เด็กอ่านไม่ออก


ปัญหาการอ่านหนังสือไม่ออก เป็นปัญหาสำคัญ เพราะการอ่านเป็นหัวใจสำคัญของความรู้ และการแสวงหาความรู้  นักเรียนที่อ่านหนังสือไม่ออกเป็นอุปสรรคต่อการเรียนอย่างมาก เนื่องจากอ่านไม่ออกจึงไม่อยากเรียน ทำให้เกิดการหนีโรงเรียนหรือรังแกเพื่อนเพื่อแสดงความสามารถให้เกิดความยอมรับ 

การแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออก เป็นเรื่องง่ายถ้าเด็กพร้อมที่จะเรียนและให้ความร่วมมือในการฝึกฝน แต่จะไม่มีโอกาสแก้ปัญหานี้ได้เลยถ้าเด็กไม่เรียน  พ่อ-แม่ เป็นผู้ที่ช่วยเหลือลูกได้ดีที่สุดในการแก้ปัญหานี้ เพียงแต่ทดสอบให้ทราบว่าลูกอ่านหนังสือไม่ออกเพราะอะไร  ดังนี้

๑.ให้อ่านพยัญชนะไทย ที่ละตัวจนครบ ๔๔ ตัว  เพื่อสังเกตว่าจำพยัญชนะได้หรือไม่ ถ้าอ่านได้ครบทุกตัว ก็ชี้ให้อ่านโดยไม่เรียง ก.ไก่ ข.ไข่  แต่ข้ามไปข้ามมา หลาย ๆ ตัว เพื่อทดสอบว่า จำได้จริง ไม่ใช่คล่องปาก  ถ้าอ่านได้ครบจำได้จริงทุกตัวก็แสดงว่าปัญหาไม่ได้อยู่ตรงนี้  แต่ถ้าอ่านได้ไม่ครบทุกตัวก็ตรงนี้เลย จุดที่ต้องแก้ไข ต้องให้เด็กจำพยัญชนะให้ได้จึงจะอ่านออก  สำหรับการสอนแบบเร่งรัดหรือสอนเด็กโตควรใช้วิธีให้จำพยัญชนะที่ใช้บ่อยเสียก่อนเพื่อเร่งเวลาไม่ให้เบื่อเสียก่อน

๒.ให้อ่านสระ ทีละเสียงจนครบ ๓๒ เสียง เพื่อทดสอบเช่นเดียวกับพยัญชนะ ถ้าอ่านได้ครบ ก็ชี้ให้อ่านโดยไม่เรียงสระ เช่นกัน ถ้าจำสระได้ทุกเสียง ก็ง่ายเลย เพราะเหลือเพียงการประสมคำ การผันและการสะกด ซึ่งต้องใช้พื้นฐานจากการจำพยัญชนะและสระให้ได้เสียก่อน แต่ถ้าจำสระไม่ได้ก็ต้องให้จำสระได้เช่นเดียวกัน

๓.ให้อ่านคำที่มีการประสมคำ จากพยัญชนะ ๑ ตัวและสระ ๑ เสียง เพื่อทดสอบว่าเด็กสามารถประสมคำเองได้หรือไม่ ตรงนี้พ่อ-แม่ต้องเขียนคำขึ้นมาเอง ทดสอบให้ครบทั้ง ๓๒ เสียง พยัญชนะก็ควรใช้ตัวที่ใช้บ่อยๆ เช่น ด ก ส ว  ร น พ ม ท อ

ถ้าทดสอบทั้ง ๓ ขั้นตอนนี้แล้ว จะพบว่าเด็กที่อ่านไม่ออกส่วนมากจะมีปัญหาตั้งแต่ข้อ ๑ คือจำพยัญชนะไม่ได้ แต่ถ้าต้องการทดสอบข้อ ๒ ต่อไปก็สามารถทำได้เพราะเป็นการจำที่ยังไม่เกี่ยวข้องกัน

การทดสอบข้อ ๑ และการทดสอบข้อ ๒ เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่จำเป็นมากในการวางแผนแก้ปัญหาการอ่านหนังสือไม่ออกให้เด็ก  คนทดสอบต้องบันทึกไว้  ว่าเด็กจำพยัญชนะตัวใดไม่ได้ และจำสระใดไม่ได้  เพื่อใช้ในการสอนและการทดสอบข้อต่อไป

ถ้าทดสอบ ผ่านทั้ง ๓ ข้อ ก็แก้ไขง่ายเลย เพราะทั้ง ๓ ข้อนี้เป็นพื้นฐานที่จำเป็นในการอ่าน ที่เหลือต้องอาศัยพื้นฐานจาก ๓ ข้อนี้ คือ

๔. ให้อ่านคำที่่่มีการผันวรรณยุกต์ เพื่อทดสอบว่าผันรรณยุกต์ได้หรือไม่ เด็กที่ไม่ผ่านขั้นนี้มักเกิดจากผันวรรณยุกต์แล้วเสียงเพี้ยน

๕. ให้อ่านคำที่มีตัวสะกด เพื่อทดสอบการสะกดคำ ซึ่งคำที่นำมาทดสอบควรเป็นคำที่มีพยัญชนะ ๑ ตัว สระ ๑ เสียง ตัวสะกด ๑ ตัว (สระไม่เปลี่ยนรูป ไม่ลดรูป) การอ่านไม่ออกเพราะ สะกดไม่เป็น ก็พบได้มากแต่ถ้าอ่านไม่ออกเพราะเหตุนี้ก็แก้ไขได้ง่าย

๖. ให้อ่านคำที่มีตัวสะกด และสระลดรูป หรือเปลี่ยนรูป งงสุดๆ กันตรงนี้เยอะมาก เด็กที่พออ่านได้หลายคนมาพบคำพวกนี้สะกดแล้ว สะกดอีกยังอ่านไม่ออก

ถ้าใช้หลักการ หรือหลักวิชาการมาตรวจสอบ สิ่งที่นำเสนออาจผิด แต่การสอนเด็กป.๑ และสอนลูกเพื่อนบ้าน พบว่าการอ่านไม่ออกของเด็กมักมีปัญหาดังที่กล่าวมา

 

คำสำคัญ (Tags): #การศึกษา
หมายเลขบันทึก: 80281เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2007 17:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 07:31 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท