1 ใน 6 หน่วยงานต้นแบบของกพร


โครงการสร้างต้นแบบการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรมและค่านิยม
โครงการสร้างต้นแบบการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรมและค่านิยม  
 
หลักการและเหตุผล

เป้าหมายสำคัญในการปฏิรูประบบราชการคือการก่อให้เกิดการบริหารจัดการภาครัฐที่ดี (Good governance) ในกิจการบ้านเมือง อันได้แก่การปกครองที่ใช้หลักนิติธรรม คุณธรรม โปร่งใส การมีส่วนร่วม ความรับผิดชอบและความคุ้มค่า ซึ่งแน่นอนว่าการบริหารจัดการภาครัฐที่ดีจะไม่มีทางประสบผลสำเร็จได้ หากระบบราชการยังมีกระบวนทัศน์วัฒนธรรม และค่านิยมแบบเดิม
โลกยุคใหม่จึงต้องพัฒนาข้าราชการไทยไปสู่คุณลักษณะที่พึงประสงค์ที่เหมาะกับระบบการบริหารจัดการภาครัฐที่ดีคือ ข้าราชการต้องเป็นผู้ที่ทำงานอย่างมีศักดิ์ศรี ขยัน ตั้งใจทำงาน มีศีลธรรม คุณธรรม ปรับตัวได้ทันโลกรับผิดชอบต่อผลงาน มีใจและการกระทำที่เป็นประชาธิปไตย และทำงานมุ่งเน้นผลงาน เพื่อให้ระบบราชการไทยมีความเป็นเลิศ สามารถรองรับการพัฒนาประเทศในยุคโลกาภิวัตน์ได้
การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรมและค่านิยมในกรอบการบริหารภาครัฐแนวใหม่ (New public management) เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่ต้องเร่งผลักดันให้เกิดขึ้น เพื่อให้บุคลากรภาครัฐพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและเอื้อต่อการพัฒนาระบบราชการ โดยได้จัดไว้เป็นยุทธศาสตร์ที่ 5 ซึ่งมีมาตรการที่สำคัญคือ การสร้างรูปแบบการเรียนรู้ด้วยตนเองของกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้บริหารระดับสูงในลักษณะของการเรียนรู้จากประสบการณ์ปฏิบัติจริง การจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการสร้างกระบวนการเรียนรู้ และการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนเร่งรัดการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์
เพื่อให้สามารถพัฒนาระบบราชการไทยให้มีความเป็นเลิศ สามารถรองรับกับการพัฒนาประเทศในยุคโลกาภิวัตน์โดยยึดหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดีและประโยชน์สุขของประชาชน จึงมีความจำเป็นที่ต้องศึกษาเพื่อหารูปแบบหน่วยงาน ทีมงานและบุคคลต้นแบบการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ที่ดีด้วยโครงการสร้างต้นแบบการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรม และค่านิยม

วัตถุประสงค์
1) เพื่อเสาะแสวงหาหน่วยงาน ข้าราชการ และทีมงาน ที่เป็นต้นแบบการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ที่ดีเป็นกรณีศึกษาเพื่อนำมาเป็นรูปแบบเพื่อการขยายผล โดยคัดเลือกหน่วยงานต้นแบบที่ปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ บนพื้นฐานการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ และคัดเลือกข้าราชการและทีมงานต้นแบบ
2) เพื่อศึกษาต้นแบบการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ที่ดีว่ามีวิธีการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์อย่างไร เพื่อรวบรวมเป็นองค์ความรู้นำไปสู่การปฏิบัติ
3) เพื่อสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างหน่วยงานต่างๆ


ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1) องค์ความรู้เกี่ยวกับต้นแบบหน่วยงาน / ทีมงาน / แผนก / หน่วยบริการในกรม / จังหวัดและท้องถิ่นหรือองค์กรเอกชน ชุมชน ที่มีการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ตามแนวทางการบริหารงานภาครัฐแนวใหม่และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ตามเกณฑ์ที่กำหนด
2) แนวทางพัฒนากระบวนทัศน์ วัฒนธรรม และค่านิยมสำหรับหน่วยงาน ทีมงาน และบุคลากรภาครัฐเพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติเพื่อไปสู่องค์กรปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ที่ดี
3) บุคลากร หน่วยงานภาครัฐรับรู้เงื่อนไขและปัจจัยที่มีผลต่อการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรม และค่านิยมตามแนวทางการบริหารงานภาครัฐแนวใหม่ในองค์กรของตนได้อย่างเหมาะสม
4) หน่วยงาน บุคลากรภาครัฐปฏิบัติงาน และพัฒนาองค์กร ตามเงื่อนไขและปัจจัยที่มีผลต่อการปรับปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรม และค่านิยมตามแนวทางการบริหารงานภาครัฐแนวใหม่
5) ประชาชนและผู้ที่รับบริการของรัฐให้การยอมรับ เชื่อถือ และศรัทธาในระบบบริหารงานของรัฐและข้าราชการมากยิ่งขึ้น

หน่วยงานที่นำผลการวิจัยไปใช้
สถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี สำนักงาน ก.พ.ร. จะได้นำผลการศึกษาไปเผยแพร่เพื่อส่งเสริมการปฏิบัติงานที่ดีในหน่วยงานของรัฐ จัดให้มีการประชาสัมพันธ์ให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ และประชาชนทั่วไป ได้รับทราบเกี่ยวกับหน่วยงาน ทีมงานและบุคคลต้นแบบการของการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ตามแนวทางการบริหารงานภาครัฐแนวใหม่ ตลอดจนแนวทางการพัฒนากระบวนทัศน์ วัฒนธรรมและค่านิยมสำหรับหน่วยงาน ทีมงานและบุคลากรภาครัฐเพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติเพื่อไปสู่องค์กรปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ที่ดี

ขอบเขตและวิธีการศึกษาวิจัย
ในการศึกษาวิจัยใช้แนวทางการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ โดยใช้วิธีการวิจัยเอกสารร่วมกับการสนทนากลุ่ม (Focus group discussion) การสัมภาษณ์กลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) การสำรวจเชิงคุณภาพ การวิจัยเพื่อหาคุณลักษณะร่วมของ หน่วยงาน / ทีมงาน / แผนก / หน่วยบริการ ในกรม / จังหวัดและท้องถิ่น หรือองค์กรเอกชน ชุมชน ที่เป็นต้นแบบการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรม และค่านิยมในการทำงานที่ดี (ซึ่งเป็นปัจจัยนำเข้า – Input - ที่ดี) และมีผลการปฏิบัติงานหรือบริการตามเป้าหมายที่กำหนดขององค์กร (ผลการปฏิบัติงาน – Performance)


ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
เป็นหน่วยงาน / ทีมงาน / แผนก / หน่วยบริการในกรม / จังหวัดและท้องถิ่น หรือองค์กรเอกชน ชุมชน จำนวนไม่น้อยกว่า 4 หน่วยงาน ที่มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามเกณฑ์ที่กำหนด มีการทำงานเชิงบูรณาการ มีประสบการณ์ และความพร้อมในการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรม และค่านิยม และประสบความสำเร็จในการทำงาน โดยแสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ด้วยผลการปฏิบัติงาน (Good performance)


วิธีการศึกษาวิจัย
การศึกษาวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างต้นแบบการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรม และค่านิยม โดยมีขั้นตอน ดังนี้
- ศึกษาและกำหนดนิยามความหมายของการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรม และค่านิยม ตามแนวทางการบริหารงานภาครัฐแนวใหม่ในเชิงทฤษฎี และการทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ อันเป็นแนวทางในการกำหนดเป็นนิยามและความหมายของการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรม และค่านิยมตามแนวทางการบริหารงานภาครัฐแนวใหม่ในประเทศไทยต่อไป
- ศึกษา / ทบทวนวรรณกรรมเพื่อคัดเลือกองค์กร / กลุ่มบุคคลที่มีผลงานดี ตามเกณฑ์การได้รับรางวัลต่างๆ ขององค์กร
- ประสานกับแหล่งข้อมูลต่างๆ เช่น สถาบันจัดการองค์ความรู้ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ฯลฯ
- จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ สนทนากลุ่ม กับผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อกำหนดนิยาม ความหมาย และขอบเขตของการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรม และค่านิยมตามแนวทางการบริหารงานภาครัฐแนวใหม่
- สังเคราะห์เอกสารและเนื้อหาแนวคิดจากการสนทนากลุ่ม
- กำหนดกรอบกระบวนทัศน์ วัฒนธรรม และค่านิยม ตามแนวทางการบริหารงานภาครัฐแนวใหม่ ที่ได้จากการทบทวนเอกสารและแนวคิดจากการสนทนากลุ่ม ซึ่งจะเป็นกรอบการศึกษาในการพัฒนาและกำหนดหน่วยงานนำร่องต่อไป
- ศึกษาและระบุปัจจัยเชิงเงื่อนไขและสาเหตุของกระบวนทัศน์ วัฒนธรรม และค่านิยมตามแนวทางการบริหารงานภาครัฐแนวใหม่ ตลอดจนผลลัพธ์ขององค์กรภายใต้ เงื่อนไข และปัจจัยดังกล่าว เพื่อกำหนดเกณฑ์
- ศึกษารวบรวมองค์ความรู้จากหน่วยงานต้นแบบ เพื่อนำไปดำเนินการในหน่วยงานนำร่อง
- สรุปผลการศึกษาจากหน่วยงานนำร่อง
- ประมวลรูปแบบ (Model) สร้างรูปแบบการเรียนรู้และคู่มือเพื่อนำไปปฏิบัติในองค์กร ตลอดจนระบบสนับสนุน และการให้คำปรึกษา
- สร้างเครือข่ายการเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างหน่วยงานต้นแบบกับหน่วยงานนำร่อง
- ขยายผลไปยังหน่วยงานอื่นๆ ต่อไป โดยการจัดทีมที่ปรึกษาพร้อมทำชุดพัฒนาองค์กร (Organization development package) และให้หน่วยงานต้นแบบพัฒนาหน่วยงานอื่นๆ ในลักษณะ หน่วยงานพี่-หน่วยงานน้อง (Brother organizations)

ผู้รับผิดชอบโครงการ

โครงการสร้างต้นแบบการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรมและค่านิยมเป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) กับ สถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการว่าจ้างให้สถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีทำวิจัย เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรภาครัฐปรับเปลี่ยนวิธีการ พฤติกรรมการทำงานที่พึงประสงค์
จากwww.goodpracticemodel.com
หมายเลขบันทึก: 78041เขียนเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2007 22:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 16:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
                   การสัมภาษณ์หน่วยงานเพื่อศึกษาเป็นหน่วยงานต้นแบบ
                  หลังจากที่โครงการสร้างต้นแบบการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรมและค่านิยม ได้ส่งแบบสอบถามถึงหน่วยงานภาครัฐเพื่อคัดเลือกหน่วยงานต้นแบบการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรมและค่านิยมในการทำงาน ซึ่งโครงการนำแบบประเมินผลมาประเมินและคัดเลือกหน่วยงานที่เหมาะสมกับการเป็นหน่วยงานต้นแบบจำนวน 18 หน่วยงาน

                  โครงการสร้างต้นแบบฯ ส่งนักวิจัยไปลงภาคสนาม ระหว่างวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ถึงวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2550 เพื่อศึกษาหน่วยงานทั้ง 18 หน่วยงานในเชิงลึก โดยขณะนี้โครงการสร้างต้นแบบฯ ได้ลงพื้นที่ศึกษาหน่วยงานทั้ง 17 หน่วยงาน (มี 1 หน่วยงานที่ไม่ให้สะดวกให้ศึกษา) เสร็จแล้วดังนี้

1. โรงพยาบาลบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร วันที่ 7 ธันวาคม 2549 (ดร.วิริณธิ์ กิตติพิชัย)

2. กรมสรรพากร วันที่ 7 ธันวาคม 2549 (ดร.สมบูรณ์ กุลวิเศษชนะ)

3. ที่ทำการปกครองอำเภอบ้านแท่น จังหวัดชัยภูมิ วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2549 (รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์)

4. โรงพยาบาลรามาธิบดี วันที่ 18 ธันวาคม สัมภาษณ์ (ดร.สมบูรณ์ กุลวิเศษชนะ)

5. กรมการกงสุล วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2549 (ดร.สมบัติ กุสุมาวลี)

6. กรมการพัฒนาชุมชน วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2549 (ดร.จุฑามาศ แก้วพิจิตร)

7. โรงพยาบาลบ้านตาก จังหวัดตาก วันที่ 20 – 21 ธันวาคม พ.ศ.2549 (ดร.วิริณธิ์ กิตติพิชัย)

8. กรมการค้าภายใน วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2549 (ดร.สมบูรณ์ กุลวิเศษชนะ)

9. กรมราชทัณฑ์ วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2549 (ดร.สมบัติ กุสุมาวลี)

10. กรมการปกครอง วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2849 (รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์)

11. โรงพยาบาลวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง วันที่ 26 – 27 ธันวาคม (ดร.วิริณธิ์ กิตติพิชัย)

12. สำนักงานประกันสังคม จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 4 มกราคม 2550 (รศ.ดร. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์)

13. สำนักงานที่ดิน จังหวัดสงขลา วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2550 (ดร.สมบัติ กุสุมาวลี)

14. กรมที่ดิน วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2550 (ผศ.พัชรา พัชราวนิช)

15. เรือนจำกลาง จังหวัดอุดรธานี วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2550 (ดร.สมบัติ กุสุมาวลี)

16. กรมการขนส่งทางบก วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2550 (ผศ.พัชรา พัชราวนิช)

17. กรมศุลกากร 16 มกราคม พ.ศ. 2550 (ผศ.พัชรา พัชราวนิช)

จากwww.goodpracticemodel.com
                   โครงการสร้างต้นแบบการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรมและค่านิยม ได้จัดประชุม "การประชุมผู้ทรงคุณวุฒิ เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรม และค่านิยม ที่จะใช้เป็นกรอบการพิจารณากำหนดหน่วยงานที่เป็นต้นแบบการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรมและค่านิยม" วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2549 เวลา 13.00 – 16.00 น. ณ อาคารวิทยกิตติ์ ชั้น 13 สถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ซอยจุฬาลงกรณ์ 64 ถนนพญาไท เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ เพื่อเสนอหน่วยงานต้นแบบการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรมและค่านิยมจำนวน 6 หน่วยงานได้แก่

1. กรมการกงสุล

2. กรมการพัฒนาชุมชน

3. กรมราชทัณฑ์

4. กรมการขนส่งทางบก

5. โรงพยาบาลบ้านตาก จังหวัดตาก

6. สำนักงานที่ดิน จังหวัดสงขลา

                     ให้แก่ผู้ทรงทรงวุฒิซึ่งประกอบด้วย

1. นายธรรมรักษ์ การพิศิษฏ์ กรรมการพัฒนาระบบราชการ

2. นายนัทธี จิตสว่าง อธิบดีกรมราชทัณฑ์

3. นายภูเมธ มณูพิบูลย์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด

                    ผู้ทรงคณุวฒิพิจารณาแล้วเห็นด้วยกับนักวิจัยโครงการสร้างต้นแบบฯ ทำให้หน่วยงานทั้ง 6 ได้รับคัดเลือกเป็นหน่วยงานต้นแบบของการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรมและค่านิยม

จากwww.goodpracticemodel.com
                เรื่องดีวันละเรื่อง : (7) โรงพยาบาลบ้านตาก
                โรงพยาบาลบ้านตากเป็นโรงพยาบาลเล็ก ๆ ขนาด 60 เตียงที่ไม่ธรรมดา เพราะมีบริการที่ประทับใจผู้ใช้บริการ ผมไปดูมาแล้ว มีความรู้สึกว่าบริการดีเหมือนโรงพยาบาลเอกชน สถานที่สะอาด ร่มรื่น เจ้าหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส เป็น happy workplace

                 สคส. ยกย่องให้โรงพยาบาลบ้านตากเป็นตัวอย่างของหน่วยงานที่ใช้ KM ในการพัฒนางาน พัฒนาคน และพัฒนาองค์กรได้ผลดีเยี่ยม เป็นตัวอย่างได้ เรามีวีซีดี "การจัดการความรู้ในโรงพยาบาลบ้านตาก" ความยาว 30 นาทีจำหน่าย ใครได้ดูแล้วเห็นคุณค่าของ KM ทุกคน

                 วันที่ 25 ม.ค.50 โรงพยาบาลบ้านตากได้รับยกย่องจาก "โครงการต้นแบบการปรับกระบวนทัศน์ วัฒนธรรม และค่านิยม" สำนักงานส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี สำนักงาน กพร. ให้เป็นหน่วยงานต้นแบบ 1 ใน 3 หน่วยงาน มานำเสนอเรื่องราวของการพัฒนาองค์กร เป็นที่ประทับใจของผู้มาร่วมเรียนรู้ 250 คน

                 นพ. พิเชฐ บัญญัติ ผอ.รพ.บ้านตาก กล่าวว่า "ใจต้องมาก่อนเก่ง" คือต้องสร้างแรงบันดาลใจ สร้างใจที่เห็นคุณค่าของงานที่ทำ ของพนักงาน สร้างให้เกิด commitment เป็นเรื่องสำคัญที่สุดหรือต้องทำก่อนเรื่องความรู้หรือ competence

- เชื่อในศักยภาพที่ซ่อนเร้นในตัวตน
- ทำทุกอย่างให้เป็นเรื่องเดียวกัน (บูรณาการ)
- participation & empowerment 

                 คุณหมอพิเชฐ กล่าวว่า สภาพการทำงานที่เน้นการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายบริการที่ประทับใจผู้ใช้บริการ พนักงานมีความสุขและองค์กรอยู่ได้ ได้กลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรไปเรียบร้อยแล้ว จะไม่ขึ้นอยู่กับตัวผู้บริหารว่าจะมีการเปลี่ยนคนหรือไม่

                 นี่คือหน่วยราชการที่น่าชื่นชม


นพ. พิเชฐ บัญญัติ (ซ้ายสุด) ผอ. รพ. บ้านตาก กำลังเล่าเรื่องการพัฒนาโรงพยาบาล

วิจารณ์ พานิช
25 ม.ค.50
www.thaikm.gotoknow.org

                โรงพยาบาลบ้านตากได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการเป็นหน่วยงานต้นแบบ 1 ใน 6 ของประเทศ

                  เมื่อวันที่20 - 21 ธันวาคม 2549 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(กพร.)ได้ลงพื้นที่ภาคสนามโดยเยี่ยมชมหน่วยงานที่คัดเลือก 18 แห่งทั่วประเทศเพื่อให้เป็นหน่วยงานข้าราชการและทีมงานที่เป็นต้นแบบการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ที่ดีตามแนวทางการบริหารงานภาครัฐแนวใหม่เพื่อขยายผล

                     สรุปผลในการสัมภาษณ์ของนักวิจัยโรงพยาบาลบ้านตากมีความโดดเด่นตามเกณฑ์

I AM READY” คือ


I : Integrity :ข้าราชการต้องเป็นผู้ที่ทำงานอย่างมีศักดิ์ศรี
A : Activeness : ขยันตั้งใจทำงาน
M: Morality : มีศีลธรรม คุณธรรม
R : Relevancy : ปรับตัวทันโลกตรงกับสังคม
E: Effciency : มั่งเน้นประสิทธิภาพ
A : Accountability :รับผิดชอบต่อผลงาน ต่อสังคม
D: Democracy : มีใจและการกระทำที่เป็นประชาธิปไตย มีส่วนร่วม โปร่งใส
Y: Yield : ทำงานมุ่งเน้นผลงาน

โดยผ่านตามเกณฑ์ทุกข้อ

โดย คุณวราภรณ์  ใจมูล หัวหน้างานสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์ โรงพยาบาลบ้านตาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท