"เจ๊ง เจ๊า เจี๊ยะ" คำตอบที่รอการพิสูจน์การพึ่งตนเอง


"...การมีชีวิตอยู่ดีกินดี สังคมอยู่เย็นเป็นสุข ของเกษตรกรพิจิตรก็ยังดำเนินต่อไป..."

ร้านค้าวิสาหกิจชุมชน คำตอบที่รอการพิสูจน์การพึ่งตนเอง ของชมรมเกษตรธรรมชาติฯจังหวัดพิจิตร ผลสืบเนื่องมากจากช่วงรอยต่อของการดำเนินโครงการ มีผลทำให้กิจกรรมจำต้องหยุดชะงักไปชั่วขณะ รวมไปถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ก็เป็นผลพวงหนึ่งเช่นกัน แต่จะอย่างไรก็ตามบนเส้นทางการก้าวไปสู่ การมีชีวิตอยู่ดีกินดี สังคมอยู่เย็นเป็นสุข ของเกษตรกรพิจิตรก็ยังดำเนินต่อไป ช่วงระหว่างนี้จึงเป็นการเตรียมกระบวนการ วางแผนร่วมกัน ซึ่งสิ่งที่เครือข่ายฯ เห็นตรงกันและจะทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรมชัดเจนคือ วิสาหกิจชุมชน อันเป็นหัวใจการรวมกลุ่ม และจุดขับเคลื่อนการทำงานร่วมกันในรูปเครือข่าย พึ่งพากันเอง โดยคาดว่าภายในปี 2550 จะเกิดขึ้นแน่นอน นับเป็นโจทย์ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับชมรมฯ จะ เจ๊ง เจ๊า หรือ เจี๊ยะ ต้องคอยติดตามกัน ซึ่งในวันที่ 31 มกราคม 2550 ที่จะถึงนี้เป็นฤกษ์งามยามดี สำหรับการเปิดตัว เปิดร้านค้าอย่างเป็นทางการ ที่หน้ามูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร  มีการทำบุญ ลงหุ้นสมาชิกที่สนใจ พร้อมกับสร้างกระแสให้คนเมืองได้รับรู้ด้วย  

จุดเริ่มต้นแนวคิดการจัดตั้งร้านค้าวิสาหกิจชุมชน เป็นผลมาจากการที่เกษตรกรผู้ผลิต ข้าว พืช ผัก ผลไม้ปลอดภัยจากสารพิษ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์พื้นบ้านภูมิปัญญา ที่ไม่เพียงผลิตเพื่อบริโภคเองเท่านั้น แต่ยังมีใจห่วงใยผู้บริโภค ที่รักษ์สุขภาพ ได้มีช่องทางเลือกหนึ่งสำหรับซื้อหา จึงนับเป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลพึ่งพากัน ระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค   ดังนั้นทางคณะกรรมการชมรมฯ และมูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร  จึงมีความเห็นร่วมกัน ในการดำเนินการโดยใช้ชื่อร้านค้านามว่า รากแก้ว   ซึ่งมีนัยยะสำคัญสะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการทำงานของคนเล็กคนน้อย ทำจากจุดเล็กๆตามความพร้อม ความเหมาะสมอันมุ่งหวังเพื่อนำไปสู่ชีวิต พึ่งตนเอง ร่วมคิด ร่วมทำ  เอื้ออาทรต่อกัน ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง พออยู่พอกิน  คุณค่าประโยชน์โดยตรงไม่เพียงก่อให้เกิดผลดีแก่เกษตรกรของเครือข่ายเกษตรธรรมชาติฯที่มีช่องทางการตลาดเท่านั้น  แต่ยังเป็นการสร้างกระแสการดูแลรักษาสุขภาพ สำหรับทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็น หมอ  พยาบาล ครู ตำรวจ เด็กนักเรียน พ่อค้า แม่ค้า ประชาชนทั่วไป   ได้เลือกซื้อ ข้าว พืชผัก ผลไม้ ที่ปลอดภัยจากสารพิษมาบริโภค

ขั้นตอนวิธีการดำเนินงานนั้นได้ผ่าน การพูดคุย หารือ ทั้งเวทีประชุมใหญ่ของชมรมฯ  และคณะทำงานชุดเล็ก เพื่อค้นหาเคล็ดลับวิธีการสู่ความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งกระบวนการอาจจะยังไม่ค้นพบระบบสูตรสำเร็จเป็นขั้นเป็นตอนตายตัว  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ การปฏิบัติ เรียนรู้ร่วมกัน รับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และคณะทำงานกลาง  อย่างไรก็ตาม ณ ขณะนี้ คณะทำงาน คิดเห็นร่วมกันว่าส่วนประกอบหรือปัจจัยสู่ความสำเร็จนั้น ควรค้นหาจัดเก็บข้อมูลจำนวนการผลิตข้าว พืชผัก ผลไม้ ที่ปลอดภัยจากสารพิษของเครือข่ายฯที่มีอยู่ให้ชัดเจน ร่วมกันถือหุ้นส่วนโดยมีการลงหุ้นๆละ 100 บาท คนละไม่เกิน 10 หุ้น มีโครงสร้างคณะกรรมการ  ร่วมคิด ร่วมสร้าง บริหารจัดการโปร่งใส ตรวจสอบได้ จดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนอย่างถูกต้อง  เกิดมาตรฐานตราโลโก้รองรับคุณภาพสินค้า   มุ่งเน้นไปสู่ธุรกิจเพื่อชุมชนมากกว่าค้าขายในเชิงธุรกิจค้ากำไรเกินควร  และสุดท้ายที่สำคัญคือ มีการประชุมวิเคราะห์สถานการณ์ความเป็นจริงเพื่อพัฒนาต่อยอดการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

หมายเลขบันทึก: 72693เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2007 10:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • รอคอยอ่านบันทึกของคุณพรหมลิขิต มานานพอสมควร
  • ผมเคยลงพื้นที่เป็นอาจารย์ภาคสนาม ติดตามประเมินโครงการ SML  ส่วนใหญ่สร้างศาลาอเนกประสงค์กันทั้งนั้น
  • มีเพียงน้อยนิดที่นำเงินดังกล่าวไปสร้างอาคารสหกรณ์ในหมู่บ้าน...ซึ่งผมค่อนข้างรู้สึกดีกับรูปแบบการจัดการสหกรณ์ในชุมชน โดยเพาะหมู่บ้านที่อยู่ลึกเร้นไกลห่างจากตัวเมือง  ..มันมีประโยชน์และตอบสนองพวกเขาได้ดีในระดับหนึ่ง
  • รวมทั้งการทำตลาดชุมชน  ให้ชาวบ้านได้มีเวทีในการแลกเปลี่ยนสินค้ากันและกัน โดยเพาะสินค้าที่มาจากภาคเกษตร และเป็นผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้จากวิถีชุมชน

คุณ แผ่นดิน ครับ   ....ขอบคุณมากครับสำหรับการรอคอยบันทึกของผม คือช่วงนี้เกิดความสับสนหลายอย่างในชีวิต ทำให้จิตใจค่อนข้างวุ่นวายพอสมควร ทั้งเรื่องครอบครัวที่จังหวัดนครพนม และเรื่องตัวเอง แต่ตอนนี้นิ่งพอแล้ว เข้าใจเหตุการณ์มันดีแล้ว  ที่ทำได้เพราะบอกตัวเองว่า "...ช่างมันฉันไม่แคร์..." ไม่เป็นไรพรุ่งนี้เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ก็ได้  

เมื่อคืนหยิบหนังสือ "KM วันละคำ" ของอาจารย์หมอวิจารณ์ มาอ่านก่อนนอนทำให้กำลังใจค่อยๆผุดขึ้นมาทีละน้อยๆ จนเช้าวันนี้รู้สึกสดชื่นเป็นพิเศษครับ

ร้านค้าวิสาหกิจชุมชนของเครือข่าย กำลังเคลื่อนไปเล็กๆ ครับ ไม่ถึงขนาดหวือหวาอะไรมากนัก เรียนรู้แนวทางกันไปก่อน เพราะทีมงานล้วนเป็นมือใหม่ ที่กำลังสะสมองค์ความรู้จากหลายๆพื้นที่มาเป็นบทเรียนส่องทางอยู่ครับ 

***แล้วผมจะติดตามไปอ่านบันทึกของ คุณแผ่นดินบ้างนะครับ***

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท