ชีวิตจริงของอินเทอร์น : พลังของความหลากหลาย


ถัดมาอีกวัน ดิฉัน ครูเหล่น จันทร์ทิพย์  และ ครูหนึ่ง ศรัณธร ได้มีโอกาสได้ไปร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ “KM Applications : World Bank & Thailand Experience Sharing” ที่โรงแรมเดอะ แกรนด์  ถ.รัชดาภิเษก กรุงเทพฯ 

  

กติกาของการเข้าไปร่วมงานก็คือ ผู้สนใจทุกท่านจะต้องมีประสบการณ์ในการจัดการความรู้ และจะต้องตอบคำถามในทำนองเดียวกันกับการทำ AAR – After Action Review เพื่อสรุปประสบการณ์ในการงานจัดการความรู้ของหน่วยงาน ไปแลกกับที่นั่งที่จะได้เข้าไปฟังประสบการณ์ของ Best Practice(s) ที่มาจากหน่วยงานการจัดการความรู้ของธนาคารโลก และ ประสบการณ์ของนักปฏิบัติจากทุกภาคส่วนที่มีอยู่ในประเทศไทย

  

จะว่าไปแล้วงานนี้ก็คล้ายกับการย่อประสบการณ์ของงานมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติให้เหลือเพียงค่อนวัน (เวลาส่วนใหญ่ของครึ่งวันเช้าเป็นการนำเสนอประสบการณ์ในการจัดการความรู้ของธนาคารโลก) ดังนั้นเรื่องราวต่างๆจึงเข้มข้นมาก เทียบได้กับ ๔๕ วินาทีแรกของการเล่าเรื่องเล่าเร้าพลังเลยทีเดียว

  

สิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ ความต่างกันของฐานคิดระหว่างการจัดการความรู้แบบไทย และเทศ  การจัดการความรู้ของธนาคารโลกมีจุดมุ่งหมายหลักอยู่ที่การเพิ่มคุณค่าให้กับองค์กรเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน ด้วยระบบ และตัวนวัตกรรมเพื่อการแข่งขันในตลาดโลก

  

ในขณะที่การจัดการความรู้แบบไทยๆนั้น ทำการจัดการความรู้ และใช้การจัดการความรู้เข้าไปขับเคลื่อนทุกภาคส่วน ไม่เฉพาะแต่ในภาคของธุรกิจเพื่อการแข่งขันเท่านั้น ดังจะเห็นได้ว่ากลุ่มตัวอย่างที่มานำเสนอประสบการณ์นั้น มีทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน  และภาคประชาสังคม ที่มีเป้าหมายทั้งที่เป็นรายทาง และปลายทาง อยู่ที่การสร้างสุข อันเกิดจากการเคารพในความรู้ที่มีอยู่ในคน และการสร้างสังคมอุดมปัญญาจากจุดที่ทุกคนยืนอยู่  การแข่งขันหากจะมี ก็เป็นการแข่งขันกับตัวเองมากกว่า

  

ประเด็นแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ฝ่ายไทยนำเสนอจึงอยู่ที่การทำความสำเร็จให้ยั่งยืน และการใช้ KM เป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงองค์กร ร่วมกับการใช้เครื่องมืออื่นๆอย่างหลากหลาย และการสร้างสรรค์ลีลาของการจัดการความรู้ที่มีแตกต่าง ที่พบได้ทั้งจากการเจาะลงไปในภาพย่อยเฉพาะหน่วยงาน หรือมองกราดไปในภาพใหญ่

   

สิ่งที่มีคุณค่าที่ได้เรียนรู้และคิดว่าจะนำไปปรับใช้กับงาน คือ การทำให้ผลของการจัดการความรู้เป็นสิ่งที่สัมผัสได้จริง  ตั้งแต่ขั้นของการช่วยให้ทุกคนได้มีประสบการณ์ตรงกับสร้างสุข ที่เกิดขึ้นจากการที่ได้ ลปรร.  สุขที่ได้จากการพัฒนาต่อยอดสิ่งที่ทำอยู่ด้วยความรู้ของคนอื่น ได้เอื้อเฟื้อแบ่งปันในสิ่งที่เรามี  สุขที่ได้ใช้คลังความรู้ที่ทุกคนมีส่วนร่วมสร้าง ร่วมพัฒนา  เกิดการพัฒนากรอบความคิดใหม่ๆ ที่พาไปถึงการเห็นตัวเองว่าเป็นส่วนหนึ่งของระบบ

จากความหลากหลายของการจัดการความรู้ที่ได้จากการฟังเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์  จากหลากหลายบริบทในวันนี้ แสดงให้เห็นถึงปัจจัยความสำเร็จของสิ่งต่างๆเป็นผลที่เกิดขึ้นจากพลังของคนที่ทุ่มเท และพร้อมที่จะเรียนรู้ ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มองเห็นอนาคตร่วมกัน พร้อมที่จะเดินไปด้วยกัน มากกว่าจะเป็นเรื่องของคนเก่ง แต่เป็นเรื่องของความงอกงามที่ไม่มีจุดสิ้นสุด ตราบเท่าทีใจของคนยังเปี่ยมด้วยหวัง และพลังในการเรียนรู้
หมายเลขบันทึก: 79206เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2007 17:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ดิฉันค้นพบพฤติกรรมการใช้บล็อกของปัจเจคบุคคลที่ต่างกันอย่างเกือบสุดขั้วระหว่างไทยกับเทศ ไว้วันหลังจะเขียนให้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ค่ะ

ตามมาขอบคุณครับ

...มีอีกอย่างที่คิดเหมือนกันกับผม นั่นคือ ...เหมือนกับย่องานมหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ มาไว้ในงานนี้ด้วย ในมุมมองของ KM ทั้ง 3 ภาคส่วน และเรื่อง CoPs

 

ขอบคุณทั้งสองท่านที่เข้ามาร่วม ลปรร.และจะรออ่านพฤติกรรมการใช้ blog ของอาจารย์แจนด้วยใจจดจ่อค่ะ
ขอเรียนถามนะครับ  ทำไมจึงใช้คำว่าชีวิตจริงของอินเทอร์น  คำ Intern ที่ผมคุ้นอยู่คือแพทย์ฝึกหัด เลยงง ว่าในฝ่ายการศึกษาหมายถึงอะไรครับ

เรียนคุณหมอสาโรจน์

ที่ดิฉันใช้คำว่าอินเทอร์นนั้น สืบเนื่องมาจากการที่ดิฉันได้เข้าไปฝึกเป็นวิทยากรจัดการความรู้ฝึกหัด (KM Internship Program) กับทาง สคส. อยู่ ๒ เดือนเต็ม ประกอบกับทาง สคส. ก็เรียกกลุ่มพวกเราว่าอินเทอร์น ด้วย

 ดิฉันจึงมีบันทึก "ชีวิตอินเทอร์น" ขณะที่ไปฝึกงานอยู่ที่ สคส. และมีบันทึก "ชีวิตจริงของอินเทอร์น" ที่เขียนถึงการทำงานหลังจากที่จบหลักสูตรฯแล้ว เพื่อที่ทาง สคส. และผู้สนใจจะได้ทราบว่าดิฉันนำความรู้ที่ได้รับระหว่างการเป็นอินเทอร์นไปประยุกต์ใช้ในงานการจัดการความรู้ของโรงเรียนอย่างไรค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท