ลองมอง 'สุขภาพ' ผ่านมุมพุทธดู


สุขภาพในอุดมคติทางพุทธ จึงเป็นครอบคลุมความหมาย healh และที่ครอบคลุมทั้งกาย วาจา ใจ รวมทั้งมุ่งไปสู่ความเป็นอิสระทางจิตวิญญาณ spiritual freedom อีกด้วย

ที่มาของการเขียนเรื่องนี้เริ่มจากความบังเอิญครับ

บังเอิญวันหนึ่งพิมพ์รายงานสะกดผิด เลยมีโอกาสได้สังเกตว่า

คำ health มันแยกออกมาเป็น heal + th

เลยเกิดความสงสัยต่อว่า ตกลงโดยรากของศัพท์ health มันเป็นยังไงกันแน่

ชาวสาธารณสุขพยายามจะกำหนดความหมายของ health  ด้วยนิยามว่ามันคือ สุขภาวะที่สมบูรณ์และเชื่อมโยงกันเป็นองค์รวมทั้ง ทางกาย ทางจิต ทางสังคม และทางจิตวิญญาณ

แต่คำ heal นั้นสื่อไปในทางรักษาโรคนี่นา

เลยเอาไปค้นต่อในพจนานุกรมครับ

พบว่า ทั้ง health และ heal มีรากศัพท์มาจากคำเดียวกัน คือ hælan สื่อความหมายถึงการหายจากความเจ็บป่วย แต่ก็มีความหมายส่วนหนึ่งเชื่อมโยงไปถึงคำ whole คือความเป็นองค์รวม อย่างกะนิยามที่ให้ไว้นั่นละครับ

คราวนี้มองมุมพุทธ ดูบ้างดีกว่า

ไม่มีคำว่าสุขภาพในพจนานุกรมพุทธศาสน์ครับ

มีแต่คำ สุข ครับ แปลว่า ความสบาย ความสำราญ

คำ สุข ยังบรรจุอยู่ในพรสี่ จำเวลาที่พระท่านให้พรญาติโยมได้ไหมครับที่ท่านลงท้ายด้วยคำบาลีว่า อายุ วรรโณ สุขัง พะลัง หรือที่เราคุณเคยในคำไทยว่า อายุ วรรณะ สุข พละ นั้นล่ะครับ

ผมมองว่าพรสี่นี่แหละคือ ความสุขสมบูรณ์ทางกายและใจ (ยังไม่รวมจิตวิญญาณ) ในแบบชาวพุทธครับ

แน่นอน ความมีอายุยืน (อายุ) ความมีผิวพรรณผุดผ่องใส (วรรโณ)ความเป็นอยู่สบายกายสบายใจ (สุขัง) และความมีกำลังเข้มแข็งในการทำหน้าที่การงาน (พะลัง) เป็นเครื่องชี้วัดอย่างง่ายๆ ในการบอกว่าคนนี้มีสุขภาพกาย-ใจ ดีแค่ไหน

มองให้ลึกลงไปอีกนิดหนึ่งครับ

จุดเด่นของพุทธศาสนาอีกอย่างที่ผมสังเกตคือ มีวิธีคิดที่ไม่มองการแสดงออกของร่างกาย (เช่นสภาวะความเป็นโรค) แยกโดดๆ

กายเชื่อมโยงกับใจ รูปขันธ์ กับนามขันธ์ (กระบวนการของใจ อันได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)

ส่วนการแสดงออกของจิตนั้น นอกจากทางการกระทำแล้ว เพิ่มทางวาจามาอีกหนึ่ง

กาย วาจา ใจ ต้องเชื่อมโยงกันไปเสมอๆ

กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม

มุมมองในแง่นี้เองที่สามารถตีความได้ว่า การปราศจากโรค ไม่ใช่ทั้งหมดของความสุข

มีธรรมะอีกหลายหมวดที่มุ่งให้เกิดการพัฒนากาย และใจเพื่อสร้างความสุข

อย่างเช่น พรหมวิหารสี่ (เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา) คือวิธีพัฒนาจิตใจเพื่อเผื่อแผ่ความสุขแก่คนรอบๆ ข้าง

หรือแม้แต่ศีลทั้งหมด ล้วนมุ่งหมายในการควบคุมกายวาจาใจเพื่อลดการเบียดเบียนทั้งแก่ตัวเองและสังคมรอบตัว

แล้วแง่มุมไหนของพุทธศาสนาที่กลมกลืนไปได้กับสุขภาวะทางจิตวิญญาณบ้างครับ

(เชื่อว่าประเด็นสุขภาพทางจิตวิญญาณนี้ ประเทศไทยเราเป็นผู้นำเข้าสู่นิยามสุขภาพ ในฐานะเป็นเป้าหมาย ขณะที่ก่อนหน้านี้ spiritual health ใช้เป็นเครื่องมือที่จะทำความเข้าใจพฤติกรรมสุขภาพที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาหรือความเชื่อต่างๆ - ใครรู้ข้อมูลเชิงลึกประเด็นนี้เล่าให้ฟังทีนะครับ)

ผมว่าพุทธศาสนาทั้งระบบนั้นล่ะครับคือคำตอบของสุขภาพทางจิตวิญญาณ

ร่างกายแข็งแรงไม่มีโรคทางกาย

จิตใจทำหน้าที่ปกติไม่เป็นโรคจิต โรคประสาท

แต่ชีวิตก็ยังร้อนรนทนทุกข์ ไม่มีความสุข เพราะถูกรบกวนด้วยราคะ โทสะ โมหะ

ยังเป็นทุกข์เพราะอยาก เป็นทุกข์เพราะโกรธ เป็นทุกข์เพราะหลงอยู่ดี

สุขภาวะขั้นสูงสุดคือขั้นที่จิตวิญญาณเป็นอิสระหลุดพ้น จากกิเลสทั้งสาม ราคะโทสะ โมหะนั้นเองครับ 

ตีความในแง่นี้ ดูจะเข้ากับความหมายของสุขภาพทางจิตวิญญาณที่เราพยายามจะให้คำนิยามดีนะครับ

มองในแง่นี้ สุขภาวะก็ คือ ความสิ้นไปแห่งทุกข์นั้นเองครับ

สพฺพตถ ทุกฺขสฺส สุขํ ปหานํ            ละเหตุทุกข์ได้เป็นสุขในที่ทั้งปวง  

สุขภาพในอุดมคติทางพุทธ จึงเป็นครอบคลุมความหมาย healh และที่ครอบคลุมทั้งกาย วาจา ใจ รวมทั้งมุ่งไปสู่ความเป็นอิสระทางจิตวิญญาณ spiritual freedom อีกด้วย

หากพิจารณาตามทั้งหมดนี้แล้ว สุขภาพจึงมีความหมายที่ยิ่งใหญ่และท้าทายอย่างยิ่ง

ยิ่งใหญ่ในฐานะอุดมคติของความเป็นมนุษย์

และท้าทายในการที่บุคลากรสาธารณสุข (อย่างเราๆ) จะเข้าไปทำความเข้าใจ เข้าไปเกี่ยวข้อง และเคลื่อนไหวให้เกิดสุขภาพในกลุ่มคนที่เราต้องการครับ

 

 

หมายเลขบันทึก: 72681เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2007 07:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท