ครอบครัวสัมพันธ์เอื้ออาทร


การอยู่ร่วมกันของคนหมู่มากต้องมีความเอื้ออาทรต่อกัน

การสร้างสรรค์ความสัมพันธ์เอื้ออาทรฟังดูแล้วเป็นเรื่องง่าย แต่ความจริงเป็นเรื่องท้าทายที่น่าทดลองทำ สำหรับหน่วยงานหรือองค์การที่มีคนอยู่ร่วมกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป

หัวใจสำคัญของการอยู่ร่วมกัน ถ้าว่ากันตามหลักพระพุทธศาสนา คือ ต้องยึดหลัก "สังคหวัตถุ 4" ได้แก่ ท่าน  ปิยวาจา  อัตถจริยา และสมานัตตา  สำหรับหลักคริสตศาสนา ได้แก่การมีความรักต่อเพื่อนมนุษย์ และหลักศาสนาอิสลาม คือ การให้หรือบริจาคทาน "ซากัต" นั่นเอง

ที่โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา เรามีมวลสมาชิกที่เป็นครอบครัวเดียวกัน ว่ากันเป็นครอบครัวใหญ่มีจำนวนกว่า 300 ชีวิต ประกอบด้วยครู และพนักงานคนงาน คนรถทุกคนมาอยู่อาศัยในชายคาเดียวกัน กินข้าวหม้อเดียวกัน  ทำอย่างไรจึงจะให้ทุกคนอยู่ด้วยกันฉันท์พี่น้อง ช่วยกันทำงาน สร้างสรรค์ความเจริญให้กับโรงเรียน เป็นโจทย์ที่ฝ่ายบริหารตั้งเอาไว้

หน้าที่ของฝ่ายบุคลากรหรือผู้เกี่ยวข้องก็คือ ต้องตอบคำถามและแก้โจทย์ดังกล่าวให้เป็นรูปธรรม
ดังนั้น จึงมีกิจกรรม "ครอบครัวสัมพันธ์เอื้ออาทร"

ครอบครัวสัมพันธ์เอื้ออาทร เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ครูและบุคลากรในแต่ละสายชั้นได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร สอบถามสารทุกข์สุกดิบสมาชิกหรือลูกบ้านในครอบครัวอย่างใกล้ชิดและอบอุ่น เป็นกันเอง  ด้วยเหตุที่แต่ละสายชั้น จำนวน 12 สายชั้น  ต่างก็มีสมาชิกคละกันทั้งครู คนงาน คนรถ ครอบครัวละไม่เกิน 20 คน  ฉะนั้นการพบปะพูดคุยสอบถามทุกข์สุขจึงเกิดขึ้นโดยง่าย ซึ่งแต่ละครอบครัวมี "หัวหน้าครอบครัว" (ส่วนใหญ่เป็นผู้อาวุโสที่ได้รับเลือกมาจากคนงาน คนรถ) จะคอยประสานงาน ดูแล อำนวยความสะดวกให้แก่สมาชิกหรือลูกบ้านของตนเอง

ภารกิจหน้าที่ของสมาชิกครอบครัวสัมพันธ์ ได้แก่การรับผิดชอบงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย

ในยามที่โรงเรียนต้องการกระจายข่าวสารข้อมูล หรือขอความร่วมมือช่วยเหลือด้านการงานของส่วนรวมก็มักจะประสานงานกับหัวหน้าครอบครัวให้ช่วยกระจายข่าว ทำให้การติดต่อสื่อสารเป็นธรรมชาติ และไม่เป็นลักษณะการออกคำสั่งให้ทำ ฉะนั้นจึงมักจะได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี "ได้ทั้งใจ ได้ทั้งงาน" จากมวลสมาชิกกลุ่มครอบครัวสัมพันธ์

การมีกิจกรรมครอบครัวสัมพันธ์ ในโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยาที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2540 ถึงปัจจุบันนี้ นับว่าได้บทเรียนที่มีคุณค่า  เนื่องจากการทำกิจกรรมร่วมกันของสมาชิกในครอบครัวแต่ละครอบครัว จะสร้างสรรค์ผลงานที่หลากหลาย และเปิดโอกาสให้สมาชิกทุกคนมีส่วน"ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหาและร่วมรักษาเกียรติคุณความดี"  จึงอาจกล่าวได้ว่า ผลดีที่ได้รับมีมากมายเกินความคาดหมาย  หากแต่ผู้บริหารระดับสูงจะต้องเปิดโอกาส และให้ขวัญกำลังใจ รู้จักให้คำติ-ชมเป็น

โดยหลักการอยู่ร่วมกันของสังคมไทย มีอัตลักษณ์ที่น่าสนใจ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้คือ
"การรู้จักกาละเทศะ  รู้จักการให้เกียรติและยอมรับซึ่งกันและกัน  การร่วมแรงร่วมใจกันทำงานบางครั้งเรียกว่า "ลงแขก" งานใหญ่ก็ดดูเล็กลง  งานยากก็ดูง่ายขึ้น  และทุกคนมีความรู้สึกเป็นเจ้าเข้าเจ้าของร่วมกัน  บางครั้งทำผิดพลาดไปก็ให้โอกาสแก้ไขและให้อภัยกันได้  ปัญหาต่างๆก็หมดไป"

ทุกวันนี้สังคมไทยกำลังถวิลหาความสมัครสมานสามัคคีปรองดองของคนในชาติ  หากจะลองนำวิธีการสร้างความสมานฉันท์อย่างจิระศาสตร์ไปใช้บ้างก็ไม่ว่าครับ

ปฐมพงศ์  ศุภเลิศ
    17 พ.ย.48

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 7405เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2005 12:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 14:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท