วัฒนธรรมองค์กร


เมื่อระบบวางมาดี มีวัฒนธรรมองค์กรที่ดี คนทำงานก็สบายใจและใช้ศักยภาพของตนได้เต็มที่

เราไม่รู้ว่าภาคทฤษฎีเขาว่าเรื่อง วัฒนธรรมองค์กร  ไว้อย่างไร   แต่สำหรับคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์   วัฒนธรรมองค์กรมีรากฐานแนวทางปฏิบัติมาจากอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และเรายังมี จิตวิญญาณธรรมศาสตร์  มีอาจารย์ปรีดี  พนมยงค์  มีอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์  เป็นภาพตัวอย่างที่ชัดเจน  ว่าเราควรจะปฏิบัติหน้าที่ของเราอย่างไร

วัฒนธรรมองค์กรที่สำคัญที่สุดของคณะเศรษฐศาสตร์ น่าจะเป็นความซื่อสัตย์  โปร่งใส  ไม่มีสิทธิพิเศษ  โดยยึดกติกาที่ชัดเจน โดยเฉพาะในการบริหารองค์กร ให้ใช้ดุลยพินิจส่วนบุคคลของผู้บริหารให้น้อยที่สุด  และเน้นการมีส่วนร่วมในงานบริหาร  งานสอน และงานบริการสังคม

เมื่อคณะฯมีโครงการพิเศษมากว่า 10  ปี  นักศึกษาประมาณ 1000  คน  ไม่มีใครสักคนที่ผ่านมาด้วยระบบฝาก   แม้แต่ลูกอดีตนายกฯ ลูกหลานรัฐมนตรี   ก็ยังถูกคัดออกโดยระบบเหมือนเด็กคนอื่นๆ   คำขอใดๆถูกเก็บไว้ในลิ้นชักโดยไม่เคยถูกหยิบมาเป็นประเด็นเพื่อพิจารณาให้ปวดหัว   สิ่งสำคัญที่เราถกเถียงกันมากกว่า คือ ความถูกต้องและเป็นธรรมในผลการคัดเลือกสำหรับทุกคน 

การรับบริจาคเป็นการทั่วไป  ก็เป็นสิ่งที่อาจารย์ป๋วยระมัดระวังเป็นพิเศษ  และต้องเลือกว่าจะรับจากใคร เพื่อไม่ให้คณะฯต้องเข้าไปสู่ระบบ ต่างตอบแทน

คุณสมบัติข้อแรกที่ผู้ที่จะได้รับรางวัลใดๆจากคณะฯ จะต้องผ่าน  เช่น  ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์  ก็คือความซื่อสัตย์   และมีความสามารถเป็นที่ปรากฎอย่างแท้จริง   ที่ผ่านมากว่า 50 ปี  เราจึงถวาย / มอบปริญญานี้ให้แก่บุคคลเพียง 3 ท่าน   แม้จะมีหลายคนที่ช่วยเหลือกิจการคณะมาโดยตลอด

ความซื่อสัตย์ของนักศึกษาเป็นสิ่งต้องเน้น   เพราะเขาจะไปเป็นอนาคตของประเทศ  เขาต้องเป็นคนซื่อสัตย์    โทษการทุจริตสมัยอาจารย์ป๋วย คือ ไล่ออก  แต่เดี๋ยวนี้ ยังผ่อนปรนเป็นสอบตก หรือพักการศึกษา

เมื่อระบบวางมาดี มีวัฒนธรรมองค์กรที่ดี  คนทำงานก็สบายใจและใช้ศักยภาพของตนได้เต็มที่ 

ที่น่าลำบากใจ  คือ ผู้ปกครองที่ปกป้องลูกเสมอ   ทั้งผู้ปกครองและเด็กไม่รู้ว่าอะไรคือผิด อะไรคือถูก  การลงโทษของมหาวิทยาลัยกลายเป็นสิ่งรุนแรงเกินกว่าเหตุ (สำหรับการทุจริตที่ผู้ปกครองเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย  แต่สำหรับคณะฯเห็นว่า นี่คือการบ่มเพาะเชื้อที่เป็นอันตราย)   เมื่อถูกพักการศึกษา  ผู้ปกครองก็จับลูกลาออก และส่งลูกไปเรียนต่างประเทศแบบ ฉันไม่ต้องง้อเธอ”  

ที่ต้องคิด  คือ จะส่งผ่านวัฒนธรรมองค์กรสู่อาจารย์รุ่นใหม่  สู่นักศึกษารุ่นใหม่ได้อย่างไร  ภายใต้กระแสวัฒนธรรมสังคมที่บิดเบี้ยวไปมากแล้ว

หมายเลขบันทึก: 78929เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2007 09:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 เมษายน 2012 17:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • ผมว่าจะอ่านเฉยๆแล้วเชียว แต่ก็อดไม่ได้ที่จะชื่นชมองค์กรเช่นนั้น
  • วรรคทอง ๑ "วัฒนธรรมองค์กรที่สำคัญที่สุดของคณะเศรษฐศาสตร์ น่าจะเป็นความซื่อสัตย์  โปร่งใส  ไม่มีสิทธิพิเศษ"
  • วรรคทอง ๒ "นักศึกษาประมาณ 1000  คน  ไม่มีใครสักคนที่ผ่านมาด้วยระบบฝาก   แม้แต่ลูกอดีตนายกฯ ลูกหลานรัฐมนตรี   ก็ยังถูกคัดออกโดยระบบเหมือนเด็กคนอื่นๆ"
  • วรรคทอง ๓ "ความซื่อสัตย์ของนักศึกษาเป็นสิ่งต้องเน้น   เพราะเขาจะไปเป็นอนาคตของประเทศ  เขาต้องเป็นคนซื่อสัตย์    โทษการทุจริตสมัยอาจารย์ป๋วย คือ ไล่ออก"
  • และแล้วลูกของผู้ปกครองที่ปกป้องลูกผู้ไม่ซื่อสัตย์ก็จบปริญญาเอกมาจากต่างประเทศและเข้ามาทำธุรกรรมในประเทศ สร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ คณะเศรษฐศาสตร์จึงเป็นจุดเล็กๆในวงล้อมใหญ่ ก็เป็นไปได้ (ผมคิดมากไปหรือเปล่า)
  • ทุกวันนี้ ผู้ปกครองซื้อเก้าอี้ให้ลูกเรียนตั้งแต่อนุบาลแล้วครับ สืบทอดถึงประถม มัธยมและเข้าสู่อุดมศึกษา แต่ผมก็เชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า คนที่ร้ายอย่างไรเมื่อถึงที่สุดถ้าเขาจะดีเขาก็จะดีได้
  • ผมอยากเรียนในมหาวิทยาลัยเช่นนั้นครับ ถูกก็ว่าไปตามถูก ผิดก็ว่าไปตามผิด และพร้อมจะรับผิดชอบตามกติกาที่กระทำลงไปโดยมิบิดพริ้ว ธรรมศาสตร์ ก่อตั้งมาเพื่อความเป็นธรรมในสังคม
  • อาจารย์ครับ ขอชื่นชมคณะเศรษฐศาสตร์ มธ.ด้วยอีกคนครับ แต่ว่าเราจะทำอย่างไรให้แนวคิดนี้ของ มธ ถ่ายทอดและนำไปปฎิบัติในองค์กรอื่น ๆ ของสังคมด้วย ถ้าทำได้ผมว่าสังคมและประเทศจะดีกว่านี้ครับ
  • ปัจจุบันดูเหมือนว่าความซื่อสัตย์กลายเป็นคุณธรรมสำหรับพระไปแล้วครับ คนทั่วไปมองว่านิด ๆ หน่อย ๆ โกงนิดโกงหน่อยไม่น่าจะเป็นไร อันตรายมากครับ
ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

ขอบคุณข้อคิดเห็นของอาจารย์เอกและ Aj Kae นะคะ 

การสร้างวัฒนธรรมองค์กร  คงต้องการผู้นำ แกนนำที่เข้ามาปฏิรูป และการมีส่วนร่วมมังคะ    ในช่วงที่ดิฉันเข้ามาทำงาน   คนในคณะเศรษฐศาสตร์เองก็ผ่านการถกเถียง พูดคุยกันมากในการสร้างกติกาแต่ละเรื่อง  

ถ้าจะใช้เครื่องมือที่พอจะมีอยู่ตอนนี้ ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่จะไปมีผลบังคับ /จูงใจให้มีการปรับระบบภายในก็คือ  ระบบประกันคุณภาพการศึกษา  

แต่ดิฉันยังไม่เห็นว่า   ระบบนี้จะให้ความสำคัญกับเรื่องการให้สถานศึกษาเป็นตัวอย่างของระบบคุณธรรม   คงระบุกว้างมากๆว่า  ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม  ซึ่งมักจะถูกตีความห่างไปจาก คุณธรรม” 

และหลายๆเรื่องที่เราเห็นว่า  เป็นเรื่องที่เราปฏิบัติดี  ก็ไม่ได้ปรากฎอยู่ในตัวชี้วัด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท