จัดการความรู้ จัดการกับใคร


KM ในองค์กรจะเกิดไม่ได้ ถ้าผู้ปฏิบัติงานแต่ละคนไม่จัดการความรู้ในตัวเอง

          เมื่อวานนี้ผมได้ไปร่วมประชุมมหกรรมจัดการความรู้ของกลุ่มโรงพยาบาลในเขตภาคเหนือตอนล่าง ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร

          อาจารย์ประพนธ์ขอให้ผมพูดเรื่องภาพรวมของการบูรณาการระหว่าง HA กับ KM ซึ่งผมพูดไปตามประเด็นนี้ไปนิดเดียว ว่าทุกองค์กรมีหน้าที่และเป้าหมายที่จะต้องทำให้สำเร็จ  HA และ KM เป็นเครื่องมือเพื่อช่วยให้องค์กรทำหน้าที่ตามเป้าหมายได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น  หัวใจสำคัญของ HA คือการประเมินและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง  หัวใจของ KM คือการสร้างและใช้ความรู้ในการทำงาน  ต่างก็เสริมซึ่งกันและกันเพื่อเป้าหมายที่งาน

          เครื่องมือต่างๆ ที่ HA ออกแบบไว้ สามารถนำมาใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการเรียนรู้ได้ เช่น กิจกรรมทบทวนต่างๆ

          เวลาพูดเรื่องจัดการความรู้ โดยทั่วไปเรามักจะคิดถึงการจัดการในภาพรวมขององค์กร หรือการจัดระบบภายในองค์กร  ซึ่งเรื่องนี้ได้พูดกันมากแล้ว  เป็นหน้าที่ของผู้บริหารที่จะต้องจัดการ

          แต่เราต้องตระหนักว่าความรู้เกิดจากบุคคลแต่ละคน  การสร้างความรู้หรือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในองค์กรจะเกิดไม่ได้ถ้าแต่ผู้ปฏิบัติงานแต่ละคนไม่จัดการความรู้ในตัวเอง ไม่จัดการให้ตัวเองสร้างและใช้ความรู้   เราจึงควรสนใจให้มากว่าจะทำให้ผู้ปฏิบัติงานแต่ะคนเรียนรู้และสร้างความรู้จากงานประจำที่ทำอยู่เป็น routine ได้อย่างไร

          ผมให้สูตรไป 3’ tion เพื่อให้แต่ละคนเป็นคนเรียนรู้หรือ KM practitioner คือ observation, reflection, imagination และไปได้ต่อจากคุณหมอประเทืองที่น่าสนใจอีก 1 ซึ่งเป็นตัวตั้งต้นคือ question  รวมเป็น 4 ’tion ซึ่งจะขยายความเพิ่มเติมดังนี้

          Question คำถามพื้นฐานคือวันนี้เราจะได้เรียนรู้อะไรจากผู้ป่วยและเพื่อนร่วมงาน ผู้ป่วยรายไหนที่มีประเด็นน่าสนใจที่ควรจะเรียนรู้ สิ่งแวดล้อมรอบตัวมีแบบแผนอะไร เป็นปกติหรือไม่ปกติ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ฯลฯ

          Observation การสังเกตเป็นที่มาของความรู้  สิ่งที่พบจากการสังเกตซ้ำแล้วซ้ำอีกจนเกิดข้อสรุปที่ปราศจากอคติ คือการเปลี่ยนจากความรู้สึกมาเป็นความรู้จริง

          Reflection การทบทวนไตร่ตรอง ทบทวนว่างานของเรามีเป้าหมายอะไร ทำได้บรรลุเป้าหมายหรือไม่ ได้บทเรียนอะไรเกิดขึ้น

          Imagination จินตนาการ คือการหาทางออกใหม่ๆ สร้างความเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆ นำไปสู่การทดลองใหม่ๆ และความรู้ใหม่

          งานของเราคือครู ผู้ป่วยของเราคือครู  วัตถุดิบเพื่อการเรียนรู้มีอยู่รอบตัวเรา  อยู่ที่ว่าเราจะหยิบฉวยมาใช้ให้เกิดประโยชน์หรือไม่

          ถ้าทุกคนทำได้อย่างนี้ ถึงผู้บริหารขององค์กรไม่จัดการอะไร ก็เกิดคนเรียนรู้และองค์กรเรียนรู้ขึ้นได้  ถ้ายิ่งผู้บริหารเข้ามาทำให้เกิดระบบขึ้น ก็ยิ่งได้มากขึ้น

           

คำสำคัญ (Tags): #km
หมายเลขบันทึก: 7539เขียนเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2005 11:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ครั้งนี้คุณหมออนุวัฒน์พูดสั้นและเข้าใจง่ายดีค่ะ

 

เห็นด้วยกับคุณน้ำ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท