เมื่อเงินมา วิถีประชาก็เปลี่ยน


ประเพณีมีไว้ขาย

            ผมได้เขียนเรื่องการนำประเพณีมาเป็นการแสดงให้คนได้ดู โดยที่แปลกแยกออกมาจากวิถีชีวิต เมื่องานเลิก เลิกแสดง ก็หายไป จะกลับมาใหม่ปีละ 1 ครั้ง อย่างเช่นเทศกาลลอยกระทงในปัจจุบันที่จัดกันอย่างยาวนาน 5-10 วัน เพื่อดึงให้คนมาท่องเที่ยว โดยเขียนไว้ใน "ริมสายธาร ลานกระทงสาย"

             เมื่อวานเย็นได้อ่านหนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันที่ 16 พฤศจิกายน 2548 ในคอลัมน์เมืองไทย ๒๕ น. โดยนายมหาเศรษฐี เขียนเรื่อง "ประเพณีมีไว้ขาย" ก็รู้สึกว่ามีความคิดคล้ายๆกัน จึงขออนุญาตนำมาเสนอในบล็อคนี้เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้อ่านกันอย่างทั่วถึง

ประเพณีมีไว้ขาย

คอลัมน์ เมืองไทย๒๕น.

นายมหาเศรษฐี

คืนเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ที่เป็นที่รับรู้กันทั้งประเทศว่าคือวันลอยกระทง

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)ใช้ประเพณีลอยกระทงเป็นสินค้าด้านการท่องเที่ยวหลักประจำปีอย่างหนึ่งเพื่อหวังดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มาชมกัน

เพราะจะว่าไปแล้ว ถ้าตัดเอาเนื้อหาสาระออกไปแล้วพิศเพียงพิธีกรรมอย่างเดียว เทศกาลลอยกระทงนั้นต้องถือว่ามีบรรยากาศโรแมนติกชวนฝันสำหรับคนหนุ่มสาวมากที่สุดเมื่อเทียบกับประเพณีอื่น

เป็นบรรยากาศของคืนเดือนเพ็ญ มีเทียนจุดไฟวะวิบบนกระทงลอยล่องไปตามกระแสน้ำโดยมีหนุ่มสาวเคียงคู่พนมมืออยู่บนฝั่งเป็นฉากซ้อนด้านหลัง

เลยกลายเป็นวันที่ถูกพวกนักประชดประชันตั้งชื่อให้ว่าคือวันแห่งการเสียตัวของหนุ่มสาวไปในที่สุด

แต่วันลอยกระทงปีนี้ ขอเตือนให้หนุ่มสาวทุกคนอย่าได้ลืมพกบัตรประชาชนไปด้วย เพราะยามต้องปลีกเวลาไปเสียตัวตามโรงแรมม่านรูดอาจถูกเจ้าหน้าที่ใช้ไฟฉายส่องหน้าพร้อมขอตรวจบัตรประชาชนมากเป็นพิเศษสักหน่อย

ด้วยท่านรัฐมนตรีวัฒนา เมืองสุข ให้นโยบายมา(ฮา)

เมื่อททท.ใช้ประเพณีที่สร้างขึ้นมาเป็นตัวสินค้าเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว แผนการตลาดสารพัดก็เลยถูกกระจายออกมาเต็มไปหมด

อย่างปีนี้ให้มีประเพณีลอยกระทงเป็นพิเศษต่างจากจังหวัดอื่นหลายแห่ง เช่น กรุงเทพมหานคร สุโขทัย เชียงใหม่ ตาก อยุธยา หาดใหญ่ ฯลฯ

และเพื่อให้มันดูยิ่งใหญ่อลังการสมกับความเป็นเทศกาล กิจกรรมเสริมสารพันก็เลยถูกยัดเยียดเข้ามาให้เต็มตามโปรแกรมที่กำหนดไว้ในแต่ละวัน มีทั้งการละเล่นพื้นบ้าน การประกวดนางนพมาศ การประกวดกระทง การแสดงแสงสีเสียง ฯลฯ

ผลที่ตามมาจากการจัดงานเทศกาลลอยกระทงติดต่อกันหลายวัน อย่างกรณีที่สุโขทัย 11-16 พฤศจิกายน, เชียงใหม่ เทศกาลยี่เป็ง 9-17 พฤศจิกายน ฯลฯ ความสำคัญของคืนเดือนเพ็ญขึ้น 12 ค่ำ ก็เลยคลายความขลังลง กลายเป็นวันลอยกระทงมีได้หลายวัน ใครจะลอยวันไหนก็ได้ตามแต่สะดวก

ผลจากการจัดกิจกรรมเสริมหลากหลายบรรจุเข้าไปในรายการแต่ละวัน ก็เลยเกิดอาการมั่วในการรับรู้ขึ้นมา จนไม่ทราบเหมือนกันว่าจุดหลักของประเพณีลอยกระทงมันคือกิจกรรมไหนกันแน่

ปีนี้ ททท.ตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะแห่มาชมเทศกาลลอยกระทงทั่วไทยไว้อย่างไรไม่ทราบได้

แต่อย่าให้เหมือนตอนจัดเทศกาลรำลึกคลื่นยักษ์สึนามิถล่มไทยก็แล้วกัน

เพราะในครั้งนั้นตั้งตัวเลขในใจไว้ที่หลักแสน แต่ต่างชาติมาจริงแค่ 400 เศษเอง ทั้งที่ททท.ให้บินฟรี พักฟรี เที่ยวฟรีแล้วก็ตาม


อ่านแล้วก็คงรู้สึกอะไรๆหลายอย่างนะครับ เมื่อวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม กลายเป็นสินค้าที่ต้องพยายายมทำให้เด่นเพื่อดึงดูดลูกค้า ความลุ่มลึก ความสวยงามทางปัญญาก็อาจหายไปครับ
หมายเลขบันทึก: 7314เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2005 14:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท