เวทีการเรียนรู้ถ่ายทอดภูมิปัญญา ตามโครงการส่งเสริมศักยภาพการใช้ภูมิปัญญาผู้สูงอายุ


การใช้ประโยชน์จาก "ส่วนเหลือ" ไปเติมใน "ส่วนที่ขาด" ได้อย่างลงตัว

สนุกสนานเสริมปัญญานอกห้องเรียน

            วันนี้มีโอกาสได้อ่านเรื่องราวบางส่วนของศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค   ทำให้นึกย้อนไปถึงความคิดเมื่อห้าปีที่แล้วว่า  ที่จริง บ้านพักคนชรา น่าจะจับมือกับ บ้านอภิบาลเด็ก 

             เพราะนึกถึงภาพที่ว่า  ในขณะที่ผู้สูงวัยโดยเฉพาะวัยหลังเกษียณ มักถูกทอดทิ้งจากลูกหลาน และไม่ค่อยได้เตรียมตนไว้ว่าจะทำอะไรหลังจากอายุ 60 ปี  เริ่มว่างงาน วันวันคิดแต่เรื่องแต่ปางหลัง

             ในขณะที่พ่อแม่หลายๆ คน ก็ไม่ค่อยมีเวลาเลี้ยงดูลูกๆ  ต้องไปฝากเนิสเซอรี่  หรือจ้างเด็กจากศูนย์ฯ มาดูแลเด็กเล็ก

             ถ้าลองจับการ "ขาด" และ "เกิน"  ของเวลา ของคนสองกลุ่ม มาไว้ด้วยกัน จะเป็นอย่างไร

             ผู้สูงวัย ซึ่งมีเวลาพักผ่อนมากมายในตอนนี้  ไม่รู้จะทำอะไรดี  จะรู้สึกเหงาใจ  น่าจะได้ขจัดความเหงา ด้วยความไร้เดียงสาของเด็กๆ  ช่างเป็นจิกซอที่สามารถเติมเต็มให้กันและกันได้อย่างเลิศ  จะเห็นได้ว่า  ความกระช่มกระชวย และ รอยยิ้มที่เปื้อนอยู่บนใบหน้าของคุณปู่คุณย่า มีคุณค่ามหาศาลเกินกว่าจะประเมินราคาได้ หากมีเจ้าหลานตัวเล็กๆ มานัวเนียอยู่ข้างๆ

            เด็กเล็กเอง จะได้รับสัมผัสอันอบอุ่นจากญาติผู้ใหญ่ และเติบโตเป็นเด็กดีในวันข้างหน้า  แทนที่จะได้รับการเลี้ยงดูแบบลวกๆ จากพี่เลี้ยงวัยสาว ซึ่งอาจไม่ชอบเลี้ยงเด็กและยังชอบแสงสีมากกว่า สัมผัสรักมันผิดกัน

            เป็นการใช้ประโยชน์จาก "ส่วนเหลือ" ไปเติมใน "ส่วนที่ขาด" ได้อย่างลงตัว

เรื่องราวจากศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค  

            ทุกวันนี้ นอกจากอยู่กับพ่อแม่แล้ว น้อง ๆ หลายคนมี ผู้สูงวัยอย่างคุณปู่-คุณย่า หรือ คุณตา-คุณยาย เป็นส่วนหนึ่งในครอบครัว ซึ่งเป็นโชคดีมาก เพราะได้รับการบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่คนสมัยนี้ไม่ค่อยรู้จัก แต่ส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสดี ๆ อย่างนี้
 
             ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค  จัดงาน “เวทีการเรียนรู้ถ่ายทอดภูมิปัญญา ตามโครงการส่งเสริมศักยภาพการใช้ภูมิปัญญาผู้สูงอายุ” โดยนำน้อง ๆ ระดับประถมศึกษา อายุระหว่าง 9-12 ขวบ จำนวน 470 คน จากโรงเรียนเขตภาษีเจริญและใกล้เคียง รับการถ่ายทอดความรู้จากคุณตาคุณยาย และยังได้ลงมือลองทำกิจกรรมเองด้วย
 
              คุณตาคุณยายที่ดูแจ่มใส เมื่อได้สัมผัสความสดใสร่าเริงของน้อง ๆ อธิบายการทำสิ่งที่อาจแปลกตาไปจากที่น้อง ๆ เคยเห็น เช่น ดอกไม้ใยแก้วติดเสื้อ, ดอกไม้ติดไฟกะพริบ, ตุ๊กตาจากผ้าใยแก้ว, ดอกไม้จันทน์, กล่องไม้โชว์ติดผนัง, ที่ตักผงจากวัสดุเหลือใช้, กังหันลม, หมวกจากกล่องนม ฯลฯ ทั้งส่วนผสม, ส่วนประกอบต่าง ๆ และวิธีการทำ ก่อนเปิดโอกาสให้น้อง ๆ ลงมือกันเอง 
 
               “น้องฝน” ด.ญ.จุฑามาศ หนุนภักดี อายุ 11 ขวบ  ชั้น ป.5 โรงเรียนวัดนิมมานนรดี ทำกังหันลม เพราะเคยเห็นคุณ
ครูสอนทำที่โรงเรียน แต่ยังไม่เคยทำ ที่นี่คุณตาสอนตั้งแต่ลงมือตัดกระดาษ การพับ การทากาว เมื่อลงมือทำแล้ว  ไม่ยากอย่างที่คิด แต่ต้องระวัง เพราะถ้าทำไม่ดีกังหันไม่หมุน  ทำตรงไหนไม่ได้ก็ถาม” คุณตาใจดีอยากให้มีการจัดมาเรียนนอกสถานที่แบบนี้อีก
 
               ส่วน “น้องผึ้ง” ด.ญ.พร นิภา กัลยาณะปรีชา อายุ 11 ขวบ ชั้น ป.5 โรงเรียนอนุบาลวัดบางบอน  เลือกให้คุณยาย
สอนประ ดิษฐ์ดอกไม้ใยแก้วติดเสื้อ ตั้งแต่การเข้ากลีบดอก การพันด้าย การพันก้าน การติดเข็มกลัด ตรงไหนที่ทำไม่ได้คุณยายก็ทำให้ดู และให้ลองทำ “หนูจะนำดอกไม้กลับไปให้คุณพ่อคุณแม่ดู และจะให้คุณแม่ซื้ออุปกรณ์ให้เพื่อหัดทำเอง  คิดว่าถ้ามีอุปกรณ์หนูคงทำได้”
 
               ทำที่ตักขยะจากวัสดุเหลือใช้ เป็นกิจกรรมที่ “น้องพีท” ด.ช.ชานนท์ พุมาเกรียว ชั้น ป.5 โรงเรียนวัดนิมมานนรดี
เลือกเพราะเห็นว่า ทำเสร็จแล้วสามารถนำกลับไปใช้ได้ และทำเองก็ได้ คุณตาสอนให้เลื่อยกระป๋องพลาสติก  บอกว่าเวลาเลื่อยต้องระวังไม่อย่างนั้นจะโดนมือ ซึ่งคุณตาไม่ดุเลย ค่อย ๆ อธิบาย ถ้ามีโครงการแบบนี้อยากมาอีก  เพราะสนุกได้ความรู้ และลงมือทำจริง ๆ
 
               “น้องแบงค์” ด.ช.ธนบดี อาจอนงค์ อายุ 13 ปี ชั้น ป.6  โรงเรียนศึกษาสมบูรณ์อนุสรณ์ ทำกล่องไม้โชว์ติดฝาผนัง
เพราะเคยเห็นพี่ ๆ ที่บ้านทำตู้ลำโพง จึงสนใจ อยากทำมานานแล้ว ก่อนลงมือทำคุณตาสอนการวัดขนาดของกล่องที่จะทำ และสอนการเลื่อยไม้ จับเลื่อยให้มั่น อย่าให้เลื่อยกระโดดเพราะจะโดนมือ ส่วนการตอกตะปูต้องเลือกให้เหมาะกับไม้ อย่าตอกเร็ว ต้องตอกเน้น ๆ ไม่อย่างนั้นตะปูจะไม่ตรง

              ดูสิ ลงมือปฏิบัติจริง ทำด้วยใจ จากใจถึงใจ แล้ว KM + KM Plus จะไปไหนไกลเล่า....................

คำสำคัญ (Tags): #expression#km-inside#limelight#สคส.
หมายเลขบันทึก: 79908เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2007 17:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท