"เรื่องเล่าจากดงหลวง" เรื่องที่ 6 ระเบียบราชการส่งผลกระทบวัฒนธรรมชุมชน


..ปัจจุบันเจ้าของที่ดินเริ่มเกรงกลัวว่าใครที่มาทำกินแม้เพียงฤดูกาลเดียวก็จะอ้างสิทธิดังกล่าว ความระแวงตรงนี้ไม่เคยมีใครไปอธิบาย เพราะมองไม่เห็นเรื่องเหล่านี้..ไม่มีการให้ทำกินแบบเดิมแล้ว ต้องมีสัญญา ต้องมีค่าตอบแทน.? นี่แหละที่กล่าวว่า ผลข้างเคียง หรือตรงๆคือ “ระเบียบราชการส่งผลกระทบวัฒนธรรมดีดีของชุมชน” โดยไม่ได้เจตนา..

 1.        ผลข้างเคียงของยา: ได้ยินมามากว่าสมุนไพรที่กลับมาฟื้นฟูกันนั้น หมอมักเตือนว่าหลายตัวมี สเตียรอยด์ผสมอยู่ด้วยซึ่งจะก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายหากกินเข้าไปมาก หรือประกอบตำหรับสมุนไพรไม่ถูกต้อง  คนชนบทจะไปรู้เรื่องสเตียรอยด์อย่างไร  แม้แต่เราท่านที่ไม่ได้เรียนหมอมาโดยตรงก็ไม่รู้  ความจริงยาปฏิชีวนะสมัยใหม่หลายตัวก็มีผลกระทบข้างเคียงเหมือนกัน จึงมีการพูดว่ายาประเภท..นี้...ต้องให้หมอเป็นผู้สั่งเท่านั้น เพราะหมอจะต้องประเมินอาการคนไข้ก่อน  ซักประวัติคนไข้ก่อน จึงจะวินิจฉัยแล้วจัดยาให้คนไข้รับประทาน  กระนั้นก็ตามอาการคนไข้หลายกลุ่มหมอจำเป็นต้องให้ยาชนิดนี้แม้จะมีผลข้างเคียงบ้าง  แต่หมอประเมินแล้วว่า ผลข้างเคียงนั้นไม่ทำลายสุขภาพส่วนใหญ่ลง  แต่ผลดีของยาตัวนั้นมีมากกว่า และไม่มีทางเลือกอย่างอื่น...  

2.        งานพัฒนาก็มีผลกระทบข้างเคียง: เผินๆก็อาจจะคัดค้านประเด็นนี้ได้ แต่จากประสบการณ์พบว่าเป็นความจริง ที่กิจกรรมการพัฒนาหลายอย่างส่งผลดีและผลเสียต่อบุคคล ชุมชนได้ มาก น้อย รุนแรง ไม่รุนแรงก็แล้วแต่ลักษณะของกิจกรรมนั้นๆ ผู้เขียนเดินทางบนเส้นทางการพัฒนาชุมชนมาเห็นข้อเท็จจริงนี้ หลายเรื่องมองเห็นง่าย ชัดเจน หลายเรื่องมองไม่เห็น  นึกไม่ถึงเดาไม่ออก และไม่ได้ตระหนัก  หรือบางลักษณะผู้รับผิดชอบกิจกรรมนั้นๆไม่ยอมรับว่ามีผลกระทบด้วยซ้ำไป มีทั้งเรื่องเล็กๆ และเรื่องใหญ่ที่ส่งผลกระทบกว้างขวางมากมาย  ลองพิจารณาต่อไปนี้

 
กิจกรรมพัฒนา ตัวอย่างผลประโยชน์ ตัวอย่างผลกระทบที่เกิดขึ้น
การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ได้เก็บกักน้ำไว้ใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตร เพื่อสร้างกระแสไฟฟ้า เกิดน้ำท่วมพื้นที่หน้าเขื่อนซึ่งทำลายลักษณะทางนิเวศน์ เช่นปลาบางชนิดว่ายไปไข่บริเวณที่สูงเมื่อมีเขื่อนกั้นก็ไปไม่ได้ บางแห่งน้ำจะท่วมวัตถุโบราณ พื้นที่โบราณ เป็นต้น
การสร้างถนน ได้สร้างระบบคมนาคมที่สะดวก ถนนไปกั้นทางน้ำตามธรรมชาติ ก่อให้เกิดน้ำท่วม เช่นกรณีน้ำท่วมจังหวัดสงขลา
การจัดตั้งกลุ่ม องค์กรชุมชน เกิดกลุ่มเฉพาะกิจขึ้น ทำประโยชน์ให้แก่สมาชิก ประชาชนชายขอบ ไม่สามารถเข้ามาเป็นสมาชิกได้ ก็ไม่ได้รับประโยชน์ หรือเกิดการเปรียบเทียบระหว่างสมาชิกกลุ่มกับผู้ที่ไม่ใช่สมาชิก ผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกด้วยข้อจำกัดบางประการเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ พูดประชดประชัน อารมณ์เช่นนี้จะสะสมกับเรื่องอื่นๆเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาได้
การที่ชาวบ้านได้เป็น อบต. กิดการพัฒนาความรู้ ความสามารถชาวบ้านในด้านการปกครองชุมชน สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน การปกครองที่ชาวบ้านมีส่วนกำหนดเอง เป็นต้น เมื่อหน่วยงานอื่นๆเข้าไปทำงานกับชาวบ้าน เกิดปรากฏการณ์ที่ว่า ชาวบ้านที่เป็น อบต. หรือเคยเป็น อบต. เรียกร้องประโยชน์จากการที่เคยได้รับสมัยเป็น อบต. เช่นเบี้ยประชุม เป็นต้น
 

3.        คณะกรรมการติดตามและประสานงานก่อสร้าง: งานสูบน้ำเพื่อการชลประทานห้วยบางทรายกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการนั้น ได้ส่งผลกระทบผลประโยชน์แก่ชาวบ้านพังแดงหลายเรื่อง ทุกครั้งที่เกิดปัญหา พวกเราก็เข้าไปศึกษาข้อเท็จจริงแล้วเป็นตัวกลางเจรจากับนายช่าง ส.ป.ก. และนายช่างบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง ต่อมาเราก็พัฒนากระบวนการขึ้นเป็นการตั้ง คณะกรรมการติดตามและประสานงานก่อสร้างขึ้น เพื่อยกระดับให้ชาวบ้านเป็นผู้เจรจาเองโดยการจัดการของเรา คณะกรรมการกลุ่มผู้ใช้น้ำ ผู้นำชุมชน ผู้อาวุโสชุมชนประกอบกันเป็นคณะกรรมการชุดนี้ มีกำนันเป็นประธาน มี อบต. มีผู้นำกลุ่มผู้ใช้น้ำ เป็นหลัก  เราประชุมกันทุกสัปดาห์เพื่อให้นายช่างแจ้งให้ที่ประชุมทราบว่างานก่อสร้างไปถึงไหน อย่างไร มีปัญหาหรือไม่มีอย่างไร มีประเด็นที่จะขอความร่วมมือกับชาวบ้านอย่างไร ชาวบ้านเองก็มีเวทีแจ้งเรื่องเดือดร้อนให้ผู้รับผิดชอบฟัง เราประชุมกันบ่อยเพราะงานก่อสร้างได้ก่อความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านหลายเรื่อง เช่น

§      งานก่อสร้างขุดร่องดินเพื่อฝังท่อส่งน้ำทำไม่เสร็จ เมื่อเข้าสู่ฤดูกาลทำนา ชาวบ้านก็จะใช้ที่ดินทำนา จนเกิดการร้องเรียนขึ้น ทางบริษัทพยายามประนีประนอม  ชาวบ้านก็เรียกร้องค่าเสียหายหรือค่าเสียโอกาสการทำนาแพงมากถึงไร่ละ 50,000 บาท (ชาวบ้านกำหนดราคากันเอง)  ในที่สุดบริษัทต้องยอมเสียเวลาให้ชาวบ้านทำนาแล้วชะลองานไปทำอย่างอื่นก่อน ซึ่งทำให้งานช้ากว่ากำหนด    

§      บริษัทไม่จ่ายค่าแรงตามกำหนด บริษัทไปเอาชาวบ้านจากที่อื่นมาทำงาน จนเกิดข้าวของหาย  เป็นที่รู้กันว่า นั่นคือปฏิกิริยาที่ชุมชนกระทำต่อบริษัท

 แต่สิ่งที่จะกล่าว คือ ในการประชุมแต่ละครั้งนั้น อบต.ซึ่งเป็นผู้แทนชุมชนนั้นเรียกร้องต่อคณะที่ปรึกษาว่าให้จ่ายเบี้ยประชุม ...??? เพราะเขาเคยได้จากการประชุมสภาตำบล สภาองค์การบริหารส่วนตำบล  หากไม่จ่ายเบี้ยประชุมก็จะไม่มาประชุมอะไรทำนองนี้  เมื่อ อบต.เป็นผู้เสนอเรื่องที่ผู้แทนชาวบ้านทุกคนได้ประโยชน์ ทุกคนก็เห็นด้วย แม้จะพูดกับเราไม่ค่อยเต็มปาก  แม้ว่าเราจะอธิบายอย่างไร ก็ดูเหมือนว่ายังยืนยันเจตนาข้อเรียกร้องนั้น ...แต่เราปรึกษากันในทีมงานแล้วก็เจียดเงินบริหารสำนักงานมาให้คนละ 50 บาทต่อครั้ง.....เฮ่อ... มาประชุมกันครบทุกคนเชียว... 

4.        ระเบียบว่าด้วยผู้ไม่ได้ใช้ประโยชน์ต่อที่ดิน : มีระเบียบราชการอยู่เรื่องหนึ่งคือการใช้ประโยชน์จากที่ดินโดยสรุปคร่าวๆว่า ...หากผู้ใดมีที่ดิน แล้วไม่ได้ทำประโยชน์ และมีผู้อื่นมาทำประโยชน์ติดต่อกันหลายปี ผู้ที่ทำประโยชน์นั้นมีสิทธิ์อ้างการเป็นเจ้าของสิทธิในที่ดินนั้นได้....ผู้เขียนเข้าใจเจตนาดีของระเบียบ หรือกฎหมายฉบับนี้ แต่ส่งผลกระทบคือ.... ชุมชน    โบราณดั้งเดิมแบบดงหลวงนั้น เป็นสังคมเครือญาติ ต่างพึ่งพาอาศัยกัน  แรงงานเป็นเรื่องสำคัญในภาคเกษตร และการเกษตรก็เป็นอาชีพหลัก ทุกชุมชนย่อมมีบางครอบครัวที่มีที่ดินมากกว่าคนอื่น และย่อมมีบางครอบครัวที่มีที่ดินน้อย หรือไม่มีที่ดินเลย สิ่งที่เราพบเห็นคือ ชาวบ้านกลุ่มนี้จะรับจ้างเพื่อนบ้านทำงานการเกษตรต่างๆ หรือขอยืมที่ดินทำกิน กรณีดงหลวงนั้น จะให้ทำกินฟรีมาตลอด  เพื่อสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกันโดยมีเพียงคำพูดตกลงกันเท่านั้นเพียงพอ ไม่จำเป็นต้องทำสัญญา เอกสารใดๆเหมือนสังคมในเมือง หรือชุมชนเปิดอื่นๆ  นี่คือวัฒนธรรมดงหลวง .. อะไรจะน่ารัก น่าชื่นชมอย่างนี้ เรื่องดีๆอย่างนี้ฟังแล้วเราสัมผัสได้กับคำว่า รู้รักสามัคคีเอื้อเฟื้อกัน พึ่งพากัน  แม้ว่าการทำกินนั้นๆเจ้าของที่ดินโดยสิทธิจะไม่เรียกร้องค่าตอบแทนใดๆเลย  แต่แล้วระเบียบราชการฉบับนี้ก็มาทำลายความงดงามนี้ลงโดยไม่ได้เจตนา ไม่ได้ตั้งใจ ไม่ ไม่..ปัจจุบันเจ้าของที่ดินเริ่มเกรงกลัวว่าใครที่มาทำกินแม้เพียงฤดูกาลเดียวก็จะอ้างสิทธิดังกล่าว  ความระแวงตรงนี้ไม่เคยมีใครไปอธิบาย เพราะมองไม่เห็นเรื่องเหล่านี้..ไม่มีการให้ทำกินแบบเดิมแล้ว  ต้องมีสัญญา  ต้องมีค่าตอบแทน.? นี่แหละที่กล่าวว่า ผลข้างเคียง หรือตรงๆคือ ระเบียบราชการส่งผลกระทบวัฒนธรรมดีดีของชุมชน โดยไม่ได้เจตนา..

คำสำคัญ (Tags): #วัฒนธรรมชุมชน
หมายเลขบันทึก: 73177เขียนเมื่อ 18 มกราคม 2007 01:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 17:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เชิญชวนไปเยี่ยมชม และแลกเปลี่ยนมุมมองค่ะ

http://gotoknow.org/blog/mhsresearch/73141

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท