ประมงพื้นบ้านเจ้าหลาว : ความรู้ที่รอการจัดการ


ย้ายบันทึกเก่าจาก blogger.com มาเก็บใน gotoknow

 

นับเป็นโอกาสอันดีที่เข้าไปพบกับ “กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านเจ้าหลาว” ตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ในระหว่างการเดินทางเยี่ยมชมโครงการของคณะกรรมการคัดเลือกและควบคุมโครงการสิ่งแวดล้อมโลก (GEF/Small Grant Fund, UNDP) แม้ว่าการเดินทางเยี่ยมโครงการในครั้งนี้เพียงวันเดียว แต่เกิดความรู้สึกว่าคณะกรรมการ GEF ได้เรียนรู้อะไรมากมายจากชาวประมงพื้นบ้านกลุ่มนี้

ทราบว่าต้นสายปลายเหตุเริ่มจากพระสมชาย อาธิจิตโต ซึ่งท่านเป็นลูกหลานชาวประมงน้ำเค็มในแถบนี้คนหนึ่ง ท่านได้ก้าวเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ตั้งแต่ปลายปี 2543 หลังจากที่ใช้ชีวิตฆราวาสมาอย่างโชกโชน ท่านเล่าว่าเคยเป็นเสมียนโรงค้าไม้ ร่วมกิจการกับเพื่อนเปิดบริษัททัวร์ บาร์ญี่ปุ่น รับเหมาก่อสร้าง จนกระทั่งฝ่ามรสุมฟองสบู่จนแทบไม่เหลืออะไร หอบสังขารมาบ้านเกิด พักผ่อนจิตใจและทบทวนชีวิตที่ไม่เที่ยงแท้ในที่สุดได้ตัดสินใจออกบวชใช้ชีวิตบรรพชิต ปัจจุบันจำพรรษาอยู่ ณ สำนักสงฆ์เจ้าหลาว หมู่ 6 ตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี เป็นผู้ที่แสดงบทบาท “คุณอำนวย” (ผู้ที่คอยอำนวยหรือกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระหว่างกลุ่มชาวประมง) จากการที่เห็นว่าในอดีตการออกทะเลหาปลาของชาวประมงเจ้าหลาวนั้น หาปลามาได้มากมาย แต่ปัจจุบันชาวประมงต่างโอดครวญว่าหาปลาได้ยากไม่เหมือนเมื่อก่อน พระสมชายจึงชักชวนชาวประมงเหล่านั้นมาพูดคุยค้นหาปัญหาร่วมกัน จนเกิดเป็น กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านเจ้าหลาว ขึ้นเมื่อปี 2546 โดยมีนายสมาน รุ่งเรือง เขยบ้านเจ้าหลาว เป็นประธานกลุ่ม มีสมาชิกเริ่มแรก 29 คน และจากเวทีเสวนาของกลุ่มจึงเกิดแนวคิดการทำ “บ้านปลา” ขึ้น แต่กลุ่มเห็นว่ารูปแบบของบ้านปลานั้นค่อนข้างใช้เงินสูงเกินกว่าที่ศักยภาพของกลุ่มจะทำได้ จึงพัฒนาความคิดมาเป็น “ซั้ง” (วิธีเก่าแก่ที่ชาวประมงใช้ล่อปลาให้เข้ามาอาศัย) เป็นวิธีที่ใช้สิ่งของที่พอจะหาได้ในพื้นที่ โดยนำเอาทางมะพร้าวสดมาผูกติดกับเชือกเรือเก่าๆ ปลายเชือกด้านหนึ่งผูกติดกับลำไม้ไผ่จำนวน 3-4 ต้นเป็นเสมือนทุ่นที่ลอยดึงปลายเชือกขึ้นในแนวตั้ง อีกด้านหนึ่งผูกติดกับก้อนปูนซีเมนต์ที่หล่อหุ้มยางรถมอเตอร์ไซด์เก่าทำหน้าที่เป็นลูกตุ้มถ่วงอยู่บนพื้นดินใต้ทะเล ซั้ง ที่สมาชิกกลุ่มชาว
ประมงพื้นบ้านร่วมแรงร่วมใจกันทำขึ้นมาได้ถูกขนลงเรือและนำไปทิ้งตามแนวปากอ่าว เป็นแถวคู่เรียงยาวกันไป เมื่อซั้งเหล่านี้เริ่มเน่าเปื่อย สิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก เช่น แพลงค์ตอนพืชและสัตว์ ก็จะเข้ามาอาศัยเกิดเป็นศูนย์อาหารขนาดย่อมๆ ดึงดูดปลาเล็กปลาน้อยเข้ามาหากินจำนวนมาก จนเป็นที่สนใจของปลาใหญ่เข้ามากินปลาเล็กตาม ระเบียบของธรรมชาติ หลังจากที่กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านได้ทิ้งซั้งไปได้ระยะหนึ่งก็เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ออกทะเลหาปลาแต่ละครั้งได้ปลามากขึ้น และไม่ต้องออกไปหาปลาไกลๆ เหมือนแต่ก่อน การทิ้งซั้ง จึงเป็นกิจกรรมเริ่มต้นที่ผูกโยงให้สมาชิกชาวประมงพื้นบ้านเกาะกลุ่มเดินกิจกรรมร่วมกัน สมาชิกแต่ละคนเกิดความสามัคคีในหมู่คณะของตนแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ต่างจากเดิมซึ่งต่างคนต่างทำ จากการพูดคุยสั้นๆ พบว่าชาวประมงเจ้าหลาวแต่ละคนสะท้อนความคิด ความรู้สึกที่แสดงถึงการมี “จิตสาธารณะ” ทุกคนต่างมองที่ประโยชน์ของชุมชนเป็นลำดับแรก คุณสมาน รุ่งเรือง ประธานกลุ่มเล่าให้ฟังว่า กลุ่มมีแนวคิดที่จะพัฒนาต่อยอดจากกิจกรรมที่ทำอยู่เดิม เพื่อให้เงินทุนของกลุ่มที่มีอยู่เพียงเล็กน้อยนั้นได้งอกเงยและใช้ได้ยาวนานยิ่งขึ้น อาจจะออกมาในรูปแบบการเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชัง โดยให้สมาชิกกลุ่มบริจาคปลา ปู ที่มีไข่ที่จับมาได้ให้กับกลุ่ม กลุ่มจะเลี้ยงต่อจนกระทั่งปลาหรือปูวางไข่ หลังจากนั้นก็จะจับขายเอาเงินมาเข้ากองทุน แต่ ณ ขณะนี้ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ พระสมชายอธิบายให้คณะกรรมการ GEF ฟังว่าท่านได้พูดคุยกับสมาชิกชาวประมงเจ้าหลาวถึงเรื่องพันธุ์ปลาที่หายาก หรือพันธุ์ปลาที่เคยเห็นแต่ก่อนแล้วค่อยๆ หายไป ให้ชาวประมงในกลุ่มช่วยกันแจ้งรายชื่อปลาเหล่านั้น รวมไปถึงปลาอื่นๆ ที่ยังคงหาได้ เพื่อเป็นการรวบรวมพันธุ์ปลาทั้งหมดในแถบนี้ให้รู้ว่าปลาอะไรบ้างที่เหลือน้อยต้องคอยอนุรักษ์ไว้ และหากว่าปลาชนิดใดที่มีแนวโน้มว่าจะลดลง จะได้หาวิธีป้องกันต่อไป


นอกจากเรื่องทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลแล้ว พระสมชายและกลุ่มประมงพื้นบ้านเจ้าหลาวยังมีแนวคิดบูรณะบริเวณลานวัดให้เป็นสถานที่ดึงดูดให้ผู้คนที่มาเที่ยวหาดเจ้าหลาวได้เข้ามาซื้อสินค้าพื้นบ้านที่ผลิตโดยคนในชุมชนเจ้าหลาว ซึ่งปัจจุบันมีอาคารแสดงซากปลาวาฬที่ก่อสร้างขึ้นในบริเวณวัด พบเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2547 ในสภาพที่เสียชีวิตมาแล้วประมาณ 50 วัน คาดว่าเสียชีวิตจากอาการบาดเจ็บที่เกิดจากการชนกับเรือบรรทุกขนาดใหญ่ เพราะกระดูกบริเวณหน้าผากหัก สันนิฐานว่าเป็นปลาวาฬบูรด้า (Balaenoptera edeni) มีขนาดความยาวลำตัวจรดหาง 11.50 เมตร สมาชิกชาวประมงเป็นผู้พบซากและได้หารือพระสมชาย จึงตัดสินใจนำกระดูกมาแสดงในบริเวณวัดดังที่เห็น


คุณสมาน และสมาชิกกลุ่มประมงพื้นบ้านเจ้าหลาวท่านอื่นๆ ได้บอกเล่าถึงวิธีการออกทะเลหาปลาที่สืบทอดทำกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ เป็นความรู้เฉพาะทางที่น่าสนใจอย่างยิ่ง และเชื่อว่าไม่เคยมีสอนในสถาบันการศึกษาที่ใดมาก่อน   เช่น ก่อนออกเรือประมาณตี 2 - 4 ชาวประมงใช้วิธีสังเกตสภาพอากาศโดยใช้ฝ่าเท้าลูบบนแผ่นหญ้า หรือใช้มือลูบจับใบไม้ใบหญ้า หรือบ้างก็ดูท้องเรือ หากพบว่าแห้งผากไม่มีความชื้นของน้ำค้างอยู่เลย พวกเขาค่อนข้างมั่นใจว่ายังออกทะเลขณะนั้นไม่ได้ ต้องรอดูสภาพอากาศไปอีกระยะหนึ่ง หากไม่ดีขึ้นก็จำเป็นต้องหยุดออกเรือ เพราะค่อนข้างเสี่ยงต่อฝนฟ้าคะนองหรือลมมรสุม คุณสมานเล่าประสบการณ์เผชิญลมมรสุมในทะเลให้ฟังว่า เครื่องยนต์จะต้องประคองไว้ไม่ให้ดับ ใช้เชือกไอ้เหลือม (เชือกสลิงที่มีเชือกขนาดใหญ่พันโดยรอบ) มัดติดอกเรือให้แน่น และใช้เทคนิคการหมุนเรือทีละนิดตามจังหวะแรงลม ซึ่งฟังแล้วยากที่จะเข้าใจได้ เหล่านี้เป็นต้น

ยังมีเกร็ดความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาชาวเลอีกมาก แต่น่าเสียดายว่าความรู้เหล่านี้ยังฝังอยู่ในตัวชาวประมงเป็นส่วนใหญ่ เด็กรุ่นใหม่ลูกหลานชาวประมงก็ยังไม่ได้เรียนรู้ โรงเรียนปฐม หรือระดับมัธยมที่อยู่ในชุมชนประมงก็ไม่มีหลักสูตรที่แฝงเรื่องราวเหล่านี้ไว้ หรือแม้แต่ศาสตร์สาขาประมงทะเลในระบบการศึกษาที่มีอยู่ เชื่อว่ามีการรวบรวมความรู้เหล่านี้ไว้ น้อยมาก เป็นความรู้เชิงปฏิบัติที่เกิดขึ้นจากการกระทำซ้ำๆ เกิดจากสังเกตครั้งแล้วครั้งเล่า หรือแม้แต่บางครั้งต้องแลกมาด้วยชีวิตจากการเผชิญลมมรสุมในขณะออกเรือ น่าเชื่อถือหรือไม่นั้น ก็ต้องลองคิดดูกันเองนะครับ

14 กันยายน 2547

สนใจดูกิจกรรม UNDP (ประเทศไทย)  คลิ๊กไปที่  http://www.undp.or.th/

หมายเลขบันทึก: 75637เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2007 07:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 14:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
    อยากให้ชายฝั่งที่อื่นๆหันมาทำแบบที่นี้บ้าง  ไม่ใช้เอาจากธรรมชาติโดยไม่คืนกลับไปเลย
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท