เรียนรู้จากการเป็นกรรมการตัดสินรางวัล (5)


ขบวนเรือแคนูไปดูการเลี้ยงกุ้งมักร  ปูม้า และปลาเรียนรู้จากการเป็นกรรมการตัดสินรางวัล (5)

         โปรดอ่าน เรียนรู้จากการเป็นกรรมการตัดสินรางวัล (1), เรียนรู้จากการเป็นกรรมการตัดสินรางวัล (2), เรียนรู้จากการเป็นกรรมการตัดสินรางวัล (3) และ  เรียนรู้จากการเป็นกรรมการตัดสินรางวัล (4)

         ตามเสด็จไปทัศนศึกษาพื้นที่ จ.ภูเก็ต  และ จ.พังงา  12 - 14 พ.ย.48

         เครื่องบินออกจากท่าอากาศยานกองทัพอากาศ   เป็นเครื่องบินแอร์บัส A320   160 ที่นั่งที่บางกอกแอร์เวย์จัดถวาย   มีผู้ร่วมเดินทางไปทั้งหมด 64 คน   พักที่โรงแรม เคป พันวา

         อาหารเที่ยงที่โรงแรมเพิร์ล  วิลเลจ   โดยจังหวัดภูเก็ตจัดถวายแล้วไปฟังสรุปกิจกรรมของ รพ.วชิระภูเก็ต   ชมกิจกรรมของคลินิกกระตุ้นพัฒนาการเด็กและงานเวชศาสตร์ใต้น้ำ   ซึ่งมีการให้บริการ hyperbaric chamber ให้ออกซิเจนไปแทนที่ไนโตรเจนที่เข้าไปอุดตันหลอดเลือดจากการที่นักดำน้ำลึกทะลึ่งขึ้นสู่ผิวน้ำเร็วเกินไป   และใช้รักษาโรคที่เนื้อเยื่อขาดออกซิเจน  เช่น  แผลเบาหวาน ได้ด้วย

         บ่ายวันที่ 12 พ.ย.   เราฟังการบรรยายสรุปของ 2 โรงพยาบาล   โดยแห่งที่ 2   คือโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต   ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชน   ที่นี่นำเสนอแบบค่อนข้างเป็นวิชาการ   คือเรื่องการศึกษาโรคติดเชื้อที่แผลจากผู้ประสบภัยสึนามิ   กับเทคนิคใหม่ในการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ   โดยใช้ pressure wire  ซึ่งเป็น "เส้นลวดอัจฉริยะ"   มี microchip (ที่ผลิตโดย TMEC อันเป็นหน่วยงานในสังกัด NECTEC) ติดอยู่   สามารถช่วยประเมินความรุนแรงของการตีบตันของหลอดเลือดหัวใจ   ซึ่งดูจากภาพเอ็กซเรย์บอกความรุนแรงได้ไม่ชัดเจน   ท่านองคมนตรี   ศ. นพ. เกษม  วัฒนชัย  ผู้เป็นแพทย์โรคหัวใจบอกว่า   เส้นลวดอัจฉริยะช่วยบอก physiological stenosis ของหลอดเลือดหัวใจ   ซึ่งดีกว่าการดู anatomical stenosis  โดยการฉีดสีและเอ็กซเรย์

         ผมชื่นชม รพ.กรุงเทพภูเก็ต   ที่นอกจากทำงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิอย่างน่าชื่นชมแล้ว   ยังใช้โอกาสที่หายากยิ่งนี้สร้างความรู้ทางวิชาการ   เป็นการแปรวิกฤตให้เป็นโอกาส   มีผลงานวิชาการตีพิมพ์ทั้งเรื่องโรคติดเชื้อและโรคความเครียดอันเกิดจากภัยพิบัติ   นอกจากนั้นยังนำมาเป็นประเด็นเรียนรู้ในการประชุมวิชาการประจำปีของกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ   เรื่องมหันตภัย Tsunami : เราเรียนรู้อะไร?   ดังได้เอาภาพหน้าปกมาลงให้ดู   รวมทั้งนำผลการวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ   คือจดหมายเหตุแพทยสมาคมด้วย

                                   

                                            ปกหนังสือ

         อาหารเย็น   จัดถวายโดยบางกอก แอร์เวย์   โดย นพ. ประเสริฐ  ปราสาททองโอสถ   นอกจากอาหารซึ่งจัดเป็นการออกร้านให้เลือกตามใจชอบแล้ว   ยังมีโขนตอนหนุมานเกี้ยวนางสุพรรณมัจฉาให้ดูด้วย   สั่งตรงมาจากกรุงเทพฯ   และงานนี้จัดที่ลานหน้า "บ้านพันวา" บ้านโบราณซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมผสมจีน - ปอร์ตุเกส  อันงดงาม   ที่น่าชื่นชมคือ  เขาจัดงานเลี้ยงอย่างเรียบง่าย   และจบเร็ว   เพราะกรรมการรางวัลนานาชาติอายุมากทั้งนั้น   ถ้าไม่มีหมอไกรสิทธิ์ร่วมเป็นกรรมการด้วย   ตัวประธาน (ซึ่งก็แก่แล้ว) ก็จะเป็นคนที่หนุ่มที่สุดในหมู่คณะกรรมการ

         วันอาทิตย์ที่ 13 พ.ย.48   ไปเยี่ยมชม 2 ที่   คือเยี่ยม อ.เกาะยาว  จ.พังงา   กับเยี่ยมชมสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล  ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน

         อ.เกาะยาว  ประกอบด้วยเกาะยาวใหญ่กับเกาะยาวน้อย   อยู่ทางตะวันตกของเกาะภูเก็ต   ในระนาบเส้นรุ้งเดียวกัน   ห่างออกไปประมาณ 20 กม.   แต่เวลาเรือแล่นไม่ได้แล่นตามทางตรง   ขาไปใช้เวลาในทะเล 1 ชม. โดยเรือเร็วลำเล็ก  นั่งได้ลำละ 7 - 8 คน   ขากลับใช้เวลา 3 ชม. โดยเรือยอชต์   ซึ่งแล่นจากเกาะยาวน้อยอ้อมเกาะยาวใหญ่   ตรงไปยังท่าเรือของกองเรือภาคที่ 3 กองเรือยุทธการ   ซึ่งอยู่ที่แหลมพันวาใกล้ ๆ โรงแรมพันวาและสถาบันวิจัยฯ

   
ขบวนเรือแคนูไปดูการเลี้ยงกุ้งมักร  ปูม้า และปลา  สมเด็จพระเทพรัตนฯทรงพายเรือแคนู 

         วันนี้เราได้นั่งเรือถึง 4 ชนิด   อีก 2 ชนิดคือเรือแคนูยาง นั่งจากฝั่งของเกาะยาวน้อยไปยังกระชังเลี้ยงกุ้งมังกร,  ปลาและปูม้า   กับเรือหัวโทง   ซึ่งก็คือเรือจับปลาของชาวบ้านแบบที่นิยมใช้ตามชายฝั่งอันดามันที่เราเคยไปเห็นที่เกาะลันตา จ.กระบี่   นั่งจากฝั่งเกาะยาวน้อยไปยังเรือยอชต์   ไม่ว่าจะลงเรืออะไรมีผู้คอยให้บริการแบบ super VIP ที่เราไม่เคยได้รับมาในชีวิตทั้งสิ้น

   

กุ้งมังกรในกระชังเลี้ยง 

ปลาช่อนทะเล 

         สิ่งที่ไปเยี่ยมชมที่เกาะยาวน้อย (ประชากรประมาณ 5 พันคน) คือชีวิตความเป็๋นอยู่ของผู้คน   การเพาะเลี้ยงกุ้งมังกร  ปูม้าและปลาทะเลหลายชนิด   ได้แก่ ปลาช่อนทะเล  ปลากะพง    การทำธุรกิจท่องเที่ยวทางทะเล   โฮมสเตย์ (www.kohyaohomestay.com) การทำผ้าบาติก   การทำดอกไม้ประดับจากใบยางพารา   การทำกระดองกุ้งมังกรสำหรับใช้ประดับ   การแสดงการสีข้าวด้วยสีมือ   การตำข้าว   การทำข้าวเม่า   ถนนบนเกาะยาวน้อยเป็นถนนซีเมนต์อย่างดี   และบ้านเรือน 2 ข้างทางก็จัดสนามหญ้าและสวนเรียบร้อยสวยงาม   ได้ถามเภสัชกร (ซึ่งจบมาจาก มอ. และอยู่ที่ รพ.เกาะยาวบนเกาะยาวน้อยมาแล้ว 5 ปี)  ว่าบริเวณสนามมีการดูแลสวยงามอย่างนี้อยู่ตลอดหรือตกแต่งรับเสด็จ  ได้ความว่าเป็นอย่างนี้ตามปกติ   เพราะบ้านเหล่านี้เป็น homestay   กิจการ homestay ทำรายได้ดีและค่าบริการไม่แพง   คือทั้งที่นอนและอาหารรวม 500 - 600 บาทต่อคืน   ห้องนอนเป็นห้องพัดลม

   
แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ รพ. เกาะยาว 

         ผู้อำนวยการ รพ.เกาะยาว (อยู่บนเกาะยาวน้อย) ชื่อ นพ. มณฑิต พูลสงวน ([email protected]) จบ มอ. มาอยู่ที่นี่ 5 ปีแล้ว   เป็นชาวกรุงเทพฯ   บอกว่าชอบชีวิตที่นี่และชอบ Family Medicine   ท่านองคมนตรี เกษม  วัฒนชัย ชื่นชมความเสียสละของคุณหมอมณฑิตมาก

         การบรรยายสรุปเรื่องราวของสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลฯ   ทำที่โรงแรม เดอะเบย์   แล้วเดินไปยังสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำภูเก็ต (Phuket Aquarium)   ที่น่าสนใจมากคือโครงการศึกษาสำรวจสิ่งที่ชีวิตใต้ทะเลลึกในทะเลอันดามัน (โครงการ BIOSHELF) ระหว่างปี 2539 - 2543 โดยความร่วมมือกับรัฐบาลเดนมาร์ก   พบสปีชี่ส์ใหม่หลายชนิด   พระเอกของนิทรรศการคือ  แมงสาบทะเล   ซึ่งเป็นสัตว์ชนิดทีเรียกว่า Isopod มีชื่อสปีชี่ส์ว่า Bathynomu lowryi   ตัวยาวถึงประมาณ 20 ซม.

         กิจกรรมสุดท้ายคือการปล่อยเต่าลงทะเล   เต่าส่วนใหญ่เป็นเต่าตนุอายุ 1 ปี   ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเกือบฟุต   น้ำหนักกว่า 1 กก.   เต่าตนุนี้ขนาดตัวโตเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลางกว่า 1 เมตร   เต่าเหล่านี้ติดชิป   ถ้าจับได้ที่ไหนและมีเครื่องอ่านชิปก็จะบอกได้ว่าเป็นเต่าตัวไหน   ว่ายน้ำไปหากินถึงไหน   กิจกรรมแบบนี้ทำมาเป็น 10 ปีและรู้ว่าเต่าเดินทางหากินไปกว่าพันกิโลเมตร   นอกจากนั้นยังมีโครงการติดชิปที่ปล่อยคลื่นวิทยุให้ดาวเทียมสำรวจพบ   เพื่อศึกษาตำแหน่งของเต่า   เมื่อไรที่เต่าโผล่ขึ้นมาที่ผิวน้ำ   ดาวเทียมก็จะได้รับสัญญาณวิทยุและบอกตำแหน่งของเต่าได้   แต่เต่าชุดที่เราร่วมกันปล่อยนี้ติดเพียงชิปบอกว่าเป็นเต่าตัวไหน   ปล่อยจากที่ไหน

   

เต่ามุ่งหน้าลงทะเล 

จับเต่าปล่อยลงทะเล 

         วันที่ 14 พ.ย.48 ไปเยี่ยมชม 2 แห่ง   คือมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตภูเก็ต  กับโรงเรียนสตรีภูเก็ต

         มอ.ภูเก็ต   จัดกิจกรรม 4 อย่างคือ (1) บรรยายสรุปกิจกรรม  (2) ขอให้ทรงพระอักษรภาษาจีน  เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษากับมหาวิทยาลัยอื่น  (3) นิทรรศการและทางวิชาการ  แสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์  วัฒนธรรมท้องถิ่น  และการแสดงทางวัฒนธรรมท้องถิ่น  และ (4) ทรงปลูกต้นศรีตรัง 2 ต้น   ที่หน้าอาคารหอประชุม

         ผมได้พบเพื่อนเก่าที่ไม่ได้พบมานานคือ  อ. สุมน,  รศ. มนัส  ชัยสวัสดิ์   รวมทั้งได้พบอธิการบดี รศ. ดร. ประเสริฐ   และรองอธิการบดีวิทยาเขตภูเก็ต  ผศ. ดร. เมธี  สรรพานิช   การได้เห็นความก้าวหน้าของสถาบันที่เคยทำงานและพบเพื่อนเก่า   เป็นความสุขของคนแก่

         ผมยิ่งมีความสุขยิ่งขึ้นไปอีก   เมื่อได้ฟังรายงานเห็นได้ชัดเจนว่า มอ.ภูเก็ตมีจุดเน้นหรือ niche area สำหรับความเป็นเลิศของตน   คือการโรงแรมและการท่องเที่ยว   ที่เรียกว่า hospitality management และการจัดการนานาชาติ (international management) เน้นจีน   โดย นศ.เรียนด้วยภาษาอังกฤษกับภาษาจีน   และ นศ.ไปเรียนในช่วงฤดูร้อนในมหาวิทยาลัยในประเทศจีนหมุนเวียนมหาวิทยาลัย   โดยมีมหาวิทยาลัยจีนถึง 6 แห่ง ใน 6 เมือง   มีความร่วมมือกับ มอ.ภูเก็ตในการแลกเปลี่ยน นศ.และอาจารย์

         ที่โรงเรียนสตรีภูเก็ต   เราไปถึงตอน 10.30 น.  แดดร้อนเปรี้ยง   ครูและนักเรียนตั้งแถวรับเสด็จเป็นแนวยาวน่าตื่นตาตื่นใจมาก   โครงการที่ไปชมคือโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช   ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเทพรัตนฯ อันนำไปสู่โครงการสวนพฤกษศาสตร์ในโรงเรียน   และการใช้สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้อย่างบูรณาการทั้ง 8 หน่วยสาระ   ในทำนองเดียวกับโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยาที่เคยเล่าไว้แล้ว (click)   ต้นไม้ที่นักเรียนศึกษาหลายแง่หลายมุมคือต้นทุ (Hill Goosberry) ซึ่งมีดอกสีชมพูอมม่วงสวยงามมาก   ผมเปิดพจนานุกรมมติชนดูพบว่าอาจเรียกชื่อกระทุหรือกระชุ   สมัยเด็ก ๆ ผมเคยเก็บลูกกิน   กินแล้วปากจะเป็นสีม่วง

 
ดอกทุ อันสวยงาม 

         จุดเด่นของ รร.สตรีภูเก็ตคือ   ให้นักเรียนเป็นผู้บรรยายสรุปเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด   โดยมีจุดบรรยายสรุปประมาณ 10 จุด   บางจุดก็ต้องยืนฟังท่ามกลางแดดร้อนเปรี้ยงของเวลาเกือบเที่ยง   ศ. ซักมานน์ชาวเยอรมันบอกเมื่อวานตอนไปเกาะยาวว่าเป็นประสบการณ์ร้อนที่สุดในชีวิต  ผมถามวันนี้ว่าเปรียบเทียบกัน 2 วันนี้ วันไหนร้อนกว่า   ท่านบอกว่าวันนี้ร้อนกว่า

         เรื่องที่โรงเรียนใช้สวนพฤกษศาสตร์เป็นแหล่งเรียนรู้แบบบูรณาการทั้ง 8 สาระวิชานี้  น่าสนใจมาก   เป็นเรื่องที่น่าจะมีคนจัด ลปรร. ระหว่างโรงเรียนหรือจัดการประกวดให้รางวัลวิธีดำเนินการที่ได้ผลดีต่อการเรียนรู้   ผมได้ลองเข้าไปในเว็บไซต์ www.satreephuket.ac.th แล้ว   พบว่ามีการกล่าวถึงสวนพฤกษศาสตร์ของโรงเรียน   แต่ไม่ได้นำเรื่องวิธีการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการโดยใช้สวนพฤกษศาสตร์เป็นแหล่งเรียนรู้มาลงไว้ในเว็บ

         การเดินทางไปทัศนศึกษาในพื้นที่ได้ทั้งความรู้   การเปลี่ยนบรรยากาศ   ความใกล้ชิดสนิทสนม   และเป็นการฝึกความอดทนด้วย   โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝรั่งได้ฝึกทนความร้อน

         ปีหน้า (คศ.2006) จะไม่มีรายการทัศนศึกษา   คาดว่าจะมีในช่วงเดือนมกราคม คศ.2007 แทน   โดยคาดว่าน่าจะไปแถว ๆ หัวหิน  เพชรบุรี

   

Ladiy's Program ไปชมพิพิธภัณฑ์หอย 

 ในพิพิธภัณฑ์หอย

   

 ร้องเพลงหมู่

 

วิจารณ์  พานิช
 14 พ.ย.48

หมายเลขบันทึก: 7390เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2005 11:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 16:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท