การถอดบทเรียน7โหนด จังหวัดเชียงใหม่


พหุภาคีนมแม่เชียงใหม่

สวัสดีค่ะ

วันนี้อาร์ตขอเป็นตัวแทนของจังหวัดเชียงใหม่มาเล่าเรื่องราวของการถอดบทเรียนจังหวัดเชียงใหม่มาให้ทราบกันค่ะ

    วันที่ 7 มกราคม 2550 พหุภาคีนมแม่เชียงใหม่ ต้อนรับปีใหม่ด้วยการร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ สุนทรียสนทนา : คันฉ่องส่องชุมชน โครงการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หลังการดำเนินงานมาแล้ว 1 ปี     เพื่อการประเมินผลลัพท์ร่วมกันและ ถอดบทเรียนผลการดำเนินงานการขยายเครือข่ายการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สู่ชุมชน ในชุมชนป่าแดด อ.เมือง เชียงใหม่ โดยใช้กระบวนการ การประเมินอย่างมีส่วนร่วม (The Community Mirror)และวิทยากรผู้ให้เกียรติ ดำเนินรายการให้กับพวกเรา  คือ อาจารย์อุทัยวรรณ กาญจณกามล  จากสถาบันเสริมสร้างพลังชุมชน ภายใต้แนวคิดที่ว่า เราชาวนมแม่ เชียงใหม่ ทำงานร่วมกันมาเป็นเวลา 1 ปี แล้ว   ถึงเวลาเรามาช่วยกันมองว่า เราได้อะไรบ้าง ในเชิง คุณค่า ของทีม  ซึ่งเราคาดหวังว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มความสามารถชุมชนให้ร่วมคิดร่วมทำกับพวกเรา   ทำให้ชุมชนรู้ซึ้งถึงคุณค่าและความหมายของตนเอง  โดยวิธีการนี้ เปรียบเหมือนกับเราได้มีกระจกส่องให้เห็นพวกเราอย่างรอบด้าน ได้ตระหนักว่า ทีมงานของเรา กลุ่มของเรา ประชาคมของเรา ชุมชนของเรา เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง  จากการที่เราร่วมคิด ร่วมลงมือทำด้วยกัน สะท้อนความคิดร่วมกัน โดยหลักการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ มุ่งเน้นให้ทุกคนมีส่วนร่วม โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมได้แก่ ตัวแทนครอบครัวนมแม่ พ่อ แม่ ลูก ย่า ยาย ได้อุ้มลูก จูงหลานมาร่วมระดมความคิด  ทีมงานชมรมนมแม่เชียงใหม่   เจ้าหน้าที่สถานีอนามัย ต.ป่าแดด  อาสาสมัครสาธารณสุข  และทีมงานเจ้าหน้าที่คลินิกนมแม่ ศูนย์อนามัยที่ 10 เชียงใหม่  โดยให้ทุกคนมีส่วนในการเสนอความคิดเห็น โดยตั้งประเด็นคำถามที่ว่า ก่อนและหลังมีโครงการ เราได้อะไรจากการทำโครงการนี้  ทุกคนนำเสนอประเด็นผลลัพธ์ร่วมกัน สรุปประเด็น และจัดลำดับความสำคัญของแต่ละประเด็น สู่การให้ระดับคะแนนความสำเร็จในแต่ละประเด็นร่วมกัน โดยมีระดับคะแนน 15                  ในการถอดบทเรียนครั้งนี้ แบ่งพวกเราทั้งหมดที่เข้าประชุมเป็น  4 กลุ่ม ได้แก่กลุ่มหยดน้ำนม(กลุ่มครอบครัวนมแม่)  กลุ่มพลังสามัคคี อสม     กลุ่มชมรมนมแม่เชียงใหม่   และกลุ่มอิ่มอุ่น(ทีมเจ้าหน้าที่ศูนย์อนามัยที่ 10)  แต่ละกลุ่มร่วมระดมสมองนำเสนอผลลัพธ์ที่ได้จากการทำโครงการในภาพรวมดังนี้  ·       การทำงานร่วมกันทำให้เกิดเป็นพลังของชุมชน ·       มีความหล่อหลอมเป็นหนึ่งของชุมชน 

·       เป็นการสืบสานฮีตเก่าฮอยเดิม(การเจริญรอบยตามวัฒนธรรมอันดีงามของบรรพชนซึ่งคือวัฒนธรรมนมแม่นั่นเอง)   

·       เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน

·       การให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน  และความเสียสละ

 ทั้งนี้การให้ระดับความสำเร็จของทีมงานให้คะแนนระหว่าง  2.8 3.6 จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน 

ในภาคบ่าย กลุ่มได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทั้งที่สำเร็จเป็นแบบอย่างให้แก่ผู้อื่นๆได้อย่างดี และที่ยังมีปัญหาเพื่อช่วยกันวิเคราะห์ปัญหาและหาแนวทางพัฒนาร่วมกัน  และยังได้ฟังประสบการณ์ความสำเร็จในการช่วยเหลือแม่ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จากคุณสุภาภรณ์ นันต๊ะ แกนนำนมแม่สมาชิกโครงการสายใยรักแห่งครอบครัว ตำบลอินทขิล แม่แตง ที่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งสรุปได้ว่า สิ่งสำคัญคือการ เข้าถึงครอบครัวนมแม่ อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง จนสมาชิกทุกคนในครอบครัวไว้วางใจ และเชื่อมั่น โดยเฉพาะในช่วงหลังคลอดใหม่ๆ และเมื่อมีปัญหาที่นอกเหนือความสามารถ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขต้องพร้อมในการเข้าถึงและให้การช่วยเหลือเช่นกัน

                บรรยากาศการประชุมเชิงปฏิบัติการ เต็มไปด้วยความเป็นกันเอง  เป็นการประชุมที่ไม่มีลำดับชั้น ผสมผสานทุกกลุ่มวัย  แม่แม่ประชุมระดมความคิดไปด้วยให้ลูกกินนมไปด้วยในเวลาเดียวกัน นานๆจะมีการประชุมที่เอาลูกเข้าประชุมด้วยซักครั้ง โดยปราศจากมุมมองที่ว่าการเอาลูกมาด้วยทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพน้อยลง มุมมองนี้คงใช้ไม่ได้กับการประชุมเชิงปฎิบัติการครั้งนี้  เพราะพ่อ แม่ ย่า ยายไม่ต้องห่วงกังวล ว่าลูกที่บ้านจะหิวหรือไม่ เพราะลูก หลานอยู่ใกล้ๆตลอดเวลา...........

                ก่อนจากกันวันนี้ทุกคนได้นัดหมายกันต่อไปว่า ครั้งหน้าเราจะมาระดมสมองกันอีกครั้ง เพื่อปรับกระบวนยุทธการดำเนินการโครงการเพื่อให้บรรลุผลตามที่คาดหวังไว้ต่อไป โดยนัดหมายกันวันที่  10 มกราคม  เวลา 1 ทุ่มตรง ที่บ้านป้าแก้ว ประธาน อาสาสมัครสาธารณสุข ของตำบลป่าแดด   ขอบคุณทุกคนที่ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ เพื่ออนาคตเด็กไทยทุกคนได้กินนมแม่ เพราะนมแม่คือสายใยรัก ช่วยกันพิทักษ์ ปกป้องให้เด็กไทยได้กินนมแม่.

 

คำสำคัญ (Tags): #โครงการ7โหนด
หมายเลขบันทึก: 73424เขียนเมื่อ 19 มกราคม 2007 12:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2012 10:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ขอบคุณสำหรับการถอดบทเรียนครับ
  • การทำงานที่มีระยะเวลา ต้องมีการประเมินผลงาน ตัวเองอย่างสม่ำเสมอครับ จะเป็นตัวที่จะบอกเราว่า จะหยุด เลิก เดินต่อ แก้ ปรับ เช่นไรครับ 
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท