษาสื่อสารนั้นด้วย จึงจะเข้าใจถ่องแท้  ทำให้นึกเปรียบเทียบไปถึงเรื่องรัฐธรรมนูญบ้านเรานะคะอาจารย์  เหตุที่ไม่ได้ดูไปที่เจตนารมย์ของคนเขียน ทำให้เกิดการตีความตามตัวอักษรอันวุ่นวาย  (เอ๊ะ เปรียบกันได้หรือเปล่า ชักไม่แน่ใจแล้วค่ะ)

ประเด็นในบันทึกนี้ โดนใจค่ะ  แต่ความเห็นของ อ. Handy ถูกใจมากๆ   การวิจัย มาจาก 2 ฐาน คือ การใช้กิเลสเป็นตัวนำ  และ ใช้เมตตาเป็นตัวนำ ทำให้เห็นภาพอะไรชัดเจนมาก เพียงแค่ใช้ภาษาสื่อสารที่ง่าย และ ตรงกับหลักพุทธธรรมพื้นฐานที่เราคุ้นเคย    

ชอบบทความนี้มากครับ   เวลาคิด  ศึกษา วิจัย  จะลึกลับซับซ้อนก็ไม่เป็นไร  ขอให้เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ ( ต่อคนไทยได้ยิ่งดี )   แต่เวลาสื่อความหรืออธิบายความขอให้คนฟังเข้าใจก็แล้วกัน  เคยแสดงความเห็นประเด็นนี้ไว้ที่นี่ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท