KM ราชการ ... (3) แผนใช้ KM กรมสุขภาพจิต 2550


ที่มาที่ไปของทำแผนในองค์กร และเรามีกลยุทธ์ใช้ KM กับเกณฑ์ของ ก.พ.ร. กันอย่างไร เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการจัดการความรู้

 

อีกครั้งหนึ่งนะคะ กับการสรุปเรื่องราวยาวๆ ดิฉันก็คงต้องขออนุญาติ ขยายเรื่องย่อยออกไปอีกสัก 1 บันทึก รวบยอดค่ะ

อ.อ้อ นำเข้าเรื่องค่ะ

"ช่วงนี้ หน่วยงานราชการจะต้องทำแผนใช้ KM ปี 2550 ส่ง ก.พ.ร. ภายในสิ้นเดือน และอาทิตย์นี้ก็เป็นอาทิตย์สุดท้าย ... วันนี้เราจึงจะพูดกัน ... มากกว่าการกรอกแบบฟอร์มทำแผนฯ เราจะมาพูดกันในเรื่อง ที่มาที่ไปของทำแผนในองค์กร และเรามีกลยุทธ์ใช้ KM กับเกณฑ์ของ ก.พ.ร. กันอย่างไร เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการจัดการความรู้ ... เพราะเราก็รู้กันว่า ความตั้งใจของ ก.พ.ร. นั้น อยากให้นำเครื่องมือตัวนี้ไปใช้ เพื่อให้นำไปสู่ความสำเร็จขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์อันใดอันหนึ่งขององค์กร หรือว่าให้เกิดความสุข เกิดประสิทธิภาพ หรือเกิดประสิทธิผลของงาน ไม่พูดอยู่แค่แบบฟอร์มเล็กๆ 2 อัน แต่ราจะชี้ให้เห็นกว้างกว่านั้น ... เป็นแผนการใช้ KM เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายขององค์กร

หน่วยงานที่เลือก เป็น Best Practice และพร้อมทางด้านนี้ คือ กรมสุขภาพจิต และกรมอนามัย มาช่วยสะท้อนให้เห็นว่า ปีนี้คิดอย่างไร จึงเลือกตัวนี้ขึ้นมาทำ และมีแผนซ้อนแผน แผนที่มากกว่าแผนยังไง ที่ว่า ผลักดันให้เป้าหมายขององค์กรสำเร็จได้โดยใช้เครื่องมือ KM

ครั้งนี้ มีผู้แทนจาก ก.พ.ร. ที่ได้เข้ามาร่วมสัมมนาด้วยก็คือ คุณกลิ่นจันทร์ และคุณธนจักร ค่ะ

ตอนนี้ก็เข้าเรื่อง Reality … KM สู่เป้าหมายหน่วยงาน ปี 2550 เริ่มที่ กรมสุขภาพจิต ค่ะ ท่านรองฯ วชิระ  เพ็งจันทร์ จะเป็นผู้เล่าให้ฟัง ... ผมจะมาเล่าให้ความคิดเบื้องหลังกิจกรรม ว่า คิดยังไง ถึงได้ทำเช่นนั้นครับ

เราทำงานกันมาเกือบ 2 ปี ที่ ก.พ.ร. ได้มอบหมายมาว่า กรมทุกกรมต้องมี CKO

  • เราก็พยายามกระตุ้นท่านอธิบดีว่า อยากให้ท่านพูดว่า ให้ทำ KM เพื่อสร้างความมั่นใจว่า KM เป็นเครื่องมือในการพัฒนาคน พัฒนางานได้ ให้ท่านเชื่อมั่น และมั่นใจทีมงานของท่าน และท่านได้แสดงความจริงจัง มุ่งมั่น ให้กำลังใจกับหน่วยงานให้ทำงานภายใต้เครื่องมือ KM
  • ผมพยายามไปปรากฏตัวในทุกเวทีของ KM กรมฯ เมื่อครั้งที่ผมเป็นผู้อำนวยการ รพ. ผมเชื่อมั่นว่า HA เป็นเครื่องมือที่ดี เหมาะสมที่จะพัฒนา รพ. ของเราให้มีคุณภาพ ตอบสนองต่อการแก้ปัญหาของประชาชน ปัญหาการทำงานมีน้อย มุ่งไปสู่ Zero defect ที่ รพ. ผมว่า HA นั่น ใช่ และกรมสุขภาพจิตก็ผ่าน HA ไปแล้ว 7 หน่วย เป็นสัดส่วนที่เยอะที่สุดของกรมต่างๆ ในกระทรวงสาธารณสุข แต่เรายังไม่พอแค่นั้น เราต้องการให้ครอบคลุม 100% ใน 2-3 ปี
  • พอปี 2550 ในฐานะ CKO ผมจะบอกเสมอว่า เครื่องมือ KM เป็นเครื่องมือที่ผมคิดว่าเหมาะสมที่สุด ที่จะใช้พัฒนาคน พัฒนางาน ของส่วนราชการ ... กรมสุขภาพจิตเป็นกรมวิชาการ ทำงานบนฐานความรู้ พัฒนาคนให้มีวัฒนธรรมของการเรียนรู้ เอาความรู้ไปใช้ในการทำงาน ... KM ถ้าเราทำอย่างเข้าใจ จะสนุก และสามารถผสมผสานให้เนียนเข้าไปในเนื้องานได้ นี่เป็นการแสดงออกของ CKO

ในการจัดการความรู้ เมื่อมีเงื่อนไขของ ก.พ.ร. ผมถือว่าเป็นข้อจำกัด เพราะว่ามีเงื่อนไขเยอะตามสมควร ด้วยความเข้าใจ ก.พ.ร. ว่า เขาพยายามจะให้เครื่องมือการพัฒนาส่วนราชการมาทีละเครื่องมือ แต่การที่ให้มาทีละเครื่องมือเป็นแบบแยกส่วนนี้ มันยาก มาแบบแยกส่วน เดี๋ยวเอา KM มา เดี๋ยวเอา PMQA มา เดี๋ยวเอา การบริหารความเปลี่ยนแปลง - BluePrint for Change มา มาทีละส่วน ... พอจะรวมกันเป็น Hamberger Model ก็เลยยาก ... เราก็เลยแยก KM ออกมาพิเศษ และทีมเราก็คิดว่า สุดท้ายก็จะรวมส่วนให้ได้ นี่ก็เป็นขาหนึ่ง

อีกขาหนึ่งเป็นเรื่องของ KM ตามความต้องการของทีมงานกรมสุขภาพจิต เป็น KM ที่เราอยากจะทำ และทำตามสไตล์ บริบท วัฒนธรรมองค์กรของเรา ตอนนี้เราแยกเป็น 2 ขา และสุดท้าย เราจะพยายามบูรณาการให้เนียนในเนื้องานในที่สุด

เราทำตามแนวทาง 7 กระบวนการ 6 ขั้นตอน ของ ก.พ.ร. ที่จะนำมาทำเป็นแผนของกรมฯ + + + แนวทางของ สคส. ที่มีโมเดลปลาทู คือ KV KS KA ซึ่งตรงกับกรมฯ เพราะว่าการจัดกลุ่มแลกเปลี่ยนแบ่งปันความรู้ เป็นอาชีพของเรา เราคิดว่า เราทำให้ผู้ป่วยโรคจิตเขาแลกเปลี่ยนแบ่งปันเทคนิควิธีการที่จะอยู่กับปัญหาได้ ทำไมคนดีดีอย่างพวกเราจะทำไม่ได้ โดยเฉพาะตัว KS ก็เป็นสิ่งที่ใช้ เราจึงเลือกที่จะใช้โมเดลนี้ ในการที่จะพัฒนาคน พัฒนางาน

กระบวนการการบริหารการเปลี่ยนแปลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หลายๆ ท่านบอกว่า KM ไม่ต้องมีทีมงานก็ได้ แต่กรมสุขภาพจิตมีคนเกือบ 6,000 คน คิดว่า เราต้องจัดโครงสร้าง ... จะทำให้รู้ว่า ใครนำ ใครตาม ... รู้ว่า ใครอยู่ในส่วนไหน ตำแหน่งใด และบทบาทของตนเป็นอย่างไร และก็บทบาทของตั้งแต่ CEO CKO (คุณเอื้อ) คุณอำนวย กลุ่มคุณอำนวย คุณกิจ ควรเป็นอย่างไร

เมื่อมีทีมงานในส่วนกระบวนการนำ ก็มาคุยต่อว่า เราจะเดินทางไปอย่างไร แต่ละปีควรเป็นอย่างไร ถ้าเราเน้นว่า ปี 2549 จะจัดการความรู้เพื่อพัฒนาคน เพื่อให้คนเหล่านี้เป็นคนที่นำความรู้ไปทำงาน เพื่อให้คนมีสุขภาพจิตดี และปี 2550 เราก็จะปรับเปลี่ยนทั้งคน ทั้งงาน และปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานของคนทำงาน

เมื่อปี 2548 เราให้ทุกคนรู้จัก KM ทุกคน ทุกหน่วย กอง/สำนัก ในส่วนกลางประมาณ 6-7 สำนักฯ 15 ศูนย์เขต ที่ดูแลทั่วประเทศ มี รพ. / หน่วยบริการ 17 หน่วย ทุกคนทำ KM ใครอยากทำอะไรก็ว่าไป แต่ต้องทำ หาความรู้มาเอง พอปี 2549 มีเงื่อนไขของ ก.พ.ร. ว่า หน่วยงานต้องมีอย่างน้อย 1 หน่วย ที่จะดำเนินการเรื่อง KM ตามแนวทางของ ก.พ.ร. เราก็ได้ไปทำงานร่วมศูนย์สุขภาพจิตภาคใต้ กับ รพ.จิตเวช สงขลา ... คิดกันว่า ถ้าเราจะทำให้ประชาชน และเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในภาคใต้ มีความสุข ท่ามกลางความทุกข์ได้นี้ องค์ความรู้อะไรที่สำคัญที่สุด และพวกเราจะรู้ได้อย่างไรว่า อันนั้นสำคัญที่สุด ก็มีกระบวนงานบ่งชี้ ที่ทบทวนกันมา ทั้งในพื้นที่ และเอกสารวิชาการ ... เราก็บอกว่า เรื่องของการปรับตัว ยืดหยุ่น ยืนหยัด นี่ละสำคัญ

ส่วนหน่วยงานอื่นๆ เราก็บอกว่า สุขภาพจิตในภัยพิบัติเป็นเรื่องใหม่ และภัยพิบัตินั้น จะมากขึ้นมากขึ้น ก็จะรับมือกันอย่างไร เราก็มีเรื่องสุขภาพจิตชุมชนด้วย ซึ่งจะอยู่ใน รพ. เป็นส่วนใหญ่ นี่เป็นภาพของปี 2549

ในปี 2550 เมื่อ ก.พ.ร. มีเงื่อนไขขึ้นมาอีก ปีที่แล้วเราให้ทำงาน KM โดยไม่ต้องเกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ ... ปีนี้ให้ทำ KM เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตัวชี้วัดตามยุทธศาสตร์ และมีคะแนนมาล่อ ... คือ ก.พ.ร. จะมีเงื่อนไขมาอย่างไรก็ตาม เราก็จะกระตุ้นหน่วยงานภายใต้กรมสุขภาพจิต ให้ทำงานอย่างชาญฉลาด และบรรลุเป้าหมายของกรมฯ

เราก็เลยมอบหมาย 2 หน่วยงานเป็นแกน

  • แกนหนึ่งก็คือ หน่วยของโรงพยาบาล ได้แก่ รพ.สมเด็จเจ้าพระยา เป็นแกนขับเคลื่อนหน่วยบริการ 13 หน่วย
  • และอีกส่วนหนึ่ง คือ ศูนย์เขต
  • และขอให้ทุกหน่วยงานดำเนินงานเรื่อง KM อย่างน้อย 1 เรื่อง นี่เป็นเป้าหมายเชิงนโยบายของกรมสุขภาพจิต ปี 2550

เมื่อกำหนดทีมคนทำงาน ทิศทาง นโยบาย ที่จะทำงานให้เป็นระบบ ทั้งคนทำงาน ทั้งเรื่องของเครือข่ายคนทำงาน ก็มีกระบวนการหนึ่งที่สำคัญ คือ การสื่อสาร การดำเนินการคือ

  • เอาเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมกรมฯ 2-3 เดือน ต่อ 1 ครั้ง เพื่อแสดงออกถึงความมุ่งมั่นว่า องค์ประชุมกรม ทีมแกนนำ ต้องรู้เรื่อง KM และให้ความสำคัญ
  • นอกจากนั้นก็เป็นการสื่อผ่านคณะทำงาน ผ่านเวปไซต์ของกรมสุขภาพจิต อบรม ประชุม สัมมนา เราจะไม่ลืมคำว่า KM เป็นกระบวนการสื่อสาร ที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันในทุกระดับ

จุดที่เป็นโอกาสการพัฒนาอย่างมากของกรมฯ คือ เราขาดคุณลิขิต ที่สามารถจับประเด็นความรู้หลักๆ ที่สำคัญ และอีกส่วนหนึ่งที่ขาด คือ การเอาความรู้ไปพัฒนางานเพื่อให้บรรลุตามแผนงาน ... การดำเนินงานปี 2550 เราจึงจะพัฒนา Facilitator, Note taker และพัฒนา CKO ระดับหน่วยงานย่อย ผู้อำนวยการ รองฯ ในการนำความรู้ไปผลักดันยุทธศาสตร์ในการทำงานให้บรรลุผล

ประเด็นหลักที่ ก.พ.ร. ให้ราชการจัดการความรู้ ภายใต้ประเด็นยุทธศาสตร์ 2 เรื่อง และต้องไม่ซ้ำกับปีที่แล้ว สุขภาพจิตโชคดีที่มีประเด็นยุทธศาสตร์ข 3 ประเด็น (เพราะว่าบางกรมมียุทธศาสตร์เดียว ประเด็นเดียว) เราเลือก 2 ประเด็น คือ ยุทธศาสตร์พัฒนาคุณภาพมาตรฐานของระบบบริการสุขภาพจิต ประเด็นที่ 2 คือ การพัฒนา ถ่ายทอดเทคโนโลยีทางด้านสุขภาพจิต ส่วนยุทธศาสตร์ที่สาม คือ บำบัดรักษาฟื้นฟู และป้องกันปัญหาการติดสารเสพติด ยังไม่ใช่ภารกิจหน้าที่ หรือพันธกิจโดยตรง ยังถกเถียงกันอยู่ว่า กรมสุขภาพจิต และกรมการแพทย์ ใครควรรับผิดชอบ ประเด็นก็เลยเก็บไว้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 ... เรื่องการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานของระบบบริการสุขภาพจิต กรมฯ มี 3 ตัวชี้วัด

  1. เรื่องของ HA เราตกลงกับ ก.พ.ร. ว่า ปีนี้จะได้การรับรองกี่หน่วย เรื่องนี้มีเครื่องมือ HA ที่ดีอยู่แล้ว ทำอย่าง active อยู่แล้ว และมีทิศทางไปในทิศทางเดียวกันอยู่แล้ว ก็ถือว่า บรรลุแน่
  2. เมื่อผู้ป่วยใน ถ้ามีความต้องการรับไว้รักษา ต้องรับได้ 100% ข้อนี้เราคิดว่า ก็คิดว่า ใช้เรื่องการจัดการไปจัดการได้แล้ว ไม่ต้องใช้ความรู้มากมาย เพราะว่าเมื่อคนไข้มี criteria ที่พร้อม ผู้บริหารกรมฯ ก็บอกว่า คุณต้องพร้อม อย่ารีรอที่จะรับไว้ ก็ใช้การจัดการ
  3. ประเด็นนี้ต้องใช้ความรู้ คือ ผู้ป่วยร้อยละ 95.5 ที่ discharge ออกไปแล้ว ไม่กลับมา revision ภายใน 28 วัน ตรงนี้ความรู้เยอะที่จะมาทำ เราก็ได้ คุยกันว่า ความรู้อะไรยิ่งยวด ที่จะมาทำให้เกิด revision น้อยที่สุด ไปอยู่ในชุมชนมากที่สุด ... ก็คุยกันในเรื่อง ระบบการพัฒนาผู้ป่วยในให้มีคุณภาพ ซึ่งทำกันอยู่แล้ว การเตรียมครอบครัว การเตรียมชุมชน และอื่นๆ เลือกที่เป็นแกน คือ รพ.ศรีธัญญา

ในยุทธศาสตร์ที่ 2 มีงาน 3 งานใหญ่ๆ ซับซ้อนตามสมควร

  1. ตัวชี้วัดอันแรก คือ การดำเนินการแก้ไข และป้องกันสุขภาพจิตแก่ประชาชน ต้องมีผลชัดว่า แก้ไขได้ ป้องกันได้ ตัวชี้วัดตัวนี้ยังตกลงกัน ระหว่าง กรม กระทรวง และ ก.พ.ร. ยังไม่ชัดเจนว่าจะเอาเรื่องอะไร เพราะว่าแต่ละประเด็นมีความแตกต่างตามสมควร
  2. ประเด็นที่ 2 ความสุข ตามดัชนีชี้วัดความสุขของคนไทย เป็นประเด็นใหญ่ นิยามก็มีความแตกต่างเยอะ มิติของกรมสุขภาพจิตเป็นประเด็นเล็กๆ ก็รอของรัฐบาลให้นิ่งก่อน เพราะความสุข ของรัฐบาลไทย เป็นประเด็นใหญ่
    ... เรื่องที่เกี่ยวข้องกับเราโดยตรง คือ ความเครียด เขาบอกว่า ถ้าเราไปทำงาน กับ ปชช. ความเชี่ยวชาญก็ต้องลดลง อันนี้ตรงกับของกรมสุขภาพจิตของเรามากที่สุด เราคุ้นเคยกับเรื่องความเครียด มีความรู้หลากหลายลงไปจัดการ ... ผมเชื่อว่า ความรู้ทั้งหลาย เราสามารถไปจัดการได้ ... เรื่องความเครียด ก็เกี่ยวข้องกับช่วงวัย หรือบริบท ... ความรู้เรื่องไหนสำคัญที่สุด เราก็เชื่อในเรื่อง เทคนิคการถ่ายทอดความรู้ เรื่องสุขภาพจิต ความเครียด กับการจัดการความเครียดน่าจะเหมาะที่สุด ให้ศูนย์เป็นเจ้าภาพจัดการร่วมกัน

เมื่อได้ความรู้แล้ว จึงนำมาทำแผนการจัดการความรู้ หน่วยงานจะมีคณะทำงาน ในการดำเนินการได้ทำความเข้าใจเรื่องการจัดทำแผน KM และดึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมามีส่วนร่วมในการจัดทำแผน ซึ่งทาง ก.พ.ร. ถ้าส่งตามกำหนดก็จะมีคะแนนให้ด้วย เราสามารถส่งได้ภายใน 31 มค.50 ... เมื่อได้ดำเนินการตามแผนฯ แล้วก็ จะมาวัดกัน ว่า ตัวชี้วัดแต่ละตัวนั้น บรรลุได้คะแนนอย่างน้อย 4 ขึ้นไป ซึ่งก็ต้องดูกันเมื่อปลายปี

KM ตามสไตล์ของกรมสุขภาพจิต เราเน้น KM ว่า เป็นเครื่องมือที่สำคัญ ในการพัฒนาคน พัฒนางาน หน่วยงานต่างๆ จะมี CKO (คุณเอื้อ) คุณอำนวย คุณกิจ ชุมชนนักปฏิบัติ ของหน่วย เราก็ให้เขาจัดการความรู้ เพื่อแก้ปัญหาสุขภาพจิตประชาชนในพื้นที่ ทางกรมฯ จะคอยกระตุ้น ส่งเสริม สนับสนุน และจัดเวทีเข้ามา ลปรร. กัน ในเดือน มิย.50 ... ก็คือ ตลาดนัดสุขภาพจิต ปีที่ 2

ตามต่ออีกสักตอนนะคะ จะมีผู้ให้ข้อคิดเห็นที่น่าสนใจตามมานะคะ

 

หมายเลขบันทึก: 74798เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2007 14:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 10:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
เด็กฝากของกรมสุขภาพจิต

km.ที่มีในเอกสารนี้จะให้กลุ่มงานสุขภาพจิตในโรงพยาบาลทั่วไปได้เรียนรู้บ้างได้ไหมค่ะ เพื่อเป็นกุศลให้ทางฝู้ปฏิบัติที่ไม่ใช่หน่วยงานจิตเวชตรงๆ ได้เรียนรู้นำมาใช้ในงานที่ทำอยู่ปัจจุบันนะค่ะ กราบขอบพระคุณมา ณ.ที่นี้

  • ยินดีอย่างยิ่งค่ะ คุณ เด็กฝากของกรมสุขภาพจิต ... (เป็นยังไงคะ เด็กฝาก)
  • อย่าลืมหารือ KM Team ของกรมสุขภาพจิตด้วยนะคะ
  • เพื่อ confirm ในรายละเอียดให้มากขึ้นละค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท