ต้นตระกูล "ล่ำซำ" เคยอยู่ที่บางแก้วจริงไหม?


เชื่อมโยงไปจนถึงว่าเกี่ยวข้องกับ ธนาคารกสิกรไทย

     ผมได้รับทราบข้อมูลที่ยังคลำหาข้อเท็จจริงๆได้ไม่ชัดเจนนัก รวมถึงอยากศึกษาร่องรอยประวัติศาสตร์ของคนจีนกลุ่มหนึ่งคือตระกูล "ล่ำซำ" ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมได้รับฟังผ่านการเล่าเรื่องของคนหลายต่อหลายคนในบ้านบางแก้ว อ.บางแก้ว จ.พัทลุง และเชื่อมโยงไปจนถึงว่าเกี่ยวข้องกับ ธนาคารกสิกรไทย ในปัจจุบัน จึงขอฝากประเด็นไว้ที่นี่ก่อน ที่จะพยายามสืบค้น หรือค้นคว้าให้จนได้คำตอบที่สามารถปะติดปะต่อเรื่องราวนี้ให้แจ่มชัดขึ้น คิดว่าจะต้องทำให้ได้ ในเร็ววันนี้

     โดยเรื่องเล่านี้ได้พยายามอธิบายว่าคนในต้นตระกูลนี้ ได้เคยเข้ามาอยู่ในพื้นที่บ้านบางแก้ว แล้วค่อย ๆ ออกไป เพราะถูกรบกวน ถูกเกล้ง ซึ่งทุกวันนี้ผมก็ได้รับรู้ว่ายังมีที่ดินบางส่วนเป็นกรรมสิทธิของคนในตระกูลนี้อยู่ในบริเวณตลาดบางแก้วด้วย ลองดูตามประวัติที่ผมพอจะได้สรุปไว้บ้างแล้ว ในขณะที่เป็นนักวิชาการสาธารณสุขของ สสอ.บางแก้ว ในเอกสารสรปุผลงานประจำปี 2543 โดยขอเอามาตอนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ดังนี้ครับ

     • เดิมพื้นที่อำเภอบางแก้วมีชื่อเรียกว่า “โคกแต้ว” หรือ “เกาะแต้ว” ตามชื่อต้นไม้แต้ว ซึ่งขึ้นอยู่มากมาย และได้เปลี่ยนชื่อเป็น “บางแก้ว” ตามชื่อคลองสายใหญ่ที่ไหลผ่าน วัดตะเขียนบางแก้ว (ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอเขาชัยสน ในปัจจุบัน)

     • บ้านบางแก้ว  ตั้งอยู่ในหมู่ที่   1  และหมู่ที่   6  ตำบล  ท่ามะเดื่อ  อำเภอเขาชัยสน   จังหวัดพัทลุง  ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นสุขาภิบาล  เมื่อปี  พ.ศ. 2499   โดยเอาชื่อของตำบลท่ามะเดื่อเป็นชื่อของสุขาภิบาล  เดิมบริเวณนี้เป็นที่ทุ่งกว้างใหญ่ไม่มีบ้านเรือนผู้คนอาศัยอยู่เลย  นายดิษฐ์  คชวงศ์   เป็นผู้ครอบครองที่ดินไว้เพื่อเลี้ยงวัว   ควาย  สภาพพื้นที่เป็นเนินโคกเล็กน้อยมีต้นไม้แต้วขึ้นอยู่เต็ม   ไม้แต้วเป็นไม้ยืนต้น  เนื้อแข็ง  คล้ายไม้ตะแบกแต่ใบและลำต้นเล็กกว่า  โคนต้นมีหนามเล็กน้อยจากการที่มีต้นไม้แต้วขึ้นอยู่มากนี้เอง  ชาวบ้านจึงเรียกบริเวณนี้ว่า   “โคกแต้ว”

     • เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2541  ทางการรถไฟได้ทำรางรถไฟสายใต้ต่อจากชุมทางหาดใหญ่ผ่านโคกแต้ว  ไปทางทิศเหนือเมื่อ  สร้างทางรถไฟเสร็จแล้วได้จัดสร้างสถานีรถไฟขึ้น  ใช้ชื่อว่า “สถานีรถไฟโคกแต้ว” โดยเอาชื่อโคกแต้วมาเป็นชื่อสถานีรถไฟห่างจากสถานีโคกแต้วไปทางทิศเหนือประมาณ  1.5  กิโลเมตร  มีลำคลองสายใต้ต้นกำเนินจากเทือกเขาบรรทัดทางทิศเหนือเขตอำเภอตะโหมดในปัจจุบันไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ   ผ่านวัดตะเขียนบางแก้ว  ตั้งอยู่ตำบลจองถนน  อำเภอเขาชัยสน  เป็นวัดเก่าแก่และสำคัญวัดหนึ่งของจังหวัดพัทลุง  ต่อมาทางการรถไฟได้ทำการปรับปรุง   สถานีรถไฟโคกแต้วขึ้นใหม่  โดยนิมิตรหมายเอาคลองสายดังกล่าวมาเป็นชื่อของสถานีตั้งแต่  นั้นมาชาวบ้านเรียกสถานีแห่งนี้ว่า  “บางแก้ว”  และในที่สุด  ชื่อโคกแต้วก็เลือนหายไป

     • ปี  พ.ศ.   2471   นายปักจิ่น  แซ่ฉิ่น   เป็นคนอำเภอติ่งอาน มณฑลกวางตุ้ง  ประเทศจีน ได้อพยพครอบครัว และพรรคพวกมาตั้งรกรากอยู่ที่บางแก้วโดยครั้งแรกลี้ภัยการเมืองมาอยู่ที่เกาะปีนังประเทศมาเลเซีย   เนื่องจากการเกิดปฏิวัติขึ้นในประเทศจีนต่อมาได้เดินทางเข้าสู่ประเทศไทยตั้งหลักแหล่งอยู่ที่บ้านดินลานปัจจุบันอยู่ในอำเภอบางกล่ำ  จังหวัดสงขลา  ได้มาเห็นสภาพของพื้นที่บางแก้ว  และนาปะขอเหมาะแก่การทำนา  และเพาะปลูกจึงได้ชักชวนญาติ ๆ และเพื่อนฝูงจากเมืองจีนมาอยู่ที่บางแก้วหลายสิบครอบครัวซึ่งทำให้บางแก้วเกิดเป็นชุมชนเล็ก ๆ ขึ้น

     • ปี พ.ศ. 2479   ชาวจีนบางแก้วได้จัดทำผังเมืองขึ้น   มีถนนสายหลัก  3  สาย  แต่ละสายกว้าง 66  ฟุต มี  6  ซอย  แต่ละซอยกว้าง  50  ฟุต  ที่ดินสำหรับปลูกบ้าน  แต่ละห้องกว้าง  18  ฟุต  ยาว  90 ฟุต  มีโรงพยาบาล  เปิดโรงเรียนจีนให้เด็กได้เรียนหนังสือและคนจีนรุ่นนี้ได้เป็นผู้ริเริ่มสร้างถนนสายบางแก้ว – หาดไข่เต่าซึ่งเป็นถนนสายหลักมีการสร้างโรงสีขนาดใหญ่ที่หน้าสถานีรถไฟบางแก้ว  ส่งเสริมให้มีการปลูกข้าวหัวนาหรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าข้าวพันธุ์บางแก้ว  ซึ่งทำชื่อเสียงให้กับบางแก้วเป็นอย่างมากมีการส่งจำหน่ายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ   นายปักจิ่นจึงได้ขอจดทะเบียน  ตั้งบริษัทเพื่อการค้าข้าว  แต่ต่อมาก็ขายให้กับบุคคลอื่นไป  ของดีที่มีชื่ออีกอย่างในสมัยนั้นคือ  การเลี้ยงไก่พื้นเมืองจนเป็นไก่มันเนื้อนุ่ม  อร่อยถูกปากส่งไปขายถึงหาดใหญ่  ยะลา มาปัจจุบันการเลี้ยงแม้จะไม่แพร่หลายอย่างในอดีต  แต่ก็ยังมีผู้สืบทอดอาชีพนี้อยู่บ้าง

     • “บ้านบางแก้ว” เป็นชุมชนที่มีความเจริญ รุ่งเรืองมาก่อนในยุคที่ประชาชนใช้เส้นทางรถไฟ ในการคมนาคมเป็นหลัก ปรากฎหลักฐานว่าเคยมีโรงสีข้าวขนาดใหญ่ถึง 3 โรง ผลิตข้าวส่งจำหน่ายทั่วไปในภาคใต้จนมีชื่อเสียงเป็นที่นิยมของประชาชนในนามของ “ข้าวบางแก้ว”   และชุมชนก็ได้ขยายขึ้นเรื่อยๆโดยมีการอพยพมาจากบริเวณใกล้เคียง โดยเฉพาะ จากบริเวณวัดตะเขียนบางแก้ว และรอบๆ และเริ่มมีตลาดสดตลาดบางแก้ว ซึ่งจะมีวันนัด 2 วัน (วันที่แม่ค้าจะมาชุมนุมกัน โดยนำสินค้ามาขายมากเป็นพิเศษ) คือวันพุธ และวันเสาร์ของทุกสัปดาห์จนถึงทุกวันนี้

     • ต่อมาสภาพเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่สอง   ได้เปลี่ยนแปลงไป  ชาวจีนที่อาศัยอยู่เดิมได้แยกย้ายกันไปทำมาค้าขายในจังหวัดใกล้เคียงและที่กรุงเทพมหานคร   กอปรกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข  41  สายเพชรเกษมตัดผ่านในพื้นที่ตำบลโคกสัก  ซึ่งมีระยะห่างจากตลาดบางแก้ว  ออกไปประมาณ  10 กิโลเมตร  ประชาชนเปลี่ยนความนิยมจากการเดินทางโดยรถไฟมาใช้บริการรถยนต์มากขึ้นจึงทำให้  สภาพการเปลี่ยนแปลงไป  ตลาดบางแก้วจึงได้เหลือเพียงร่องรอย  ให้เห็นสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

หมายเลขบันทึก: 8033เขียนเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2005 20:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
นี่ถ้าได้แผนที่ หรือภาพประกอบด้วย  ก็แจ่มเลยครับ
 
 
     ผมกำลังปะติดปะต่อเรื่องนี้อยู่ครับ คงมีอีกหลายตอน แล้วจะรีบนำภาพ แผนที่มาประกอบครับ ขอบคุณมากที่ติดตามและให้คำแนะนำไว้
เด็กบางแก้วคนหนึ่ง

อยากร่วมรู้ และจะช่วยค้นหาอีกแรงหนึ่ง ว่าแต่พี่เขียนไว้หลายเรื่องมาก อ่านไม่หมดแน่ วันนี้ ฮิ ๆ

  • รอติดตามอยู่ครับ
  • ได้ยินว่า เจ้าสัว CP เดิมเคยอยู่ที่สงขลา อำเภอสะเดา

ตอนสมัยเด็ก ๆ( เมื่อประมาณ 25 ปี ) ที่แล้ว  แม่ขรียังไม่เจริญ  บางแก้วเจริญมาก  เคยดูหนังกลางแปลง 30 จอ   วงดนตรีลูกทุ่งก็มาแสดงเฉพาะที่บางแก้ว  

แต่ปัจจุบันความเจริญไปอยู่ที่แม่ขรีหมดแล้ว

ผมเคยได้ยินพ่อเล่าให้ฟังเหมือนกันว่าตระกูลล่ำซ่ำ อยู่บางแก้ว  ประมาณว่า หมู่ 9 ปากพล ต่อไปยังเขาชัยสน ทำนองนั้น

น้องจอมยุทธน้อย

     หากเรื่องเล่านี้ยังพอสืบสาวราวเรื่องมาต่อยอดกันไว้ได้ จะยิ่งดีมาก ๆ ขอความกรุณาน้องช่วยนำมาเล่าต่อ ๆ กัน มีใครที่พอจะเล่าได้อีกบ้าง วันหนึ่งเราก็จะได้ Mapping ของอดีตความรุ่งเรืองที่ว่านี้นะครับ

เรื่องนี้ผมรู้มาตั้งนานแล้ว สมัยผมยังเด็กๆนู้น

อ่านมายังไม่เห็นว่าจะเกี่ยวข้องกับต้นตระกูลล่ำซำตรงไหน

หรือว่ายังมีต่ออีกหลายภาคกว่าจะโยงใยถึงกันได้

อยากรู้เกี่ยวกับต้นตระกูล ทำไมไม่ลองสอบถามจากคนในตระกูล

หรือสืบค้นเรื่องราวเกี่ยวกับชาวจีนที่ชื่อ อึ้งยุกหลง อึ้งเหมี่ยวเหงียน

เดิมทีบ้านบางแก้วตลอดลงไปถึงบ้านปากพล เป็นพื้นที่ทำนาของคนจีน ทั้งหมดคนแก่เล่าให้ฟังว่าคนไทยไปแอบดูคนจีนทำนา แล้วเอามาเรียนแบบ เมื่อคนไทยรุกล้ำขายเขต แย่งที่คนจีนทำนาคนจีนจึงอพยพเข้ามาอยู่ในตลาดประกอบการค้า บริเวณพื้นที่บ้านสหกรณ์ปัจจุบัน เป็นโรงนาของคนจีนทั้งหมด มีหลักฐานจากการไถนาของชาวบ้านเจอ ตะปู เก่าๆ มีความยาวมากกว่าคืบ หรือประมาณ 6-8 นิ้ว เมื่อมีการจัดตั้งนิคมสหกรณ์ ขึ้นมาไม่ทราบปีใหนแต่ก็ประมาณว่าก่อน พ.ศ.2500 สมัยนั้นยังมีจอมปลวกขึ้นเต็มไปหมด นิคมสหกรณ์จะเอาพื้นที่ 2 ข้างถนนสายบางแก้ว - หาดไข่เต่า ที่ดินของนิคมสหกรณ์บางแก้วจะเริมจากคลองที่เลยโรงพยาบาลบางแก้วในปัจจุบัน ไปจนถึงควนโหมด แบ่งเป็นแปลงๆ ละ 30 ไร่ จนต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งกิ่งอำเภอบางแก้ว ขึ้น จึงได้มีการนำที่ดินที่เป็นทุ่งสงวนเลี้ยงสัตว์ซึ่งอยู่นอกเขตที่ดินนิคมสหกรณ์ มาสร้างที่ว่าการอำเภอ และวิทยาลัยการอาชีพ แล้วก็จัดสรรที่ดินให้คนที่ถูกยึดที่ดินไปสร้างศูนย์ราชการอำเภอบางแก้ว จึงมีการฟ้องร้องกันว่าที่ดินบริเวณหารเลน ตลอดลงไปถึงปากพล มีการจับจอง มีตราจองและมีการฟ้องร้องกัน ระหว่างกำนันตำบลนาปะขอ กับ บริษัทปากพลจำกัด ซึ่งฟ้องร้องกันน่าจะก่อน ปี 2500 ไม่ทราบผลการตัดสิน แต่คู่กรณีเป็นกำนันในพื้นที่ กับ บริษัทปากพลจำกัด และเจ้าของบริษัท ปากพลแห่งนี้ที่อยู่ในเอกสารคำตัดสินของศาล มีนามสกุล ล่ำซำ บริษัทปากพล จำกัด ประกอบธุรกิจทำนา ซึ่งอาจจะขายข้าวผ่านทางเรือในทะเลสาบสงขลา หลักฐานว่าบริษัทปากพล มีคดีฟ้องร้องกัน ได้มีการขอถ่ายสำเนา มาจากศาลจังหวัดพัทลุง จึ่งน่าเชื่อได้ว่านามสกุลล่ำซำ อาจจะเป็นบริษัทที่ประกอบทำนา มาแต่ดั้งเดิม ต่อมาเมื่อทายาทรุ่นต่อๆ มามีฐานะรำรวยจึงรวมทุน คนตระกูลเดียวกันจัดตั้งธนาคารขึ้นมา ด้วยเหตุที่ว่าได้สร้างฐานะขึ้นมาด้วยการทำนาปลูกข้าว จึงเอาตรารวงข้าว เป็นตราสัญลักษณ์ และชื่อธนาคารว่า กสิกรไทย แต่คนไทยตระกูลล่ำซำ อาจจะไม่ได้ทำธุรกิจเกี่ยวกับข้าวในภาคใต้เท่านั้นอาจจะ มีในภาคกลางด้วยก็ได้ ถ้าหากผู้สนใจจะค้นหาประวัติ สามารถไปขอถ่ายเอกสารการฟ้องร้องจากศาลจังหวัดพัทลุงได้ เพื่อประกอบการศึกษาประวัติศาสตร์ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท