AAR (After Action Review) ตลาดนัดความรู้ "อาชีวศึกษากับการแก้จน"


เมื่อวันที่ 20-22 พฤศจิกายน ที่ผ่านนี้   ผมได้รับมอบหมายให้เป็นวิทยากรกระบวนการในตลาดนัดความรู้ "อาชีวศึกษากับการแก้จนโดยชาวบ้าน"  จึงขอแลกเปลี่ยนมุมมองของตนเองไว้ตรงพื้นที่นี้  ทั้งนี้อาจจะแตกต่างจากท่านอื่นไปบ้าง  หรือเหมือนกันบ้าง  ก็คงจะไม่น่าจะเป็นเรื่องแปลกนะครับ    

ความคาดหวัง    ครั้งนี้  คาดหวังลึกๆว่า  KM จะช่วย คลิก  ให้บรรดาอาจารย์จากอาชีวศึกษา  มองเห็นโลกใบนี้จากอีกมุมหนึ่ง   มุมที่เห็น  "สถาบันการศึกษา (ไม่ว่าจะเป็นระดับไหนก็ตาม) คือ ส่วนประกอบหนึ่งของชุมชน   จำเป็นต้อง มีการเชื่อมสัมพันธ์กับชุมชนอย่างกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน  เป็นกลไกหนึ่งของชุมชน"     เนื่องจากสภาพที่ผ่านจนถึงปัจจุบัน  สถาบันการศึกษา  อยู่ในสภาพที่มีการปฏิสัมพันธ์กับชุมชนที่ตัวเองตั้งอยู่  หรือรวมไปถึงชุมชนรายรอบในรัศมีนั้นน้อยมาก   นี่คือ ปรากฎการณ์จริงส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในบ้านในเมืองเรา     โครงการอาชีวศึกษากับการแก้จนโดยชาวบ้าน   ต้องชื่นชมว่าดีมาก   มีเจตนามุ่งให้  สถาบันการศึกษาในสังกัดอาชีวศึกษานั้น   เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาความเป็นอยู่ของคนในชุมชนนั้นๆ    เปิดรั้วสถาบันการศึกษา ไม่หลับหูหลับตาทำอยู่เฉพาะในรั้วสถาบัน หรือในห้องเรียนสี่เหลี่ยมเล็กๆ  เปิดมิติใหม่ของภาคการศึกษา 

สิ่งที่ได้เกินคาด    จากเวทีตลาดนัดความรู้ครั้งนี้  พอจะเห็น "The Star"  คือ  บรรดาอาจารย์ที่เข้าใจสภาพความเป็นจริงของ "ความยากจน"   ถึงแม้จะมีเพียงบางส่วนเท่านั้นก็ตาม   แท้จริงแล้ว  ความยากจน  ไม่ใช่เพียง   "รายได้น้อย"     หากมองเพียงมุมเดียว  ก็จะเห็นทางแก้เพียง  "เพิ่มรายได้"  ให้มากขึ้น       แต่ความยากจน  มันมีสาเหตุมากกว่านั้น   คนที่ใช้จ่ายมาก  ก็อาจจะทำให้จนได้     และคนส่วนใหญ่มักจะอยู่ในวังวนนี้      ลองคิดเล่นๆในทางเศรษฐศาสตร์    ตามทฤษฎีที่ว่า        รายได้ - รายจ่าย = เงินออม + เงินลงทุน

ตีความ

รายได้ = เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน/การผลิต/การออกแบบ/ หรือสร้างมูลค่าเพิ่ม ฯลฯ

รายจ่าย = การควบคุมพฤติกรรมการบริโภคของตนเอง

นั้น ก็หมายความว่า  หากควบคุมพฤติกรรมการบริโภคของตนเองได้มากเท่าไร  ก็จะมี  เงินออม หรือ เอาไปลงทุนในการทำมาหากินได้มากขึ้นเท่านั้น    แต่หากจะมุ่งไปในทิศ "เพิ่มรายได้"    นั่นหมายถึงว่า  คุณต้องเพิ่มขีดความสามารถของตัวเองให้มากขึ้น  ต้องผลิตสินค้าให้มากขึ้น   และต้องใช้ศาสตร์ทางการแข่งขันเข้ามาช่วย  ซึ่งสิ่งเหล่านี้  มันต้องลงทุนเพิ่ม     ต้องใช้เงินต่อเงิน      แต่   สิ่งหนึ่งที่เป็นสภาพบังคับ ซึ่งเราต้องยอมรับ คือ  "คนจน"   ไม่อยู่ในสถานะที่จะลงทุนได้  อย่าว่าแต่ลงทุนเลย   หากินวันๆยังไม่ค่อยจะพอ

 ระหว่าง  "เพิ่มรายได้"   กับ  "ลดรายจ่าย"   อย่างไหนน่าจะช่วยให้หายจนได้เร็วขึ้น    คนหลายคนมักจะมองข้าม "การลดรายจ่าย"   มองเห็นแต่ภาพ "เพิ่มรายได้"      อย่างไรก็ตาม  "การเพิ่มรายได้"  หรือ "การลดรายจ่าย"  ต่างก็ต้องมี ความรู้ทางปฏิบัติ     เพื่อให้รู้ว่าทำอย่างไร  จึงจะมีรายได้เพิ่มขึ้น     หรือ  เพื่อให้รู้ว่าทำอย่างไร  ถึงจะลดรายจ่ายได้     สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ  ชุดความรู้ว่าด้วยการลดรายจ่ายฉบับชาวบ้าน    เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากในชุมชน  เพียงแค่ให้ชาวบ้านที่มีประสบการณ์ลดรายจ่ายในครัวเรือนตนเองหลายๆกรณีได้มาเล่าเรื่อง    ช่วยกันดึง ความรู้ปฏิบัติเหล่านั้น  ออกมาแล้วนำไปขยายผล  น่าจะช่วยให้ชาวบ้านเรียนรู้ได้ง่ายกว่า  การเพิ่มขีดความสามารถทางการผลิต/การตลาด/การออกแบบสินค้า/ หรือการเพิ่มมูลค่า   แต่แน่นอนการทำทั้งสองทางคู่ขนานกันไปย่อมดีที่สุด

สิ่งที่ต้องปรับปรุงในครั้งต่อไป    เห็นด้วยกับหลายๆท่านในหลายๆประเด็นที่ได้แสดงความคิดเห็นในช่วงท้ายของตลาดนัดความรู้ฯ  เช่น   โปรแกรมค่อนข้างแน่นเกินไป  ต้องหาวิธีทำให้สบายๆ กว่านี้       จัดให้มีการดูงาน    ปรับรูปแบบการจัดที่นั่งในห้องประชุม   การรวบรวมเอกสาร (E-files) และบันทึกลงในแผ่น CD แจกให้ผู้เข้าร่วมได้หลังจบ workshop ทันที   เหล่านี้เป็นต้น   

ยังได้รับคำ AAR เพิ่มเติม (คลิกดูรายละเอียดที่ http://gotoknow.org/archive/2005/11/23/14/22/20/e7840) มาจาก ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช  ในส่วนนี้ว่า  คงต้องมีการปรับกันหลายประเด็น  ยกตัวอย่างเช่น    ทางทีมส่วนกลาง  คงต้องมีระดับผู้บริหารมานั่งสังเกตการณ์ค้นหา  "The Star"  และควรเริ่ม Pilot Project ในพื้นที่ของอาจารย์ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น The Star เหล่านั้นเป็นลำดับแรก          อีกประเด็นหนึ่ง เรื่องการแจกเอกสารให้ผู้เข้าร่วมได้ศึกษาก่อนเข้า workshop นั้น  เป็นข้อตกลงหนึ่ง  ที่ได้คุยกันไว้ก่อนแล้วกับทีมประสานงาน  สอศ.  ส่วนกลาง     แต่เข้าใจว่ายังไม่ได้ดำเนินการตามที่คุยหารือกันไว้      ในรุ่นที่ 2 ต้องขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า  เอกสารทั้งหมดที่แนะนำให้อ่านนั้น  ผู้เข้าร่วมรับต้องได้รับก่อนเข้าร่วม workshop ล่วงหน้าหลายๆวัน  จะได้มีเวลาทำความเข้าใจมาก่อนระดับหนึ่ง  เพราะใน workshop จะไม่มี session การบรรยายแนวคิด KM ใดๆ          

เพื่อให้การจัด  "ตลาดนัดความรู้อาชีวศึกษากับการแก้จนโดยประชนชน  รุ่นที่ 2"  ในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2548 นั้น   เป็นไปอย่างราบรื่น  และได้ผลตามที่ทุกฝ่ายคาดหวังให้มากที่สุดนั้น    จึงขอนัดหมายทีมประสานงานเข้าร่วมประชุมที่สำนักงาน  สคส.  ชั้น 23  อาคาร เอส เอ็ม    สนามเป้า   ในวันที่ 9 ธันวาคม 2548   เวลา  07.30 น.  

สำหรับสิ่งที่จะกลับไปทำนั้น     คงเป็นเรื่องของการปรับรูปแบบบางส่วนของตลาดนัดความรู้ให้เหมาะกับ  "ว่าที่คุณอำนวย รุ่น 2"  มากขึ้น   ทั้งนี้อยู่บนพื้นฐานของข้อสรุปที่ได้จากการพูดคุยหารือกับทีมประสานงานส่วนกลาง

หมายเลขบันทึก: 7852เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2005 16:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2012 11:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
วันนี้เพิ่งวันที่ ๒๓ พย. ค่ะ สงสัยใจคุณธวัชไปอยู่กับตลาดนัดความรู้การดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่จะมีขึ้นในวันที่ ๒๕-๒๖ พย.เสียแล้ว
เข้ามาขำเฉยๆๆๆๆๆๆ ค่ะ อิอิ ลืมวัน

ขอโทษนะครับในความสับสน   และขอขอบคุณที่แจ้งให้ทราบครับ

ขอเห็นต่างมุมนะครับ ผมว่าการลดรายจ่ายเป็นแค่ส่วนช่วยสำหรับคนโดยทั่วไป ยกเว้นคนที่มีปัญหามากๆจริงๆ เพราะค่าใช้จ่ายนั้นส่วนใหญ่ จะเป็นค่าใช้จ่ายขั้นต่ำ ลดมากไปกว่านี้ก็เริ่มมีปัญหา ลองทำค่าใช้จ่ายครอบครัวพ่อแม่และลูกอีกสองที่อยู่ในวัยเรียน ว่าในอุดมคติเป็นเท่าไร แล้วเทียบกับรายได้ครอบครัว อาจจะเอารายได้ข้าราชการทั่วไป มาเป็นตัวเทียบก็ได้ แล้วลองดูว่า ตัวอยู่อำเภอ ลูกเรียนในเมือง แม่สอนอีกอำเภอหนึ่ง เบ็ดเสร็จ ต้องมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ นี่ยังไม่พูดถึงลูกวัยรุ่นที่เรียนข้ามจังหวัดหรือส่งมากทม.

แต่การเพิ่มรายได้นั้นมีไม่จำกัด ตรงนี้ไม่จำเป็นต้องหมายถึงการทำอาชีพเสริม หรือการประกอบธุรกิจ แค่ความขยันในหน้าที่การงาน เช่น เป็นข้าราชการ ก็ขยันทำผลงาน เพื่อพร้อมจะเลื่อนซี ไม่ต้องรอว่าครบช่วงเวลาแล้วค่อยทำ

จากประสพการณ์ส่วนตัว คนทั่วไปกลัวมากเกินไป กลัวการเปลี่ยนแปลง กลัวลำบาก จึงไม่ค่อยทำในสิ่งที่จริงๆตัวเองก็รู้ว่าควรทำ หลายคนอาจเคยบอกตัวเองด้วยซ้ำว่าห้าปีที่แล้วน่าจะขยัน สมัยเรียนน่าตั้งใจ

สมการคงต้องมีตัวแปรของตัวคนด้วย

อีกอย่าง การแข่งขันไม่ใช่สิ่งเลวร้าย หนังสือ Blue Ocean Strategy ที่ amazon.com เป็นตัวอย่างการสร้างธุรกิจโดยเน้นที่ลูกค้าไม่ใช่การแข่งขัน

ขอบคุณครับคุณ T

ผมว่าเป็น idea ของกรณีเฉพาะที่น่าสนใจมากครับ  เช่น  กรณีครู  ข้าราชการ ลูกจ้างหน่วยงาน

แต่ที่ชอบมากอันหนึ่ง  คือ สมการควรมีคนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย   น่าสนใจทีเดียวครับ   หรือไม่ก็มี  "ความสุข"  เข้าไปอีกตัวก็ไม่เลวเหมือนกันนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท