BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ศิษย์


ศิษย์

ครู คู่กับ ศิษย์ ดังนั้น เมื่อเสนอคำว่า ครู แล้วก็จะเสนอคำว่า ศิษย์ ด้วย...

ศิษย์ เป็นคำสันสกฤต บาลีใช้ว่า สิสสะ ซึ่งมีมติดังต่อไปนี้

นัยแรก... โสตุ อิจฺฉตีติ สิสฺโส ผู้ใดย่อมปรารถนาในการฟัง ดังนั้น ผู้นั้นชื่อว่า ศิษย์ (ผู้ปรารถนาในการฟัง) ..นัยนี้ ทำนองเดียวกับคำว่า สุตะ ซึ่งความหมายเดิมแปลว่า การฟัง ต่อมาศัพท์นี้ก็ค่อยขยายความหมายขึ้นว่าเป็นการเรียนหรือการศึกษา... เช่น พหูสุต ตามศัพท์แปลว่า ผู้ฟังมาก แต่ความหมายที่ขยายขึ้น พหูสุต หมายถึง ผู้คงแก่เรียน ผู้รอบรู้ ... ศิษย์ ในความหมายว่า ผู้ปรารถนาในการฟัง จึงขยายความว่า ผู้ใคร่ในการเรียน หรือ ผู้ใคร่ในการศึกษา นั่นเอง

นัยต่อมา... สุณาตีติ สิสโส ผู้ใดย่อมฟัง ดังนั้น ผู้นั้นชื่อว่า ศิษย์ (ผู้ฟัง)...นัยนี้ ทำนองเดียวกันกับนัยแรก ต่างกันก็เพียงนัยแรกเป็นศัพท์ตัทธิต นัยนี้เป็นศัพท์นามกิตก์ (ตัทธิตและนามกิตก์ เป็นชื่อประเภทของศัพท์บาลีตามหลักไวยากรณ์) ..ศิษย์ ในความหมายนี้ ก็ขยายความว่า ผู้เล่าเรียน หรือ ผู้ศึกษา นั่นเอง

นัยสุดท้าย... อาจริเยหิ สาสิตพฺโพติ สิสฺโส ผู้ใดอันอาจารย์ทั้งหลายพึงสอน ดังนั้น ผู้นั้นชื่อว่า ศิษย์ (ผู้ที่อาจารย์พึงสอน) ...ศิษย์ ตามนัยนี้ แปลว่า ผู้ถูกสอน ซึ่งมาจากรากศัพท์ว่า สาส ในความสอน ..และคู่กับคำว่า สัตถา (ศาสดา) ที่แปลว่า ผู้สอน นั่นเอง...

หมายเหตุ

คำสอนในพระพุทธศาสนามีเรื่องราวเกี่ยวกับการศึกษาเล่าเรียนหลายนัย เช่น สอนว่าผู้ที่จะเป็น พหูสุต หรือ ผู้คงแก่เรียน ได้ จะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ๕ ประการ คือ

๑. พหุสุตา ฟังมาก หมายถึง เรียนมาก อ่านมาก ศึกษามาก

๒. ธตา ทรงจำ หมายถึง ต้องจำสิ่งต่างๆ ตามที่เรียนมาได้ มิใช่เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา

๓. วจสา ปริจิตา ท่องไว้ด้วยวาจา หมายถึง ต้องสามารถท่องจำสิ่งต่างๆ ได้ ข้อนี้เป็นการเสริมพิเศษจากข้อก่อน นั่นคือ บางอย่างต้องท่องจำขึ้นใจ เหมือนร้องเพลง หรือบทสวดมนต์

๔. มนสานุเปกฺขิตา เอาใจจดจ่อ หมายถึง ต้องใส่ใจสิ่งนั้นๆ บางคนเรียนแล้วทิ้ง ท่องได้แต่ไม่ใส่ใจ ไม่เคยทบทวน ก็ไม่สามารถทำให้สิ่งที่เรียนมา ดำรงอยู่ และ พัฒนา ต่อไปได้

๕. ทิฎฐิยา สุปปฎิวิทธา ขบคิดด้วยความเห็น หมายถึง ต้องหมั่นขบคิดสิ่งต่างๆ ที่เล่าเรียนมา เพราะบางอย่างอาจผิด มีข้อบกพร่องอยู่ หรือสามารถขยายความรู้ทำนอง แตกหน่อต่อยอด ต่อไปได้

    

คำสำคัญ (Tags): #ศิษย์
หมายเลขบันทึก: 72982เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2007 22:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 19:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
นมัสการมาด้วยความเคารพ และ กราบขอบพระคุณครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท