พ่อสาง นักผลิตอ้อยตัวยง


ดิฉันไม่ฟัง หรือฟังแล้วก็ยังคงไม่ไว้ใจ เพราะเคยเจอประสบการณ์กับบ้านเหล่า ที่เคยพูดว่า ไม่ยาก ไม่ต้องเป็นห่วง แต่ตอนที่ทำงานร่วมกันมันไม่เป็นเช่นนั้นเลย ต้องเข้าช่วยเกือบทุกขั้นตอน ต้องบอกละเอียดทุกอย่าง ถึงขั้นว่า ต้องบอกว่าจะต้องตัดไม้ยาวแค่ไหน จะเจาะรูใหญ่ขนาดไหน และจะวางไว้อย่างไร ..... ตอนที่เราจัดเวทีปี ๔๘

 

ตอนที่เราประชุมกันเริ่มคุยเรื่องทำน้ำอ้อย ที่งวดเข้ามาทุกทีเพราะใกล้วันเวลาที่จะอิ้วเข้ามาแล้ว

ชาวบ้านเหล่า

ดิฉันรู้เลา ๆ  ว่า บ้านเหล่า ศรีสงครามเคยผ่านประสบการณ์นี้มาแล้ว เคยทำอะไรขายสารพัดตามคำแนะนำจากภายนอกเพื่อให้ได้เงิน ตั้งแต่การหาเงินตามวิถีแบบโบราณซึ่งได้แก่ การเผาถ่าน บ้านเหล่าเตาถ่าน มาจากทักษะอันนี้นี่เอง การปลูกอ้อย การทำน้ำอ้อย การปลูกมันสำปะหลัง การปลูกกัญชา การปลูกสัปรส  การปลูกยางพารา วิ่งตามนโยบายสุด ๆ

พอคุยเรื่องทำน้ำอ้อย ดิฉันและอาจารย์ทนายเสนอว่า เราควรจะเชิญผู้ที่ชำนาญจากบ้านนาเดื่อ  มาช่วยดูแลขั้นตอนการทำน้ำอ้อย และให้คำแนะนำ 

คณะที่บ้านเหล่าก็บอกว่า พวกเราหลายคนก็ทำได้

แต่ดิฉันไม่เชื่อ ดิฉันก็พูดอีกว่าเราควรจะเชิญใครดี ใครมีญาติ

ดิฉันไม่ฟัง หรือฟังแล้วก็ยังคงไม่ไว้ใจ เพราะเคยเจอประสบการณ์กับบ้านเหล่า ที่เคยพูดว่า ไม่ยาก ไม่ต้องเป็นห่วง แต่ตอนที่ทำงานร่วมกันมันไม่เป็นเช่นนั้นเลย ต้องเข้าช่วยเกือบทุกขั้นตอน ต้องบอกละเอียดทุกอย่าง  ถึงขั้นว่า ต้องบอกว่าจะต้องตัดไม้ยาวแค่ไหน จะเจาะรูใหญ่ขนาดไหน และจะวางไว้อย่างไร  .....  ตอนที่เราจัดเวทีปี ๔๘

ตามปกติแล้วดิฉันชอบที่จะไม่บอก ปล่อยให้ชาวบ้านได้คิดเอง ก็ต้องได้ปรับใหม่สำหรับบ้านเหล่า ไม่เพียงแต่คอยฟังการบอกอจากคนอื่นย่างเดียวแล้ว ยังมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน เถียงกันเสียงดัง วุ่นเลย ไม่มีใครฟังใคร คนที่เสียงดังกว่าจะได้รับการยอมรับความเห็น  พอดิฉันได้ร่วมประชุม ได้มารื้อว่าทำไมถึงตัดสินใจแบบนั้น ถึงได้เล่าให้ฟังว่าเป็นเพราะเป็นการให้ข้อมูลของผู้ที่เสียงดังกว่า ก็หยวน ๆ  กันไป จะได้ไม่ทะเลาะกัน อ้าว....กับการที่ประชุมตกลงอีกเรื่องหนึ่ง พอเราให้รายงานให้ที่ประชุมใหญ่ฟัง กลายเป็นเล่าประเด็นประชุมตามความคิดของตนเองเป็นอีกเรื่องไปเลย......นี่แหละ ชาวบ้านเหล่า.... ก็ต้องรื้อกันใหม่เอากันตรงนั้นเลย

พอเจอคำถามซ้ำ ๆ  ของดิฉันแบบไม่ไว้วางใจ
พ่อสางจึงเอ่ยออกมา เบาค่อนข้างขุ่น ๆ แต่หน้าตาเรียบ
ก็พ้มนี่แหละคนนาเดื่อ จะไปเอาใครที่ไหนอีก ผมทำน้ำอ้อยตั้งแต่ผมอายุ ๑๐ ขวบโน่น

เราก็ให้เล่าให้ฟังว่า ต้องเตรียมอุปกรณ์อะไรบ้างในการทำน้ำอ้อย เผื่อว่ามันอาจจำเป็นที่แต่ละบ้านจะได้ทำมา

พวกพ่อก็พากันอธิบาย ว่ามันใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง คดกง ตะแบง กระบอกพาย กระบอกหยอด  การอธิบายสิ่งที่คนหนึ่งรู้เรื่องดีให้อีกคนที่ไม่เคยเห็นกระบวนการผลิตมาก่อน ก็ยากที่จะจินตนาการจริง ๆ  เราก็ฟังไปเรื่อย แต่ไม่รู้เรื่อง ท้ายสุดก็เลยขอให้ป๋าฮุ่ง พ่อสาง ทำเครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปอ้อยไปให้เพื่อนดู ในการประชุมเตรียมงานทำน้ำอ้อย

พอวันประชุมก็วุ่นเลย แต่ละคนที่พอมีประสบการณ์ก็ให้ความคิดแตกต่างกัน พวกเราก็พยายามรวบยอดความคิด ตัดสินในเอาตอนนั้นเลยหลายเรื่องหลังจากฟังเสียงของชาวบ้านแล้ว มันเป็นสถานการณ์แบบที่พ่อคำเดื่องเคยพูด
ผมไม่ได้รู้ว่าต้องทำอย่างไรบ้าง แต่เมื่อเวลามาถึง สถานการณ์ต่างมันก็จะประกอบกันเข้า แล้วทำให้เห็นว่าจะเดินต่อไปอย่างไร

หลายคนบอกว่าไม่มีทางเสร็จต้องใช้เวลาเป็นอาทิตย์
คนตั้งเกือบร้อยคนนี่นะ
กระทะก็ไม่ต่ำกว่า ๗  ใบ
อ้อย ๑ ไร่
พวกเคยอยู่ป่าบอกว่าใช้เวลาครึ่งเดือนทำเสร็จอ้อยปริมาณ ๑ ไร่ พอถามว่ามีคนทำกี่คน ตอบว่า  ๗  คน
บ้านกลางติดปั้นครกทำให้อยู่ช่วยงานได้ไม่เต็มที่
บางคนอยู่บ้านกับลูก สามีไปกรุงเทพ อาจไม่ได้มา
บางคนแม่สามีกำลังป่วยหนัก
บางคนจะต้องเก็บแตงโมและขายในช่วงนั้น
บางคนลูกป่วยเป็นโรคเลือด ต้องไปเฝ้าที่โรงพยาบาล
........สารพัด
ไม่เป็นไร  ก็ไปให้ได้ พิจารณาเอาเองก็แล้วกัน

ตกลงแล้ว เราจะทำน้ำอ้อยกัน ๓  วันแล้วหยุดดูก่อน แล้วค่อยพิจารณาต่อว่าเราจะเอาอย่างไร

ในที่ประชุมเห็นชอบด้วย  งั้น เอาตามนี้

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ชาวบ้าน แต่อยู่ที่ดิฉันกับอาจารย์ทนาย ผู้ซึ่งมองภาพไม่ออกว่างานจะเป็นอย่างไร ก็มีวิธีเดียวคือทดลองทำเลย โดยมีเหตุเบื้องหลังว่า มันจะเป็นเรื่องการฟื้นความรู้สึกบางอย่าง...ขีดความสามารถ....เราพึ่งตนเองได้นี่หว่า  และน่าจะมีความหมายพิเศษสำหรับผู้ที่เคยมีประสบการณ์แล้วทิ้งประสบการณ์นั้น

ทางไปนาเดื่อ

เรายังไม่แล้วใจ ระหว่างเดินทางไปรวบรวมกระทะเคี่ยวน้ำอ้อย ก็แวะรับพ่อสางกลับไปบ้านเกิด บ้านนาเดื่อ

โรงแปรรูป

เข้าไปปุ๊บก็เจอเลย แต่ว่าเขาทำน้ำอ้อยเสร็จแล้ว คว่ำหม้อคว่ำไห เก็บเตาเรียบร้อยเตรียมการปีหน้า เป็นการทำที่พัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมเล็ก ๆ  ไปแล้ว มีการพัฒนาเตาให้สามารถใช้ได้หลายกระทะในขณะเดียวกัน เชื้อเพลิงเข้าทางเดียว และมีปล่องระบายอากาศ มองไกลคล้ายกับ โรงต้มเกลือที่อำเภอบ้านม่วง สกลนคร ญาติพ่อสางบอกว่าเศษชานอ้อยเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีเก็บไว้ใช้ปีหน้า

   

ชาวบ้านเหล่า

คุยซักไซ้การทำสด ๆ จากญาติพ่อสางที่เพิ่งปิดโรงกลั่นน้ำอ้อยไปเมื่อปลายเดือนธค. ทีผ่านมา พ่อสางฟังบ้าง ถามบ้าง เมื่อได้คุยกันพ่อสางเล่าให้ฟังแนวทางที่จะทำ ญาติพ่อสางหัวเราะ แล้วบอก แหม อะไรจะโบราณขนาดนั้น เขาปรับเปลี่ยนไปตั้งหลายอย่างแล้ว ต้องทันสมัยบ้าง เครื่องมือต่าง ๆ  ปรับมาแล้วใช้เหล็กแทนไม้ เครื่องหีบเหล็กเป็นแท่น

เครื่องมือ

เครื่องมือ

 ดิฉันได้ฟังแล้วก็รู้สึกพอใจและมั่นใจในตัวพ่อสาง ๑๐๐%  มิหนำซ้ำจารย์สางยังบอกอีกว่า ผมจะทำให้ดูแบบโบราณแท้เลยให้เพื่อนดู และทำแบบสมัยใหม่บางส่วน แต่เราไม่ต้องใช้เงินซื้อของพวกนี้ อุปกรณ์ผมบอกพวกเราบางคนเตรียมแล้ว ส่วนที่เหลือผมจะไปจัดการเอง ไปทำเอาที่บริเวณต้มอ้อยเลยก็ได้ รวมทั้งการดูแลเตาด้วย

อาจารย์ทนายยังฟังไม่ทัน ยังพยายามจะชวนญาติพ่อสางให้ไปด้วย  ชนชั้นกลางแบบเราไม่เชื่อมั่นในคำพูดเรียบ ๆ สั้นไม่อธิบายให้ยืดยาด ไม่แม้แต่จะยืนยันให้หนักแน่น พ่อสางเพียงบอกว่า ผมเคยต้มน้ำอ้อยตั้งแต่ผมยังเป็นเด็กอยู่ครับ  พูดแค่นี้แล้วจบเลย

นาเดื่อเป็นแหล่งผลิตน้ำอ้อยที่ยังคงเหลืออยู่ในตอนนี้ ซึ่งก็ทำท่าว่าจะทนกับความเย้ายวนของราคายางพาราไม่ไหว เริ่มไถที่เปลี่ยนเป็นแปลงปลูกยางหลายเจ้า พอหยุดทำปุ๊บ ก็มีคนมาซื้อเครื่องมือปั๊บทันที  ญาติพ่อสางบอกว่า
เป็นคนจากร้อยเอ็ดโน่นแน่ะมาซื้อ
มันเป็นอาชีพที่ทำเงิน แต่ต้องจ้างคนมาช่วยในการตัดอ้อย คนหนุ่มเบื่อการทำอ้อยไปกรุงเทพกันดีกว่า ......

หมายเลขบันทึก: 77249เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2007 20:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท