บริจาคไต เสี่ยงไหม


บริจาคไตแล้วจะมีลูกได้หรือไม่ จะดูแลรักษาตัวเองต่อไปอย่างไร

Hiker

ผู้เขียนเพิ่งกลับจากการไปทำบุญที่ศรีลังกาในระหว่างวันที่ 20-27 กุมภาพันธ์ 2550

ขอถือโอกาสกล่าวคำ "อายุบวร (= ขอท่านพึงมีอายุยืน)" และ "อิสตูติ้ (= ขอขอบคุณ)" สำหรับท่านผู้อ่านทุกท่านที่ให้เกียรติอ่านบันทึก และแวะไปเยี่ยมเยียนบล็อก "บ้านสุขภาพ" และ "บ้านสาระ"

เช้าวันทำงานวันแรกก็ได้รับจดหมายด่วน (EMS) จากท่านผู้อ่านท่านหนึ่ง ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2550 ลงชื่อ-นามสกุล หมายเลขโทรศัพท์ และติดรูปถ่ายพร้อม

ผู้เขียนตั้งใจว่า จะไม่ตอบจดหมาย และจะไม่ตอบโทรศัพท์ปัญหาสุขภาพเป็นส่วนตัว(รายบุคคล) เนื่องจากมีภารกิจการงานมาก

การตอบผ่านบล็อกยังเป็นการให้ข้อมูลกับคนหมู่มาก เป็นฐานข้อมูล และเป็นแหล่งให้คนหมู่มากเข้ามาแลกเปลี่ยนข้อมูล ข้อคิด และความเห็นกัน จึงขอตอบผ่านบล็อก "บ้านสุขภาพ" แทน

ท่านผู้อ่านเขียนมาอย่างนี้ครับ…

"ดิฉันเขียนจดหมายมาหาคุณหมอเพราะ ต้องการไตด่วนคะ เลือดกรุ๊ป บี คะ คุณอาของดิฉันท่านรอมา 2 ปีแล้วคะ ทราบอยู่ว่าหาไม่ง่ายนัก แต่ถ้าซื้อ สามารถซื้อได้ที่ใดคะ ถ้าหาไม่ได้ดิฉันต้องบริจาคเอง ถ้าเตรียมมีลูกจะทำอย่างไร และมีผลต่อชีวิตของลูก ดูแลรักษาตัวเองอย่างไร…"

ถึงตรงนี้… ขอกล่าวถึงธรรมชาติของไตคนเราก่อน

อวัยวะสำคัญของคนเรามีอะไหล่สำรองไว้มากกว่าที่เราคิด ตัวอย่าง เช่น ไตคนเรามีกำลังสำรองเผื่อไว้ประมาณ 4 เท่า ฯลฯ

นั่นคือ คนเรามีต้องมีไตอย่างน้อย 1/2 (ครึ่ง) ข้างจึงจะมีชีวิตอยู่ได้ ถ้ามีไต 1 ข้างจะมีชีวิตได้เป็นปกติ ฯลฯ

คนส่วนใหญ่มีไตคนละ 2 ข้าง คนส่วนน้อยมีไต 1 ข้าง บางคนก็มีไตอยู่ผิดที่ เช่น ไตไปอยู่ในส่วนท้องน้อย หรือทรวงอก ฯลฯ

พัฒนาการของไตตอนอยู่ในท้องแม่นั้น… ไตเริ่มพัฒนาเป็นตุ่มเล็กๆ (renal buds) เปรียบคล้ายตุ่มถั่วงอกอยู่ในส่วนท้องน้อย ต่อมาจะเคลื่อนสูงขึ้นไปอยู่ในช่องท้องด้านหลังส่วนบน เปรียบคล้ายต้นถั่วเขียวที่งอกสูงขึ้นไปทางด้านบน

เจ้าตุ่มไตนี่... เวลามันเคลื่อนขึ้นไปด้านบน และเฉออกไปทางด้านข้างเล็กน้อยไม่ได้เคลื่อนไปเปล่าๆ ทว่า... จะเติบโตไปพร้อมกันด้วย เปรียบคล้ายการเติบโตของถั่วงอกทีเดียว

กระบวนการเคลื่อนของไตนี้… ถ้าไตเคลื่อนขึ้นไปน้อยเกินหรือมากเกินจะพบไตอยู่ผิดที่ เช่น ถ้าเคลื่อนขึ้นน้อยเกินอาจพบไตอยู่ในท้องน้อย ฯลฯ

ถ้าตุ่มถั่วงอก หรือตุ่ม "ไต" ข้างใดข้างหนึ่งไม่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นแล้วพัฒนา (เติบโต) ต่อไปไม่สมบูรณ์อาจทำให้มีไต 1 ข้าง หรือมีไต 2 ข้าง ทว่า… ข้างหนึ่งเล็กลีบ หรือฝ่อไปได้

ถ้าเปรียบไตเป็นถั่วงอก… จะเห็นได้ว่า ถั่วเขียวบางเม็ดไม่งอก บางเมล็ดแตกตุ่มแล้วไม่โตต่อ บางเมล็ดโตแต่ลีบหรือฝ่อไป ไตของคนบางคนก็เป็นอย่างนั้น

ถึงตรงนี้… ขอแสดงความยินดีกับท่านผู้อ่านที่มีไตสมบูรณ์ ไม่ว่าจะมีไต 1 ข้างหรือ 2 ข้าง เพราะนับว่า ท่านมีบุญเก่าอุปถัมภ์ ค้ำชู ส่งเสริมให้ร่างกายแข็งแรง และเป็นไปได้ด้วยดี

ข่าวดีสำหรับท่านที่มีไต 2 ข้างคือ ท่านบริจาคไตทั้งที่มีชีวิตอยู่ได้ 1 ข้าง...

ข่าวดีสำหรับท่านที่มีไต 1 ข้างคือ ท่านจะมีสุขภาพ และอายุขัยยืนยาวเท่าๆ กับคนที่มีไต 2 ข้าง

ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ สหรัฐฯ มีเว็บไซต์ที่ให้คำตอบสำหรับผู้บริจาคไตทั้งที่มีชีวิตอยู่ (living kidney donor)

  •     เมื่อไหร่จึงต้องฟอกไตหรือเปลี่ยนไต:
    ส่วนใหญ่แพทย์และทีมสุขภาพ เช่น พยาบาล ฯลฯ จะปรึกษาหารือกัน เพื่อให้คำแนะนำคนไข้โรคไตว่า ควรพิจารณาฟอกไต หรือเปลี่ยนไต เมื่อไตเสื่อมสภาพลงไปประมาณ 90-95%
  •     เสี่ยงแค่ไหน:
    การบริจาคไตทั้งที่มีชีวิตอยู่เสี่ยงน้อยมาก โอกาสตายของผู้บริจาคไต (living kidney donor) จากการผ่าตัดมี 3:10,000 นั่นคือ ถ้ามีผู้บริจาคไต 10,000 คน ผู้บริจาคจะเสียชีวิต 3 คน การข้ามถนนในอเมริกา 1 ครั้งมีอัตราตาย 1 ในล้าน ความเสี่ยงนี้จึงเทียบเท่าการข้ามถนน 300 ครั้ง
  •     ใครบริจาคไตได้:
    คนที่บริจาคไตได้ในประเทศต่างๆ มีกฏเกณฑ์ต่างกัน กฏเกณฑ์ทั่วไปในสหรัฐฯ คือ ต้องทำด้วยความเต็มใจ (willing) และมีสุขภาพดี (healthy) พอ
  •     สุขภาพผู้บริจาค:
    ผู้บริจาคไตทั้งที่มีชีวิตอยู่(ในสหรัฐฯ) ต้องมีอายุอยู่ในช่วง 18-79 ปี มีไต 2 ข้าง ไม่เป็นโรคความดันเลือดสูง มะเร็ง เบาหวาน โรคไต โรคหัวใจ และไม่มีโรคติดเชื้อที่ติดผ่านกระแสเลือด เช่น ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี เอดส์ ฯลฯ (กฏเกณฑ์แต่ละประเทศไม่เหมือนกัน)
  •     ตั้งครรภ์:
    ข้อมูลผู้บริจาคไตสหรัฐฯ พบว่า ผู้บริจาค 87% ไม่ต้องการมีลูกอีก (เช่น มีลูกพอแล้ว ฯลฯ) ผู้บริจาค 12% พยายามมีลูก และประสบความสำเร็จ สรุปคือ การบริจาคไต 1 ข้างไม่เป็นอุปสรรคต่อการตั้งครรภ์ (ท้อง)
  •     สุขภาพหลังบริจาค:
    ข้อมูลปัจจุบันพบว่า ผู้บริจาคไตจะมีสุขภาพดีเท่ากับคนทั่วไป และมีความรู้สึกยินดี ปีติ โสมนัสที่ได้บริจาคไต
    การสำรวจสุขภาพจิตผู้บริจาคสหรัฐฯ พบว่า แม้แต่ผู้บริจาคที่พบปัญหาการผ่าตัดล้มเหลว ซึ่งพบได้น้อย ท่านเหล่านี้ก็ยังกล่าวว่า ดีใจที่ได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว ผู้บริจาคที่ออกอาการลังเล หรือไม่แน่ใจว่า จะดีใจหรือเสียใจที่บริจาคไต 1 ข้างพบได้น้อยมาก
  •     ออกกำลัง:
    ผู้บริจาคไตเล่นกีฬา หรือออกกำลังได้คล้ายกับคนทั่วไป ยกเว้นใน 6 สัปดาห์แรกไม่ควรยกของหนักเกิน 9 กิโลกรัม (20 ปอนด์) และควรออกกำลังด้วยการเดิน
    ผู้บริจาคไตไม่ควรเล่นกีฬาที่มีการกระทบกระแทกกันแรงๆ เช่น มวย รักบี้ ฯลฯ (ตรงนี้ผู้เขียนขอเพิ่มเข้าไป)
  • ปี 2549 คุณแม่ผู้เขียนป่วยด้วยโรคไตวายระยะสุดท้าย(เสียชีวิตไปแล้ว)… ผู้เขียนตั้งใจไว้ว่า ถ้าหมอเจ้าของไข้ขอไตผู้เขียน จะตอบตกลงทันที

    เสียดายที่อาจารย์หมอท่านบอกว่า คุณแม่อายุมากเกิน (81 ปี) และสุขภาพพื้นฐานไม่ดีพอที่จะรับการผ่าตัด เนื่องจากมีโรคหัวใจเสื่อมสภาพจากความดันเลือดสูง

    ถึงตรงนี้ขอระลึกถึงพระคุณของท่านอาจารย์หมอ พยาบาล คลังเลือด ห้องปฏิบัติการ เอกซเรย์ ประชาสัมพันธ์ และงานเปลโรงพยาบาลนครพิงค์ที่กรุณาดูแลคุณแม่อย่างดี เต็มเปี่ยมไปด้วยน้ำใจ…

    ขอกราบขอบพระคุณ ขอบพระคุณ ขอบคุณ และขอบใจทีมงานโรงพยาบาลนครพิงค์... สาธุ สาธุ สาธุ

    ไม่ว่าเราจะบริจาคไตหรือไม่… เราก็ควรใส่ใจ ดูแลสุขภาพไตของเราดังต่อไปนี้…

    •     ดื่มน้ำให้พอ…
      สังเกตให้ปัสสาวะสีเหลืองจาง หรือมองไม่เห็นสี การดื่มน้ำให้มากพอทุกวัน โดยเฉพาะตอนตื่นนอน มีส่วนช่วยป้องกันนิ่วทางเดินปัสสาวะ
    •     ไม่กลั้นปัสสาวะ…
      การกลั้นปัสสาวะเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ โดยเฉพาะในผู้หญิง
    •     ล้างมือ...
      ล้างมือก่อนกินอาหารและดื่มน้ำ… การหยิบจับหนังสือ(มีโลหะหนัก) หรือสารเคมี เช่น ยาย้อมผม(บางชนิดมีตะกั่ว) ฯลฯ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการได้รับโลหะหนัก ซึ่งอาจมีพิษต่อไต
    •     ตรวจเช็ค...
      ตรวจเช็คความดันเลือดและเบาหวาน(โรคมหาอำนาจ)เป็นประจำ เพื่อป้องกันโรคไตเสื่อมสภาพ และไตวาย จะได้รีบรักษาเสียแต่เนิ่นๆ
    •     ควบคุมน้ำหนัก…
      คนที่อ้วนเสี่ยงโรคเบาหวานและความดันเลือดสูงเพิ่มขึ้น ทำให้เสี่ยงต่อโรคไตเสื่อมสภาพ และไตวายมากขึ้นในระยะยาว
    •     ออกกำลัง…
      ออกกำลังเป็นประจำ โดยเฉพาะการออกกำลังแบบแอโรบิค เช่น เดินเร็ว วิ่ง จักรยาน ฯลฯ เพื่อป้องกันโรคอ้วน เบาหวาน และความดันเลือดสูง
    •     ไม่เมา…
      แอลกอฮอล์ (เหล้า เบียร์ ไวน์…) เพิ่มความเสี่ยงต่อการทะเลาะวิวาท และอุบัติเหตุ ซึ่งอาจมีอันตรายต่อไต
    •     ไม่เล่นการพนัน…
      การพนันมักจะนำไปสู่หนี้สิน ทำให้เสี่ยงต่อความเครียดเรื้อรัง และความดันเลือดสูง
    •     ไม่สูบบุหรี่...
      บุหรี่ทำให้เส้นเลือดเสื่อมทั่วร่างกาย รวมทั้งเส้นเลือดไต และเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งอาจทำให้ทางเดินปัสสาวะอุดตันได้
    •     ป้องกันอุบัติเหตุ...
      อุบัติเหตุ โดยเฉพาะอุบัติเหตุจราจร มีส่วนทำอันตรายต่อไต การขับรถถูกกฏจราจร ขับไม่เร็วเกิน ไม่เมาก่อนขับ(หรือขณะขับ) การคาดเข็มขัดนิรภัย(กรณีโดยสารรถ) มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุได้

    ก่อนจบขอแสดงความยินดีกับท่านผู้อ่านทุกท่านที่มีไตดี ขออนุโมทนาในกุศลเจตนาของท่านผู้บริจาคอวัยวะ เช่น ไต เลือด แก้วตา ฯลฯ...

    ขอให้ท่านผู้อ่านทุกท่านมีไตดีไปนานๆ จะได้มีแรง มีกำลังไว้ทำอะไรดีๆ…

        แหล่งที่มา:

    • ขอขอบพระคุณ (thank / courtesy of) > Living kidney donor frequently asked questions. > Transplant center. > University of Maryland Medical Center. > [ Click - Click ] > http://www.umm.edu/transplant/kidney/qanda.html#6 > February 28, 2007.
    • ขอขอบพระคุณ > การบริจาคดวงตา, อวัยวะ, ร่างกายให้สภากาชาดไทย. > [ Click - Click ] > http://www.palungjit.com/board/showthread.php?t=32274 > ๑ มีนาคม ๒๕๕๐.
    • ขอขอบพระคุณ > ศาสตราจารย์สมชาย เอี่ยมอ่อง. > การผ่าตัดเปลี่ยนไต. > [ Click - click ] > ๑ มีนาคม ๒๕๕๐.
    • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ จัดทำ > ๑ มีนาคม ๒๕๕๐ > แก้ไข 10 พฤษภาคม 2550.
หมายเลขบันทึก: 81357เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2007 13:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)
ไชโย คุณหมอกลับมาแล้ว  แอบรออ่านบันทึกทุกวันเลยค่ะ  นั่งนับวันรอเลยนะค่ะแฟนพันธุ์แท้คนนี้  ถึงแม้จะไม่เกี่ยวกับเรื่องที่เขียนก็ตาม แต่เข้ามาดีใจค่ะ 

อาจารย์รวบรวมได้น่าติดตามดีจัง

 

เป็นประโยชน์จริงๆ

ขอบคุณค่ะ

เรียน อ.หมอวัลลภ

  • อ.ไม่อยู่หลายวัน แฟนๆ คิดถึงเยอะเลยครับ
  • เรื่องไตนี้เคยเขียนมาแล้วครั้งหนึ่งแล้ว
  • แต่ครั้งนี้เขียนได้ละเอียดดีมากครับ
  • ขอบคุณมากครับ

ขอขอบคุณอาจารย์ Ranee และท่านผู้อ่านทุกท่าน...

  • ขอขอบคุณที่กรุณาแวะมาเยี่ยมเยียน + ให้กำลังใจอย่างมากๆ เลย
  • ตอนไปศรีลังกาก็คิดถึงพวกเราเหมือนกันครับ... อยากให้ศรีลังกามีชุมชนแบบ Go2know ให้พวกเรามาแลกเปลี่ยนอะไรๆ กัน

ขอขอบคุณครับ...

ขอขอบคุณอาจารย์รวิวรรณและท่านผู้อ่านทุกท่าน...

  • คุณความดีของเรื่องนี้... ขอน้อมระลึกถึงพระคุณครูบาอาจารย์ที่เขียนต้นฉบับจากเว็บไซต์...
    (1). มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์
    (2). เว็บไซต์ Palungjit
    (3). เว็บไซต์ krusu
  • (อ้างไว้ใน "แหล่งที่มา")

ขออนุโมทนา...

  • ขอกราบอนุโมทนา อนุโมทนากับทุกท่านที่มีส่วนในการบริจาคอวัยวะ ไม่ว่าจะเป็นขณะที่มีชีวิตอยู่ เช่น เลือด ไต ตับ (พ่อแม่แบ่งให้ลูกเล็กๆ ได้) ฯลฯ หรือบริจาคหลังเสียชีวิตแล้ว

ปีกลายนี้...

  • ปี 2549 คุณแม่ไตวาย... ผมตั้งใจว่า ถ้าอาจารย์หมอเจ้าของไข้ขอไตผม จะตอบรับทันที
  • เสียดายที่คุณแม่อายุ 81 ปีเศษ และมีโรคมากมาย เช่น หัวใจเสื่อมสภาพจากความดันเลือดสูง ฯลฯ อาจารย์หมอเจ้าของไข้เลยแนะนำให้ฟอกไตแทน (เสียชีวิตแล้วในปี 2549)

ขอระลึก...

  • ขอระลึกถึงพระคุณอาจารย์หมอ พยาบาล คลังเลือด ห้อง Lab., x-ray, เปล, ประชาสัมพันธ์ และทุกท่านในโรงพยาบาลนครพิงค์
  • ขอระลึกถึงพระคุณของท่านผู้บริจาคเลือดที่เชียงใหม่ทุกท่านมา ณ ที่นี้ (น้องสาว หลานสาว ลูกของคุณอา และผมก็ได้บริจาคเลือดด้วยเหมือนกัน)

ถ้าผมเป็นท่านผู้เขียนจดหมายมา...

  • ผมคิดว่า จะบริจาคไตให้ญาติครับ

ขอขอบคุณอาจารย์ Beeman และท่านผู้อ่านทุกท่าน...

  • ขอขอบพระคุณที่กรุณาแวะมาเยี่ยมเยียน และให้กำลังใจมาโดยตลอด

เรื่องไต...

  • ครั้งก่อนๆ เขียนจากต้นฉบับที่เกี่ยวข้องกับการ "ขายไต" มุ่งจะชี้ให้เห็นว่า คิวรอผ่าตัดไตทั่วโลกยาวมาก
  • ครั้งนี้มุ่งจะตอบคำถามที่ท่านผู้อ่านถามไป
  • ขอขอบพระคุณต้นฉบับ (ใน "แหล่งที่มา") ซึ่งท่านรวบรวมไว้อย่างดีมาก ผมเพียงแต่คัดมาเล่าสู่กันฟัง

ทราบมาว่า...

  • คนไทยบินไปผ่าตัดเปลี่ยนไตที่เมืองจีนกันปีละหลายร้อยคน
  • ใจผมคิดว่า เมืองไทยน่าจะเปิดใจให้กว้างกว่านี้ เพราะมีผู้บริจาคจำนวนมากเต็มใจจะบริจาคไต (ไม่จำเป็นต้องเป็นญาติ)
  • การบริจาคอวัยวะเป็นบุญกุศลสำคัญที่จะขัดเกลาความยินดี ยึดติดในร่างกาย..
  • ถ้าทำใจไว้ดี (โยนิโสมนสิการให้เกิดกุศลจิต) และตั้งความปรารถนาเพื่อพระนิพพาน... นี่เป็นอุปบารมีสำคัญทีเดียว

ขอขอบคุณครับ...

  • แล้วคนไตของคนที่ไม่ใช่ญาติสามารถเข้ากับคนไข้ได้ไหมครับ? ต้องตรวจอะไรบ้างครับ

ขอขอบคุณ... คุณ Aj Kae และท่านผู้อ่านทุกท่าน...

  • ไตของคนที่ไม่ใช่ญาติกันมีโอกาสเข้ากันได้ ทว่า... โอกาสมีน้อยกว่าคนที่เป็นญาติกัน

บริจาคอวัยวะ...

  • การบริจาคอวัยวะแบ่งเป็น 3 กลุ่มครับ
  • (1). แก้วตา (cornea) -
  • ผ่าตัดเปลี่ยนได้เลย ไม่ต้องตรวจหาความเข้ากันได้ เพราะไม่มีเลือดไปเลี้ยง อาศัยการซึมซาบอาหารจากน้ำในลูกตา + น้ำตา + อากาศ (ออกซิเจน)
  • (2). เลือด -
  • เลือดมีกลุ่มเลือดย่อยหลายสิบกลุ่ม ทว่า.. กลุ่มที่สำคัญได้แก่ ระบบ ABO และ Rh รวม 2 ชุด
  • (3). อวัยวะอื่นๆ -
  • การตรวจหาหน่วยภูมิต้านทานบนผิวเซลล์ (HLA antigen) มีความสำคัญมากที่สุด รองลงไปเป็นระบบของหมู่เลือด ABO

เท่าที่จำได้...

  • ถ้าเป็นหน่วยภูมิต้านทานบนผิวเซลล์ (HLA) สำหรับบริจาคอวัยวะ...
  • (1). ฝาแฝดเสมือน - มีโอกาสตรงกัน 100%
    (2). ฝาแฝดต่าง หรือพี่น้อง - มีโอกาสตรงกันประมาณ 1/2
    (3). ญาติ - มีโอกาสตรงกันรองลงไป (ข้อ 1-3 นับว่า โอกาสบริจาคกันได้สูงมาก)
    (4). ประชากรทั่วไป - ขึ้นกับแต่ละประเทศว่า มีความหลากหลายทางเชื้อชาติสูงหรือต่ำ ดูเหมือนอเมริกาจะมีโอกาสตรงกัน 1:40,000 ของไทยดูจะเป็น 1:25,000

ทราบมาว่า...

  • ใบขับขี่อเมริกาให้ระบุเลยว่า จะบริจาคอวัยวะหรือไม่ ไทยเราน่าจะนำมาใช้บ้าง
  • เมืองไทยน่าจะยอมให้คนที่ไม่ใช่ญาติกันบริจาคอวัยวะให้กันได้ เพราะเราเป็นเมืองที่มีเมตตากัน มีความเชื่อในเรื่องการทำดี และผลของการทำดี...
  • ขอบพระคุณอาจารย์ครับที่มาแจ้งความกระจ่างในทุก ๆ คำถามเลยครับ (ผมยิ่งขี้สงสัยเรื่องสุขภาพครับ)

ขอขอบคุณ... คุณ Aj Kae และท่านผู้อ่านทุกท่าน

  • ขอขอบคุณที่แวะมาให้กำลังใจ และแลกเปลี่ยนข้อมูลกันครับ

อยากบริจาคไต สุขภาพแข็งแรง ชาย อายุ 31 กรุป B

ลองเมล์มาที่ [email protected] ครับ

ผมบริจาคไตให้แฟนมา 3 ปีแล้วสุขภาพแข็งแรงดีครับ ผมออกกำลังกายโดยการปั่นจักรยานไม่บ่อยนัก

คุณหมอครับถ้าผมจะมาวิ่งได้ไหม โดยเฉลี่ย 3 กิโลเมตร ภายใน 15 นาทีได้ไหมครับ 

สวัสดีค่ะ คุณหมอวัลลภ ดิฉันมีเรืองอยากถามค่ะ ดิฉันอยากบริจาคไตให้กับอา  อยากรู้ดิฉันเป็นหลานแท้ๆจะสามารถบริจาคไตให้กับอาได้ไหมคะ แล้วเปอร์เซ็นที่จะเข้ากันได้มีกี่เปอร์เซ็นคะ? 

ปล.

ดิฉันอายุ 29 ปี ส่วนอา ก็ 40 กว่าๆแล้วค่ะ

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท