การเฝ้าระวังและป้องกันการกระทำผิดของเด็กที่มีพฤติกรรมเสี่ยง


ยังคงต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆในสังคมที่จะช่วยกันดูแลเด็กทั้งในระดับครอบครัว ชุมชนและสังคม

               สภาพสังคมปัจจุบันมีปัจจัยที่เอื้อและยั่วยุให้เด็กเสี่ยงต่อการกระทำผิดสูงกว่าสมัยก่อน  ด้วยความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ยังไม่สามารถตามได้เท่าทันกับความล้ำหน้าของวิทยาการทางเทคโนโลยี ขณะที่เด็กตกเป็นเป้าหมายของธุรกิจและสินค้าเหล่านี้  ประกอบกับผู้ปกครองมีเวลาให้ลูกน้อยลง จึงทำให้เกิดปัญหาต่างๆตามมาทั้งอาชญากรรม  และพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย

             การกระทำผิดของเด็ก มีขอบเขตอยู่ 2 นัย  คือ ด้านแรก การตีความตามกฎหมาย  จะหมายถึง เด็กที่กระทำผิดกฎหมายอาญา    ด้านที่สอง การตีความในแง่ของสังคม  หมายถึง เด็กที่มีพฤติกรรมที่ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อสังคมส่วนรวม  ซึ่งรวมถึงพฤติกรรมต่อต้านหรือฝ่าฝืนกฎระเบียบ ประเพณี  ศีลธรรมของสังคม  เด็กกลุ่มนี้ยังไม่ถึงขั้นทำผิดกฎหมายจึงยังไม่มีบทลงโทษตามกฎหมาย  แต่เป็นกลุ่มที่มีโอกาสเสี่ยงที่จะก้าวไปสู่กลุ่มแรก  คือกระทำผิดกฎหมาย หากไม่ได้รับการแก้ไขเสียแต่เนิ่นๆที่ยังเป็นเพียงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเท่านั้น

              ตามที่ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ซึ่งมีเจตนารมย์ที่จะให้การคุ้มครองเด็กที่อายุไม่เกินสิบแปดปี ให้ได้รับการอุปการะเลี้ยงดูอบรมสั่งสอน การพัฒนาให้มีการเจริญเติบโตสมวัยและมีความปลอดภัย  ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่ถูกทอดทิ้ง ขาดไร้ผู้อุปการะ เด็กที่ตกเป็นเหยื่อของสังคม ถูกกระทำทารุณกรรม หรือเด็กที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม มีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการกระทำผิด รวมถึงเด็กนักเรียน นักศึกษา   กฎหมายฉบับนี้มีบทบัญญัติสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเฝ้าระวังและป้องกันการกระทำผิดของเด็กที่มีพฤติกรรมเสี่ยง   ดังที่กำหนดไว้ในมาตรา 44 เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้มีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็กตามมาตรา 24  (ปลัดกระทรวง ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้อำนวยการเขต นายอำเภอ ปลัดอำเภอ ผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ หรือผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) พบเห็นหรือได้รับแจ้งว่ามีเด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำผิด  (เด็กที่ประพฤติตนไม่สมควร เด็กที่ประกอบอาชีพหรือคบหาสมาคมกับบุคคลที่น่าจะชักนำไปในทางกระทำผิดกฎหมายหรือขัดต่อศีลธรรมอันดีหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมหรือสถานที่อันอาจชักนำไปในทางเสียหาย)  ให้สอบถามและดำเนินการหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวเด็ก  ประวัติความเป็นอยู่ และความประพฤติของเด็ก ถ้าเห็นว่าจำเป็นต้องคุ้มครองสวัสดิภาพแก่เด็ก ให้กำหนดมาตรการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กได้ 2 วิธีคือ

          วิธีแรก  สำหรับเด็กที่จำเป็นต้องได้รับการสงเคราะห์  ดังนี้ 

          (1) ให้ความช่วยเหลือและสงเคราะห์แก่เด็กและครอบครัวหรือบุคคลที่อุปการะเลี้ยงดูเด็กเพื่อให้สามารถอุปการะเลี้ยงดูเด็กได้

        (2) มอบเด็กให้อยู่ในความอุปการะของบุคคลที่เหมาะสมและยินยอมรับเด็กไว้อุปการะเลี้ยงดูตามระยะเวลาที่เห็นสมควร แต่ต้องไม่เกินหนึ่งเดือน ในกรณีที่ไม่อาจดำเนินการตาม (1) ได้

        (3) ดำเนินการเพื่อให้เด็กได้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม

        (4) ส่งเด็กเข้ารับการอุปการะในครอบครัวอุปถัมภ์หรือสถานรับเลี้ยงเด็กที่เหมาะสมและยินยอมรับเด็กไว้อุปการะ (โดยได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง)

        (5) ส่งเด็กเข้ารับการอุปการะในสถานแรกรับ  (โดยได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง)

        (6) ส่งเด็กเข้ารับการอุปการะในสถานสงเคราะห์  (โดยได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง)

        (7) ส่งเด็กเข้าศึกษาหรือฝึกหัดอาชีพ หรือส่งเด็กเข้าบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพ ศึกษาหรือฝึกหัดอาชีพในสถานพัฒนาและฟื้นฟู  หรือส่งเด็กศึกษากล่อมเกลาจิตใจโดยใช้หลักศาสนาในวัดหรือสถานที่ทางศาสนาอื่น ที่ยินยอมรับเด็กไว้   (โดยได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง)

        วิธีที่สอง     มอบตัวเด็กให้ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่ยินยอมรับเด็กไปปกครองดูแล และอาจวางข้อกำหนดให้ผู้ปกครองที่รับเด็กไปดูแล ต้องปฏิบัติเพื่อป้องกันมิให้เด็กมีความประพฤติเสียหาย ข้อหนึ่งหรือหลายข้อ ดังนี้     

             1. ระมัดระวังมิให้เด็กเข้าไปในสถานที่หรือท้องที่ใดอันจะจูงใจให้เด็กประพฤติตนไม่สมควร
             2. ระมัดระวังมิให้เด็กออกนอกสถานที่อยู่อาศัยในเวลากลางคืน เว้นแต่มีเหตุจำเป็นหรือไปกับผู้ปกครอง
             3. ระมัดระวังมิให้เด็กคบหาสมาคมกับบุคคลหรือคณะบุคคลที่จะชักนำไปในทางเสื่อมเสีย
             4. ระมัดระวังมิให้เด็กกระทำการใดอันเป็นเหตุให้เด็กประพฤติเสียหาย
             5. จัดให้เด็กได้รับการศึกษาอบรมตามสมควรแก่อายุ สติปัญญาและความสนใจของเด็ก
             6. จัดให้เด็กได้ประกอบอาชีพที่เหมาะสมกับความถนัดและความสนใจของเด็ก
             7. จัดให้เด็กกระทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาตนเองทางด้านคุณธรรม จริยธรรมและบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม
            

           หากผู้ปกครองที่รับเด็กไปดูแลไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด พนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้มีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็กจะต้องรับเด็กกลับไปดูแลตามวิธีแรก

          นอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติในมาตรา 45  ห้ามมิให้เด็กซื้อหรือเสพสุราหรือบุหรี่ หรือเข้าไปในสถานที่เฉพาะเพื่อการจำหน่ายหรือเสพสุราหรือบุหรี่ หากฝ่าฝืนให้พนักงานเจ้าหน้าที่สอบถามเด็กเพื่อทราบข้อมูลเกี่ยวกับเด็กและเชิญผู้ปกครองมาร่วมประชุมปรึกษาหารือ   ว่ากล่าวตักเตือน ให้ทำทัณฑ์บนหรือมีข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับวิธีการและระยะเวลาในการจัดให้เด็กทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์  และอาจวางข้อกำหนดให้ผู้ปกครองต้องปฏิบัติข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อเช่นเดียวกับวิธีที่ 2 ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

           

               จะเห็นได้ว่ากฎหมายฉบับนี้กำหนดมาตรการในเชิงการเฝ้าระวังและป้องกันการกระทำผิดของเด็กที่มีพฤติกรรมเสี่ยงไว้ค่อนข้างรัดกุม  แต่อย่างไรก็ตามยังคงต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆในสังคมที่จะช่วยกันดูแลเด็กทั้งในระดับครอบครัว  ชุมชนและสังคม  ที่มิใช่เพียงการทำตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น  จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน   ****************************    

คำสำคัญ (Tags): #พฤติกรรมเด็ก
หมายเลขบันทึก: 79817เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2007 11:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 15:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะ

* เห็นด้วยค่ะ...การเฝ้าระวังและป้องกันการกระทำผิดของเด็ก .....ต้อง อาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆในสังคมที่จะช่วยกันดูแลเด็กทั้งในระดับครอบครัว ชุมชนและสังคม ที่มิใช่เพียงการทำตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน

สวัสดีค่ะ..ชื่อสามค่ะ คือสามต้องการเนื้อาและข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาสังคมไทยกับกระบวนการยุติธรรมน่ะค่ะ..รบกวนและขอความช่วยเหลือหน่อยน่ะค่ะ

อาจารย์จะจบป.เอกยังค่ะ...

คิดถึงค่ะ

-ด้วยความเคารพยิ่ง-

ศิษย์จูน sw 13

เป็นข้อมูลที่ดีมาก และตัวของข้าพเจ้าเห็นด้วยอย่างยิ่ง

ขอขอบคุณที่ทำข้อมูลนี้ขึ้นมา ข้าพเจ้าได้เอาข้อมูลนี้ไปทำรายงายปํญหาวัยรุ่นด้วยขอบคุณมาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท