ชีวิตจริงของอินเทอร์น : ข้อค้นพบของครู(๑)


การจัดกิจกรรมปูพื้นความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ “เรื่องเล่าเร้าพลัง” เป็นเครื่องมือในการจัดการความรู้ให้กับกลุ่มครูมัธยม และ กลุ่มครูอนุบาล ที่เป็นหัวหน้าสายวิชา และหัวหน้าระดับชั้น เมื่อวันพุธที่ผ่านมานั้นให้ผลน่าทึ่งมากทีเดียว

เมื่อถึงเวลานัดหมาย ดิฉันเริ่มต้นด้วยการให้คุณครูหนึ่ง – ศรัณธร ลองเล่าเรื่องเล่าเร้าพลังให้กลุ่มฟังโดยที่ตัวครูหนึ่งเองไม่รู้ตัวล่วงหน้ามาก่อน แต่เนื่องจากครูหนึ่งเคยมีประสบการณ์ในการเล่าเรื่องมาแล้ว ดิฉันจึงให้ครูหนึ่งเป็นคนเริ่มเล่าเรื่องให้เห็นตัวอย่างของเรื่องเล่าที่มีพลัง

แล้วก็ได้ผลเกินคาด ทั้งครูอนุบาล และคุณครูมัธยม นั่งฟังเรื่องเล่าจากครูหนึ่งกันตาแป๋ว วันนี้ครูหนึ่งเล่าเรื่อง “การเขียนที่เริ่มต้นจากการสังเกต” ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในห้อง อ.๒/๑ เมื่อสองวันก่อน

ย้อนกลับไปที่หลักคิดเบื้องต้นของโรงเรียนเพลินพัฒนา ที่เชื่อว่าเด็กๆ จะเรียนรู้ได้ดี ถ้าเขารักในสิ่งที่ทำ และที่โรงเรียนจะไม่เน้นไปที่การอ่านเขียน แต่จะเน้นให้เด็กๆได้หัดสังเกตสิ่งต่างๆ ทั้งที่เหมือนกันและที่แตกต่างกัน และทักษะในการสังเกตสิ่งต่างๆอย่างประณีตนี้เองที่ช่วยให้เด็กๆเขียนอ่านได้ดี เมื่อเขามีความพร้อม โดยไม่ต้องเริ่มจากการหัดเขียนเส้นประตามแบบตัวอักษรแม้แต่น้อย

เมื่อการสังเกตและจดจำเป็นไปอย่างดีแล้ว เด็กๆก็จะค่อยๆ เกิดทักษะในการเขียนตัวอักษร ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ได้แตกต่างอะไรกับการเขียนรูป หากเราวางใจได้ว่าการเขียนรูปของเด็กเกิดขึ้นจากการมีทักษะในการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก การใช้มือตาที่ประสานสัมพันธ์ มิติสัมพันธ์ในการกะประมาณสิ่งที่จะเขียนกับหน้ากระดาษ และกับอักษรที่อยู่ข้างเคียงแล้วล่ะก็ เด็กทุกคนก็เขียนหนังสือได้ค่ะ ถ้าคุณครูค่อยๆ สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ และการพัฒนาทักษะที่กล่าวมาแล้วข้างต้นให้เกิดขึ้นกับเขา

จากการเห็นชื่อของเขาที่ติดอยู่ในตำแหน่งต่างๆ ที่เขาต้องไปทำกิจกรรมต่างๆในห้อง เช่น ตรงที่แขวนผ้า ตรงโต๊ะอาหาร ตรงผ้าปูที่นอน ฯลฯ ไปสู่การอ่านชื่อของตัวเอง ออก และการอ่านชื่อออกด้วยการจำเป็นคำๆ

การเชื่อมถ้อยคำที่เด็กๆรู้จัก กลับมาที่ตัวอักษรที่คุ้นเคย การเห็นตัวอักษรประกอบกันเป็นคำอยู่ในนิทานเล่มโปรด ที่ช่วยสร้างเสียงที่ก่อทั้งความหมายและความสนุกเพลิดเพลิน มาจนกระทั่งถึงการเขียนตัวอักษรได้ด้วยตนเอง ในถ้อยคำที่เขาต้องการสื่อสารออกมา โดยไม่ต้องเลียนแบบนั้น ผ่านกระบวนการเรียนรู้มากมาย ครูหนึ่งจึงตื่นเต้นมากที่เห็นนักเรียนของเธอเขียนคำว่า “ท้องฟ้ามีเมฆดำ” ด้วยตัวเองได้โดยไม่ต้องถามใคร และไม่ได้ดูแบบมาจากที่ไหน

ความตื่นเต้นยินดีนี้ ฉายชัดออกมาในสีหน้า และแววตาในขณะเล่า จนกระทั่งทุกคนที่อยู่ในวงสัมผัสได้

อีกเรื่องหนึ่งที่เล่าโดยคุณครูกุ้ง – รุ่งนภา ชั้น อ.๑/๑ ก็เป็นเรื่องของการเรียนรู้จากการสังเกตและจดจำของเด็กชายคนหนึ่ง ที่มีความโดดเด่นในเรื่องของมิติสัมพันธ์อย่างมหาศาล

วันหนึ่งครูกุ้งพาเด็กทั้งห้องออกมาทำความรู้จักกับสถานที่ต่างๆในบริเวณโรงเรียน โดยเดินจากอาคารอนุบาลมาถึงอาคารประถมต้น เส้นทางนี้ผ่านเครื่องเล่น ม้าหิน สนามกีฬา เรื่อยมาจนถึงธงชาติของพี่ประถม เมื่อเดินมาถึงจุดหมายแล้วคุณครูก็พาสำรวจอยู่สักครู่ แล้วก็พาเดินกลับไปที่ห้อง จากนั้นก็ให้บันทึกภาพสิ่งที่เด็กๆ สังเกตเห็นระหว่างทาง

แล้วทุกคนที่นั่งฟังอยู่ก็ต้องทึ่งเมื่อได้เห็นภาพวาดที่มีความถูกต้องชัดเจนทั้ง ตำแหน่งสัดส่วน รูปทรง และรายละเอียดของสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในภาพ ไม่เฉพาะแต่ที่อยู่ในเส้นทางที่ได้เดินผ่านเท่านนั้น แต่ยังมีรายละเอียดของอาคาร สนามหญ้า และท้องฟ้า ที่อยู่ไกลออกไปด้วย

นอกจากนี้ยังพบอีกว่าในทักษะการอ่าน – เขียนก็ทำได้ดี เพราะเป็นความสามารถที่เกิดขึ้นจากกลุ่มทักษะเดียวกัน และเป็นการตอกย้ำความสำเร็จจากเรื่องเล่าของครูหนึ่งด้วยว่า การสังเกตคือแม่บทของการเรียนรู้ที่เป็นบันไดก้าวแรกที่จะนำพาไปสู่ความสามารถในเรื่องอื่นๆ

หมายเลขบันทึก: 76007เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2007 20:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท