ดร.อุทัย อันพิมพ์
ดร. อุทัย ดร.อุทัย อันพิมพ์ อันพิมพ์

ความสนใจที่ศึกษาเกษตรกรรมแบบประณีต : ตอนที่ 1


เป็นข้อเสนอที่สนใจในการทำวิทยานิพนธ์ เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

การจัดการความรู้เกษตรกรรมแบบประณีตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหัวข้อที่ผมมีความสนใจเป็นอย่างยิ่ง สำหรับที่จะทำการศึกษาวิจัย เพื่อให้ได้มาซึ่งนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้ จึงได้กำหนดเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ และได้ร่างข้อเสนอ (Proposal) เพื่อให้อาจารย์ที่ปรึกษาได้พิจารณา อีกทั้งผู้ที่มีความสนใจในการที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องดังกล่าว

ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งถ้าหากท่านจะกรุณาให้ข้อเสนอแนะ และข้อคิดเห็นเพิ่มเติมอันจะเป็นประโยชน์ต่อการการศึกษา และการพัฒนาชุดความรู้สู่การพัฒนาอาชีพที่ยั่งยืน 

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาของการวิจัยจากแนวทางการพัฒนาประเทศตามยุคกระแสโลกาภิวัฒน์ (Globalization) กว่า  4  ทศวรรษที่ผ่านมา  ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการพัฒนาประเทศที่ขาดดุลไม่มีความยั่งยืนตามแนวทางพัฒนา โดยประสบความสำเร็จเฉพาะในเชิงปริมาณ  แต่ขาดสมดุลด้านคุณภาพ  ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาอาชีพ การพัฒนาด้านการศึกษาของประชาชนคนไทยทั่วประเทศที่ยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร  การปรับตัวและการรู้เท่าทันทางวิทยาศาสตร์ยังมีความล่าช้า  รวมทั้งกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ กระบวนการคิดเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ และเทคโนโลยีที่มีความอ่อนแอไม่เอื้อต่อการพัฒนาทางนวัตกรรม รวมทั้งความสามารถในการบริหารจัดการทางธุรกิจยังด้อยประสิทธิภาพ จึงส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ความเหลื่อมล้ำ ของการกระจายรายได้  ความยากจนและความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น  ได้สร้างความขัดแย้งในสังคมมากขึ้น  และนอกจากนั้นความอ่อนแอของสังคมไทย ที่ตกอยู่ในกระแสวัตถุนิยมได้ก่อให้เกิดปัญหาทางศีลธรรม  จริยธรรม อีกทั้งปัญหาทางสังคมยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวันครั้นเมื่อย้อนมองอดีตถึงแนวทางในการพัฒนาประเทศที่ผ่านมาตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1-7 โดยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2535-2539)  

แนวทางการพัฒนาประเทศได้ให้ความสำคัญกับความเจริญด้านวัตถุหรือด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ดังนั้นงบประมาณส่วนใหญ่จึงกระจายไปยังกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ        เป็นหลัก เช่น กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงคมนาคม (วิรัตน์, 2549) ภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น (พ.ศ.2539-2540) ซึ่งเป็นช่วงปลายของแผนพัฒนาฉบับที่ 7 และเป็นช่วงเริ่มต้นของการใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540-2544) จึงได้น้อมนำแนวพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียง นี้มาปรับแนวคิดการพัฒนาประเทศใหม่ โดยเปลี่ยนจากเดิมที่ให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลักมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนทั้งในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนา และผู้ได้รับประโยชน์หรือผลกระทบโดยตรงจากการพัฒนา เป็นการพัฒนาที่มี คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา และใช้เศรษฐกิจเป็นเครื่องมือช่วยพัฒนาให้คนมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดี พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนวิธีการพัฒนาแบบแยกส่วนมาเป็นบูรณาการแบบองค์รวม มีกระบวนการพัฒนาที่เชื่อมโยงกันทุกมิติ และเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายในสังคมมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนการพัฒนา

อย่างไรก็ตาม ความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงที่ยึดคนเป็นตัวตั้งและใช้เศรษฐกิจเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคนจำต้องสะดุดลงตั้งแต่ปีแรกของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 เมื่อประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจและส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและสังคมในวงกว้าง ทำให้ต้องหันกลับมาเร่งแก้ไขฟื้นฟูเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพ และลดผลกระทบจากปัญหาการว่างงานและความยากจนที่เพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง แนวทางการพัฒนาจึงยังไม่บังเกิดผลในทางปฏิบัติเท่าที่ควร จนกระทั่งเริ่มเข้าสู่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545-2549) 

แผนที่ 9ใช้แนวทางการพัฒนาตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เรียกว่า เศรษฐกิจแบบพอเพียง รัฐบาลได้อัญเชิญมาเป็นปรัชญานำทางในการพัฒนาและบริหารประเทศ ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนการพัฒนาแบบบูรณาการเป็นองค์รวมที่มี คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา โดยมุ่งวางรากฐานการพัฒนาระบบเศรษฐกิจภายในประเทศให้เข้มแข็ง มีภูมิคุ้มกันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกและสามารถพึ่งตนเองได้มากขึ้น ขณะเดียวกันให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่สมดุลทั้งตัวคน สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและความอยู่ดีมีสุขของคนไทยผลการพัฒนาประเทศในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 โดยรวมยังพบว่ารัฐบาลยังมุ่งเน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ พยายามผลักดันการปิดการค้าเสรีกับต่างประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเกษตรกรโดยรวมของประเทศ การพัฒนาดังกล่าวจึงยังไม่สอดคล้องเป็นไปตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเท่าที่ควร  เศรษฐกิจของประเทศยังพึ่งพาภายนอกและไม่เข้มแข็งพอที่จะเป็นภูมิคุ้มกันต่อภาวะความผันผวนจากกระแสโลกาภิวัตน์ และยังคงมีปัญหาความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้และผลประโยชน์จากการพัฒนา ขณะที่ภูมิคุ้มกันของสังคมไทยลดลงจากกระแสบริโภคนิยม เกิดความย่อหย่อนทางศีลธรรม คุณธรรมและจริยธรรมลดลง เช่นเดียวกับการให้คุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นคนที่เสื่อมถอยลง ตลอดทั้งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาขาดสมดุลระหว่างการใช้ประโยชน์กับการอนุรักษ์ฟื้นฟู ซึ่งนับเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ จากปรากฏการณ์การพัฒนาประเทศที่ผ่านมาอาจสรุปได้ว่า การพัฒนาประเทศตั้งแต่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2504-2509)

จนกระทั่งถึงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2545-2549) ที่เพิ่งสิ้นสุดลงไปแนวทางการพัฒนาประเทศก็ยังดำเนินรอยตามวิถีการพัฒนาแบบเดิมภายใต้กรอบทฤษฏีภาวะความทันสมัย (Modernization Theory) ซึ่งเน้นค่านิยมในการเข่งขัน (Competitive) การพัฒนาอุตสาหกรรม (Industrialization) เน้นความเป็นเมือง (Urbanization) เป็นวิถีการพัฒนาที่เหมือนกัน (Unity) กับวิถีการพัฒนาของประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่มีมาตั้งแต่สมัยหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการพัฒนามุ่งสู่ความทันสมัยเป็นหลัก โดยมีเศรษฐศาสตร์กระแสหลักเป็นกรอบแนวคิดของการพัฒนา เป็นกระบวนทัศน์ที่มุ่งบรรลุเป้าหมายเชิงปริมาณหรือการเติบโตทางวัตถุ แสวงหาความมั่งคั่งเป็นหลัก การแสวงหากำไรจากการผลิต แสวงหาความพอใจสูงสุดในการบริโภค ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำให้มนุษย์พอใจถือว่าเป็นสิ่งที่ดี และยิ่งมีมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดีมากขึ้นเท่านั้น (The more…the better หรือ More is prefer to less) หากมีการสูญเสียเกิดขึ้น จะทดแทนความสูญเสียด้วยราคา หรือผลได้ในรูปของราคาที่เป็นตัวเงิน   

จนกระทั่งเข้าสู่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2549- 2554) ได้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ รัฐบาลรักษาการได้อัญเชิญปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวปฏิบัติ ควบคู่กับการพัฒนาแบบบูรณาการเป็นองค์รวมที่มี คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา อย่างจริงจัง เพื่อมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาประเทศที่สมดุล เป็นธรรม และยั่งยืน จึงเป็น การสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ โดยการพัฒนาแบบองค์รวมที่ยึด คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา และวิถีการพัฒนาอยู่บนพื้นฐานของ ดุลยภาพเชิงพลวัต ที่เชื่อมโยงทุกมิติอย่างบูรณาการ ทั้งมิติตัวคน สังคมและวัฒนธรรม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและการเมือง รวมทั้งความสมดุลระหว่างมิติทางวัตถุกับจิตใจของคนในชาติ ขณะเดียวกันมีดุลยภาพการพัฒนาระหว่างภายในคือ ความเข้มแข็งในการพึ่งตนเองของฐานรากของสังคมและความสมดุลในประโยชน์ของทุกภาคส่วนเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นธรรม กับภายนอกคือ ความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและสร้างพันธมิตรการพัฒนาในโลกาภิวัตน์ โดยให้ความสำคัญกับการนำทุนของประเทศที่มีศักยภาพและความได้เปรียบด้านอัตลักษณ์และคุณค่าของชาติทั้ง ทุนสังคม ทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ ทุนเศรษฐกิจ มาใช้ประโยชน์อย่างบูรณาการและเกื้อกูลกัน

นอกจากนั้นยังเสริมสร้างให้แข็งแกร่งเป็นเสมือนเสาเข็มหลักในการพัฒนาประเทศให้มั่นคงและสมดุล ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างระบบและวัฒนธรรมธรรมาภิบาลและประชาธิปไตยในทุกภาคส่วนและทุกระดับ โดยใช้ความรอบรู้ คุณธรรมและความเพียรในกระบวนการพัฒนาที่อยู่บนหลักความพอประมาณ ความมีเหตุผล มีระบบภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งกระบวนทรรศน์การพัฒนาดังกล่าวนี้ เป็นความหวังที่จะเป็นภูมิคุ้มกันประชาชน และประเทศให้สามารถปรับตัวพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบจากความผันผวนของกระแสโลกาภิวัตน์ ทั้งด้านวัตถุ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี อันจะนำไปสู่ ความอยู่ดีมีสุข ของคนไทยทั้งชาติ เป็น สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน และประเทศไทยสามารถ ดำรงอยู่ ในประชาคมโลกได้อย่างมีเอกราชและอธิปไตยที่มั่นคง มีศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิ สงบสุขและสันติกับโลกในที่สุด อย่างไรก็ตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 จะสามารถบังเกิดผลได้มากน้อยเพียงใด คงเป็นบทพิสูจน์ และท้าทายความสามารถของรัฐบาลที่จะสามารถผลักดันให้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงลงสู่การปฏิบัติได้มากน้อยเพียงใด

ครับจากความเป็นมาดังกล่าวอันจะนำไปสู่การทำเกษตรกรรมแบบประณีต ซึ่งจะกล่าวในรายละเอียดตอนที่ 2 ขอความกรุณาช่วยตามไปให้กำลังใจด้วยนะครับ

ขอบคุณครับ

อุทัย   อันพิมพ์

26 มกราคม 2550

 

หมายเลขบันทึก: 74707เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2007 23:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

 อ.อุทัยครับ

  • เกษตรปราณีต/เกษตรพอเพียง/วินัยทางเศรษฐกิจ    สามคำนี้ เขาเป็นเพื่อนกันหรือเปล่าครับ ผมเห็นครูบา ใช้บ่อยมากครับ

      บพระคุณมากครับ รออ่านตอนที่ 2 ต่อครับ

 

เรียน อาจารย์ศิริพงษ์

ทั้งสามคำที่อาจารย์ยกมานั้น ล้วนมีเป้าหมายเดียวกันทั้งหมด แต่เกษตรกรรมแบบประณีตเป็นอีกวิการหนึ่งที่เน้นในเรื่องของการจัดการเรียนรู้ในกิจกรรมที่ตนเองทำ ซึ่งให้ความสำคัญในการเรียนรู้เรื่อง ดิน น้ำ แสง ซึ่งนับเป็นหัวใจสำคัญของการผลิต

ขอบคุณครับ

  • มาทักทายครับ
  • ทุกๆท่านรอดูเกษตรปราณีตครับผม

ขอบคุณมากครับอาจารย์ขจิต

จะพยายามเล่าเกษตรประณีตอย่างต่อเนื่องครับ เพื่อให้พี่น้องชาว GotoKnow ช่วยกันขับเคลื่อนอย่างมีพลังครับ

คุณพี่สิงห์ป่าสักอย่าลืมติดตามตอนต่อๆ ไปนะครับ และหากมีอะไรดีๆ มาแนะนำผมยินดีน้อมรับเป็นอย่างยิ่งครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท