ขันติวัณณนชาดก


ว่าด้วย ต้องอดใจในคนที่หาคุณธรรมยาก

ขันติวัณณนชาดก

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑

๕. ขันติวัณณนชาดก (จากพระไตรปิฎก ลำดับเรื่องที่ ๒๒๕)

ว่าด้วยการพรรณนาขันติ

             (อำมาตย์คนหนึ่งไม่อาจอดกลั้นความผิดของตนได้ จึงทูลถามพระราชาว่า)

             [๑๔๙] ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระพุทธเจ้ามีคนที่ขวนขวายในกิจการทุกอย่างอยู่คนหนึ่ง แต่เขามีความผิดอยู่เรื่องหนึ่ง พระองค์จะทรงดำริเป็นประการใดในความผิดนั้น พระเจ้าข้า

             (พระราชาตรัสว่า)

             [๑๕๐] เราก็มีคนเช่นนี้อยู่คนหนึ่ง และเขาก็ปรากฏอยู่ที่นี้ ขึ้นชื่อว่าคนที่พร้อมด้วยองค์คุณทุกอย่างหาได้ยาก เราจึงชอบใจขันติ

ขันติวัณณนชาดกที่ ๕ จบ

-----------------------------

คำอธิบายเพิ่มเติมนำมาจากบางส่วนของอรรถกถา 

ขันติวรรณนชาดก

ว่าด้วย ต้องอดใจในคนที่หาคุณธรรมยาก

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภพระเจ้าโกศล ตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้.
               ได้ยินว่า อำมาตย์ของพระเจ้าโกศลผู้หนึ่ง ผู้มีอุปการะมาก ได้ลอบเป็นชู้กับนางสนม. พระราชาแม้ทรงทราบ ก็ทรงอดกลั้นนิ่งไว้ด้วยคิดว่า เป็นผู้มีอุปการะแก่เรา ได้กราบทูลพระศาสดา. พระศาสดาตรัสว่า มหาบพิตร แม้พระราชาในกาลก่อนก็ทรงอดกลั้นอย่างนี้เหมือนกัน พระเจ้าโกศลทูลอาราธนา จึงทรงนำเรื่องอดีตมาตรัสเล่า.
               ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี อำมาตย์ผู้หนึ่งได้ลอบเป็นชู้กับนางสนมของพระองค์ แม้คนใช้ของอำมาตย์ก็ลอบเป็นชู้ในครอบครัวของเขา เขาไม่อาจอดกลั้นความผิดของคนใช้ได้ จึงพาตัวไปเฝ้าพระราชาเพื่อจะถามว่า ข้าแต่สมมติเทพ คนใช้ของข้าพระองค์คนหนึ่งเป็นผู้ทำกิจการทั้งปวง เขาได้เป็นชู้กับครอบครัวของข้าพระองค์ ข้าพระองค์ควรจะทำอะไรแก่เขา
               จึงกล่าวคาถาแรกว่า :-
               ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ข้าพระบาทมีบุรุษผู้ขวนขวายในกิจการทุกอย่าง อยู่คนหนึ่ง แต่เขามีความผิดอยู่ข้อหนึ่ง พระองค์จะทรงโปรดดำริในความผิดของเขานั้นเป็นประการใด พระเจ้าข้า.
               พระราชาทรงสดับดังนั้นแล้ว จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-
               บุรุษเช่นนี้ของเราก็มีอยู่ในที่นี้ แต่บุรุษผู้ประกอบด้วยองค์คุณหาได้ยาก เราจึงสู้อดใจเสีย.
               อำมาตย์รู้ว่าพระราชาตรัสหมายถึงตน ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่กล้าเป็นชู้กับนางสนมอีก แม้คนใช้ของอำมาตย์นั้น ก็รู้ว่าพระราชาทรงว่ากล่าวตน ตั้งแต่นั้นมา ก็ไม่กล้าทำกรรมนั้นอีก.

               พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดก.
               พระราชาพาราณสีในครั้งนั้น คือ เราตถาคต นี้เอง
               อำมาตย์นั้นรู้ว่า พระราชากราบทูลแด่พระศาสดา ตั้งแต่นั้นมา ก็ไม่อาจทำกรรมนั้น.
               จบ อรรถกถาขันติวรรณนชาดกที่ ๕

--------------------------

 

คำสำคัญ (Tags): #พระราชาพาราณสี
หมายเลขบันทึก: 718287เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2024 04:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2024 04:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท