ความขัดแย้งของการประหยัด...ยิ่งใช้ยิ่งรวย...ยิ่งเก็บยิ่งจน


ในส่วนบุคคลถ้าเราประหยัด มีเงินเก็บมากๆ เราก็จะมั่งคั่งขึ้นเรื่อยๆ แต่สำหรับเศรษฐกิจประเทศ หากประชาชนเอาเงินไปออมมากๆ ลดการบริโภค ผลสุดท้ายเศรษฐกิจของประเทศจะหดตัว หรือประเทศจนลง จึงเป็นความขัดแย้งระหว่างส่วนรวมกับส่วนย่อย เพราะยิ่งคนประหยัดเท่าใดก็จะยิ่งร่ำรวยขึ้น แต่จะทำให้ประเทศยากจนลง

ในเนื้อหาของการเรียนเศรษฐศาสตร์  จะมีส่วนหนึ่งที่เป็นการศึกษาถึงพฤติกรรมผู้บริโภคในการออม  กับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจ   พบว่า มีความขัดแย้งระหว่างเศรษฐกิจในส่วนย่อยกับส่วนรวม  คือในส่วนบุคคลถ้าเราประหยัด  มีเงินเก็บมากๆ เราก็จะมั่งคั่งขึ้นเรื่อยๆ  แต่สำหรับเศรษฐกิจประเทศ หากประชาชนมุ่งแต่ประหยัดโดยเอาเงินไปออมมากๆ ลดการบริโภค ผลสุดท้ายเศรษฐกิจของประเทศจะหดตัว หรือประเทศจนลง จึง  เป็นความขัดแย้งระหว่างส่วนรวมกับส่วนย่อย เพราะยิ่งคนประหยัดเท่าใดก็จะยิ่งร่ำรวยขึ้น  แต่กลับจะทำให้ประเทศจนลง    เรียกว่าเป็นปรากฏการณ์ "ความขัดแย้งของการประหยัด"

ปรากฏการณ์ดังกล่าวสามารถอธิบายอย่างง่ายๆ  ได้ด้วยหลักทางเศรษฐศาสตร์ ว่า เงินในกระเป๋าของคนเรามีทางเลือกในการใช้อยู่หลักๆ 2 ทางคือใช้ไปเพื่อการบริโภค (Consumption)  หรือ เก็บออม (Saving)     การบริโภคจะช่วยกระตุ้นอุปสงค์มวลรวม (Aggregate Demand) ให้เพิ่มขึ้น  ซึ่งการขยายตัวของอุปสงค์มวลรวมจะไปกระตุ้นภาคการผลิตให้เพิ่มปริมาณการผลิตสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น  ทำให้เศรษฐกิจขยายตัว  เพิ่มผลผลิต  เพิ่มการจ้างงาน    จึงไม่น่าแปลกใจที่บางประเทศมีนโยบายส่งเสริมการบริโภคของประชาชนจนกลายเป็นพวก "บริโภคนิยม" (Consumptionism) เพราะการบริโภคทำให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวนั่นเอง

ในทางตรงข้ามถ้าประชาชนลดการบริโภคนำเงินไปออม  จะทำให้อุปสงค์มวลรวมลดลง  ภาคการผลิตก็จะผลิตสินค้าลดลง การจ้างงานลดลง เศรษฐกิจก็จะหดตัว  

ดังนั้น หากเกิดภาวะที่มีเงินออมมากในระบบการเงิน  ขณะที่ปริมาณการบริโภคของคนลดลง   จึงต้องมีมาตรการออกมาเพื่อป้องกันการเกิดปรากฏการความขัดแย้งของการประหยัด   คือมีกลไกที่จะต้องนำเงินออมออกมาใช้เพื่อกระตุ้นภาคการผลิต   หรือมีมาตรการกระตุ้นให้ประชาชนบริโภคเพิ่มขึ้น  

ในแง่ของการประหยัด...... คงไม่มีใครเถียงว่าประหยัดแล้วไม่ดี..... แต่ในมุมมองของผู้บริหารภาคเศรษฐกิจ...คงต้องพิจารณาว่าจะให้ประชาชนประหยัดอย่างไรจึงจะไม่เกิดความขัดแย้งของการประหยัด...คือทำอย่างไรจะทำให้ความประหยัดส่งให้ประชาชนรวยขึ้น...ขณะเดียวกันประเทศก็ต้องร่ำรวยขึ้นด้วยเช่นกัน....

จะเห็นว่าการบริหารระบบเศรษฐกิจนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย   เพราะมีความซับซ้อน และมีความเชื่อมโยงกันในหลายส่วน   การเลือกใช้มาตรการใดมาตรการหนึ่งของจึงต้องวิเคราะห์ผลกระทบอย่างรอบคอบก่อน 

ทั้งนี้คำว่าประหยัด "Economy" ในทางเศรษฐศาสตร์  ไม่ได้หมายถึงใช้เงิน หรือทรัพยากรให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้... เพราะการทำเช่นนั้นเป็นพฤติกรรมของความตระหนี่.. ที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า ขี้เหนียว...

แต่ประหยัด "Economy"  หมายถึง คุ้มค่า  คือการใช้จ่ายเงินหรือทรัพยากรไปนั้นได้ผลประโยชน์ตอบแทนกลับมาคุ้มค่าหรือไม่.... การซื้อของถูกๆ ...ไม่ได้หมายความว่าเราประหยัด...ถ้าสินค้านั้นคุณภาพต่ำ  เป็นโทษต่อผู้ใช้..แม้จะถูกแสนถูกก็ไม่ประหยัด... แต่ถ้าเราจ่ายแพงกว่าเพื่อได้สินค้าคุณภาพสูง  เป็นประโยชน์ ..ก็ถือว่าเราประหยัด

อย่างไรก็ตาม.. การจะซื้ออะไรก็ตามต้องอยู่ที่อำนาจซื้อ..(Purchasing Power) หรือเงินในกระเป๋าด้วยว่ามีพอหรือไม่...ถ้าเป็นประเภทรายได้ต่ำ..รสนิยมสูง...ก็ถือว่าไม่ประหยัดนะคะ

 

หมายเลขบันทึก: 76108เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2007 14:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 05:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ผมอยากดูการอธิบายเรื่องกราฟของparadox of thrift
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท