จิต : การรับรู้ (Perception)


การรับรู้ เป็นเหตการณ์ความรู้สึกที่เป็นผลจากกิจกรรมของเซลล์ประสาทสมอง เป็นลักษณะหนึ่งของจิต ไม่ใช่จิตทั้งหมด จัดเป็นประเภทอสสาร สามารถ Observe หรือ Experienceได้ด้วยวิธีพินิจภายใน(Introspection)

การรับรู้ หมายถึง  การรู้สึกสัมผัสที่ได้รับการตีความให้เกิดความหมายแล้ว  เช่นในขณะนี้  เราอยู่ในภาวะการรู้สึก(Conscious)  คือลืมตาตื่นอยู่  ในทันใดนั้น  เรารู้สึกได้ยินเสียงดังปังมาแต่ไกล(การรู้สึกสัมผัส-Sensation)  แต่เราไม่รู้ความหมายคือไม่รู้ว่าเป็นเสียงอะไร  เราจึงยังไม่เกิดการรับรู้  แต่ครู่ต่อมามีคนบอกว่าเป็นเสียงระเบิดของยางรถยนต์ เราจึงเกิดการรู้ความหมายของการรู้สึกสัมผัสนั้น  ดังนี้เรียกว่าเราเกิดการรับรู้

เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในเสี้ยววินาที  คนทั่วไปจะแยกไม่ออก  ผมเองก็แยกไม่ออก  แต่ผมใช้เหตุผลมาแยกขั้นตอนการเกิดออกได้ คือ  เพราะว่าเราอยู่ในภาวะการรู้สึก ดังนั้นเราจึงรู้สึกสัมผัส และเพราะว่าเรารู้สึกสัมผัส ดังนั้นเราจึงรู้ความหมาย   เป็นไปไม่ได้ที่เราจะรู้สึกสัมผัสก่อนการรู้สึก และเป็นไปไม่ได้ที่เราจะตีความเสียงดังปังก่อนการรู้สึกสัมผัส  ดังนั้นมันจะต้องเกิดเป็นขั้นๆ  นับจากขั้นการรู้สึก  การรู้สึกสัมผัส  การตีความให้รู้ความหมาย  อย่างแน่นอน

ถ้าเราวิเคราะห์กระบวนการรับรู้จะได้ดังนี้  คลื่นเสียงเดินทางเข้ากระตุ้นที่หู  แล้วเกิดการเปลี่ยนคลื่นเสียงเป็นกระแสประสาท  จากนั้นจึงเดินทางต่อไปจนถึงแดนการรู้สึกได้ยินคือ Auditory cortex ที่สมองบริเวณขมับ  กระบวนการทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นเหตุการณ์ทางกาย  ทางวัตถุ  หรือทางสสาร  แต่ในทันใดนั้น  การรู้สึกได้ยินเสียงก็เกิดขึ้น(การรู้สึกสัมผัส-sensation)  กระแสประสาทจากนิวโรนกลุ่มนั้นจะกระตุ้นนิวโรนข้างเคียงต่อๆกันไปเรื่อยๆ จนอ่อนกำลัง  เมื่อนิวโรนข้างเคียงได้รับการกระตุ้น (กาย)  ความรู้สึก(จิต)ก็เกิดขึ้นด้วยควบคู่กัน แต่ความรู้สึกในคราวนี้เรียกว่า  การระลึก(Recall หรือ Retrieval)  ผลจากการระลึกนี้จะโยงสัมพันธ์กับการรู้สึกสัมผัสที่เกิดอยู่ก่อนแล้วนั้น  ทำให้เกิดการรู้ความหมายขึ้น  เรียกว่า  การรับรู้

การรับรู้เป็นเหตุการณ์ทางจิต  เกิดจากกิจกรรมของกลุ่มนิวโรน มันจึงต้องเกิดขึ้นในสมอง  เพราะนิวโรนเป็นเซลล์ประสาทที่รวมตัวกันเป็นก้อนสมอง  ในเมื่อมันอยู่ในสมอง  เราจึงดูด้วยตาไม่เห็น แลแม้ว่าเราจะเปิดกระโหลกเข้าไปดูสมองได้  แต่เราก็จะไม่เห็น ความรู้สึกได้ยินเสียง  นั้นเลย  เพราะมันเป็นอสสาร  ไม่มีทางที่เราจะมองเห็นการรู้สึกเจ็บ  การรู้สึกรัก ฯลฯ วิ่งไปมาอยู่ในสมองได้เลย  ดังนั้น  เราต้อง  เดา เอาเอง  การเดาเอาเองนี้เรียกให้ไพเราะขึ้นก็ว่า  เราสันนิษฐาน และผลของการสันนิษฐาน  เราเรียกว่าภาวสันนิษฐาน หรือ Construct  ที่ได้กล่าวให้ท่านหูอื้อเล่นมาแล้วในเรื่อง Concept   นั่นก็คือ  การรู้สึกสัมผัสก็ดี  การรับรู้ก็ดี เป็น Construct  และด้วยเหตุที่มันเป็นผลของกิจกรรมของกลุ่มนิวโรน มันจึงต้องโยงสัมพันธ์กับกลุ่มนิวโรนนั้นๆ  ถ้าสักวันหนึ่งเราสามารถมองเห็นกิจกรรมของกลุ่มนิวโรนนั้นๆ(วัตถุ)ที่เกิดควบคู่กับความรู้สึกนั้นๆ(จิต) แล้ว  ภาวสันนิษฐานนั้นก็เป็นของจริง(Entity/Fact)

การรู้สึก  การรู้สึกสัมผัส  การรับรู้  ต่างก็เป็น  ชื่อ ของภาวสันนิษฐาน  มันต่างก็เป็นลักษณะหนึ่งของจิตในจำนวนลักษณะของจิตที่มีอยู่มากมาย    ภาวสันนิษฐานเหล่านี้ครั้งหนึ่งเคยถูกปฏิเสธจากกลุ่มพฤติกรรมนิยมแบบ Radical  ยังผลให้การวิจัยเรื่องจิตเงียบหายไปราว 60 ปี  บัดนี้เราได้เข้าไปศึกษาจิตอีกครั้งหนึ่ง  ด้วยความสนุกสนานมากกว่าเดิม  และรวดเร็ว  เพราะได้ยืมเครื่องมือสำคัญของ Behaviorism  มาใช้  คือ  Scientific Method  หรือ Empirical Research   ภายใต้ธงที่ชื่อ  COGNITIVE PSYCHOLOGY 

หมายเลขบันทึก: 7409เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2005 13:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (37)

ดิฉันเพิ่งเคยได้อ่านงานเขียนด้าน Cognitive Science ที่เป็นภาษาไทยจากบล็อกของอาจารย์นี่ละคะ ดิฉันเองเขียนบล็อกด้าน Human-Computer Interaction อยู่ที่ http://Usability.GotoKnow.org คะ แต่ยังไม่ค่อยได้เริ่มเขียน เพราะเขียนอยู่ที่อื่นเสียเยอะ

เมื่อมาเจออาจารย์ทาง GotoKnow.org แล้ว รู้สึกดีใจมากคะ เพราะในที่สุดก็มาเจอคนด้าน Coginitive Science จนได้ หลังจากที่หามานานถึง 3 ปี :)

ดิฉันจึงได้เปิดชุมชนขึ้นใหม่ที่ GotoKnow.org แห่งนี้ชื่อว่า http://Cognition.GotoKnow.org เพื่อเป็นคลังความรู้ด้าน Cognitive Science โดยเฉพาะคะ

ดิฉันได้ส่งคำเชิญการเข้าร่วมชุมชนไปยังอาจารย์แล้วนะคะ และได้เพิ่มให้อาจารย์เป็นผู้บริหารชุมชนเรียบร้อยแล้วด้วยคะ

เพื่อการรวมบล็อกของอาจารย์เข้าสู่ ชุมชนบล็อก ที่สร้างขึ้นใหม่นี้ ให้อาจารย์เข้าที่ แผงควบคุม > บล็อก > จัดการบล็อก > สมัครเข้าชุมชน > กดปุ่มอนุมัติ คะ

อีกเรื่องหนึ่งคะที่ดิฉันอยากแนะนำคะ คือ ลิงค์ที่อยู่ของอาจารย์ปัจจุบันดูจะจำค่อนข้างยากคะ จากเดิมคือhttp://swai12.gotoknow.org อาจารย์สามารถเปลี่ยนเป็นชื่ออื่นได้นะคะ เช่น http://Mind.gotoknow.org เป็นต้นคะ (ชื่อนี้ยังว่างคะ) อาจารย์ลองแก้ไขดูนะคะ เข้าที่  แผงควบคุม > บล็อก > จัดการบล็อก > แก้ไขบล็อก คะ

หากอาจารย์ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อมาได้ที่ [email protected] นะคะ

ขอบคุณคะ
จันทวรรณ

กำลังค้นหาผู้รู้เพิ่มเติมคะ ค้นหาผู้เชี่ยวชาญด้าน Cognitive Psychology เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านนี้โดยเฉพาะคะ

ศิริวราภรณ์ ตระหง่าน

หนูอยากทราบว่าการรับรู้ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการทำงานมีอะไรบ้าง  และส่งผลอย่างไรค่ะ  อยากทราบตัวอย่างค่ะ

เป็นคำถามที่กว้าง แต่จะตอบประเด็นเดียวคือ การรับรู้พฤติกรรมของนายจ้าง เช่น นายจ้างแสดงความเมตตาต่อเราบ่อยๆ  เราก็รับรู้ และสันนิษฐานว่า  เขาอาจจะพอใจการทำงานของเรา  เขาอาจจะขึ้นเงินเดือนให้เราสองขั้น  หรือเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้น  ทำให้เรารู้สึกพอใจ มีขวัญและกำลังใจในการทำงานดีขึ้น  พฤติกรรมการทำงานก็จะดีขึ้น

ขอให้สังเกตว่า  ทุกครั้งที่เราพบคนอื่น เราจะรับรู้เขาจากพฤติกรรมของเขา  และสันนิษฐานเขา  และเช่นเดียวกัน เขาก็จะรับรู้เรา และสันนิษฐานเรา  ถ้าคุณสำนึกเช่นนี้ทุกวัน คุณก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาท. 

อยากรู้ว่าอิทธิพลที่มีต่อการรับรู้

อิทธิพล "ที่มีต่อ" การรับรู้ มีทั้งจากภายนอกสมอง และ ภายในสมอง

อิทธิพลจากภายนอกก็เช่น 

การรวมกลุ่ม (Grouping) สิ่งๆเดียวกัน  ถ้ารวมกลุ่มต่างกันก็จะมีอิทธิพลทำให้การรับรู้ต่างกัน

รูปร่าง, ขนาด, ความลึก, ก็มีอิทธิพลต่อการรับรู้ เช่น เสาไฟฟ้า  รางรถไฟ ที่ไกลออกไป

รูปภาพ กับ ฉากหลังภาพ (Figure - Ground) ก็ทำให้เกิดการรับรู้ต่างกัน

อิทธิพลจากภายในก็เช่น  ความรู้สึก(Conscious), ความจำ, เจตคติ(Attitude) ก็มีอิทธิพลต่อการรับรู้ คือถ้า "เหล้า, ยาบ้า, กัญชา, เฮโรอีน, ฝิ่น, ยาอี,"  เข้าไปทำให้ระบบประสาทในสมองผิดปกติ (กาย) แล้ว  ความรู้สึก, ความจำ, ความคิด (จิต)  ก็จะแปรเปลี่ยน บิดเบือนไป   ทำให้การรับรู้บิดเบือนไปด้วย  เป็นต้น

ดังนั้น  ถ้าเราต้องการจะ "ควบคุม" ใคร  เราก็ใช้ตัวแปรเหล่านี้แหละครับ 

นี่ก็หมายความว่า "เราสามารถควบคุมจิตของมนุษย์ได้" ไงละครับ !!  แล้วเรายังมีหน้ามาพูดว่า "เรามีจิตเสรี" อยู่อีกหรือ ?!!

ขอขอ[คุณที่ถามครับ  แต่ต้องขออภัยเป็นอย่างมาก ที่ตอบช้าไปครับ

อ่านบทความของอาจารย์แล้วมีประโยชน์ มากครับ พอดีว่าเทอมนี้ลงเรียนวิชา Cognitive Engineering พอดี ตอนเรียนก็ งง ดี เพราะเข้าใจยาก

อยากถามอาจารย์ว่า "โลกของแต่ละคนแตกต่างกันออกไป" โดยอยากให้อาจารย์ยกตัวอย่างการทดลองน่ะครับ เพราะหาอ่านจากPaper มีแต่จะเก็บตังค์(-_-)"

ยังไงก็จะติดตามอ่านงานอาจารย์ต่อๆไปครับ ขอบคุณครับ

ยุทธการ นูนทะธรรม วิศวกรรมชีวเวช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คุณยุทธการ นูนทะธรรม ครับ

ต้องขออภัยเป็นอย่างยิ่งครับ  ผมเพิ่งจะเข้ามาเห็น ผ่านมาตั้งหลายเดือนแล้วซีครับ คุณคงสอบไปแล้วด้วย !  ผมหาการทดลองทำนองนี้ไม่พบครับ  อาจจะยังค้นไม่ทั่วทุกแหล่งก็ได้  เอาไว้ถ้าผมพบแล้วผมจะมาบอกต่อท้ายไว้ตรงนี้ก็แล้วกันนะครับ

ดร.ไสว เลี่ยมแก้ว

 

การรับรู้ทางจิตวิทยาคืออะไรฮะ

ขอโทษด้วยครับ  คุณโดราเอ  ที่ผมเพิ่งจะเข้ามาเห็นคำถามของคุณครับ

การ"รับรู้ทางจิตวิทยา"

(๑) ความหมายที่หนึ่ง  อยู่ในบล็อกแล้วครับ  ที่ว่าด้วย Perception

(๒) ความที่สอง หมายถึง "การเกิดความเข้าใจต่อพฤติกรรมต่างๆ  ทั้งพฤติกรรมภายนอก  เช่นการพูด การยกมือ ฯลฯ และ พฤติกรรมภายใน เช่น การจำ  การคิด  การตัดสินใจ  อารมณ์  เจตคติ  ฯลฯ "

อยากเรียนถามเกี่ยวกับทฤษฎีการรับรู้  ว่ามีใครบ้าง  แนวคิดทฤาฎี  อยากให้ยกตัวอย่างด้วยค่ะ

สวัสดีครับคุณมือใหม่หัดขับ

ชื่อกันแปลกๆดีเหลือเกินนะ  นับเป็นความคิดสร้างสรรค์ได้ทีเดียว  ถ้าว่าด้วยทฤษฎีเกี่ยวกับ Perception แล้วละก้อ  ขอให้ดูจิตวิทยาเกสตัลต์นะครับ  คุณอาจะหาได้จากตำราจิตวิทยาทั่วๆไป  จากตำราภาษาอักฤษ  ว่าด้วยบทที่เกี่ยวกับ Perception เขาจะมีทฤษฎีเกี่ยวกับเรื่องนี้ของกลุ่ม Gestalt Psychologists  อย่เป็นบทๆทีเดียว  ในหนังสือมูลบทจิตวิทยาของ ดร.ชัยพร   วิชชาวุธ  ก็มีให้อ่านอย่างจุใจครับ

นายทวี ลูกพระราชบิด
ผมเคยเรียนวิชาพฤติกรรมศาสตร์กับอาจารย์เมื่อประมาณปี 2532 ปัจจุบันผมจบปริญญาโทจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนวจาก มก.และได้เรียบเรียงตำรา จิตฟิสิกส์การมองเห็น  ผมอยากจะส่งหนัีงสือเล่มนี้ให้อาจารย์อ่าน และอยากจะให้อาจารย์ช่วยวิจารณ์์ด้วยครับ

รู้สึกดีใจมากที่ได้รับข่าวนี้ และขอแสดงความยินเป็นอย่างยิ่ง  คงคิดจะเรียนต่อระดับปริญญาเอกต่อไปอีกนะ

หนังสือที่ว่า  ส่งไปได้เลย ยินดีอ่านให้  อ้อ  บันทึกในบล็อกนี้  ส่วนใหญ่เป็นความคิดที่ไม่เหมือนในตำรานะ เป็นความคิดวิจารณ์  และเสนอแนวคิดใหม่  คงจะเห็นแล้วนะว่าแปลกออกไปจากที่เคยสอนมาอยู่บ้าง  ถ้าเห็นว่าแตกต่างไปจากในหนัสือที่เขียนหรือที่เรียนมาจากสถาบัน ก็ไม่ต้องตกใจหรอกนะ  และ ถ้าคุณไปเรียนต่อปริญญาเอกไม่ว่าเมืองในหรือเมือนอก ลองนำไปวิพากษ์วิจารณ์ดูในชั้นเรียน  จะทำให้มองเห็นอะไรๆแปลกๆไปบ้างไม่มากก็น้อย  บางทีอาจจะเป็นสิ่งใหม่ไปก็ได้นะ

ทวี ลูกพระราชบิดา ระหัส 30
เวบบล็อกของอาจารย์น่าสนใจมากครับ ผม Bookmark ไว้ แล้วตั้งแต่ผมมาโพสต์ไว้เมื่อครั้งนั้นก็เพิ่งเข้ามาดูอีกทีหนึ่งในวันนี้ เพิ่งนึกขึ้นได้ว่าตนเอง Bookmark บล็อกอาจารย์ไว้ หนังสือเล่มนั้นผมได้เรียบเรียง เพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ซึ่งผมได้เสนอไปแล้ว กว่าผมจะได้ยื่นผมก็ใช้เวลาในการเรียบเรียงพอสมควร โดยอาศัยการแปลจาก Text จากเวบไซต์เป็นส่วนใหญ่ โดยมีความคิดว่าตำราหรือหนังสือทางจิตฟิสิกส์ยังไม่ค่อยจะมีคนเรียบเรียงมากนัก เท่าที่ผมเห็นมีของอาจารย์ชัยพร จะเป็น จิตวิทยาความรู้สึก อีกเล่มเป็นของอาจารย์ธรรมศาสตร์ จิตวิทยาการรับรู้ ผมเลยเรียบเรียงเสียเลย จิตฟิสิกส์การมองเห็น ฉะนั้นความที่ตนเองภาษาอังกฤษไม่ค่อยจะแข็งแรง แต่ใช้ความบังอาจแปล Text ถ้าอาจารย์อ่านอ่านะเวียนหัวไม่น้อย แต่ผมยินดีน้อมรับทุกคำวิจารณ์จากอาจารย์ อยู่แล้วครับ  เรื่องจะไปเรียนป เอก ตอนเรียนจบ ปโทใหม่ๆ อยากเรียนมากเลยครับ เลยติดต่อมหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมัน โปรเฟสเซอร์ อ้าแขนรับพร้อมที่จะกำกับการทำวิจัยเพื่อรับ Ph.D จากมหาวิทยาลัย แต่ผมไม่มีเงินทุนไป เพราะปี 42-43 อยู่ใช่ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ทางมหาวิทยาลัยที่ผมทำงานไม่ให้ทุน เลยฟาว์ลไป ตอนนี้กำลังเล็งๆมหาวิทยาลัยแถวอินเดียอยู่ครับ ยังไง ขอขอบพระคุณอาจารย์ล่วงหน้านะครับ
รู้สึกดีใจมากครับ  ขอแสดงความยินดีกับความตั้งใจ ขอให้ได้ดังตั้งใจนะครับ ขอให้มีความสุขตลอดปีใหม่นะครับ
สมเกียรติ ชูศรีทอง

เรียนอาจารย์ ดร.สมใจ ที่นับถือ

ผมกำลังทำวิทยานิพนธ์เรื่องการใช้สิทธิแรงงานของลูกจ้าง ผมมีตัวแปร การรับรู้ทางสังคม อยู่ด้วย ซึ่งผมหมายถึงการรับรู้ต่อกฎหมายแรงงาน นายจ้าง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ คำถามที่ผมอยากถามคือ การรับรู้ เกิดขึ้นโดยผ่านการสัมผัสสิ่งเร้าที่เป็นการบอกกล่าวจากคนอื่นได้หรือไม่ เช่น นาย ก ไม่ได้รับค่าจ้างในวันที่ตนเองลาป่วย จึงจะไปร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่รัฐ แต่นาย ข ได้บอกนาย ก ว่า นายจ้างของโรงงานเราใจร้ายมากนะ ถ้าไปร้องเรียนจะถูกกลั่นแกล้ง และจะไม่ได้ขึ้นเงินเดือน นาย ก เชื่อนาย ข จึงไม่ไปร้องเรียน อย่างนี้เรียกว่า "นาย ก รับรู้ว่านายจ้างในร้าย ได้หรือไม่"

สรุปประเด็นคำถาม

(1) การรับรู้ตามตัวอย่างนี้ไม่ได้เกิดจากประสบการณ์ของนาย ก เอง แต่เกิดโดยผ่านการบอกกล่าวของคนอื่น ผมจึงสงสัยว่าจะเรียกว่าเกิดการรับรู้ได้หรือไม่

(2) หากเป็นการรับรู้ จะเกิดการรับรู้เมื่อใด เกิดทันทีตั้งแต่นาย ก ได้ยิน นาย ข บอกกล่าว หรือต้องมีขั้นตอนอื่นใดอีกหรือไม่จึงจะเรียกได้ว่า นาย ก ได้เกิดการรับรู้ขึ้นแล้ว

(ผมขอคำตอบทาง email ด้วยนะครับ ขอขอบพระคุณอาจารย์มากครับ)

สมเกียรติ ชูศรีทอง

เรียน อ.ดร.ไสว ที่นับถือ

ผมต้องขอโทษอาจารย์มากๆ ที่เขียนชื่ออาจารย์ผิด เป็น สมใจ

สวัสดีครับ คุณสมเกียวติ ชูศรีทอง ผมทราบจากอีเมล์เรื่องคุณเปลี่ยนชื่อใหม่ให้ผมแล้ว ไม่เป็นไรครับ นั่นเป็นชื่อภรรยาของผมเอง เรืองที่คุณถามนั้นเป็นการขยายจากหัวข้อที่ผมเขียนไนบันทึกนี้ จึงขอกล่าวตรงนี้

(๑)เรื่องที่ผมเขียนในบันทึกข้างบนนี้นั้น เป็นการอธิบายเรื่องของ "การรับรู้" ใน "ระดับอะตอม หรือ โมเลกุล" ของการรับรู้ครับ อันที่จริงแล้วยังมีเรื่องของการรับรู้ที่ลึกกว่านั้นครับ เช่นเรื่องที่คุณถามมานี้

(๒)"การรับรู้ทางสังคม" เป็นคำศัพท์ของสาขาจิตวิทยาสังคม ในจิตวิทยาสังคมนั้นมีความหมายทำนองนี้"สังคมหมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป" ความสัมพันธ์ก็เช่น การสบตากัน การยิ้มให้กัน การสนทนากัน เมื่อสัมพันธ์กันแล้วก็"เกิดการรับรู้ว่า เขาเป็นเพศใด เขาอายุเท่าไร สูงต่ำดำขาว ฯลฯ " คือสัมผัส"ลักษณะภายนอกทั้งหมด" ก็ "รับรู้ลักษณะนั้นทั้งหมด" นี่เป็นรับรู้ระดับตื้น ถ้าเขา "แปลความ" ลักษณะเหล่านั้น เช่น "สัมผัสการแต่งกายที่เรียบร้อยของเขา" ก็ "แปลความ"ว่าเขาสุภาพเรียบร้อย และ "ตีความ"ว่า "เขาถูกอบรมมาดี" "เขาคงมีการศึกษาดี" "เขามาจากครอบครัวคนรวย"ฯลฯ ดังนี้เรียกว่าการ"รับรู้"ทางสังคม

(๓)ถ้าคุณอ่านนิยายแล้วคุณเกิดตื้นตันใจร้องให้จากการอ่านเรื่องนั้น ก็เรียกว่า "การรับรู้" เหมือนกัน และ "ระดับลึก"ด้วย แต่"ไม่ใช่"การรับรู้ทางสังคม เพราะเขานั่งอ่านคนเดียว ไม่สัมพันธ์กับใครด้วยพฤติกรรมใดๆ

(๔)ตามตัวอย่างของคุณ เป็น "การรับรู้" ครับ นาย ก.สัมพันธ์กับใครๆไปตลอดทาง เป็น "พฤติกรรมสังคม" และทุกครั้งที่เขา"สัมพันธ์"กัน เขาก็เกิด "การรับรู้"กันและกัน จะลึกตื้นขนาดไหนต้องไปสัมภาษณ์เขาดู และ"..นายจ้างใจร้าย.." เป็นการ "ตีความ" ของเขาเอง นับเป็นการรับรู้ทางสังคมระดับลึก "การแปลความ" และ "การตีความ" เป็ความสามาถที่จะทำให้เกิด"การรับรู้ในระดับลึกและกว้าง"

(๕)ถ้านาย ก.กล่าวว่า"ถ้าเราไม่ทำอะไรสักอย่างกับนายจ้างแล้วก็จะ ...." ดังนี้เป็น "การขยายความ" ซึ่ง"ไม่ใช่การรับรู้ทางสังคม" แต่เป็น "ความคิดขยายความ"

(๖)งานวิจัยของคุณต้อง "นิยาม"คำว่าการรับรู้ทางสังคมให้ชัดเจน

ขอให้สำเร็จสูงสุด

ดร.ไสว เลี่ยมแก้ว

เรียน ดร.ไสว เลี่ยมแก้ว ที่เคารพ

นู๋บิทช์อยากทราบว่า

1. พฤติกรรมของมนุษย์ ทำให้เราสามารถอ่านความคิดของเขาได้หรือเปล่าคะ

2. มีวิธีจับโกหกได้อย่างไร

ดร.ไสว เลี่ยมแก้ว

(๑)พฤคิกรรมของคนทำให้เราอ่านความคิดของเขาได้ ที่ว่าอ่านนั้นเป็นภาษาทั่วไป ถ้าจะให้ชัดมากขึ้นควรใช้คำว่า "สันนิษฐาน" หรือ "คาดเดา" ที่เราสังคมกับคนอื่นได้ก็ด้วยความสามารถในการสันนิษฐานของเรานี้เอง เช่น เขาพูดว่า "ขับรถระวังหน่อยนะ" เราก็สันนิษฐานว่า "เขาคิดห่วงใย" ถ้าเป็นเพศตรงข้ามแลรุ่นเดียวกัน ก็ชี้ว่า เขามีใจให้กับเรา เป็นต้น แต่ระวังให้ดี เพราะอาจจะแสร้งทำได้ ต้องสังเกตซ้ำซาก

(๒) การจับโกหกก็ทำได้ ทำกันมากในเรื่องของการสอบสวน ซึ่งคุณจะหาอ่านได้ทั่วไป

อนึ่ง ทั้งสองข้อ อาจจะมีความคลาดเคลื่อนบ้าง ถ้าเป็นงานทางวิทยาศาสตร์ เช่นการวืจัย นักวิจัยจะตั้งระดับนัยสำคัญไว้ที่ระดับ .๐๕ หรือ .๐๑

ความสามารถในการสันนิษฐาน คือ "การแปลความ และหรือการตีความ" ซึ่งเป็นความสามารถที่เรียกกันว่า "ความเข้าใจ" หรือ Comprehension ability

สวัดดีครับ ดร.ไสว เลี่ยมแก้ว

ผมเจอเหตุการณ์มาเหตุการณ์หนึ่งซึ่งทำให้สงสัยในกระบวนการคาดเดาของมนุษย์ หาไปหามาก็ไม่เจอจนมาเจอบล๊อกของอาจาร์ย อ่านดูแล้วคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องเดียวกัน เรื่องมีอยู่ว่าผมย้ายบ้านใหม่แล้วก็มีลังของที่ผูกมัดไว้อย่างดีและอยากจะหากรรไกรสักอันแต่ไม่มี ก็คิดอยู่นานจะหาได้จากที่ไหน ถ้าไม่นับว่าจะทำอย่างไรด้วยวิธีอื่นเช่นใช้มีดน่ะครับ ในบ้านมีจักร์เย็บผ้าอยู่ตัวหนึ่งพอเหลือบไปเห็นก็คิดว่าน่าจะมี(มันเป็นของเจ้าของบ้านที่เค้าไม่ได้ขนย้ายไปน่ะครับ)จากนั้นก็ลองเปิดลิ้นชักดูก็เจอครับ

ผมเลยสงสัยว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้เราคาดเดาว่ามันน่าจะมีหรือน่าจะเป็นอย่างที่เราคิดครับ ความคุ้นเคย ประสพการ์ที่เคยเจอหรือมีมา หรืออื่นๆนานา แล้วระบบหรือกระบวนการคิดนี้เป็นไปและมาอย่างไรครับผมพยายามคิดแต่ก็ไม่เข้าใจ อาจาร์ยช่วยอิทบายให้หนอยได้มั้ยครับ ทั้งอย่างง่ายและอย่างยากน่ะครับ เรียนตามตรงผมไม้ได้เรียนมาทางด้านนี้ แต่ผมเกิดสนใจที่จะรู้แนวคิดเพื่อนำไปใช้กับภาพถ้ายน่ะครับ เพราะเวลาจะทำงานสักชิ้นผมจะใส่แนวคิดลงไปแต่ก่อนที่จะเริ่มผมต้องทำความเข้าใจกับแนวคิดนั้นๆก่อนเพื่อที่จะบอกหรือส่อสารให้ได้ตรงอย่างที่ต้องการและเป็นความรู้ความเข้าใจที่ไม่ผิดพลาดต่อผู้ที่ชมและตีความในภาพถ่ายของผม และเพื่อนำไปใช้ในกระบวนการคิดในเหตุอื่นๆที่อยู่บนฐานเดียวกัน ง่ายๆคือสร้างสรรค์งานแนวคิดเดียวแต่มีหลากหลายเหตุหารณ์ประมานนั้นน่ะครับ

ขอบคุณอาจาร์ยล่วงหน้าครับ

เกือบสองเดือนแล้วครับ ผมเพิ่งเข้ามาดู ต้องขอโทษด้วยครับ เอาอย่างนี้นะ

(๑) ในบล็อก Human Mind นี้ เกือบ 100% เป็นเรื่องเกี่ยวกับความคิด ลองศึกษาดู

(๒) ดูเหมือนคุณสนใจ "ความหมาย" ที่จะให้กับ ภาพถ่ายของคุณ เรื่องนี้จะมีสองส่วน คือ

๒.๑ ความงาม ต้องมีความรู้สึกทางสุนทรีย์สูง และ

๒.๒ ความคิด เช่น คุณจะสื่อความสิ้นหวังในภาพ คุณควรจะใช้แบบอย่างไร ถ้าจะสื่อความเสื่อมของสังคม จะต้องใช้ภาพอย่างไร ฯลฯ ความคิดแปลกๆเหล่านี้ต้องมีความคิดสร้างสรรค์

ผมกำลังเรียนวิชา จิตวิทยากับการศึกษา กำลังทำรายงานเกี่ยวกับการรับรู้ อยู่ครับอาจารย์ อยากทราบว่าการรับรู้ มีอะไรบ้าง

การรับรู้ทางจิตวิทยาคืออะไร ผมขอรบกวนอาจารย์แค่นี้นะครับ

สวัสดี คุณวินัย ทิพย์ดี

ข้อความทั้งหมดข้างบนนี้ คือคำตอบสิ่งที่คุณถาม รวมทั้งข้อคิดเห็นที่ตอบข้อคำถามทั้งหมดด้วย อ่านซ้ำอีกครั้งครับ ควรหาอ่านเพิ่มเติมจากตำราต่างๆด้วย จาก Encyclopedia of Psychology, Dictionary of Psychology, Wikipedia ก็ได้ เมื่อเข้าใจแล้วจึงเขียนเป็นบทความของเราเอง ก็คงจะได้คะแนนงาม

อยากถามอาจารย์หน่อยครับว่าในทางจิตวิทยา

เรามีวิธีการอย่างไรให้คนสามารถยอมใช้ชีวิตให้ช้าลง ได้บ้างอ่ะครับ

ปัจจุบันนี้ มันเร็วเหลือเกิน....

สวัสดีคุณ Duck

ผมไม่ทราบว่าใครค้นคว้าเรื่องนี้ไว้บ้าง แต่ถ้าจะให้นำความรู้ทางจิตวิทยามาอธิบาย ก็อธิบายได้ เช่น

เพราะว่า มนุษย์มีความสามารถที่จะเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อม

เพราะว่า สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปเร็ว

ดังนั้น มนุษย์จึงเรียนรู้เร็วตามสิ่งแวดล้อมไปด้วย

ถ้าจะทำให้ช้าลงก็คงจะไปสอดคล้องกับ ธรรมชาติ

แต่ถ้าจะฝืนธรรมชาติ มนุษย์ก็คงจะควบคุมตัวเองด้วยตัวเอง ก็น่าจะเป็นวิธีหนึ่งครับ

ขอบคุณสำหรับคำตอบมากครับ

คืออยากจะถามต่ออีกนิดว่า

ช้าลง ในทางจิตวิทยา มันให้ผลอะไรกับตัวเราบ้างอ่ะครับ

ทั้งการทำช้า คิดช้า หรือการหยุดคิดต่างๆ

นอกเหนือจาก การทำให้เรามีสติมากขึ้น

ขอบคุณมากครับ

สวัสดี คุณ Duck

ผมคิดว่ามันให้ผลอย่างน้อยสองอย่างครับ คือ ทางที่ดี และทางที่ไม่ดี ทางที่ดีก็เช่น ถ้าคิดช้า ก็จะตอบสนองช้า จะทำให้ลดการกระทำที่วู่วามได้ ถ้ามีคนด่าเรา เราคิดอยู่นาน จะทำให้อารมณ์โกรธลดความเข้มลง อ่อนลง ทำให้หยุดการทะเลาะกันได้ เป็นต้น ในทางที่ไม่ดีก็เช่น ทำให้เราทำข้อสอบได้น้อยเพราะหมดเวลาเสียก่อน ได้คะแนนน้อย สอบตก เป็นต้น การหยุดคิด ถ้าตื่นอยู่ ก็จะเป็นสุขสงบ แต่ถ้าหลับ ก็หมดทุกอย่าง คือไม่มีอะไรเลย จนกระทั่งเราตื่นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

เรียน ดร.ไสว เลี่ยมแก้ว

รบกวนท่าน ดร.ไสว เลี่ยมแก้ว อธิบายเกี่ยวกับเรื่องความสำคัญของการรับรู้ต่อพฤติกรรมการเรียนรู้ เจตคติ อารมณ์ ฯลฯ รบกวนท่าน ดร.ไสว เลี่ยมแก้ว แนะนำด้วยค่ะขอบคุณค่ะ

ถ้าโจทย์เลขเรื่องเกี่ยวกับสมการ ยาว ๕ บรรทัด นาย ก. อ่าน ๑๐ นาทีจบ และรู้เรื่อง นาย ข. อ่าน ๒ นาทีจบ และรู้เรื่อง นาย ค. อ่าน ๓๐ วินาที จบ รู้เรื่อง ทั้ง ๓ คน ทำถูกหมด ใครเข้าใจเร็วกว่า ใครจะทำเลข ๑๐๐ ข้อเสร็จก่อนกัน ใครจะเรียนรู้ได้เร็วกว่ากัน แน่นอน ต้องนาย ค.

นาย ก. รับรู้คำบรรยายของครูช้า จึงซ้ำชั้น นาย ข. รับรู้เร็ว จึงสอบผ่าน การรับรู้สำคัญต่อการเรียนรู้ไหม

สงสัยว่าจะสับสนแล้วละครับ ระหว่างรูป กับนาม หรือเอาให้คู้นเคยหน่อย ก็คือระหว่างสสารกับพลังงาน อย่าไปสับสนกับการที่จิตหรือวิญญาณเกิดขึ้นรับรู้ผัสสะแล้วก็ดับไป เกิดจิตดวงอื่นขึ้นเพื่อส่งต่อสิ่งที่รับรู้ไปจนถึงขั้นตอนการแปลความหมายของสิ่งที่รับรู้โดยอาศัยความจำได้ หมายรู้เก่าๆของสิ่งนั้นๆที่เราเคยประสบมาก่อนหน้า ระบบประสาท กระแสประสาท หรือนิวโรน และคอร์เท็กซ์อะไรต่างๆเป็นเพียงส่วนของรูป คือสสาร ที่เป็นแหล่งก่อเกิดนาม หรือจิต หรือพลังงาน เหมือนเช่นเหล็กเป็นเพียงแหล่งก่อเกิดอำนาจหรือพลังงานแม่เหล็กแต่เหล็กไม่ใช่ตัวอำนาจแม่เหล็ก เอาแค่นี้ก่อนนะครับ

น่าสนใจครับ พูดต่อไปให้จบซีครับ และก้ออย่าลืมนิยามคำว่า "อำนาจ" ว่าคืออะไร และอธิบายว่าจิตเกิดได้อย่างไร ดับอย่างไร อะไรทำให้ดับ จิตดวงอื่นเกิดขึ้นได้อย่างไร จากอะไร รับต่อกันอย่างไร และทำไมจึงเกิดดับๆๆอยู่ตลอดเวลา ด้วย

น่าสนใจครับ พูดต่อไปให้จบซีครับ และก้ออย่าลืมนิยามคำว่า "อำนาจ" ว่าคืออะไร และอธิบายว่าจิตเกิดได้อย่างไร ดับอย่างไร อะไรทำให้ดับ จิตดวงอื่นเกิดขึ้นได้อย่างไร จากอะไร รับต่อกันอย่างไร และทำไมจึงเกิดดับๆๆอยู่ตลอดเวลา ด้วย

เอ่อ ดร.ครับ ดังนั้นแล้วหากนิวโรนนั้นเป็นกระบวนการที่ก่อเกิดความรู้สึกรับรู้แล้ว

มันต้องดึงมาจากสิ่งที่เคยประสบมาก่อน

อย่างนั้นแล้วผู้ฝึกศิลปะการต่อสู้ที่หลับตาหลบดาบจากด้านหลังได้ถือว่าเป็นกรณีของนิวโรนหรือไม่ครับ  ถ้าเป็นแบบนั้นแสดงว่าการรับรู้ของมนุษย์นั้นไม่จำเป็นต้องอยู่แค่สัมผัสทางกายสิครับ

http://www.youtube.com/watch?v=-zNP7-unHrw

หลับตาหลบดาบ  อาจจะสัมผัสด้วยอวัยวะอื่นนอกจากตาก็ได้ครับ  เช่น หู เป็นต้น   ขอบคุณสำหรับเว็บํYouTube ที่แนะไปให้  ผมยังไม่ได้เข้าไปดูครับ  แต่จะเข้าไปดู  ปัจจุบันนี้ได้มีนักวิทยาศาสตร์สาขาอื่นเข้ามาศึกษาหาคำตอบปัญหา  กาย-จิต กันมาก  เช่น  นักวิทยาศาสตร์สาขา Neuroscience,  Biologists, Physicists, Cosmologists, เป็นต้น  น่าตื่นเต้นครับ  แต่ยังไม่มีข้อสรุป  ยังเป็นลักษณะ  Scientific evidence อยู่เป็นส่วนใหญ่  แต่น่าสนใจอย่างยิ่ง

เรียน อ. นะคะ

ตอนนี้หนูกำลังทำงานวิจัยในหัวข้อเรื่อง "การรับรู้ของนักลงทุนไทยต่อตลาดหลักทรัพย์ที่เกิดใหม่ กรณีศึกษาตลาดหลักทรัพย์ลาว" หนูอยากทราบว่า ถ้าหนูจะไปสัมภาษณ์นักลงทุน หนูจะต้องมีคำถามเกี่ยวกับการรับรู้ประมาณไหนได้บ้างค่ะ ที่จะใช้เป็นคำถามนำ หรือจะนำไปใช้ในการทำแบบสอบถาม

ช่วยให้คำแนะนำหน่อยนะคะ ตอบผ่านทาง email หนูที่ให้ไว้ก็ได้ค่ะ

ขอบคุณค่ะ

อรุณณีย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท