การปิดสวนลุมไนท์บาซาร์ และผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ และสังคมในฐานะที่เป็น Public Space


การที่มีพื้นที่ให้คนกลุ่มต่างๆได้รวมตัวกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน ย่อมเป็นการสร้างเครือข่ายและความสัมพันธ์ทางสังคมในคนกลุ่มต่างๆนั้นให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น หรือถ้าพูดเป็นเศรษฐศาสตร์สักหน่อยก็คือ พื้นที่สาธารณะ เป็นตัวกระตุ้นให้เกิด "ทุนทางสังคม" ซึ่งก็คือ ปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนในการทำกิจกรรมเชิงสังคมลดลง เกิดขึ้นได้ -- เนื่องจากกลุ่มต่างๆไม่ต้องเสียต้นทุนในการหาพื้นที่เพื่อรวมตัวกัน -- ทุนทางสังคม ในกลุ่มต่างๆภายในเมืองอาจมีส่วนช่วยในฐานะที่เป็น safety net ของคนกลุ่มนั้น หรือเป็นแหล่งของการพัฒนาศักยภาพ
Public places are focal point of shared identity and concerns. However, they also provide the only mean of mutual access to individuals with otherwise divergent interests, ethnic background and economic status.  (Irwin Press, M. Estellie Smith 1980) (อ้างจาก นีรนุช เรืองกิตติยศยิ่ง 2540)

ผมได้รับการติดต่อจากเพื่อนคนหนึ่งซึ่งเขาทำงานในสื่อสิ่งพิมพ์ฉบับหนึ่ง ว่าอยากจะสัมภาษณ์ผมเกี่ยวกับเรื่อง "การปิดสวนลุมไนท์บาซาร์ และผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ และสังคมในฐานะที่เป็น Public Space" (จริงๆชื่อนี้ผมตั้งเอง) ซึ่งผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่แอบยากและซับซ้อนพอสมควรทีเดียว แต่เมื่อเพื่อนเขาไว้วางใจผมซะขนาดนั้น ก็คงต้องลองดูกัน

ผมลองค้นๆดูเกี่ยวกับความหมายของคำว่า Public Space ใน google และในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว ผมมักพบว่า คำนี้ไปปรากฎอยู่มากในงานของคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา และในช่วงหนึ่งจะปรากฎมากในแขนงสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะในช่วงที่มีข่าวว่า Grammy จะซื้อมติชน ก็จะมีสื่อหลายๆสื่อยกเรื่อง Public Space ขึ้นมาพูดค่อนข้างมาก

คำว่า Public ในทางเศรษฐศาสตร์ ในทางหนึ่งก็มักจะเป็นการกล่าวถึงรัฐ และการดำเนินนโยบายสาธารณะของรัฐ ซึ่งจะปรากฎอยู่ในเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวกับการคลัง หรือ เศรษฐศาสตร์การเมือง แต่อีกส่วนหนึ่งที่เราเรียนกันก็คือ เรื่องเกี่ยวกับ Public Goods ซึ่งอันนี้ก็เรียนรู้กันอยู่ในวิชาหลักเศรษฐศาสตร์

ลักษณะของ Public Goods จะมี 2 ประการ (Pindyck and Rubinsfeld 2005)คือ

1. เป็นสินค้าที่ไม่ต้องแข่งขันกันในการบริโภค (Non-rival goods) (หรือในทางเศรษฐศาสตร์จะบอกว่า ไม่มีต้นทุนเพิ่มเติมในการที่จะให้คนอีกคนหนึ่งบริโภค) -- เช่น ถนนเวลารถไม่ติด จะเห็นว่า ถนนมันสร้างเอาไว้แล้ว และเวลาที่รถไม่ติดนั้น แม้เราจะขับเข้ามาเพิ่มอีกคนนึงก็ไม่ทำให้มีต้นทุนในการให้บริการถนนเพิ่มขึ้น หรือ เวลาเราเปิดทีวีเครื่องหนึ่งไว้ การที่มีคนดูเพิ่มอีกหนึ่งคนก็ไม่ทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น

2. เป็นสินค้าที่ไม่สามารถกีดกันผู้บริโภคคนอื่นได้ (Non-exclusive goods) ซึ่งตรงจุดนี้ ทำให้เกิดปัญหาว่าหากเอกชนผลิตแล้ว จะทำให้ไม่สามารถเก็บเงินจากผู้เข้าใช้ได้ เพราะจะไม่มีใครยินดีจะจ่าย และผู้ผลิตก็ไม่สามารถแยกแยะหรือกีดกันคนที่ไม่ได้จ่ายจากการบริโภคได้

ด้วยเหตุดังกล่าว รัฐจึงมีบทบาทมากในการเข้ามาผลิต Public Goods แทนเอกชน เช่น การสร้างสวนสาธารณะ หรือการจัดให้มีกองกำลังป้องกันประเทศ เป็นต้น

สินค้าบางอย่างอาจมีครบทั้ง 2 คุณสมบัติ บางอย่างอาจมีเพียงบางคุณสมบัติ เช่น การป้องกันประเทศ จะมีครบทั้งสองคุณสมบัติ เพราะแม้จะมีคนเกิดเพิ่มขึ้นมา แต่ก็ไม่ได้ทำให้ต้นทุนในการป้องกันประเทศเพิ่มขึ้น และเราก็ไม่สามารถแยกแยะได้ว่าใครจ่ายภาษีหรือไม่ ถ้าป้องกันประเทศครั้งหนึ่ง ไม่ว่าใครหน้าไหนก็ได้ประโยชน์ -- ถ้าเป็นการใช้ทะเลในการทำประมง  เราก็ไม่สามารถกีดกันไม่ให้ใครเข้ามาทำประมงได้แต่ชาวประมงจะต้องแข่งกันในการจับปลา ถ้าคนแรกจับปลาไปมาก คนต่อมาก็อาจจะจับได้น้อยลง เป็นต้น ....


ในส่วนของ สวนลุมไนท์บาซาร์ ซึ่งจะว่าไปก็เป็นพืนที่ที่เอกชนเช่าจาก สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในการทำกิจการเป็นลักษณะของตลาดนัด คล้ายตลาดนัดจตุจักร และเปิดพื้นที่ให้พ่อค้าแม่ค้าเข้ามาเช้าพื้นที่ขายของ 

พื้นที่ที่พ่อค้าแม่ค้าใช้ค้าขายนั้น จะมองได้ว่า พื้นที่เหล่านั้นเป็น private goods คือ ต้องแข่งกันบริโภค คือ ถ้าเกิดมีคนได้พื้นที่นี้ไปแล้ว คนอื่นก็จะมาตั้งร้านไม่ได้ และ กีดกันได้ คือ คนที่ไม่จ่ายค่าที่หรือติดต่อเอาไว้ก็ไม่สามารถมาเปิดร้านได้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เอกชนมีแรงจูงใจที่จะเข้ามาบริหารจัดการพื้นที่นี้ เพราะสามารถสร้างกำไรได้

แต่ในอีกมุมหนึ่ง สวนลุมไนท์บาซาร์ ก็เป็นสินค้าสาธารณะของประชาชนทั่วไป ทั้งนี้เพราะว่า แม้ว่าเจ้าของจะเป็นเอกชน แต่การเข้ามาใช้พื้นที่ของประชาชน ที่ไม่ใช่พ่อค้าแม่ค้านั้นก็เป็นไปโดยเสรี และการที่จะมีคนหนึ่งคนเดินเข้ามาใช้พื้นที่เพิ่มนั้นก็ไม่ได้ทำให้เจ้าของที่เป็นเอกชนต้องเสียต้นทุนเพิ่มแต่อย่างใด 

จากการมองในลักษณะดังกล่าว คือ มองแยกกลุ่มผู้ใช้พื้นที่เป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มพ่อค้าแม่ค้า และกลุ่มประชาชนคนธรรมดา ก็จะวิเคราะห์ผลออกได้เป็น 2 ส่วนดังนี้

สำหรับกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า ที่เช่าพื้นที่ เปิดร้านอยู่ภายในสวนลุมไนท์บาซาร์นั้น เมื่อสวนลุมไนท์บาซาร์ปิดไป ย่อมทำให้พวกเขาเสียพื้นที่ทำกินแน่นอน ทำให้เสียรายได้ที่เคยได้จากการเปิดร้านในพื้นที่นี้ ซึ่งก็น่าจะเป็นจำนวนเงินที่สูงอยู่มาก เพราะทำเลบริเวณนี้ค่อนข้างเหมาะสมและอยู่ใกล้เส้นทางคมนาคม ผู้ซื้อของเองก็มีความค้นเคย การย้ายไปที่อื่นย่อมต้องมีต้นทุนของการเปลี่ยนสถานที่ ทั้งในเชิงของการขนส่ง ตกแต่งและตั้งร้านใหม่ รวมถึงต้นทุนอื่นๆที่เป็นตัวเงิน และในเชิงของต้นทุนค่าเสียโอกาสที่เคยได้รายได้จากการเปิดร้านที่นี่

อย่างไรก็ดี ผลกระทบนี้ หากจะเทียบกับกรณีที่ กทม.ไล่รื้อแผงขายสินค้าบริเวณ โบ๊เบ๊ แล้ว อาจจะมีความรุนแรงน้อยกว่า เพราะว่า ผู้ค้ากลุ่มในสวนลุมไนท์บาซาร์ อาจไม่ได้มีความผูกพันกับพื้นที่ และไม่ได้ลงหลักปักฐานทั้งชีวิตกับการขายของที่นี่เท่ากับกลุ่มทางโบ๊เบ๊ ...

กรณีการจ่ายเงินชดเชยให้พ่อค้าแม่ค้ามีหรือไม่ และควรจ่ายหรือไม่นั้น ผมเองก็ไม่ทราบเหมือนกัน ต้องดูข้อกฎหมายบางอย่าง แต่ถ้าจะต้องมีการย้ายจริงๆ ก็น่าจะต้องให้เวลาในการปรับตัวพอสมควร เพื่อให้พ่อค้าแม่ค้าเหล่านี้สามารถย้ายที่ไปขายบริเวณอื่นได้โดยไม่กระทบกับชีวิตเขามากนัก


ในส่วนของผลกระทบต่อประชาชนคนธรรมดานั้น อาจต้องลองพินิจพิเคราะห์ กิจกรรมที่ประชาชนเข้ามาทำในพื้นที่สาธารณะนี้ เท่าที่ผมทราบก็คือ บริเวณสวนลุมไนท์บาซาร์ จะประกอบด้วยร้านค้า และร้านอาหารต่างๆ และประชาชนที่เข้ามาในบริเวณนี้ก็เข้ามาเพื่อจับจ่ายใช้สอย ทานข้าว หรืออาจเป็นที่ พักผ่อนหย่อนใจ ของคนกรุงเทพฯ -- ซึ่งก็ใช้ร่วมกันกับทางสวนสาธารณะลุมพินี --รวมถึงพาชาวต่างชาติมาเที่ยว สำหรับหน้าที่ในลักษณะของการเป็นที่รวมตัวของคนได้ หรือ ใช้ในกิจกรรมทางการเมืองนั้น สวนลุมไนท์บาซาร์ไม่ได้โดดเด่น หน้าที่นี้จะไปอยู่ในสวนลุมที่เป็นสวนสาธารณะมากกว่า อย่างเช่นในช่วงที่มีการขับไล่รัฐบาลชุดก่อน

นอกจากนี้สวนลุมไนท์บาซาร์เองยังอาจเป็นที่จัดกิจกรรมต่างๆ ได้ เช่นการแสดง คอนเสิร์ต นิทรรศการ หรือการแข่งขันบางอย่างได้ ซึ่งนอกจากจะมีส่วนช่วยในการทำให้ประชาชนพอใจแล้ว ยังเป็นพื้นที่ที่ทำให้คนกลุ่มต่างๆได้มีกิจกรรมร่วมกันอีกด้วย ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้ส่งผลเกี่ยวกับประเด็นการเมืองภาคประชาชนอย่างชัดเจน แต่การที่มีพื้นที่ให้คนกลุ่มต่างๆได้รวมตัวกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน ย่อมเป็นการสร้างเครือข่ายและความสัมพันธ์ทางสังคมในคนกลุ่มต่างๆนั้นให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น หรือถ้าพูดเป็นเศรษฐศาสตร์สักหน่อยก็คือ พื้นที่สาธารณะ เป็นตัวกระตุ้นให้เกิด "ทุนทางสังคม" ซึ่งก็คือ ปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนในการทำกิจกรรมเชิงสังคมลดลง เกิดขึ้นได้ -- เนื่องจากกลุ่มต่างๆไม่ต้องเสียต้นทุนในการหาพื้นที่เพื่อรวมตัวกัน -- ทุนทางสังคม ในกลุ่มต่างๆภายในเมืองอาจมีส่วนช่วยในฐานะที่เป็น safety net ของคนกลุ่มนั้น หรือเป็นแหล่งของการพัฒนาศักยภาพ

นอกจากนี้เครือข่ายที่เกิดขึ้น อาจจะเป็นที่พึ่งพาทางใจ ตอบสนองความต้องการทางสังคมของคนอีกหลายๆกลุ่ม เช่น กลุ่มเด็กวัยรุ่นที่ต้องการที่พบปะหรือรวมตัวกัน และทำกิจกรรมต่างๆร่วมกัน เป็นต้น

การมีพื้นที่สาธารณะลักษณะนี้จึงมีความสำคัญต่อสวัสดิการของคนเมืองไม่น้อย และในกทม.เอง พื้นที่สาธารณะเหล่านี้ก็มีอยู่ไม่มาก คำถามจึงอยู่ที่ว่า หากมีการปิดสวนลุมไนท์บาซาร์ คนที่เคยใช้ประโยชน์จากพื้นที่นี้จะมีพื้นที่ใดทดแทน ผลกระทบภายนอกทางลบที่อาจเกิดขึ้น เช่น กลุ่มเด็กที่เคยใช้สวนลุมไนท์บาซาร์รวมตัว หันไปหาแหล่งอบายมุขแทนก็อาจจะนำไปสู่ปัญหาสังคมต่างๆตามมา จะจัดการอย่างไร

คำถามเหล่านี้อาจจะไม่ได้เป็นคำถามที่เจ้าของพื้นที่สวนลุมไนท์บาซาร์ จะต้องตอบ เพราะ โจทย์ที่เขาต้องจัดการคงอยู่เพียงเรื่องของความขัดแย้งทางด้านผลประโยชน์ ของเจ้าของกับเอกชนที่รับพื้นที่ไปบริหารจัดการต่อ --- แต่คิดสักหน่อยก็จะดีนะครับ -- คนที่ต้องเข้ามามีส่วนในการดูแล อย่างน้อยก็เข้ามาทำการศึกษาอย่างจริงจังถึงผลกระทบอันอาจจะเกิดขึ้น ต่อคนเมือง มันจะมากหรือน้อยแค่ไหนอย่างไร -- และจะมีมาตรการในการจัดการเรื่องนี้อย่างไร น่าจะเป็น ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร เพราะเรื่องนี้เกี่ยวกับสวัสดิภาพของคนเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

อ้างอิง

นีรนุช เรืองกิตติยศยิ่ง. รูปแบบชีวิตเมืองหลวง : ศึกษาจากสนามหลวงในฐานะที่เป็นพื้นที่สาธารณะของเมือง, วิทยานิพนธ์ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2540

Pindyck,R.S, Rubinsfeld, D.L. Microeconomics. 6th ed. New Jersey USA: Pearson Education Inc.

หมายเลขบันทึก: 80218เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2007 11:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 14:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ตามมาอ่าน
  • มีหลายประเด็นที่น่าศึกษานะครับ
  • ขอบคุณครับผม
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท