ถามธรรม ตอบธรรม


ขอเชิญชวนทุกท่าน ทั้งที่เป็นผู้ปฏิบัติธรรมและผู้สนใจธรรมปฏิบัติ ตั้งคำถามหรือร่วมตอบคำถามได้เลยนะครับ

         

 ผมตั้งใจเปิดบันทึกใหม่ ณ ที่ตรงนี้

         เกี่ยวกับการเจริญสติและการปฏิบัติธรรมโดยเฉพาะ ให้ผู้ปฏิบัติธรรมหรือผู้ที่สนใจในธรรมะปฏิบัติได้อ่าน หรือใช้พื้นที่ตรงนี้ ถามเกี่ยวกับธรรมะหรือวิธีปฏิบัติธรรมในแนวการเจริญสติปัฏฐานสี่

         โดยเริ่มต้นอาจนำเอาคำถามจากเวป http://vipassanachiangmai.com  มาตอบเป็นการปูทางไปก่อน และขอออกตัวว่า มิได้เจตนาอวดอ้างตนเองเป็นผู้รู้ทางธรรม เพียงแต่ประสงค์ต้องการเผยแพร่และชักจูงให้คนได้เข้าใจในหลักธรรมการปฏิบัติและสนใจในการปฏิบัติธรรมเท่านั้นครับ

         ขอเชิญชวนทุกท่าน ทั้งที่เป็นผู้ปฏิบัติธรรมและผู้สนใจธรรมปฏิบัติ ตั้งคำถามหรือร่วมตอบคำถามได้เลยนะครับ

         ถือว่า เป็น KM ในการปฏิบัติธรรมเพื่อเจริญธรรม

         ภาพผู้เขียน ยืนอยู่หน้าพระพุทธรูป"พุทธศิริชัยสุธานี" วิหารกลางจันทร์ ศูนย์วิปัสสนาเชียงใหม่(ศูนย์สอง) ตอนวันปีใหม่ ๒๕๕๐

เริ่มต้นด้วยคำถามที่ ๑ ในบล็อกนี้

         อันว่าด้วยเรื่อง "บุญ"และ"การทำบุญ" จากหนูกัญชลี
 
ถาม 

        ปุจฉา มาอีกแล้วเจ้าค่า อาจารย์ขา
        พุทธศาสนิกชน ปฏิบัติอย่างไรจึงจะได้บุญ สั่งสมไว้ใช้วันข้างหน้า?
       "เจ้าบุญ"นั้นซื้อ ได้หรือไม่? ทำไมจึงแนะนำให้ซื้อ "บุญ"?
        ทำบุญนั้นสำคัญไฉน?
        ทำบุญกับการทำกรรมดีต่างกันอย่างไร?

       ขอให้อาจารย์ทั้งสองท่านมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงนะคะ

       สาธุ สาธุ สาธุ

       กัญชลี (ผู้อยากอยู่คอนโด)

ตอบ

      วิสัชชนามาแล้วเจ้า...
      แต่..เอ! ใครกันนะแนะนำให้ซื้อบุญ...เนื่องจากบุญไม่ใช่ของซื้อของขาย บุญเป็นสิ่งที่ต้องขวนขวายทำเองและได้เองครับ


      ความจริงแล้ว โดยทั่วไปชาวพุทธ(ไทย) ทั้งหลายเป็นผู้ตื่นมงคลตื่นข่าว โดยเฉพาะในเรื่อง บุญ จะชอบเป็นพิเศษและส่วนใหญ่เป็นผู้ฝักใฝ่ปราถนาในบุญ...

      ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากเป็นผู้มีศรัทธาแล้ว เพียงแต่ควรเข้าใจให้ถูกต้องเพื่อการทำบุญจะได้ถูกทางเท่านั้น

       คำว่า "บุญ" นั้นหมายถึงเครื่องชำระจิต

       แปลว่าทำบุญแล้วจิตใจจะต้องสดชื่นและสะอาด(จากกิเลส) เหมือนตอนที่เราอาบน้ำเย็นชื่นใจและฟอกสบู่จนเนื้อตัวขาวสะอาด

       การที่เราประสงค์จะทำบุญหรือแสวงหาบุญ คือการแสวงหาการกระทำที่นำมาชำระจิตใจของเราให้สะอาดและบริสุทธิ์จากกิเลสนั่นเอง

      สามารถกระทำได้ 3 ทาง คือ ทางกาย ทางวาจาและทางใจ

      โดยมีวิธีสร้างบุญหรือทำบุญให้เกิดขึ้น 10 วิธี เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุสิบประการ คิดว่าน่าจะรู้และคุ้นๆมาบ้างแล้วนะครับ

      อธิบาย ให้ฟังเพียงย่อๆว่า การทำบุญ แบ่งออกเป็นหมวดสาม  ได้แก่  1. ทาน 2. ศีล 3. ภาวนา

      หรือสามารถขยายได้เป็นหมวดสิบ คือ

      1.บุญที่เกิดจากการทำทาน

      2.บุญที่เกิดจากรักษาศีล

      3.บุญที่เกิดจากการเจริญภาวนา

     4.บุญที่เกิดจากการประพฤติอ่อนน้อม

     5.บุญที่เกิดจากการขวนขวายรับใช้การงานที่เป็นกุศล

     6.บุญที่เกิดจากการให้ส่วนบุญแก่ผู้อื่น

     7.บุญที่เกิดจากการยินดีในความดีของผู้อื่น

     8.บุญที่เกิดจากการฟังธรรม

     9. บุญที่เกิดจากการแสดงธรรม

    10.บุญที่เกิดจากการทำความเห็นให้ตรง

     (เอาใจความเท่านี้ คำบาลีไปหาอ่านเองนะ)

     ฉะนั้น หนูกัญชลีเจ้าขา จะเห็นได้ว่าเท่าที่กล่าวมา ไม่มีสักข้อเลยที่เราจะหาซื้อได้หรือมีผู้สามารถทำให้เราได้

     หากมีใครมาแนะนำให้ซื้อบุญเราจะได้รู้ว่าเป็นการหลอกลวงแต้ๆ อาจารย์สังเกตว่าคนไทยเข้าใจว่า"การทำบุญ" นั้นมีเพียงข้อแรกเท่านั้น คือ"การให้ทาน" จึงตื่นกันเฉพาะแต่เรื่องของการทำทานและไม่เข้าใจในเรื่องของทานว่า คือการให้อย่างถูกต้อง

     ส่วนใหญ่ติดยึดว่า ให้แล้ว ต้องคำนึงในเรื่องผลตอบแทน(ผลของบุญ) ว่าจะต้องได้"อะไร"กลับมา

     จึงมองไม่เห็นผลบุญ(ที่เกิดการชำระจิต= จิตสะอาดจากโลภะ)ที่เกิดขึ้นในจิต แต่สร้างตัวโลภบุญเกิดขึ้นแทน

     จึงกลายเป็นทำบุญได้บาปหรือแทนที่จะสะอาดกลับสกปรกเพิ่มขึ้น

     หากเข้าใจในเรื่องการทำบุญถูกทาง จิตจะถูกอบรมหรือถูกทำชำระให้สะอาดจากกิเลส

     การทำทานมีเจตนาแฝงไว้คือการชำระความโลภ ความตระหนี่ ความเห็นแก่ตัวของคนทั้งหลาย ซึ่งผู้ใดรู้ชัดจะเห็นชัดเจนในการทำบุญของตน ยิ่งทำทาน ตัวโลภะจะยิ่งน้อยถอยลง หรือมีโอกาสเกิดขึ้นน้อย จนเจ้าตัวรู้สึกได้ เกิดจิต(บุญ)สะอาดผ่องแผ้วยินดีในกุศล(โสมนัสจิต)ที่เกิดขึ้นจากการทำทาน ยิ่งทำยิ่งชัด (มีสุขจากการเป็นผู้ให้ แทนที่สุขจากการเป็นผู้รับ)

     ส่วนบุญที่เกิดขึ้นด้วยการกระทำอื่นๆนั้น เป็นการพัฒนาให้เกิดการกระทำที่กว้างขวางและละเอียดอ่อนมากยิ่งขึ้น จะเห็นได้ว่ามีจุดมุ่งหมายในการขจัดกิเลสอีกหลายตัว

     เช่น การรักษาศีล คือ การสำรวม ป้องกันมิให้กิเลสทั้งโลภ โกรธ มาอาศัยกายและวาจาของเราไปทำบาปกรรมชั่วได้ เรียกว่าสร้างรั้วป้องกันภัย และหากประสงค์จะทำบุญให้ยิ่งๆขึ้น คือสะอาดมากขึ้น ก็มาเจริญภาวนา

     ภาวนา คือการสร้างสติให้หมุนรอบจิต เพื่อป้องกันกิเลสที่จะเข้ามาสร้างให้จิตเป็นบาป คือคิดชั่วด้วยโลภ ด้วยโกรธ ด้วยหลง

     ส่วนที่เหลือของการทำบุญอื่นๆนั้นเป็นการฝึกและตัดกำลังกิเลสตัวอื่นๆ ด้วยการสั่งสมเหตุที่ดี เช่นทำการงานที่เป็นกุศล อ่อนน้อม(ตัดทิฏฐิมานะหยิ่งจองหอง) เป็นต้น

     และท้ายสุดของการทำบุญต่างๆจะมาลงที่ตัวปัญญา ภาษาบาลีเรียกว่าทิฏฐุชุกัมม์ คือ การทำความเห็นให้ตรง

     ซึ่งเปรียบดังการสร้างตัวปัญญา ที่เข้าใจว่า การที่เราขวนขวายทำบุญสร้างกรรมการกุศลมาทั้งหมดเพื่ออะไร...

     เพื่อความเข้าใจว่า เราเดินมาตรงทางแล้ว ชำระจิตด้วยการกระทำ(กรรมดี)ด้วยเหตุกุศลต่างๆ(ทั้ง10 ประการ)มาแล้ว กิเลสจะลดน้อยถอยลง และกุศลจิตมีกำลังเพิ่มมากยิ่งขึ้น


      จนเป็นเหตุให้เกิดสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูก ที่เป็นพลังแรกแห่งองค์มรรค ที่จะขับให้เกิดแรงมหากุศลสร้างกรรมดี(ภาวนากุศล)ให้ยิ่งๆขึ้นจนบรรลุมรรคผลนิพพาน


     ดังนั้น บุญจึงสำคัญด้วยประการฉะนี้ ตอบมาซะยืดยาวประหนึ่งความสูงของคอนโดชั้นสิบเทียวล่ะ จะได้สมปรารถนานะครับ  

หมายเลขบันทึก: 74439เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2007 01:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)

สาธุ สาธุ สาธุ ค่ะ อาจารย์

 

หนูสนใจเรื่อง  "การทำความเห็นให้ตรง"  หรือ ทิฏฐุชุกัมม์ เป็นพิเศษค่ะ อาจารย์

 

เคยได้ยินสำนวนที่ว่า  การทำบุญ  ควรจะต้องประกอบไปด้วยทิฏฐุชุกัมม์เสมอ จึงจะได้ชื่อว่า เป็นการทำบุญอย่างผู้มีปัญญา

 

ในที่นี้ คำว่า ทิฏฐุชุกัมม์  ใช้แทนคำ่ว่า สัมมาทิฏฐิ นั่นเองใช่ไหมคะ

 

สรุปว่า เป็นคำที่ใช้แทนกันได้้เฉย ๆ  ต่างกันในแง่หลักภาษาเท่านั้น อย่างนี้เลยหรือคะ  หรือว่ามีนัยยะอย่างอื่นที่แตกต่างกันด้วยคะ?

 

 ขอบพระคุณค่ะ อาจารย์

 

ณัชร

 

ป.ล. ไหน ๆ อาจารย์จะพูดเรื่อง บุญกิริยาแล้ว หนู request ต่อเลยได้ไหมคะ   เรื่องทานข้ามไปเพราะหนูว่าธรรมดา  หนูอยากให้อาจารย์ขยายเรื่อง ศีล และ ภาวนา น่ะค่ะ หมายถึงนอกจากอาจารย์อยากจะขยายเรื่องทานต่อไปอีกน่ะนะคะ  เช่น ความบริสุทธิ์ขององค์ ๓ อะไรทำนองนั้น

ขอบพระคุณคุ่ะ อาจารย์ 

อันที่จริง เรื่องของบุญกิริยาวัตถุสิบประการ นั้น

ประการสุดท้ายคือ ทิฏฐุชุกรรม

แปลว่า การกระทำความเห็นให้ตรง

ซึ่งถูกอบรมกล่อมเกลาจิตมาจากการสร้างบุญกิริยาวัตถุสิบประการนั้นเอง

เมื่อเราเจริญ ทาน ศีล ภาวนา ธรรมชาติของบุญก็อบรมจิต ก่อให้เกิดความเห็นตรงทาง ว่านี่คือ บุญ    นี่คือการกระทำที่ถูกต้องแล้ว ยิ่งทำยิ่งชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

อุปมา ดังเราตอกตะปูลงในเนื้อไม้ ตอกครั้งแรกๆ ตะปูอาจจะยังไม่เข้าลึกลงในเนื้อไม้ดีนัก และไม่ค่อยตรง ต้องอาศัยการตอกถี่ๆ บ่อยๆ ตะปูจึงจะจมลึกเข้าไปในเนื้อยิ่งๆขึ้น จนท้ายที่สุด ตะปูก็ลงไปลึกจนแน่น และตั้งตัวตรงได้ ฉันใด

ธรรมชาติที่ชื่อว่าบุญทั้งหลาย ก็อบรมจิตให้ตรง

เป็นทิฏฐิชุกรรมได้ ฉันนั้น

ทิฏฐุชุกรรม จึงพัฒนามาเป็นสัมมาทิฏฐิได้ เพราะเมื่อมีจิตที่ตรงทางในการประกอบกุศล จิตก็ลุถึงความบริสุทธิ์ มีศีล มีสมาธิ ปัญญาก็เกิด

ปัญญาตัวแรกที่เกิดขึ้นในขณะปฏิบัติธรรม จึงเรียกว่า มีสัมมาทิฏฐิ เป็นต้น ที่ชักนำให้คนใฝ่ในธรรมปฏิบัติ เจริญภาวนา จัดเป็นมรรคเบื้องต้น

ดังนั้น หากเราเจริญบุญกุศลเฉยๆ ในชีวิตประจำวัน เรียกว่า ได้แก่ ศีล ทาน ภาวนาเบิ้องต้น

จึงจัดเป็นโลกียกุศล และในระดับปัญญา เรียกว่าเกิดทิฏฐุชุกรรม จัดเป็นโลกียปัญญา

แต่หากทิฏฐุชุกรรม แก่กล้ามากยิ่งขึ้น ก็นำไปสู่การดำริคิดออกจากกาม เบื่อหน่ายในกามคุณ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และความนึกคิดที่น่ายินดีและชอบใจทั้งปวง จิตที่ดำริเช่นนี้ เรียกได้ว่าเป็น สัมมาทิฏฐิ แล้ว

อย่างไรก็ตาม ตัวสัมมาทิฏฐิเองก็ยังมีหลายระดับครับ

เช่น ระดับ ปฐมมรรค หรือมรรคเบื้องต้น มัชฌิมมรรคและสุดท้าย ปัจฉิมมรรค สัมมาทิฏฐิจึงจะกล้าแข็ง กลายเป็นมรรคสมังคี ที่รวมสภาพกุศลทั้งปวงในขณะจิตเดียว เรียกว่าได้ มรรค ผล นิพพาน

 คือผมมีความรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสุขเลย ไม่เปนตัวของตัวเอง เวลาพูดกับคนอื่นก็ไม่ค่อยกล้าสบตา คิดว่าตัวเองคงเปนเก แต่ไม่อยากเปนเลยย อยากแมนกว่านี้ อยากชอบผู้หญิงเป็น ตอนนี้สับสนไปหมดทำไงดีคับ ช่วยผมที 
  • ขอกราบสวัสดีปีใหม่ค่ะท่านอาจารย์....
  • จะมาพิบูลสงครามเมือไหร่นะคะ
  • ดีใจจังเลยค่ะที่อาจารย์เปิดบล็อกใหม่  หว้าจะได้เข้ามาเรียนรู้ด้วย

อยากถามว่าอริยสัจ4 มีอะไรบ้าง และหมายความว่ายังไง

 

คุณมีนครับ

อริยสัจสี่ ได้แก่ความจริงสี่ประการที่พระพุทธองค์ตรัสไว้เป็นหัวใจหรือแก่นแท้ที่สำคัญของพุทธศาสนา ได้แก่

๑.ทุกขอริยสัจจ์ ความจริงอันประเสริฐคือทุกข์

๒.สมุทัยอริยสัจจ์ ความจริงอันประเสริฐคือเหตุแห่งทุกข์

๓.นิโรธอริยสัจจ์ ความจริงอันประเสริฐคือ การดับทุกข์

๔.มรรคอริยสัจจ์ ความจริงอันประเสริฐ คือทางที่นำไปจากทุกข์

ทั้งสี่ประการแบ่งออกเป็นความจริงที่เป็นเหตุ ๒ และเป็นผล ๒ ประการ

 คือ ทุกข์อริยสัจจ์เป็นผลของการกระทำสมุทัยอริยสัจจ์ และนิโรธอริยสัจจ์เป็นผลของการเจริญมรรคอริยสัจจ์

หากจะถามว่าการบรรลุธรรม รู้อะไร? ต้องตอบว่ารู้อริยสัจจ์นั่นเอง

 

สวัสดีค่ะ อ.พิชัย

วันนี้หนูเพิ่งซาบซึ้งกับ การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป 
เพราะต้องปั่นงานช่วยคนอื่นค่ะ ทั้งๆ ที่งานของตัวเอง
ก็สุมและพอกจนหางจะขาดอยู่แล้ว (หางก็จะขาด ใจก็จะขาดด้วยค่ะ)
ก็ให้นึกน้อยใจในโชคชะตา ว่าทำไมคนโน้นคนนี้ก็ชอบมาขอให้ช่วย มันก็เป็นสิ่งที่สมควรต้องช่วยอยู่แหละค่ะ
แต่ทีเรื่องของเรา ไหงถูกทอดทิ้งให้โดดเดี่ยวเดียวดาย
ไม่มีใครเลยในโลกบี้ๆ (ที่ร้อนขึ้นทุกวัน) ใบนี้ที่จะช่วยเราได้
คิดไปก็ปั่นงานให้คนอื่นไป น้ำตาก็จะไหล เหมือนอยากจะคลั่ง บ้าตายขึ้นมาจริงๆ เลยค่ะ และก็รู้สึกว่าไม่ไหวแล้วจริงๆ แต่ก็ไม่เลวร้ายขนาดที่
จะกระโดดจากหน้าต่างห้องพักลงไปว่ายน้ำเล่นนะคะ
(ห้องพักหนูติดแม่น้ำน่ะค่ะ นอนอยู่ชั้น 5 เวลาของขึ้น แอบคิดอยู่เหมือนกันว่าน่าจะกระโดดน้ำ ตีลังกาเกลียวซัก 2 รอบดูเหมือนกันค่ะ)
ทุกข์ใจมากมายโทรศัพท์หาเพื่อนตั้งหลายคนก็ไม่ติด
ก็มานั่งทุกข์อีก ว่าในเวลาเช่นนี้ ก็ยังหาที่พักใจให้ระบายไม่ได้อีก เศร้าจริงๆ หนอชีวิตนี้

คงเพราะสิ่งที่อาจารย์สอนไว้ยังพอหลงเหลืออยู่บ้าง
ก็เลยคิดว่าท่าจะไม่ได้การ เลยลุกจากโต๊ะทำงานมาทำโยคะ ทั้งปล่อย ทั้งวาง ทั้งสลัด ก็ค่อยยังชั่วขึ้นเยอะค่ะ เลยต่อด้วยแอโรบิคอีกหน่อย ได้ฉีดแอดรินาลินเข้าเส้นหายบ้าเลยค่ะ

แล้วก็มานั่งพักเปิดอ่านเมล์ฟอเวิร์ดเล่นๆ 
ได้อ่านบทความดีๆ ที่พูดถึงเพื่อนแท้ และการเติมเต็มให้ชีวิต ด้วย พระพุทธพจน์ที่บอกว่า "ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน" 
"เมื่อเรามีพระธรรมอยู่ในจิตใจ เราก็จะเป็นเพื่อนแท้ของตัวเราเอง และเป็นเพื่อนแท้ของผู้อื่นได้อย่างแท้จริง"

ซึ้งเลยค่ะ นั่งปั่นงานให้ชาวบ้านมา 4 วัน จนอยากจะกระอักออกมาเป็นลิ่มเลือด แต่ก็ได้บทเรียน บทสำคัญให้ชีวิตค่ะ เหมือนได้ฉีดวัคซีนแก้บ้าเลยค่ะ
ตอนปั่นงานให้เขาก็พยายามปลอบใจตัวเอง ว่า
เอาน่า ถึงจะเป็นงานของคนอื่น เราก็คงได้เรียนรู้อะไรจากมันบ้างแหละน่า
แต่ตอนนี้ คิดได้แล้วค่ะ ว่าได้อะไรมากกว่าที่คิด

หลังจากที่ความเครียดสะสมมาหลายวัน
ทุกข์แบบที่ไม่รู้จะไปบอก หรืออธิบายให้ใครเข้าใจได้
คนเรายิ่งแก่ (แดด) ชีวิตยิ่งเข้าใจยากนะคะ
แต่เมื่อได้ฉีดแอดรินาลินเข้าเส้น ความทุกข์ที่ตั้งอยู่มาตั้งนานแสนนาน ก็ดับไปซะงั๊น
ยิ่งมาได้อ่านบทความดีๆ จากเมล์ฟอเวิร์ดที่หลายๆ คน และหลายๆ ครั้ง ถูกมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ
(ว่างนักรึไงฟระ ส่งกันอยู่ได้ นั่งอ่านกันจริ๊ง)
 ก็เหมือนได้ฉีดวัคซีนเข็มโต
ก็ได้แต่แอบหวังว่า วัคซีนเข็มนี้ คงไม่ต้องฉีดกระตุ้นกันบ่อยๆ อ่ะนะ

หลังจากที่หายบ้าแล้ว เืพื่อนตัวดีก็โผล่ศีรษะเข้ามาใน MSN พอดี เลยส่งบทความไปให้อ่าน
เพื่อนเลยเติม ข้อคิดดีๆ ใ้ห้อีกนิด ว่า

"outside in vs inside out"

เขียนซะยืดยาว มากมาย ราวกับเป็นบล๊อกของตัวเอง
ก็แค่อยากจะมารายงานให้อ.ได้ทราบว่า
พระธรรม (และแอดรินาลิน) ก็ช่วยพาหนูข้ามผ่านวิกฤติเล็กๆ ได้อีกครั้งค่ะ

สวัสดีครับ อ.พิชัย

  • เพิ่งมาเจอ blog อาจารย์ ขออนุโมธนาบุญในการเผ่ยแพร่ธรรมครับ
  • ขอสมัครเป็นสมาชิก blog อาจารย์ด้วยคนครับ
  • ขอบคุณอาจารย์ครับ

หนูม้าเยอรมัน

ดีเหมือนกันที่บางครั้งเราต้องเจอปัญหาหนักๆหรือสิ่งที่ยากๆบ้าง

มันสอนอะไรให้เรารู้สึกและเรียนรู้อะไรหลายๆอย่าง มากกว่าเวลาสุขหรอเจิสิ่งง่ายๆ เบาๆในชีวิต

ทุกข์ ทำเราได้เรียนรู้เชีวิตพิ่มขึ้น

สุข ทำให้เราหลงระเริงในชีวิตเพิ่มมากขึ้น

ชีวิตที่มีสองด้าน สร้างสมดุลให้ชีวิตครับ

ดังนั้น หนูจึงได้คำตอบมา หลังจากแทบบ้าไปหลายวัน...ถ้าไมมีสถานะการแทบบ้านั้น...หนูก็ไม่รู้อะไรเพิ่มขึ้น

ตอนนี้หนูได้ฉีดยาภูมิธรรมให้กับตนเอง

เหมือนกับตอนนั่งสมาธิแล้วปวดแทบตาย ...แล้วเห็นคุณและซาบซึ้งกับคำว่า บัดนี้...

ดีใจที่เห็นหนูเขียนมา มาเยี่ยมอาจารย์บ่อยๆนะครับ

aj kae

ยินดีต้อนรับครับ

ไม่นึกว่าคนเรียนปริญญาเอก  ยังมีเวลามาสนใจธรรมะ

แวะมาบ่อยๆนะครับ

สวัสดีค่ะ อ.พิชัย

หนูคงจะแวะเข้ามาเยี่ยม (และแอบบ่น บ่อยๆ) จน อ.รำคาญเลยแหละค่ะ
ชีวิตคนเรา (หรือเฉพาะของเราหว่า) นี่มันช่างยากเย็นจริงๆ เลยนะคะ
มันมีบททดสอบความเข้มแข็งของจิตใจบทใหม่ๆ 
ผ่านเข้ามาให้ทดสอบกันได้เรื่อยๆ  

หนูขอฟันธง (ขอใช้คำฮิต กลัวเชย) เลยค่ะ ว่าเป็นบททดสอบจิตใจ จริงๆ
เพราะผู้กำหนดบททดสอบ (ที่เี่รามองไม่เห็น) คงเห็นแล้วว่า
ถ้าเป็นบททดสอบทางร่างกาย ประเภทอึดแข่งกับควาย
หนูไม่ยอมแพ้
เลยต้องมีบทใหม่ๆ ดาหน้ากันเข้ามาได้ไม่เลือกเวลา 
มาแต่ละที ...

แต่จะเรียงหน้ามายังไง ก็ไม่ถอยค่ะ 
เพราะอีกไม่นานมันก็จะผ่านไป แล้วหนูก็คงได้บทเรียน
บทใหม่อีกบท มาเพิ่มไว้ในบัญชีชีวิต
ทั้งที่ไม่อยากได้เล๊ย ให้ตายเหอะ

บ่นอีกแระ...
ขอบคุณค่ะที่มีบล๊อกของ อ. อยู่ให้หนูแวะมาพัก

หนูม้าเยอรมัน

เชิญบ่นตามสบาย หากมันทำให้หนูคลายเครียด

อ่านดูจากสิ่งที่หนูเขียนรู้ว่าคงหนักและทำให้เครียดพอควร

หมั่นเดินจงกรมบ้าง กำหนดสติบ้าง

จำคำไปอาจารย์สอนได้ไหม?

คนเรามีธรรมดา ต้องประสบกับสิ่งที่ไม่รัก

และต้องพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักเสมอ เป็นธรรมดา

เมื่อไหร่ที่เรารู้สึกว่า ไม่ธรรมดา

แสดงว่า เรากำลังหลุดจากธรรมะ

ต้องรีบกำหนดและเจริญสติทันทีครับ

เป็นเพื่อนทางใจให้หนูได้เสมอครับ

 

ขอบพระคุณค่ะ
หนูได้ข้อคิด เตือนสติตัวเอง ทุกครั้งที่ำิแวะมาิอ่านคำสอนของอาจารย์ค่ะ

ในเวลาที่คนเราเจอทุกข์ ประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบใจ
เรามักคิดว่้าปัญหาของเรานั่นเป็นเรื่องใหญ่ ใหญ่จนทนไม่ไ้ด้ หนักหนากว่าคนทั้งโลก โลกช่างไม่ปราณีกับเรา
ก็เพราะเราหลุดจากธรรมะ เผลอปล่อยจิตออกนอก
ทำให้บางคนอับจนหนทางที่จะฝ่าฟันปัญหา คิดสั้นที่จะหาทางเพื่อหนีปัญหาไปให้พ้นๆ

หนูจะหมั่นเจริญสติ ตามแนวทางที่อ.ได้สอนไว้ค่ะ
เพราะทุกสิ่ง ก็ล้วนเป็นอนิจจัง 
ไม่มีอะีำไีรที่จะอยู่กับเีราตลอดไป 
ไม่ว่าจะความชอบใจ ไม่ชอบใจ ความสุข สุด สุด
แม้แต่ ปัญหา หรือ ทุกข์ ทั้งหลายที่ผ่านเข้ามา
มันแวะมาทักทาย ให้เราได้ทุกข์ ได้เรียนรู้ซักพัก แล้วมันก็ไป
และหนูก็มองเห็นความเข้มแข็งของตัวเองเติบโตขึ้นทุกครั้ง
หลักจากที่อดทนจนทุกข์มันจากไป 
และหวังว่ามันจะเป็น "ความเข้มแข็ง" ที่ไม่ใช่ "แข็งกระด้าง" ค่ะ 

 หนทางไกลๆ มืดๆ ก็สว่างพอให้เดินต่อไปได้ทุกครั้งที่มีแสงธรรมนำทางค่ะ

 

ขอบพระคุณค่ะ อ.พิชัย 

ขอตั้งปุจฉาบ้างค่ะอาจารย์ สนใจจริงๆ...
หลักธรรมที่เป็นแกนของพุทธศาสนาคืออะไร อยากทราบค่ะ อย่างคริสต์ก็จะมีแค่สองข้อ คือ...รักพระเจ้าอย่างสุดจิตสุดใจ สุดกำลัง ความคิด และรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง แค่สองข้อนี้ก็หาคนปฎิบัติได้จริงๆ ยากแล้ว คือส่วนตัวรู้สึกว่าพุทธศาสนาเข้าใจยากมีรายละเอียดเยอะ เลยอยากทราบแก่นแท้ที่เป็นคำสอนหลักของศาสนาพุทธว่าคืออะไร (ช่วยอธิบายสรุปให้เข้าใจง่ายๆ ได้มั้ยคะ)

หนูซูซานแก้มยุ้ย

ถามสั้นๆแต่มีสาระให้ตอบยาวได้นะนี่

หลักธรรมที่เป็นแกนของพุทธศาสนาคืออะไร ?

ตอบอย่างง่ายๆ คือ

การปฏิบัติเพื่อให้ตน พ้นไปจากทุกข์

ซึ่งอาจประกอบด้วยคำสอนมากมาย และต่างระดับกันตามสภาวะของทุกข์และระดับจิตใจของผู้ที่ปฏิบัติ

เช่น รู้สึกหงุดหงิดฟุ้งซ่าน อยากปฏิบัติให้พ้นไปจากทุกข์ ก็ศึกษาแนวปฏิบัติที่ว่าด้วยการ สงบระงับจากทุกข์นี้...ด้วยการเจริญสมาธิ

หรือรู้สึกตนว่ามีข้าศึกศัตรู มีโรคภัยเบียดเบียน ก็ศึกษาแนวปฏิบัติ การเจริญเมตตา การให้อภัยทาน เป็นเรื่องของศีล

หรือ อยากพ้นจากทุกข์ของการเวียนว่ายตายเกิด เพราะเกิดปัญญา เห็นว่าการเกิดในวัฎฎะนี้เป็นทุกข์ ก็ต้องศึกษาการปฏิบัติภาวนา คือการเจริญสติเพื่อให้เกิดปัญญาเห็นทุกข์และเหตุแห่งทุกข์จริงๆ เพื่อจะไม่ได้สร้างเหตุนั้นอีก...เป็นเรื่องของปัญญา

รวมความแล้วเป็นเรื่องของการศึกษา เพื่อให้เกิดการปฏิบัติ ศีล สมาธิและปัญญา ครับ

สอบถามครับ เห็นบนเว็บมากมาย บอกว่า การที่ผูชายบวช เณร ผิดศีล สำหรับการช่วยตัวเอง แม้ว่าจะเป็นการบวชหน้าศพญาต เพียง 3 วัน 7 วัน เลยอยากสอบถาม จริงหรือไม่ แล้วแนวทางแก้ไขควรทำอย่างไร เมื่อรู้เท่าไม่ถึงการ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท