โรงเรียนของลูก (1)..ที่ประเทศไทย


การแข่งขันเพื่อการศึกษาต้องใช้ต้นทุนสูงมาก

วันที่ 3 กพ.   ได้ไปร่วมงานโรงเรียนของลูก เป็นงานสำหรับนักเรียนและผู้ปกครองชั้น ป.6 ซึ่งจะมีนักเรียนจำนวนหนึ่ง (และคงจะเป็นจำนวนมาก) ลาออกไปเพื่อไปเข้าเรียนระดับมัธยมที่โรงเรียนอื่นที่มีชื่อเสียง 

วงสนทนาระหว่างผู้ปกครองในรอบปีที่ผ่านมาจนถึงวันนี้  จึงเป็นเรื่องว่า จะให้ลูกเรียนต่อที่โรงเรียนเดิม  หรือไปเรียนที่อื่น  ไปเรียนที่ไหน    

เราเองก็ถูกถามโดยญาติพี่น้อง และ โดยผู้ปกครองคนอื่นๆ   คำตอบของเราคือ  เรียนที่เดิม 

เวลาตอบแบบนี้กับญาติพี่น้อง ก็จะเกิดความเห็นต่างในทันที   มีคนบอกว่า ในเมื่อมีโอกาสทำดีที่สุดให้ลูกได้ ทำไมไม่ทำ   เรายิ้ม ทำดีที่สุดให้ลูก  ในความหมายนี้หมายถึงการให้ลูกได้เรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงมากที่สุด กระโจนลงไปในเกมการแข่งขันเรื่องการศึกษาอย่างเต็มตัว    

การแข่งขันเพื่อการศึกษาต้องใช้ต้นทุนสูงมาก    

ต้นทุนที่เป็นเงินของพ่อแม่  ไม่ว่าจะเป็นการเรียนพิเศษ  การจ่ายเงินนับหมื่นนับแสนเพื่อฝากลูกให้เข้าเรียน แต่ที่เราเห็นว่า  เป็นต้นทุนสูงมากยิ่งกว่า คือ  การทำลายความเป็นธรรมในสังคมนี้...  นึกถึงเด็กต่างจังหวัดอีกหลายคนที่ไม่มีโอกาส    

เด็กๆเองก็มีความเครียด  เคยชินกับความคิดเรื่องการแข่งขันเพื่อตนเอง  ยิ่งเด็กที่ผ่านเข้าสู่ระบบ ฝากด้วยเงิน ก็เข้าใจว่าทุกอย่างซื้อได้ด้วยเงิน   ที่อันตรายมาก คือ  หลายคนแยกแยะความถูกผิดไม่ออก ขอให้ได้สัมฤทธิ์ผล  ไม่ว่าจะได้มาด้วยวิธีการใดๆ    เราคิดว่า เราเห็นสิ่งเหล่านี้ในวิธีคิดของผู้ปกครองและนักศึกษาหลายคน  นักศึกษาที่กำลังจะไปเป็นกำลังสำคัญของประเทศ 

เวลาให้คำตอบกับผู้ปกครองคนอื่นๆ  เราจะตอบว่า  เราชอบที่โรงเรียนเอาใจใส่นักเรียน  ผอ.ต้องการที่จะสร้างโรงเรียนที่ทำให้เด็กมีความคิดเชิงบวก เรียนอย่างมีความสุข  เป็นคนดี  นักเรียนไม่มากนัก   ครูรู้จักนักเรียน แนะนำส่งเสริมให้เขารู้จักตัวเองและได้เลือกเรียนอย่างที่เหมาะกับตัวเอง     

สำหรับเรา  การรู้จักตนเองสำคัญมากเช่นกัน ในระดับมหาวิทยาลัย  เด็กหลายคนเรียนด้วยความทุกข์  ผลการเรียนออกมาไม่ดี  มีปัญหากับผู้ปกครอง ซ้ำเรียนจบแล้ว เกรดต่ำเวลาสมัครงานก็สู้เพื่อนๆไม่ได้อีก    เป็นความทุกข์ต่อเนื่อง      เด็กบางคนตอบไม่ได้ว่าตัวเองชอบอะไร ไม่ทราบค่ะ  ตอนเรียนมัธยม  หนูเรียนตลอด 7 วัน ไม่มีเวลาคิดว่าตัวเองชอบอะไร อยากทำอะไร    

ที่โรงเรียน ลูกชายได้ฝึกสมาธิ เรียนโยคะ  เรียนนวด  เล่นเทนนิส  ได้อ่านหนังสือ รู้เท่าทันทุนนิยม เป็นหนังสือที่ ผอ.เขียนเอง อ่านง่ายสำหรับเด็ก  ได้ทานผักปลอดสารพิษจากไร่ของโรงเรียน วันอังคารเป็นวันที่เด็กๆได้เป็นตัวของตัวเอง เด็กๆแต่งชุดไปรเวท ไม่ต้องใส่เครื่องแบบ  เป็นโรงเรียนเอกชนที่ค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายต่างๆ ถูกมาก (จนเราคิดว่าถูกเกินไป)  และไม่มีการเรียกเก็บเงินแป๊ะเจี๊ยะ หรืออื่นๆ   

งานโรงเรียนวันนั้น  จึงได้เห็นเด็กๆ  ร้องเพลง ขับเสภา แสดงละคร  เล่นโยคะ   และอื่นๆอีกมากมาย   เด็กๆ ไม่ต้องแต่งหน้าแต่งตา   อาจารย์เจิมศักดิ์  ปิ่นทอง เคยพูดตรงใจเราว่า   เวลาเป็นเด็กที่สดใสนั้นน้อยนิด ทำไมจึงต้องรีบแต่งหน้าแต่งตาให้เด็กเป็นผู้ใหญ่  ตอนลูกเรียนที่ญี่ปุ่น  เด็กๆก็ไม่ต้องแต่งหน้าแต่งตา  เด็กน่ารักที่การแสดงออก แก้มสีแดง ผิวเนียนใสของเด็ก สวยกว่าเครื่องสำอางฉาบฉวยใดๆ 

เราเห็นว่า อมาตยกุล เป็นโรงเรียนทางเลือก  ที่เราอยากเห็นในสังคมไทยและนึกขอบคุณ ผอ.มาก แม้ไม่เคยได้มีโอกาสบอก    

ครั้งหน้าจะเล่าเรื่องโรงเรียนที่ญี่ปุ่นค่ะ

คำสำคัญ (Tags): #การศึกษา
หมายเลขบันทึก: 76310เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2007 06:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
ไม่ทราบว่าโรงเรียน อมาตยกุลนี้ ดร.เกียรติวรรณ อมาตยกุล อาจารย์ที่จุฬาฯ ทำอยู่หรือเปล่าครับ ดร.เกียรติวรรณ เคยเป็นอาจารย์ผมตอนเป็นนิสิตเรียนอยู่ที่นั่นครับ

ใช่แล้วค่ะ   ..โลกกลมนะคะ

ยินดีที่ได้ทราบข่าวค่ะ

อยากได้หนังสือ "รู้เท่าทันทุนนิยม" ที่ ผอ.โรงเรียนเขียน หาได้ที่ไหนคะ อยากเอามาแบ่งปันเด็กๆ ต่างจังหวัดที่ยังไม่มีโรงเรียนทางเลือกดีๆ อย่างนี้บ้าง

หนังสือ "เท่าทันทุนนิยม" มีขายตามร้านหน้งสือทั่วไปคะ  ลองสอบถามกับพนักงานในร้านดู  เค้าพอจะหาให้ได้คะ    เป็นหนังสือที่ไม่ใช่ Top Ten แต่มีเนื้อหาและมีคติเตือนใจที่ดีมากจริง ๆ คะ

มีลูกเรียนอนุบาล 1 (แย้มสะอาดรังสิต) เป็นแบบ ENGLISH PROGRAM คือทางบ้านก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไรหรอกนะคะ แต่คนเป็นพ่อแม่ก็หวังจะให้ลูกได้รับในสิ่งที่ดีที่สุด และสังคมสมัยใหม่ก็คิดว่าหากลูกได้พูดได้รู้จักภาษาที่สองไวก็จะทำให้เค้าพัฒนาและเริ่มต้นได้ดีกว่าจะมาเรียนตอนโตแล้ว แต่ดิฉันคิดผิดมาก เราคาดหวังว่าลูกจะได้อะไรจากโรงเรียนซึ่งตอนแรกเข้าดิฉันก็ได้รับเชิญเข้าร่วมประถมนิเทศน์เพื่อจะได้รับรู้ข้อดีของทางโรงเรียนซึ่งทางโรงเรียนก็แจ้งว่าจะมีทีมที่มาสอนเด็กล้วนแต่เป็นมือ 1 เช่น จะเรียนคอมพิวเตอร์ก็จะจ้างบริษัททรู มาสอน จะเรียนว่ายน้ำก็จะมีทีมชาติมาสอนให้ และในห้องเรียนของลูกจะมี TEACHER 1 คนเป็นครูฝรั่งประจำห้อง และมีครูพี่เลี้ยงอีกสองคน เราได้รับรู้และก็พอใจในสิ่งที่แจ้งมาเราจึงยินดีที่จะจ่ายค่าเทอมแสนแพงเพื่อให้ลูกได้เรียนที่ๆดีและคาดหวังไว้มาก แต่แล้วเมื่อลูกเริ่มเข้าเรียนก็เริ่มมีปัญหาแรกเข้ามาคือ ไปส่งลูกช่วงเช้าก่อน 8 น. ห้องที่ลูกเรียนเค้าไปเรียนกันหมดแล้วไม่มีครูมารับเด็กที่มาทีหลังซึ่งไม่ได้สายอะไรเพราะตารางสอนก็แจ้งไว้ว่าให้มาก่อน 8.15 น. ทางคุณแม่เห็นว่าหากเราไปแต่เช้าก็จะไม่มีที่จอดรถจึงไปเวลาที่รถน้อยที่สุดแต่ก็พบปัญหาของทางโรงเรียนโดยบังเอิญจริงๆ ทางคุณครูประจำห้องมาพบคุณแม่ก็สอบถามโดยทางคุณครูก็อ้างว่าคุณแม่พาน้องมาช้าจึงพาเด็กคนอื่นไปเรียนก่อนเพราะต้องเดินเรียน แต่ละคาบเวลาเรียนแค่ 20 นาที นอกนั้นเป็นเวลาเดินไปห้องเรียนอีก 10 นาที แล้วก็รีบเรียนและรีบเลิก(เลิกเรียนบ่ายสองโมงตรง) เราก็พยายามทำใจว่าเป็นระเบียบของโรงเรียน แต่แล้วปัญหาไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น ลูกชายมีบาดแผลกลับมาบ้าน(หัวโนบวมขนาดเท่าลูกมะนาว) และมีแผลที่หน้าเป็นรอยเล็บข่วน แต่...ไม่มีการแจ้งจากครูว่าลูกดิฉันโดนอะไรมาและการกล่าวขอโทษ จนคุณแม่ต้องถามทางคุณครูแกล้ง..ทำตกใจ..และอ้างว่าไม่เห็นแผลน้องมาก่อน.. ทางคุณแม่ก็พยายามอดทนและไม่ได้ตำหนิ เรื่องที่ทนไม่ได้ที่สุดคือ เรื่องสุดท้ายและเป็นเรื่องที่คุณแม่รับไม่ได้คือ ทางคุณครูมีเหลือดูแลเด็กแค่ 1 คน ส่วน TEACHER นั่งเล่นคอม(โน๊ตบุ๊ค)ไม่ได้มีหน้าที่ดูแลเด็กจึงไม่ได้ใส่ใจ มีครูแค่คนเดียวดูแลเด็ก 19 คนในห้องเรียนซึ่งเวลาเด็กปวดปัสสาวะหรืออุจจาระ ก็จะมีครูคนนี้คอยดูแลและครูก็จะพยายามพูดให้คุณแม่สอนน้องให้ช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุด และให้สอนการเรียนน้องให้ได้เยอะๆ โดยที่คุณครูจะได้ไม่เหนื่อยสอนมาก เพราะเด็ก 19 คนคุณครูว่าดูไม่ทัน คุณแม่ถามคุณครูว่าแล้วครูผู้ช่วยอีก 1 คนหายไปไหน ก็ได้รับคำตอบแบบขอไปทีว่า ต้องไปกับรถรับส่งน้องและช่วยเหลือห้อง อ. 2 บ้าง สรุปคือห้องลูกดิฉันมีครูดูแลเด็กเหลือเพียงแค่ 1 คน หากครูคนดังกล่าวเดินไปทำธุระหรือส่งเอกสารแล้วก็จะขังเด็กไว้ในห้องตอนบ่ายให้เล่นกันเอง เวลาเด็กปวดปัสสาวะ อุจจาระก็จะเลอะเทอะกันเลยรวมทั้งลูกดิฉันด้วย...ดิฉันสุดทนจึงย้ายลูกมาเรียนที่ใหม่เป็นรร.เทียบเท่ากันใกล้ๆ กัน แต่.. ดีกว่าเยอะ...

ถูกใจมากเหลือเกินกับบทความนี้

สิ่งดีที่สุด ของลูกในการเรียนคืออะไร โรงเรียบดังคือที่ดีที่สุดจริงหรือ

ผมไม่รู้เหมือนกันในความคิดของพ่อแม่แต่ละคน

สำหรับผมที่มีลูก สองคน โตจบมหาวิทยาลัยแล้ว..คนเล็กของผมอาจารย์คงรู้จักดี

ทั้งสองคนของผมเรียน ที่ราชินีและสวนกุหลาบ

ถามว่าผลที่ลูกได้รับจากการผ่านโรงเรียนดังเหล่านี้เป็นอย่างไร

ตอบลำบากครับ...แต่ถ้าเลือกได้ ผมจะไม่ให้เขาทั้งสองเรียนโรงเรียนดังเด็ดขาด

เพราะเหตุผลหลายอย่างคือ โรงเรียนไม่ได้สร้างอะไรให้เขาดีขึ้นสักเท่าไร

นอกจาก ตัวเด็กเองหรือผู้ปกครองเป็นผู้ผลักดันเอง โดยระบบ เด็กไม่สามารถค้นหาตัวเองว่าชอบอะไร รักอะไร อยากเรียนอะไร และระหว่างเรียนนั้นเขาไม่มีความสุข

หลานของผมซึ่งเป็นหลานปู่ถูกส่งเข้าโรงเรียนทางเลือก เช่น เพลินพัฒนา ซึ่งหวังว่าจะได้รับการดูแลให้เขาเรียนอย่างมีความสุข ค้นหาตัวเองได้

ผมเชื่อว่า เมื่อไรเรารักที่จะเรียน รักที่จะทำ เราจะทำได้ดีที่สุด และมีความสุขที่สุด

เมื่อมีความสุขแล้ว ใจของเขาก็พร้อมที่จะรักตัวเองและผู้อื่น ตลอดจนพร้อมจะเข้าใจสังคมรอบตัวอย่างเป็นธรรมชาติ และพร้อมที่จะทำอะไรให้ตัวองและสังคมรอบตัวเขา

นี่คือสิ่งที่ปู่อย่างผมหวังให้หลานของผมเป็นครับ

เป็นบทความที่ดีต่อใจครับอาจารย์

ผมเองก็ให้ลูกได้เรียนที่โรงเรียนนี้

ผมอยากจะหยุด ค่านิยมที่พ่อแม่ต้องวิ่งเต้นหาเส้นสายจ่ายแป๊ะเจี๊ยะเข้าโรงเรียนดังไว้ที่รุ่นผม

เพราะผมคุ้ยเคยกับระบบอุปถัมป์แบบนี้ บางครั้งผมเองก็เข้าใจว่าปัญหาที่ผมเจอก็จะ”แก้ได้ด้วยเงิน” เหมือนกัน

โชคดีที่ผมฉุกคิดและผมเลือกที่จะไม่ทำแบบนั้น ผมยอมเจ็บ แต่ผมจบ

และโชคดีที่ 2 ลูกชายสามารถจับฉลากเข้าไปเป็นนักเรียนโรงเรียนนี้ได้

ไม่ใช่เฉพาะ ลูกที่เติบโตไปกับโรงเรียน แต่ว่าพ่อคนนี้ก็ได้เรียนรู้ที่จะเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม คิดบวก และภาคภูมิใจในตัวเองไปพร้อมลูกเช่นกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท