ของขวัญแด่ครูในวันวาเลนไทน์


ความสัมพันธ์ที่วางอยู่บนพื้นฐานการแบ่งปันที่ไม่มุ่งหวังผลตอบแทน ไม่ยัดเยียด แต่สร้างสรรค์ และมีอิสรภาพ ซึ่งผมคิดว่า ความรักแบบนี้มีค่ายิ่ง

ครูยอดคะ วันนี้เห็นเอาดาบ(ไม้) มา ครูไม่ฝึกฟันดาบหรือคะ?” ด.ญ. ยุ้ย วัยเก้าขวบถามหลังชั่วโมงฝึก ไอคิโด ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวแขนงหนึ่งของญี่ปุ่นจบลง ผมยิ้มแล้วตอบว่า ไม่ล่ะ เห็นพวกหนูมา เอาเวลาไปซ้อมกับหนูดีกว่า 

เด็กๆใช้เวลาหลังเลิกเรียนมาฝึกซ้อม

 ทุกๆหนึ่งชั่วโมงในตอนเย็น ผมจะใช้เวลาไปกับการฝึก ไอคิโดที่หอประชุมของโรงเรียนใกล้บ้าน และมักจะมีเด็กเล็กเด็กโตแวะเวียนมาขอเรียนด้วยเสมอ  ผมก็สอนให้ด้วยเต็มใจ ไม่คิดค่าใช้จ่ายอะไร แต่ก็มีกฏกติกาในการฝึกเพื่อความปลอดภัยที่ทุกคนต้องเคารพ หากวันไหน เด็กล้ำเส้นมาก เช่น เล่นกันแรงๆ หรือมีการทะเลาะกัน ผมจะไม่ดุไม่ว่า แต่จะใช้วิธียุติการซ้อมทันที เพื่อมิให้เกิดอันตราย แล้วจึงสอนว่านี่เป็นอีกหนึ่งกติกาที่เราต้องดูแลซึ่งกันและกัน 

เห็นเด็กๆชอบเรียกผมว่าครู ก็เลยมีคนเคยถามว่า ผมเป็นครูสอนอยู่ที่ไหน ผมก็ตอบไปว่า ผมไม่ได้อยู่ในโรงเรียนอะไรสักแห่ง  แต่ผมก็สอนได้ทุกที่แหละครับ ถ้าอยากจะสอน และมีคนเรียน มีบรรยากาศที่น่าเรียน ก็สอนได้หมด 

เด็กบางคน ตั้งใจฝึก และมีฝีมือพัฒนาดีขึ้น ถ้าพอจะมีงบ ผมก็จะมีชุดฝึกให้ใส่ในงานแสดงที่ต่างๆ และที่น่าภูมิใจคือ ที่ผ่านมาปีกว่าๆ เราฝึกกันอย่างนี้จนได้รับการยอมรับจากชมรมไอคิโด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้ส่งตัวแทนไปร่วมฝึกในงาน Aikido Friendship CU-CMU ที่เพิ่งจัดผ่านไปเมื่อเดือนที่แล้ว  เด็กๆปลื้มมากที่ได้ไปฝึกกับพี่ๆชาวมอชอและจุฬา แถมได้ไปเปิดหูเปิดตาที่กรุงเทพด้วย (งานนี้ต้องขอขอบคุณเจ้าภาพคือ ชมรมไอคิโดทั้งที่มอชอ และจุฬา มากๆ ที่เห็นความสำคัญของการพัฒนาเด็กด้อยโอกาสเหล่านี้) 

 

        เยาวชนจากแม่ฮ่องสอน ในศูนย์ฝึกไอคิโดที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

                   ร่วมฝึกกับคณาอาจารย์และรุ่นพี่จากจุฬาและมอชอ

หน้าที่ของเด็กที่ไปฝึกอบรมมา ก็คือการไปฝึกฝนตนเอง เพื่อสอนตัวเอง และถ่ายทอดให้คนอื่นต่อโดยไม่หวังผลตอบแทน เหมือนที่พวกเขาได้รับการถ่ายทอดจากผม และจากครูฝึกคนอื่นๆ เป็นการฝึกให้เด็กรู้จักเสียสละ จากการได้รับการเสียสละจากผู้อื่นมาก่อน 

 เรียนมาแล้วต้องแบ่งปันความรู้ให้ผู้อื่น 

อาจารย์ฟูกากูซา ซึ่งเป็นเจ้าสำนักไอคิโดของประเทศไทย ให้ข้อคิดในท้ายการฝึก Aikido Friendship CU-CMU ที่ผ่านมาว่า คนที่ได้สายดำหรือขั้นสูงๆ ต้องมาฝึกกับสายต่ำกว่าเยอะๆ จะได้ฝึกตัวเองให้เป็นคนอ่อนน้อม ไม่เห็นแก่ตัวว่าจะฝึกแต่เฉพาะกับคนเก่งๆ  การฝึกต้องคิดถึงคนอื่นให้มากๆ ต้องไม่ลืมว่า เมื่อครั้งเรายังเป็นเด็กฝึกใหม่ๆ เราได้รับความกรุณาจากรุ่นพี่ที่ฝึกมาก่อนอย่างไร เราถึงมาถึงขั้นนี้ได้  

ศิลปะการต่อสู้ที่เรารับรู้กันทั่วไปมักเน้นการเข้ากระทำ การมุ่งเอาชนะกัน การยิ้มเยาะเมื่อเราทำให้คู่ต่อสู้บาดเจ็บ ซึ่งตรงกับจริตของผู้คนที่ถูกกระตุ้นให้ชื่นชมกับการแข่งขัน ชิงดีชิงเด่น ตามกระแสโลก ในทางตรงข้าม หลักการสำคัญในการฝึกไอคิโด คือ การเสียสละ ความอ่อนน้อมต่อผู้อื่นและเป็นหนึ่งเดียวกับผู้อื่น เพื่อสร้างสันติระหว่างเขากับเรา หลักการฝึกไอคิโดจึงไม่เพียงแต่สามารถป้องกันตัวเองไม่ให้บาดเจ็บเป็นอย่างดีแล้ว ยังต้องสามารถป้องกันศัตรูไม่ให้บาดเจ็บเฉกเช่นกัน จึงจะเรียกว่าเก่งจริง เป็นศิลปะการป้องกันตัวที่แท้จริง คือป้องกันทุกๆคนไม่ว่าเขาหรือเราหรือใครๆมิให้ได้รับอันตรายจากพฤติกรรมที่เลวร้าย  

จริงๆ วันนี้ ผมตั้งใจไปฝึกฟันดาบ ซึ่งเป็นทักษะอย่างหนึ่งของไอคิโด แต่เมื่อเห็นเด็กมาขอให้ฝึก ก็เลยเปลี่ยนความตั้งใจ ไปสอนพวกเขาแทน  ซึ่งพวกเขา ก็ได้ให้มิตรภาพที่จริงใจกลับมา เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของความรักบริสุทธิ์ระหว่างครูกับศิษย์ คือ ความสัมพันธ์ที่วางอยู่บนพื้นฐานการแบ่งปันที่ไม่มุ่งหวังผลตอบแทน ไม่ยัดเยียด แต่สร้างสรรค์ และมีอิสรภาพ ซึ่งผมคิดว่า ความรักแบบนี้มีค่ายิ่ง 

และนี่เป็นของขวัญเล็กๆที่ยิ่งใหญ่ ที่ผมได้รับในวันวาเลนไทน์ปีนี้  

หมายเลขบันทึก: 78694เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2007 11:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ความรักของครูยอดน่าประทับใจจริงๆค่ะ
มีคนที่ต้องการความรักจากเราอีกเยอะเลยนะคะ

ผมรอครูยอดมาเขียนบล็อกอยู่นาน มาช้ากว่าวาเลนไทน์ไปหนึ่งวัน แต่ก็เป็นของขวัญที่คุ้มค่าทีเดียว

เป็นข้อคิดที่ดีมากและสามารถปรับใช้ได้กับชีวิตเราๆ ท่านๆ ได้ด้วย ปรัชญาบางครั้งเราก็รู้ เข้าใจ แต่ปฏิบัติไม่ได้นะครับ คงต้องคอยเตือนสติตัวเองให้อ่อนน้อมถ่อมตนอย่างที่ครูยอดว่าไว้

แฮปปี้วาเลนไทน์ครับ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท