ยุทธศาสตร์ปฏิรูปสังคม 2550 : มุมมองของผู้มาใหม่ (1)


“ชีวิตฉันก็เฝ้าแต่รอข้าวกล่องของเธอนี่แหละ...”

ช่วงปลายปี 2549 ที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญจากคุณปรีดี คัมภีรกิจ หัวหน้าสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พมจ.) จ.ชุมพร ให้เข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ของกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ภายใต้รัฐบาลใหม่ ซึ่งบทบาทของกระทรวงนี้เป็นที่จับตามองของกลุ่มนักพัฒนาสังคม, ผู้ที่ทำงานอยู่ในองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO), นักวิชาการ และภาคีเครือข่ายประชาสังคม ฯลฯ ทั้งนี้เพราะเป็นการเข้ามาทำงานร่วมกันในระดับนโยบายของ สามพี่น้องตระกูล NGO ซึ่งเป็นคำเรียกขาน รัฐมนตรี-นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม, เลขานุการรัฐมนตรี-น.พ.พลเดช ปิ่นประทีป และที่ปรึกษา-นายเอนก นาคะบุตร โดยหนังสือพิมพ์เนชั่นสุดสัปดาห์ (ฉบับวันที่ 24-30 พฤศจิกายน 2549 หน้า 86)

บรรยากาศในการประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2549 สร้างความรู้สึกตื่นตาตื่นใจให้เกิดขึ้นกับตัวผมในระดับหนึ่ง เพราะผู้เข้าประชุมส่วนหนึ่งเป็น คนคุณภาพ ที่ได้เคยร่วมงานกันมาตั้งแต่ปี 2546 ในโครงการบูรณาการแผนชุมชนโดยมีสภาพัฒน์เป็นเจ้าภาพหลัก ร่วมกับ 5 ภาคีเครือข่ายจากกระทรวงมหาดไทย, เกษตร, ศึกษา, สาธารณสุข และหน่วยงานทหาร

บุคคลเหล่านี้หลายท่านเคยมีบทบาทในโครงการ SIF (Social Investment Fund) ซึ่งเป็นการลงทุนเพื่อสังคม บางท่านเป็นบัณฑิตอาสา, บัณฑิตกองทุน, ธนาคารหมู่บ้าน, อาสาสมัคร พอช. (สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน) ฯลฯ เรียกได้ว่ามีผลงานทางด้านการพัฒนาสังคมมาอย่างโชกโชน เป็น ตัวจริง-เสียงจริง ในหมู่นักพัฒนาที่เคลื่อนไหวอยู่ในชุมชนหมู่บ้านระดับรากหญ้าทั่วทั้ง จ.ชุมพร

การประชุมครั้งนั้นทำให้พวกเราได้รู้จักยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านสังคม 3 ประการ เพื่อให้ สังคมไทยไม่ทอดทิ้งกัน เกิดความ เข้มแข็ง และมี คุณธรรม

โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ที่ 1 สังคมไทยไม่ทอดทิ้งกัน ได้รับการยกย่องคุณค่าให้เป็นการ ทำความดีถวายในหลวง คุณปรีดี พมจ.ชุมพรได้อธิบายบทบาทของหน่วยงานไว้อย่างชัดเจนว่า จะทำหน้าที่เป็นผู้ประสานส่งเสริมสนับสนุนให้ องค์กรชุมชน, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้สามารถมีบทบาทสำคัญอื่นๆ ในท้องถิ่น ได้ร่วมกันค้นหา ผู้ถูกทอดทิ้ง หรือ ผู้ยากลำบากพิเศษ ในท้องถิ่นของตน แล้วช่วยกัน ดูแล ตามที่เห็นว่าสมควร

การ ดูแล นี้คงจะมีทั้งการช่วยเหลือเฉพาะหน้าระยะสั้น และการสนับสนุนให้ ผู้ถูกทอดทิ้ง หรือ ผู้ยากลำบากพิเศษ นั้นๆ มีความเข้มแข็งสามารถมากขึ้นในระยะยาว

ผลสืบเนื่องที่ตามมาก็คือ พวกเราได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจใน ภารกิจ ดังกล่าวให้ชัดเจน จากนั้นจึงร่วมกันคิด ร่วมกันกำหนดรูปแบบการบริหาร, โครงสร้างและบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการ, คณะทำงานชุดต่าง ๆ งานนี้ดูเหมือนว่า สถานะของความเป็นกลางจะเป็นปัจจัยหลักทำให้ผมได้รับการเสนอชื่อ และมีมติให้ทำหน้าที่ประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์สังคมไม่ทอดทิ้งกัน ทำความดีถวายในหลวง

จากนั้นพวกเราได้ปรึกษาหารือกันอีกหลายครั้ง ทั้งในส่วนที่อยู่ระดับจังหวัดและที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ชุมชนหมู่บ้าน ผมกับท่าน พมจ. เข้าประสานงานกับเทศบาลเมืองชุมพรเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2549 และก็เป็นจังหวะที่ดีทำให้เราได้พูดคุย ชี้แจงโครงการฯ กับประธานและคณะกรรมการชุมชน 30 แห่ง ที่มาประชุมในวันถัดมา

ผมจำได้ว่า เมื่อยกตัวอย่างความยากลำบากของผู้สูงอายุที่อยู่ในบ้านจัดสรรเพียงคนเดียว เพราะลูกหลานต้องออกไปทำงาน ไปเรียนหนังสือ บางคนลูกหลานก็ต้องไปทำงานที่อื่น ส่งแต่เงินมาให้ตอนสิ้นเดือน ความเหงา ความต้องการคนเอาใจใส่ดูแล คนที่จะมาทักทายพูดคุยกัน ฯลฯ ผมตั้งคำถามว่า สิ่งเหล่านี้ยังมีอยู่หรือขาดหายไปแล้วจากสังคมชุมชนเมืองชุมพร คำตอบที่ได้รับมาพร้อมกับน้ำเสียงสั่นเครือ ยอมรับว่าฟังแล้วน้ำตาซึม ต้องตั้งสติหายใจลึก ๆ จึงจะพูดต่อไปได้

ผมยกตัวอย่างที่ได้เคยอ่านจากหนังสือ เปลี่ยนรางชีวิต ถึงการทำงานของอาสาสมัครเพื่อสังคมในประเทศญี่ปุ่นโดยทำข้าวกล่องไปส่งให้คนชราถึงบ้าน อาสาสมัครเหล่านี้ได้รับการอบรมบ่มเพาะให้มีน้ำใจ พูดคุยกับคนชรา ให้ความช่วยเหลือ ฯลฯ มีบางคนสะท้อนความรู้สึกผ่านการพูดคุยในกลุ่มถึงคำพูดที่เขาได้รับจากคนชราว่า ชีวิตฉันก็เฝ้าแต่รอข้าวกล่องของเธอนี่แหละ...”

 

 

หมายเลขบันทึก: 74740เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2007 09:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท