[บันทึกที่ 9] การออกแบบการเรียนรู้สำหรับเด็กผ่านความรู้เรื่ององค์รวมแห่งการดำเนินชีวิตมนุษย์


ห้องเรียนจบแล้ว แต่นักเรียนยังมันส์อยู่เลยต้องมานั่งเขียนบทความสะท้อนการเรียนรู้จากห้องเรียน Zentangle ในค่ำคืนนี้ เพราะเรารู้สึกว่าเรื่องนี้สำคัญกับเราและมีประโยชน์มาก ๆ หากได้นำมาทบทวน ใคร่ครวญ และพินิจ พิจารณาอยู่บ่อย ๆ (และอาจจะเป็นประโญชน์ไม่มากก็น้อยสำหรับผู้ที่ผ่านเข้ามาอ่านบันทึกฉบับนี้)

เริ่มต้นจากวันนี้ในห้องเรียน Zentangle มีนักเรียนใหม่เข้ามาร่วมวาดภาพและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเราด้วย เธอเป็นครูสอนนักเรียนประถมฯ ในจังหวัดน่าน ตอนแรกเธอบอกยังไม่พร้อมเลยขอดูก่อน แต่ครูยงก็ให้เวลาเธอเตรียมตัว เตรียมอุปกรณ์และวาดภาพไปด้วยกัน หลังจากนั้นก็มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน บรรยากาศสบาย ๆ จากการอยู่ในวงสนทนาเราสำหรับได้ว่าครูท่านนี้เหมือนเธอได้รับการเติมไฟในความเป็นครูของเธอให้เพิ่มพูนขึ้น ขณะเดียวกันเธอก็มหัศจรรย์กับเครื่องมือใหม่ที่อาจจะได้นำไปใช้เพื่อพัฒนาเด็ก ๆ ที่เธอได้ดูแล (อันนี้เป็นความรู้สึกของเราที่ได้ฟังเธอของเธอนะ อาจจะไม่ใช่แบบนั้นก็ได้ 55555)

สิ่งที่คุณครูท่านนี้จุดประเด็นขึ้นมาในวงและทำให้เรารู้สึกสะดุดและสนใจต่อ คือ เธอตั้งคำถามขึ้นมาว่า “การวาดรูปแบบนี้สามารถนำไปกับเด็ก ป.2 ได้หรือเปล่า” ทั้งครูยงยศและเราก็ได้ช่วยกันแชร์ไปในห้องเรียนส่วนหนึ่งในวงสนทนา แต่พอจบวงแล้วมานั่งทบทวนอีกทีก็พบว่า “เอ๊ะ… แล้วท่าเราเป็นคุณครู เราจะเอาภาพ Zentangle นี้ไป ”ออกแบบกระบวนการเรียนรู้" ให้เด็ก ๆ ได้อย่างไรหละ" เมื่อเกิดคำถามนี้ขึ้นในใจทำให้เราได้ทบทวนในหลายเรื่องราวและหลากหลายประเด็นเลย

หากเป็นตัวเราเมื่อก่อนนี้… เมื่อเราได้เรียนรู้เรื่องราวใหม่ ๆ องค์ความรู้ใหม่ ๆ หรือมีเครื่องมือใหม่ ๆ เราก็คงหาวิธีการในการเอาสิ่งเหล่านั้นไปใช้ต่อแบบทั้งก้อนทันที หรือเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้แน่ ๆ ซึ่งมันมีข้อดีก็ดีนะ คือ มันช่วยให้เราได้ทบทวนความรู้ สร้างความเข้าใจในความรู้และเครื่องมือนั้น ๆ ทำให้เกิดความคุ้นชิน เห็นจุดเด่น และข้อจำกัดในการใช้งาน 

แต่การทำแบบนี้เราพบว่ามันมีจุดอ่อนที่น่าสนใจ คือ “เราอาจจะนำความรู้หรือเครื่องมือนั้น ๆ ไปใช้ด้วยความคาดหวังหรือความรู้สึกว่า ”ฉันอยากเห็นผลลัพธ์จากสิ่งนี้และอาจจะทำให้มองข้ามเรื่องบริบทโดยรอบไป" 

ทำให้เรานึกถึงองค์ความรู้เรื่ององค์รวมแห่งการดำเนินชีวิตมนุษย์ใน 3 แดน (ตามภาพ) ของท่านสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ที่ท่านเขียนไว้ในหนังสือสุขภาวะองค์รวมแนวพุทธ เมื่อเรานำองค์ความรู้นี้เข้ามาจับเพื่อช่วยในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ อาจจะช่วยให้เราได้ทบทวนและพิจารณาในมิติต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น และทำให้การออกแบบกระบวนการเรียนรู้ของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

พื้นที่ที่ 1 แดนแห่งความสัมพันธ์
ในดินแดนที่ 1 เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมาก ๆ ที่จะช่วยให้เราได้สำรวจว่า… เวลาที่เราเข้าไปในห้องเรียนบรรยากาศภายในห้องเรียนนั้น ๆ เป็นอย่างไร ? ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับนักเรียนของเราเป็นอย่างไรบ้าง ? เรารู้จักกับนักเรียนมากน้อยแค่ไหน ? เป็นต้น ในขณะเดียวกันในแดนนี้ยังช่วยให้เราตั้งคำถามกับตัวเองด้วยว่า… ตอนนี้เราวางอย่างไรกับห้องเรียน ? อะไรคือสิ่งสำคัญที่เรายืดยึดเอาไว้ ? อะไรเป็นสิ่งที่เราต้องการให้นักเรียนได้รับจากเรา และเราพยายามส่งมอบสิ่งเหล่านั้นด้วยวิธีการอย่างไร ? นี่เป็นจุดหนึ่งที่เราอาจไม่เคยได้ถามตัวเองมาก่อนเลย เมื่อเราได้เริ่มถาม เราจะได้เริ่มสำรวจ ทบทวน พิจารณา และมองบริบททั้งภายในตัวเอง นักเรียน และห้องเรียนมากยิ่งขึ้น

และเมื่อเรามองเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว การจะนำองค์ความรู้หรือเครื่องมือใด ๆ ก็ตามเข้าไปใช้งาน พื้นที่ที่ 1 ช่วยให้เราสามารถค่อย ๆ เลือกสรรค์สิ่งที่เหมาะเข้าไปในงานได้ดียิ่งขึ้น

พื้นที่ที่ 2 แดนแห่งจิต
สำหรับเราแล้ว… ถ้าแปลง่าย ๆ เป็นพื้นที่แห่งการรับรู้สภาวะทั้งภายนอกและภายใน ในพื้นที่นี้ช่วยให้เราค่อย ๆ ได้เปิดรับสัมผัส (Sensing) กับความรู้สึกของตัวเองและนักเรียน บรรยากาศภายในห้องเรียน และสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็นอย่างไรบ้าง ? โดยสิ่งเหล่านี้เราสามารถรับรู้ได้ผ่านการสังเกตสีหน้า อาการ ทางท่า ปฏิกิริยาการตอบสนอง ซึ่งปกติแล้วเราอาจจะมองไม่ค่อยเห็นในเรื่องราวเหล่านี้ เมื่อเราสามารถสังเกตเห็นและรับรู้ได้ เราก็สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้ของเราได้ตลอดเวลา 

และในพื้นที่นี้ยังช่วยให้เราได้ทำความเข้าใจกับตัวเองว่า “การนำความรู้หรือเครื่องมือนั้น ๆ เข้ามาใช้ เราต้องการอะไรกันแน่” และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “หากเราจะได้รับผลลัพธ์ตามที่เราต้องการ เราต้องมีท่าทาง พฤติกรรม สภาวะจิต และบรรยากาศแบบไหนที่ทำให้การเรียนรู้นั้น ๆ เป็นไปอย่างราบรื่น”

พื้นที่ที่ 3 แดนแห่งปัญญา
พื้นที่พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ช่วยให้เราเห็นความงอกงามในตัวเองและในบุคคลอื่น ๆ ซึ่งในกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเราก็จะได้เห็นความงอกงามนี้ผ่านการสะท้อนประสบการณ์การเรียนรู้ (Reflection) และกระตกผลึกการเรียนรู้ในช่วงสุดท้าย (Check-out) ขณะเดียวกันก็ยังเป็นพื้นที่ที่ช่วยให้ผู้ออกแบบการเรียนรู้ได้มาทบทวนเหตุการณ์และประสบการณ์การปฏิบัติการการนำการเรียนรู้ว่าเป็นอย่างไรบ้าง มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง มีอะไรเป็นสิ่งที่น่าประทับใจ มีจุดไหนเป็นจุดที่ต้องใส่ใจให้มากขึ้น หรือระวังเป็นพิเศษ หรือมีจุดไหนที่สามารถนำไปพัฒนาและต่อยอดไปได้อีก และได้ดูผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเทียบกับความคาดหวังแล้วเป็นอย่างไร ถ้าจะพัฒนาต้องพัฒนาจากจุดไหนอย่างไร

ในขณะเดียวกัน… ในพื้นที่นี้ยังช่วยให้ได้มองเห็นความงดงามและพัฒนาการในตัวของคนที่อยู่ตรงหน้าเราอย่างชัดเจนมากขึ้น (แต่สิ่งเรานี้อาจจะไม่ได้เห็นได้ในทันทีทันใดนะ แต่มันมีเมล็ดพันธุ์บางอย่างที่ค่อย ๆ งอกงามและเติบโตภายในตัวของพวกเขาเอง)

จะเห็นได้ว่า… การนำองค์ความรู้เรื่ององค์รวมแห่งการดำเนินชีวิตมนุษย์ทั้ง 3 แดนของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) เข้ามาช่วยในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้นั้น มันช่วยให้เราได้ขยายมุมมองและตั้งคำถามในมิติที่หลากหลายได้มากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันมันเป็นตัวช่วยที่ดี เมื่อเราคิดจะนำองค์ความรู้หรือเครื่องมือต่าง ๆ เข้ามาใช้ประโยชน์กับตัวเอง กับผู้อื่น กับงาน หรือกับสิ่งอื่นใดก็ตามที องค์ความรู้นี้จะชวนให้เรากำลังไปสำรวจมิติต่าง ๆ ให้ชัดเจนและลึกลงไปมากยิ่งขึ้น เพราะเมื่อเราทำแดนใดแดนหนึ่งดีแล้ว มันก็จะส่งผลถึงอีกสองแดนให้ดีตามมาด้วย ขณะเดียวกันเมื่อเราสำรวจเรื่องราวต่าง ๆ ชัดเจนมากพอ สิ่งนี้จะช่วยให้เราเลือกองค์ความรู้หรือเครื่องมือต่าง ๆ มาใช้ได้อย่างเหมาะสมและแม่นยำมากขึ้น และบางครั้งเราอาจจะเลือกมาใช้แค่บางส่วน ไม่จำเป็นต้องยกมาใช้ทั้งหมดก็ได้ เพราะอย่าลืมว่า… องค์ความรู้และเครื่องมือต่าง ๆ ที่เรานำมาใช้นั้นอาจจะเหมาะกับเด็กบางกลุ่ม ไม่เหมาะกับเด็กบางกลุ่ม หรือเราเองก็อาจจะมีบางวันที่พร้อมใช้ความรู้หรือเครื่องมือนั้น ๆ อย่างเต็มที่ บางวันอาจจะไม่พร้อมก็ได้

และการที่เราได้ค่อย ๆ สำรวจและทบทวนมิติต่าง ๆ ทั้งภายในตัวเอง ในห้องเรียน โรงเรียน และอาจจะขยายไปสู่สังคมภายนอกได้นั้น มันช่วยให้เรามีมุมมองที่กว้างขึ้น เข้าใจตน เข้าใจคน เข้าใจโลก และเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันอย่างเข้าใจและไม่เป็นทุกข์ได้มากขึ้นด้วย

หมายเลขบันทึก: 718294เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2024 23:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2024 11:31 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

May I suggest another entity ‘goal’ over the loop [of ‘relations’, citta, paññā ]?
We can tell if we are doing ‘right’ and when to ‘stop’ with a well-defined ‘goal’.

ได้เลยครับ… ในพื้นที่ที่ 1 หรือที่สมเด็จฯ ท่านเรียนว่า “แดนความสัมพันธ์” นั้น เป็นพื้นที่ที่ช่วยให้เรามองเห็นความสัมพันธ์กับตัวเราและบริยทรอบตัวให้ชัดเจนมากขึ้น เมื่อเรามองเห็นความสัมพันธ์และบริบทต่าง ๆ ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น มันช่วยให้เราสามารถกำหนดเป้าหมายที่เราต้องการได้ชัดเจนมากขึ้นตามธรรมชาติ และเมื่อเราเห็นความสัมพันธ์ของตัวเรากับบริบทชัดเจน มีเป้าหมายที่แน่ชัดแล้ว เรายังสามารถรับรู้ได้ด้วยว่าเราจะทำงานนั้นด้วยสภาวะอารมณ์ ความคิด ความรู้สึก และจิตใจแบบไหน เมื่อมีสิ่งรบกวนเข้ามากระทบใจจะรับมืออย่างไร ซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่ 2 หรือแดนแห่งจิต และเมื่อทำทั้งสองลูปเราดูแลได้ดีมากพอ มันก็เป็นปัจจัยที่ช่วยให้เราทำงานกับลูปที่ 3 พื้นที่ที่ 3 หรือแดนแห่งปัญญาได้ดีตามไปด้วย ในแดนแห่งปัญญานี้ มันอาจเกิดในรูปแบบของแนวคิด หรือไอเดียใหม่ ๆ ที่ผุดปรากฏขึ้นมา ณ ขณะนั้น ๆ ก็ได้เช่นกันครับ.ขออนุญาตตอบเป็นภาษาไทยนะครับ เนื่องจากเป็นเรื่องที่ค่อนข้างลึกซึ้งและภาษาอังกฤษของผมเองไม่ค่อยแข็งแรงเท่าไหร่ 55555

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท