มองสกว.ย้อนดูตัว(มวล.และนครศรีธรรมราช)


ภาพฝันของสกว.ในฐานะหน่วยสนับสนุนงานวิจัยของประเทศคือ การเป็นกระดูกสันหลังด้านความรู้ ทั้งกระบวนการสร้าง ใช้ สรุป ปรับปรุง จากสภาพความเป็นจริงที่แตกต่างหลากหลายให้เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มคนทุกประเภททุกมิติ

วันที่2ก.พ.ผมมีโอกาสร่วมประชุม(นั่งฟัง)ผู้ประสานงานสกว.เรื่องการสนับสนุนงานวิจัยเพื่อพัฒนาทั้งพื้นที่(Area-Based Collaborative Research : ABC Rearch)ที่กรุงเทพ

ผมใช้ชีวิตในนครศรีธรรมราชมาร่วม20ปี คือหลังน้ำท่วมปี2531ผมได้ย้ายครอบครัวจากจ.สตูลมาอยู่ที่นครศรีธรรมราช ถ้านับช่วงเวลาก็ใกล้เคียงกับการใช้ชีวิตที่บ้านเกิดที่จังหวัดภูเก็ต นครศรีธรรมราชจึงเป็นบ้านหลังที่2ที่ให้ผมได้พักพิงมาอย่างอบอุ่น ซึ่งผมเป็นหนี้บุญคุณ

ปี2541ผมได้เข้ามาทำงานในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นับถึงตอนนี้ก็เกือบ10ปีแล้ว ชีวิตผมที่เติบโต มีอาหารการกินที่อิ่มท้องสามารถเลี้ยงครอบครัวได้ตามอัตภาพ มีที่นอนที่อุ่นสบาย มีที่พักอาศัยที่สงบร่มรื่นล้วนอยู่ภายใต้ร่มเงาของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งผมตระหนักในบุญคุณของมหาวิทยาลัยที่ทำให้ผมมีวันนี้

ผมได้เรียนรู้งานของสกว. ได้สร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตและการทำงานตั้งแต่ปี2545นับถึงตอนนี้ก็เกือบ5ปีแล้ว
การประชุมเมื่อวันที่2ก.พ.ถือเป็นโอกาสให้ผมได้ถอดบทเรียน3หน่วย/พื้นที่ที่เป็นหน่วยอุปถัมภ์ชีวิตและที่พักพิงเพื่อตั้งประเด็นการเรียนรู้ในความเหมือนและความต่างของแนวความคิดและการปฏิบัติเพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้ของตัวเองและผู้เกี่ยวข้อง ถ้ามีประโยชน์ก็เป็นการทดแทนคุณ ถ้าหาประโยชน์ไม่ได้ก็ถือเป็นบันทึกหนึ่งที่ไม่ควรเอาอย่าง

การเคลื่อนงานของสกว.ครั้งนี้ถือเป็นการเชื่อมโยงกลุ่มงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเข้ามาหนุนเสริมพื้นที่เพื่อตอบสนองการพัฒนาประเทศตามศักยภาพและปัญหาของแต่ละพื้นที่ สกว.กำหนดบทบาทตนเองให้เป็นกระดูกสันหลัง(backbone)ด้านความรู้เพื่อหนุนเสริมการพัฒนาที่มาจากการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียมกัน

แนวความคิดของสกว.ใน ABC Reseach นำเสนอโดย ศ.ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง ผู้อำนวยการสกว.มีหลักสำคัญ3ประการคือ

1.สร้าง"กลไกการจัดการ"ของจังหวัดที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของ4ภาคีคือภาครัฐ ประชาชน เอกชน และวิชาการในการพัฒนาโจทย์และการทำงานร่วมกัน สร้าง"เจ้าของ"ร่วม

2.พัฒนาระบบข้อมูลและความรู้ที่จำเป็นเพื่อตอบสนองการแก้ปัญหาและทิศทางการพัฒนาร่วมกัน สร้างวัฒนธรรม"การใช้ข้อมูลและความรู้"ในการทำงานพัฒนา

3.สร้าง"กระบวนการทำงานร่วมกันผ่านกระบวนการวิจัย" เข้าใจปัญหาและสาเหตุ มองทางเลือกการแก้ไขปัญหา ทดลองปฏิบัติ ประเมินผลและปรับปรุงแก้ไขร่วมกัน สามารถปฏิบัติได้จริงตามเงื่อนไขของพื้นที่

สกว.จัดกลไกการทำงานผ่านฝ่ายต่างๆประกอบด้วยฝ่ายเกษตร อุตสาหกรรม ชุมชนและสังคมเป็นต้น โดยที่แต่ละฝ่ายได้วางกลไกการทำงานผ่านผู้ประสานงานชุดโครงการต่างๆเพื่อให้งานของฝ่ายบรรลุผลเชิงประเด็นที่ฝ่ายรับผิดชอบ ผู้ประสานงานก็มีโครงการวิจัยย่อยภายใต้ชุดวิจัยหรือชุดโครงการเพื่อตอบสนองงานของผู้ประสานงาน เมื่อแต่ละส่วนเคลื่อนงานไปเชื่อมสัมพันธ์กัน เป็นร่างแห ก็กลายเป็นภาพงานของสกว.โดยรวม(ที่คำนึงถึงมาตรฐานคุณภาพทางวิชาการ)

พัฒนาการของสกว.ในงานวิจัยมีมาเป็นลำดับ ความเปลี่ยนแปลงสำคัญนอกจากการพัฒนา โครงการวิจัยย่อยๆมาเป็นกลไกที่ดูแลโดยผู้ประสานงานชุดโครงการแล้ว ก็คือการเน้นการพัฒนาโจทย์วิจัยที่มาจากการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดโดยเฉพาะผู้ใช้งาน และการให้ผู้ใช้งานเป็นผู้ร่วมวิจัยโดยตรงทั้งภาคธุรกิจ ภาครัฐ และภาคชุมชน

ดังนั้นความเปลี่ยนแปลงในงานABC Researchเพื่อเชื่อมโยงประเด็นเข้ากับพื้นที่จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นการเคลื่อนงานต่อเนื่องหลังจากที่สกว.ได้จัดวางกลไกที่เชื่อมโยงเป็นระบบและกระบวนการวิจัยที่มาจากการมีส่วนร่วมของภาคีที่เกี่ยวข้องเป็นฐานรองรับไว้แล้ว

(จะว่าไปแล้วแนวทางการเชื่อมโยงประเด็นเข้ากับพื้นที่ก็มาจากการเคลื่อนงานพัฒนาของรัฐบาลนายกทักษิณในช่วงก่อนหน้านี้ด้วย คือการเชื่อมโยงประเด็นชาติ โครงสร้าง(หน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน) และพื้นที่จังหวัดและชุมชน-ผู้ว่าซีอีโอและกลุ่มจังหวัดรวมทั้งการเชื่อมต่อโดยตรงกับชุมชนเช่น กองทุนหมู่บ้านและSML เป็นต้น ให้มีการหนุนเสริมกันอย่างเป็นระบบ

เมื่อผอ.สกว.นำเสนอแนวความคิดหลักแล้ว ได้ให้รองและผอ.ฝ่ายของสกว. นำเสนอแนวทางการเคลื่อนงานของ 7ภูมิภาค ซึ่งแต่ละคนต้องร่วมผู้รับผิดชอบ แบ่งเป็น3กลุ่มงานคือ1.ฐานทรัพยากร 2.เศรษฐกิจ 3.ทุนด้านสังคมและวัฒนธรรม โดยที่ผอ.สกว.เองก็ร่วมรับผิดชอบในกลุ่มทุนด้านสังคมและวัฒนธรรมในพื้นที่3จังหวัดภาคใต้ด้วย (เป็นการแสดงความเป็นผู้นำอย่างสูงของอาจารย์ปิยะวัติที่รับดูแลพื้นที่หน้าด่านสำคัญแม้ว่าอาจารย์จะได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับพื้นที่ในงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นมาก่อนก็ตาม) มีอาจารย์อำนาจ คอวนิช ดูแลพื้นที่ภาคเหนือตอนบนในฐานะผู้จัดการครส.

ทั้ง7ภูมิภาคเคลื่อนงานโดยยึดหลัก3ประการภายใต้ประตูเข้า(entry point)ที่ต่างๆกันซึ่งน่าสนใจมาก (รายละเอียดมีในเอกสารของแต่ละฝ่าย) ทำให้แต่ละฝ่ายได้เห็นแง่มุมและการเคลื่อนงานของกันและกัน   ที่สำคัญคือ สกว.ได้เชิญผู้ประสานงานชุดโครงการในฝ่ายต่างๆมาร่วมรับฟังและให้ข้อคิดเห็นด้วย ทำให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างกันในการเคลื่อนงานที่ต้องมีการหนุนเสริมกันในบทบาทและเป้าหมายเฉพาะที่แตกต่างกัน แต่มีเป้าหมายใหญ่ร่วมกันใน 3 ปี คือ การพัฒนาความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจสังคมของจังหวัดจากฐานภายในอย่างยั่งยืน

กระบวนการดังกล่าวคือการร่วมฝันและสร้างทีมเรียนรู้ ซึ่งต้องอาศัยความสามารถในการคิดเชิงระบบ และแน่นอนว่าย่อมต่างระดับกันทั้งพื้นฐานและประสบการณ์ ซึ่งอาจารย์ปิยะวัติให้แนวทางว่าก็ค่อยๆจัดปรับโดยการเรียนรู้จากงานและจากกันและกัน ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างทีมงานและภาพฝันร่วมกันที่น่าลอกเลียนแบบนำไปใช้เป็นอย่างยิ่ง

ผมคิดว่าภาพฝันของสกว.ในฐานะหน่วยสนับสนุนงานวิจัยของประเทศคือ การเป็นกระดูกสันหลังด้านความรู้ ทั้งกระบวนการสร้าง ใช้ สรุป ปรับปรุง จากสภาพความเป็นจริงที่แตกต่างหลากหลายให้เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มคนทุกประเภททุกมิติ ซึ่งสภาพเป็นจริงยังไม่เป็นเช่นนั้น

ข้อพึงระวังจากเวทีคือ "กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันโดยใช้ข้อมูลความรู้เป็นสิ่งที่จะทำให้ข้อถกเถียงมีทางออกที่ดีขึ้น เป็นแนวทางสมานฉันท์ที่ฟังดูดี แต่ต้องระวังเรื่องอำนาจทั้งที่มาของข้อมูล การให้นิยามและการตีความซึ่งเป็นเรื่องของโลกทรรศน์และผลประโยชน์ เพื่อไม่ให้งานวิจัยเป็นเครื่องมือของกลุ่มผลประโยชน์ใดเป็นการเฉพาะ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นของกลุ่มทุนธุรกิจเอกชนและราชการ"

ความยากก็อยู่ตรงที่ ข้อมูลความรู้ไม่ได้เป็นกลางโดยตัวมันเอง ดังนั้น กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันอย่างเท่าเทียมจึงมีความสำคัญ

เอาละ ผมได้มองแนวทางการขับเคลื่อนงานของสกว.(เพียงส่วนหนึ่ง สกว.ยังมีงานด้านอื่นๆอีก ที่น่าสนใจคือ วิทยาลัยการจัดการงานวิจัยที่รับผิดชอบโดยดร.สินธุ์ สโรบล)แล้ว การย้อนมาดูตัวเอง คือ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และจังหวัดนครศรีธรรมราชเพื่อเป็นประสบการณ์จากการเรียนรู้ในครั้งนี้อย่างไรบ้าง?

เริ่มที่จังหวัดนครศรีธรรมราชก่อน

ผมเข้าใจว่ารูปแบบดังกล่าวเป็นการปฏิรูประบบราชการของรัฐบาลไทยรักไทยเพื่อให้การปฏิบัติตามนโยบายที่ให้ไว้เป็นไปได้จริง ด้วยการให้รองนายกรับผิดชอบกลุ่มจังหวัดนอกเหนือจากกระทรวงซึ่งเป็นประเด็นตามโครงสร้างหน้าที่
การตั้งซีอีโอทั้งบทบาทหน้าที่และงบประมาณ
การกระจายงบประมาณลงไปที่ชุมชนโดยก้าวข้ามกระทรวงและท้องถิ่นทั้งกองทุนหมู่บ้านและSML ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่น่าสนใจทั้งสิ้น
แต่การจัดปรับทั้งระบบก็มีปัญหาในทางปฏิบัติจำนวนมาก
ตัวอย่างที่นครศรีธรรมราช คืออำนาจในการสั่งการของผู้ว่าราชการจังหวัดและงบบูรณาการถูกใช้ไปอย่างซ้ำซ้อนหรือทดแทนงบโครงสร้างหน้าที่อย่างที่เคยเป็นมาโดยเกิดการเรียนรู้ทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและผู้รับประโยชน์ทั้งภาคชุมชน ธุรกิจ และวิชาการน้อยมาก
เราไม่สามารถรวมพลังความรู้ในหน้าที่ที่เป็นประเด็นเฉพาะเรื่องเช่น สาธารณสุข เกษตร พัฒนาชุมชน รวมทั้งการพัฒนาคนทั้งในและนอกระบบให้ตอบสนองพื้นที่อย่างครอบคลุมด้วยการเรียนรู้จากข้อมูลความรู้ร่วมกัน เกิดปรากฏการณ์ต่างคนต่างทำ สร้างดาวคนละดวง ฝันคนละทาง เกิดปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกันในหลายพื้นที่

โครงการเสริมสร้างกระบวนการชุมชนเข้มแข็งอย่างสมบูรณ์และยั่งยืนของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดมีเป้าหมายเพื่อแก้ข้อจำกัดเหล่านี้ แต่ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงกลไกและตัวบุคคลไม่มากนัก

คำสำคัญ (Tags): #abc#research
หมายเลขบันทึก: 76645เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2007 15:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท