IBNUFUAD
อับดุรเราะฮ์มาน ฟูอัด อาลมูฮัมมัดอามีน

ความเป็นมา


ตั้งแต่กลับมาจาก สคส.วันจันทร์ที่ 8 มค. ผมก็พยายามทบทวนทุกอย่างที่มีอยู่ ทั้งหนังสือ และซีดี ที่ได้มา และก็พยยามเขียนบันทึก และอดชื่นชมใครหลายๆคนไม่ได้ที่สามารถเขียนบล็อกได้ดีมาก ผมคงต้องพัฒนาอีกมาก

 

สำหรับกระบวนการพัฒนาเยาวชนโดยใช้ KM นั้นผมเองก็สนอกสนใจเป็นอย่างมากครับ ซึ่งหลังจากที่ได้รับการแนะนำจาก อ.หมอ เรื่องการปรับงาน extern ให้สอดรับกับ thesis ซึ่งผมเองก็กำลังปรับอยู่นะครับ และตั้งใจว่าจะใช้ KM แต่ทั้งนี้กำลังพูดคุยกับที่ปรึกษาอยู่ครับ

กลับมาถึง โรงเรียน ก็ได้ทราบข่าวดี ว่าโครงการ "ยุวสตรีรักษ์สุขภาพ"ที่ รร.เสนอ ของบจาก สสส.ไปได้รับการอนุมัติครับ

ขอท้าวความสักนิดนะครับ

คือเริ่มต้นจากการที่เรานั่งคุยกันว่าเราจะทำอย่างไรดีที่จะให้ เด็ก(ในโรงเรียน)เราเกิดจิตสำนึกในการรักษาความสะอาด ไม่ทิ้งขยะ ก็เคยคิดเคยลองทำโดยใช้กิจกรรมในโรงเรียนแบบคิดให้-ทำให้ สร้างกฎ การลงโทษ ก็ไม่ได้ผลเท่าไรนัก

จึงเกิดประกายจากการที่ มีผู้นำเอาแบบฟอร์มขอรับการสนับสนุนงบโครงการเปิดรับทั่วไป ของ สสส. มาให้ที่โรงเรียน พร้อมวารสาร ก็สนใจ จึงเริ่มพูดคุยกันกับเพื่อครูในวงกว้างขึ้น  เราจึงเริ่มร่างโครงการขึ้นเพื่อบูรณาการ ให้เป็นการนำเอาภูมิปัญญามาใช้ในการรักษาสุขภาพ ตลอดจนการสร้างจิตสำนึกในการรักษาความสะอาด ซึ่งเราปรารถนาที่จะให้มีการเพิ่มพื้นที่การพูดคุยกันให้มากขึ้นเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ โดยเริ่มชักชวนภาคีในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยได้รับงบประมาณสนับสนุน 100 % (57,000 บาท)จาก สสส. เป็น การจัดอบรมเยาวชน "ค่ายยุวสตรีอาสาสมัครเพื่อสุขภาวะชุมชน" และกิจกรรมที่จะจัดบูรณาการร่วมด้วยตลอดระยะเวลา 8 เดือน  โดยเราสร้างตัวชี้วัดไว้ และมีวัตถุประสงค์โครงการไว้  ส่วนวิธีการ รูปแบบกิจกรรม สวนหนึ่งที่เป็นเงื่อนไขของ สสส.นั้นเราก็จะทำตามไป  อีกส่วนหนึ่งเราต้องการเป็นฝ่ายกระตุ้นให้เยาวชนได้คิด ได้ทำ ได้สร้างสรรค์ จนเป็นเหตุให้เขาได้เกิดความสำนึก หวงแหน และรักษาดูแลชุมชนของเขาเอง  โดยที่น่าจะมีภาคีเครือข่ายเข้ามาซัพพอร์ตให้เด็กๆสามารถ ดำเนินกิจกรรมได้ต่อไป

จึงใคร่ขอแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมด้วยครับ ว่าโครงการลักษณะที่กล่าวมานี้ พอที่จะเป็น KM ไหมครับ และจะปรับใช้ได้อย่างไรครับ

หมายเลขบันทึก: 73153เขียนเมื่อ 17 มกราคม 2007 22:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ยินดีด้วยครับกับการได้รับการสนับสนุนโครงการ

สิ่งแรกที่อยากจะแลกเปลี่ยนก่อน  คือ  วิธีคิดที่อยู่ข้างในโครงการ   เพราะว่ามันจะเป็นตัวกำกับทิศทางและอนาคตวงชีวิตของมันเอง    

วิธีคิดแรกเรื่องของการปักธง   หรือที่คุณพิมานเรียกว่าวัตถุประสงค์โครงการ    ธงนี้จะต้องเป็นธงเพื่อชี้เป้าให้กับกลุ่มยุวสตรีในโรงเรียน    ไม่ใช่ เพื่อตอบความพึงพอใจของ  สสส.      

กลุ่มยุวสตรีควรจะได้โอกาสในการสร้างให้เกิดเวทีเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเอง   เพื่อตั้งโจทย์  ปรับโจทย์ของตัวเองให้ชัด    คำว่าชัดของผม  คือ  ถึงระดับที่ยุวสตรีเหล่านั้น  สามารถสะท้อนความรู้สึกของแต่ละคนออกมา  และหลายคนยืนยันพ้องกันว่า  สิ่งนั้นหละที่พวกเขาต้องการ

วิธีคิดที่สอง   โครงการ 2 แบบ 

แบบแรก  "ม้วนเดียวจบ"  หมดระยะเวลาการสนับสนุนก็จบกันไป  สสส.  ก็ได้รับรายงาน    โรงเรียนก็เขียนโครงการใหม่เสนอขึ้นมาใหม่อีก   ทำค่ายเสร็จก้แยกย้ายกันกลับบ้านใคร บ้านมัน

แบบที่สอง  "กินยาว"   อาศัยโอกาสที่ได้รับการสนับสนุน  ช่วยเพิ่มกำลังในการทำงานของเรา    แต่จุดโฟกัสต้องผูกให้ติดแน่นระหว่างการเรียนรู้ของยุวชนสตรีกับสุขภาวะชุมชน

ตรงนี้แหละ  สอดใส้ KM  เข้าไปในการทำงานได้เลย   

การที่ชุมชนเข้าสู่สุขภาวะได้  นั่นเป็นนัยว่า   พี่น้องในชุมชนเกิดความสุข     แต่ความสุขนั้น  มีหลายรูปแบบ  หลายระดับ   แต่ละคนก็มองเจ้าความสุขไม่เหมือนกัน     ซึ่งจะไร้ประโยชน์มากและเสียเวลาเปล่า  ถ้าหากครูจะใช้วิธีอธิบาย  หรือ lecture  ให้นักเรียนฟังว่า  "ความสุข"  คืออะไร?   เกิดขึ้นได้อย่างไร?

ถ้าใช้วิธี KM  มีสมมติฐานง่ายๆ  คือต้องเชื่อว่า   "ในชุมชนมีความรู้นั้นอยู่แล้ว  แต่อาจจะกระจัดกระจาย"  

"วิชาการสร้างความสุข"   ค่อนข้างเป็นความรู้ปฏิบัติมากๆ  อธิบายยากว่าต้องทำอย่างไร   ต้องไปเรียนรู้กับคนที่เขาทำสำเร็จ   นั่นหมายถึงว่า   ทั้งครูและนักเรียนต้อง scan  มอง "เจ้าตัวความสุข"  ในชุมชนว่าอยู่ที่ใครบ้าง?

และให้ช่วยกันมองในหลากหลายมิติ  เช่น 

มิติสุขภาพ   ลองดูซิว่า  โต๊ะแก่  คนไหนบ้างในชุมชน  เจ็บไข้ได้ป่วยน้อยมาก  สุขภาพแข็งแรงดี   อะไรเหล่านี้   แล้วลองไปคุย   และกลับมาเขียนเป็นเรื่องเล่าว่า  โต๊แก่คนนั้น ใช้ชีวิตที่ผ่านมาอย่างไร?

มิติเศรษฐกิจ   มองหาคนที่ใช้ชีวิตแบบพอเพียง  มีน้อยใช้น้อย   เน้นทำเอง  ใช้เอง  กินเอง   ไม่เป็นหนี้ใคร   หรือเคยเป็นหนี้มาก่อน  แล้วค่อยๆลดหนี้ได้   อะไรประมาณนี้   แล้วครูและนักเรียนแบ่งกันไปเรียนรู้เรื่องราวของคนเหล่านี้  ว่าเขาทำได้อย่างไร?

มิติศาสนา   อันนี้ในพื้นที่คงหาง่าย (หรือเปล่า?)   คนที่อยู่ในแนวทางหลักศาสนา   ช่วยเหลือชุมชน  มีจิตใจนุ่มนวล  คนเหล่านี้เขาทำได้อย่างไร

และมิติอื่นๆอีกมากมาย  ลองคิดกันดูอีกนะครับ

ทำอย่างนี้ให้ได้เรื่องราว  เจ้าของความสุข  มากจำนวนหนึ่ง    การทำอย่างนี้  เท่ากับว่าอาสาสมัครยุวสตรีกำลังเรียนเรียนรู้วิชาสร้างสุขโดยไม่รู้ตัว    จัดเวทีให้ยุวสตรีเหล่านี้เธอได้นำเสนอผลงานที่เธอได้เรียนรู้   ต่อชุมชน     เปิดโอกาสให้ชุมชนได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องราวเหล่านี้ด้วย   จะทางใดก็ได้  ที่เขาคุ้นเคย   ซึ่งจะช่วยเกิดแรงบันดาลใจคนอื่นๆในชุมชนห้อยากทำอย่างนั้นบ้าง

การมองหาเจ้าของความสุขนั้น   อย่ามอง "ความสุขก้อนใหญ่ๆ"  นะ เพราะหายาก   ให้หาสะเก็ดความสุข   แล้วจะพบว่าในชุมชนมีอยู่เยอะมาก

คุณพิมานอาจจะชวนน้องยุวชนลองจินตนาการ  สร้างวิธีการใหม่ๆเพิ่มขึ้นอีก   เช่น   ปรอทวัดความสุขของชุมชน   แผนที่ความสุขของชุมชน   เป็นต้น  ทำแบบที่เราเข้าใจ   ออกแบบเอง  คิดกันเอง  สร้างกันเอง    ที่สำคัญ คือ  ถ้ามันกระตุกความคิดคนในชุมชนได้  แสดงว่ามัน work   แต่ถ้าผลออกมายังไม่ดี  แสดงว่าเราต้องเรียนรู้เพิ่มหาวิธีใหม่

ที่พยายามอธิบายมาทั้งหมด   อย่าได้เชื่อตามโดยทันที   

ลองทำดูตามวิธีที่คุณพิมานคิดว่ามันน่าจะได้ผล  แล้วเล่าให้ฟังบ้างนะครับ   ว่าทำอย่างไร  แล้วผลมันเป็นอย่างไร?

   

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ลืมไป  คือ 

อย่าลืม  ยกย่อง เจ้าของความสุข ที่เราไปเรียนรู้ด้วย  เช่น  ตอนเวทีนำเสนอผลงานของยุวสตรี  เชิญคนเหล่านั้นเข้ามาด้วย   ให้เขาภูมิใจ  ให้เขารู้สึกว่าหัวใจตัวเองพองโต  และจะนำไปสู่ความร่วมในก้าวต่อไป

อาจจะต้องใช้เทคโนโลยีช่วยบ้าง  เช่น  ถ่ายภาพคนเหล่านั้น  ภาพกิจกรรมที่เขาทำเด่น   เอามาแสดงในงานเวทีนำเสนอ  ประมาณนี้เป็นต้น

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท