การประเมินทักษะทางภาษา (8)


แนวคิดและความสำคัญของการประเมินทางภาษา ในการจัดการเรียนการสอนภาษาตามแนวการสอนภาษาเพื่อการสื่อสาร

กรอบแนวคิดในการทดสอบสมรรถภาพในการสื่อสาร (Communication Competence)  มีประเด็นที่เป็นกรอบแนวคิด  ในการทดสอบสมรรถภาพในการสื่อสารที่ครูผู้สอนควรรู้  และควรทำความเข้าใจหลายเรื่อง 

ประเด็นต่างๆได้แก่   การทดสอบสมรรถภาพในการสื่อสาร ซึ่งท่านสนใจและอ่านได้ในบันทึกนี้ค่ะ  การประเมินทักษะทางภาษา (7)  

บันทึกที่ผ่านมา  ครูอ้อยได้กล่าวถึง  ลักษณะการทดสอบที่ใช้ในการประเมินตามสภาพจริง  ต้องประเมินการสื่อสารในชีวิตจริง  โดยจะต้องมีภาระงานเหมือนในชีวิตจริง  ซึ่งแบบทดสอบทางภาษาแบบเก่า  ไม่สามารถนำเอาลักษณะต่างๆของการสื่อสารในชีวิตจริงมาเป็นส่วนหนึ่งในการทดสอบได้ 

ครูอ้อยศึกษามาว่า  จะต้องทำรายการบ่งชี้ถึงการประเมินตามสภาพจริงของทักษะทางภาษาของนักเรียน  ในรูปแบบของภาระงานที่มีลักษณะ 7 ประการ  ดังนี้ 

1.  ลักษณะเป็นภาระงานที่ยึดการมีปฏิสัมพันธ์กันเป็นหลัก  (Interaction - Based) 

2.  ลักษณะภาระงานที่เป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดเดาได้  ( Unpredictability) 

3.  ภาระงานต้องมีบริบท  (Context) 

4.  จุดมุ่งหมาย  (Purpose) 

5.  การปฏิบัติจริง  (Performance) 

6.  ความเป็นจริงแท้  (Authenticity) 

7.  การยึดพฤติกรรมที่คาดหวังเป็นหลัก  (Behavior-Based)

พอมาถึงบันทึกนี้  ครุอ้อยจะแทรกรายละเอียดเพิ่มเติมให้เข้าใจยิ่งขึ้น  มาทำความเข้าใจไปพร้อมๆกันกับครูอ้อยเลยค่ะ

1.  ลักษณะเป็นภาระงานที่ยึดการมีปฏิสัมพันธ์กันเป็นหลัก  (Interaction - Based)  เป็นภาระงานที่ต้องคำนึงถึง  ปฏิสัมพันธ์ระหว่าง  ผู้ส่งสารและผู้รับสาร  แม้แต่ภาระงานอย่างการเขียนจดหมาย  ซึ่งอาจดูเหมือนเป็นกิจรรมที่โดดเดี่ยว  แต่ผู้เขียนต้องคำนึงถึง  ความคาดหวังของผู้รับจดหมาย  ในขณะที่เขียน และความคาดหวังเหล่านี้  จะมีผลต่อเนื้อหาในจดหมาย  และวิธีการแสดงออกถึงสิ่งที่ต้องการสื่อไปถึงผู้รับ  หรือในการสัมภาษณ์นักท่องเที่ยว  ผู้สัมภาษณ์ก็ต้องคำนึงถึง  ความคาดหวังของนักท่องเที่ยว  ในขณะที่เตรียมคำถาม  ซึ่งจะมีผลต่อรูปแบบภาษาที่ใช้ในการสัมภาษณ์  และต้องสัมพันธ์กับหัวข้อที่ได้รับมอบหมาย

2.  ลักษณะภาระงานที่เป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดเดาได้  ( Unpredictability)  เป็นภาระงานที่ต้องคำนึงถึงผลที่จะได้รับเหมือนการสนทนาในชีวิตจริง  ที่ไม่อาจทำนายได้ว่า  ผู้ตอบจะตอบได้อย่างไร  ควรมีการจำกัดเวลา  เพื่อให้ผู้ใช้ภาษาต้องคิดหาวิธีการจัดการกับข้อมูลโดยเร็ว  และคิดวิเคราะห์หาคำตอบที่เหมาะสมเหมือนในสภาพชีวิตจริง

3.  ภาระงานต้องมีบริบท  (Context)  ควรมีการกำหนดบริบท  หรือสถานการณ์ที่จะต้องใช้ภาษา เพราะรูปแบบของภาษาที่ใช้ตามโอกาสต่างๆ  จะแปรเปลี่ยนไปตามบทบาท  สถานภาพและระดับความเป็นพิธีการ  การทดสอบการสื่อสารจึงควรคำนึงถึง ภาษาที่เหมาะสม  และวิธีการที่ใช้ภาษาตามสถานการณ์

4.  จุดมุ่งหมาย  (Purpose)  องค์ประกอบหนึ่งที่เห็นได้ชัดของการสื่อสาร  คือ  ทุกข้อความที่สื่อออกไป  ต้องมีจุดหมาย  ต้องมีเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่ง  ดังนั้น  ในการทดสอบการสื่อสารใดๆก็ตาม  ควรวัดความสามารถของนักเรียน  จดจำและเลือกใช้ภาษาตามหน้าที่ทางภาษาของข้อความที่สื่อออกไปนั้นได้

5.  การปฏิบัติจริง  (Performance)  การทดสอบทางภาษาเกี่ยวข้องอย่างมากกับสมรรถภาพภายในตน  (Competence)  จึงต้องคำนึงถึงเงื่อนไขต่างๆ  ที่ไม่สัมพันธ์กันทางด้ายไวยากรณ์  เช่น  ข้อจำกัดด้านความจำ  สิ่งที่หันเหความสนใจต่างๆ  การบ่ายเบนความสนใจ  และความตั้งใจ  ข้อผิดพลาดต่างๆ  เงื่อนไขเหล่านั้น  ต้องมีอยู่อย่างแน่นอน  ดังนั้น  ในสถานการณ์การใช้ภาษาแต่ละสถานการณ์  นักเรียนต้องสร้างยุทธศาสตร์ของตนขึ้นมา  เพื่อที่จะจัดการกับเงื่อนไขเหล่านั้น  ซึ่งเป็นการแสดงออก  ถึงความรู้ความสามารถ  หรือสมรรถภาพภายใน  ตัวอย่างเช่น  การใช้ข้อความเทียบเคียง  (Paraphrase)  เมื่อไม่สามารถนึกหาคำอธิบายโดยตรงได้

6.  ความเป็นจริงแท้  (Authenticity)  ภาษาที่ใช้ในการทดสอบคววรเป็นภาษาที่ใช้อยู่จริงและเป็นธรรมชาติเท่าที่จะเป็นได้  ภาษาไม่ควรถูกปรับเปลี่ยนให้ง่ายขึ้น  โดยคำนึงถึงแต่เพียงความสามารถทางภาษาของนักเรียน  เพราะรูปแบบหรือองค์ประกอบที่สำคัญของความสามารถในการสื่อสารที่เห็นได้ชัดคือ  ความสามารถในการเผชิญกับสิ่งที่ไม่สามารถคาดเดาได้  ซึ่งเป็นความจริงแท้ที่ต้องพบในชีวิตประจำวัน  นิทาน  หรือ  นิยาย  ที่ถูกปรับภาษาให้ง่ายขึ้น  (Simplified)  จะขาดความเป็นจริงแท้ไปเลย  เพราะขาดสุนทรียภาพหรือความงามทางภาษา  (Aesthetic)

7.  การยึดพฤติกรรมที่คาดหวังเป็นหลัก  (Behavior-Based) ความสำเร็จ  คือ  ความล้มเหลวของการมีปฏิสัมพันธ์ใดๆ  จะถูกตัดสิน  โดยมีผู้มีส่วนร่วมในการสร้างปฏิสัมพันธ์  ทั้งนี้โดยยึดผลที่คาดหวังเป็นพื้นฐาน  ดังนั้น  พฤติกรรมการมีปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น  ในการที่เราเชิญใครมาสักคนหนึ่ง  มาทางอาหารเย็น 2 ทุ่มวันเสาร์  จะตัดสินใจได้จากความสำเร็จที่ว่า   บุคคลที่ได้รับเชิญมา  ตรงตามเวลาที่เชิญและมีอาการหิว  หรือไม่  ทั้งนี้ไม่น่าจะมีเกณฑ์อื่น  ที่นำมาใช้ในการตัดสินไปมากกว่านี้  ดังนั้น  ในการทดสอบความสามารถในการสื่อสาร  ก็ไม่จำเป็นต้องนำเกณฑ์อื่นใดมาใช้อีก  ถ้าเกิดพฤติกรรมตรงตามที่คาดหวังแล้ว 

ครูอ้อย  คงจะต้องขอจบเรื่องนี้เพียงเท่านี้  ต่อไปจะเป็นเรื่อง  วิธีการทดสอบทักษะทางภาษา  หากสนใจติดตามได้ในบล็อก  เทคนิคการสอนภาษาอังกฤษระดับประถมศึกษา  ขอบคุณค่ะที่ติดตามอ่าน

หมายเลขบันทึก: 75874เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2007 06:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2014 15:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท