คลังแจงงบปี 51 ขาดดุลลดลงเหลือ 1.2 แสนล้าน


คลังแจงงบปี 51

             "สมหมาย" เผยงบปี 51 ขาดดุลลดลงเหลือ 1.2 แสนล้าน รายจ่ายบานตะไท 1.635 ล้านล้าน ส่วนรายได้คาดการณ์เพิ่ม 6.7% เป็น 1.515 ล้านล้าน ยันขาดดุลไม่มากแค่ 1.3% ของจีดีพี ชี้กลัวถูกครหารัฐบาลมือเติบ มั่นใจปีหน้าได้รัฐบาลเลือกตั้งลดปัญหาไม่ลงรอยทางการเมือง-เศรษฐกิจโตได้ 5%                     

              นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2550     ที่ผ่านมา ที่ประชุมร่วม 4 หน่วยงาน คือ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงบประมาณ (สงป.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่มี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้สรุปกรอบตัวเลขงบประมาณปี 2551 เพื่อเตรียมเสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 27 กุมภาพันธ์นี้ โดยรัฐบาลจะยังคงใช้นโยบายงบประมาณแบบขาดดุลในปี 2551 คือ ขาดดุลจำนวน 120,000 ล้านบาท หรือ 1.3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ลดลงจากปี 2550 ที่ขาดดุล 1.7% ของจีดีพี  เนื่องจากได้ประมาณการรายได้สุทธิของรัฐบาลว่าจะอยู่ที่ 1,515,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ที่อยู่ที่ 1,420,000 ล้านบาท 6.7% และประเมินรายจ่ายภาครัฐอยู่ที่ 1,635,000 ล้านบาท     "การจัดทำงบในปี 2551 ได้มีการคาดการณ์จากสมมติฐานที่ว่า จีดีพีที่แท้จริงจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 5% จากปี 2550 อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 3%   เมื่อคิดจีดีพีในนอมินอลเทอมจะอยู่ที่ 8% หรือคิดเป็นเม็ดเงิน 9,078,800 ล้านบาท สาเหตุที่ต้องทำงบขาดดุลต่อเนื่อง ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะถ้าเราคาดการณ์เศรษฐกิจช่วงนี้ไปจนถึงปีหน้าว่า จะโตได้ประมาณนี้ ก็จำเป็นต้องมีงบขาดดุลต่อไป ซึ่ง 1.3% ของจีดีพี ถือว่าน้อย ทั้งนี้ เราพยายามดูแล เพราะไม่อยากให้รัฐบาลชุดนี้ถูกกล่าวหาว่า มือเติบ" นายสมหมาย กล่าว           

             ทั้งนี้ การจัดทำงบประมาณในปี 2551 มีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ ได้แก่ ควบคุมงบขาดดุลให้มีสัดส่วนลดลงจากปีก่อน อันจะเป็นผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมีการจัดสรรงบลงทุนให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 25-25.5% ของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด จากสัดส่วน 24% ในปีก่อนหน้า และควบคุมรายจ่ายประจำให้ขยายตัวในกรอบ  ที่เหมาะสม คือ ให้สัดส่วนต่ำลงจาก 72.5% ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย เป็นเหลือประมาณ 71%   ขณะนี้วงเงินชำระหนี้จะอยู่ที่ประมาณ 11%           

             นายสมหมาย กล่าวว่า สมมติฐานที่ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 5% นั้น ได้พิจารณาจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอก  โดยปัจจัยภายใน คือ เชื่อว่าสถานการณ์ทางการเมืองในปี 2551 จะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น เนื่องจากจะมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง ทำให้ปัญหาความไม่ลงรอยทางการเมืองลดลงไปจนเกือบหมด ส่วนปัจจัยภายนอก ก็เชื่อว่า ทั้งอัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย และราคาน้ำมันจะลดความผันผวนลงเมื่อเทียบกับปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้นักลงทุนต่างชาติอยากมาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น

              นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า ตามปฏิทินการจัดทำงบประมาณปี 2551 หลัง ครม. เห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณ ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์นี้แล้ว จากนั้นจะมีการจัดพิมพ์ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2551 แล้วให้ ครม. เห็นชอบในขั้นสุดท้ายในวันที่ 19 มิถุนายน  จากนั้นจะส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา ซึ่ง สนช. จะพิจารณาวาระแรกประมาณวันที่ 4-5 กรกฎาคมต่อไป

                                                                     ผู้จัดการออนไลน์  ไทยโพสต์ 

                                   โพสต์ทูเดย์  แนวหน้า  ไทยรัฐ   22  กุมภาพันธ์  2550

คำสำคัญ (Tags): #คลัง
หมายเลขบันทึก: 80178เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2007 09:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท