สอนเสวนา สู่การเปลี่ยนวัฒนธรรมการศึกษาไทย  ๒. กิจกรรมในวันที่ ๑ 


 

๑๘ เมษายน ๒๕๖๗ 

จากการสอบถามทีมผู้จัดงานของ กสศ. ผมได้รับข้อมูลว่า “รอบฟา Dialogic teaching สำหรับ วิทยากรและ fa  (บางแสน)    เป้าหมาย จะเป็นการพัฒนาและสร้างวิทยากร fa และคณะทำงาน (core team) ให้เข้าใจและสามารถถอดกระบวนการ และออกแบบกระบวนการเรียนรู้ Dialogic teaching  ให้กับครูรักษ์ถิ่นรุ่นที่ 2   วิทยากรหลัก คุณ Paul Collard    ผู้เข้าร่วมจะเป็น ศึกษานิเทศก์แกนนำ อาจารย์สถาบันผลิต คณะวิทยากรมูลนิธิเพื่อทักษะแห่งอนาคต และนักศึกษาครูรักษ์ถิ่นที่จะไปเป็น fa ในรอบถัดไป”

ไปถึงโรงแรมเดอะเซส ผมขอรายชื่อ หน้าที่ และสังกัด ของผู้เข้าร่วม   เพื่อเตรียมสังเกตการณ์และเรียนรู้อย่างเต็มที่    โดยเฉพาะสังเกตการเรียนรู้ว่า คนที่เตรียมเป็น Fa ของ Dialogic Teaching Workshop ได้เรียนรู้หลักการและเทคนิคของ Dialogic Teaching ในระดับใดบ้าง    มีใครเป็นดาวเด่นบ้าง   และเตรียมพูดคุยในช่วงพักหรือช่วงรับประทานอาหาร    เพื่อเรียนรู้เชิงลึกจากท่านเหล่านั้น    

กำหนดการในวันแรกมีดังนี้ (ปรับได้) 

08.30 – 09.00 ลงทะเบียน 

09.00 – 09.20 Warm up: ความสุขและสิ่งที่ไม่ใช่ความสุข 

09.15 – 10.45 Reconnecting activity มหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนแห่งสุขภาวะ 

10.45 – 11.00 BREAK 

11.00 – 12.15 Activity: กฎ 10 ข้อของการสนทนาที่ดี 

12.15-13.00 Activity: STRESS TESTING THE RULES OF GOOD TALK การทดสอบ ความเครียดจากกฏของการสนทนาที่ดี 

13.00 – 14.00 LUNCH 

14.00 – 14.20 Warm-up: มาอธิบายภาพกัน 

14.20 – 15.30 Activity: มาแต่งเรื่องกัน 

15.30 – 15.45 BREAK 

15.45 – 16.45 Activity: มหาวิทยาลัยต้นแบบ 

16.45 – 17.00 Reflection: ประเมินประสิทธิภาพของฉัน 17.00 จบกิจกรรม

เอกสารรายละเอียดของกิจกรรมระบุว่า

การฝึกอบรมนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อ : • เปิดโอกาสให้นักศึกษาโครงการครูรักษ์ถิ่นได้รับทราบ เข้าใจ และให้คุณค่ากับเทคนิคการสอนเสวนาเพื่อพัฒนาคุณภาพของการสนทนาในห้องเรียน ให้มีการคิดอย่างลึกซึ้งและพัฒนาผลลัพธ์การเรียนรู้ • เน้นถึงหลักการของการสอนเสวนา • ค้นหาวิธีสร้างวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมในห้องเรียนที่เอื้อต่อการพูดคุยแบบมีคุณภาพในห้องเรียน • ค้นหาว่าเหตุใดการเสวนาถึงมีความสำคัญและมีความแตกต่างจากการพูดคุยแบบธรรมดาทั่วไปในห้องเรียน   กล่าวคือ การเสวนาไม่ใช่การเห็นด้วยกับความคิดเห็นของผู้อื่นเสมอไป (ซึ่งมักเกิดขึ้นในการสอนโดยทั่วไป) แต่เป็นการร่วมมือกันเพื่อให้เข้าใจในประเด็นและความคิดของแต่ละฝ่าย • ส่งเสริมให้ผู้เข้าอบรมได้รับประสบการณ์จริงในการค้นหาเทคนิคการสอนเสวนาที่หลากหลาย และสามารถนำไปใช้ในห้องเรียนของตนเองได้ • เปิดโอกาสในการคิดว่าการสอนเสวนาสามารถใช้เป็นเทคนิคในการสอนข้ามสาขาวิชาได้อย่างไร    รวมถึงวิธีการส่งเสริมให้เด็กพูดเป็นเชิงเสวนามากขึ้น เพื่อพัฒนา คุณภาพการคิดและความเข้าใจในประเด็นต่าง ๆ • ส่งเสริมให้ผู้เข้าอบรมนำการเรียนรู้ไปปฏิบัติผ่านการออกแบบและการนำเสนอบทเรียนที่เน้นองค์ประกอบเฉพาะของการสอนเสวนา • เน้นถึงงานวิจัยระดับนานาชาติที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการคิดเพิ่มเติมและการพัฒนาครูอย่างต่อเนื่อง • ระหว่างการจัดเวิร์กช็อปวิทยากรควรให้ความสำคัญกับการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ให้ราบรื่น สร้างพื้นที่ให้ผู้เข้าอบรมได้ปฏิบัติกิจกรรมโดยมีการหยุดชะงักน้อยที่สุด   ฉะนั้นวิทยากร จําเป็นต้องแก้ไขปัญหาเมื่อผู้เข้าอบรมตีความคำสั่งในการทำกิจกรรมผิด โดยไม่ทำให้การทำกิจกรรมเกิดการชะงักหรือชะงักน้อยที่สุด

หลักการของการสอนแบบสานเสวนาหรือสอนเสวนา (Dialogic Teaching) (ซึ่งสอดคล้องกับโมเดล High Functioning Classroom อย่างมีประสิทธิภาพ) มีดังนี้  o ความร่วมมือ (Collective) (ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้ร่วมกัน)  o การแลกเปลี่ยนมุมมอง (Reciprocal) (ผู้เข้าอบรมรับฟังซึ่งกันและกัน แบ่งปันความคิด และพิจารณาแง่มุมอื่นที่เป็นไปได้)  o การสนับสนุน (Supportive) (ผู้เข้าอบรมแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องรู้สึกกังวลกับคำตอบที่ 'ผิด' และช่วยกันทำความเข้าใจแต่ละประเด็นโดยเห็นภาพ เดียวกัน)  o การต่อยอดหรือสั่งสม (Cumulative) (ผู้เข้าอบรมรับฟังความคิดของผู้อื่นและช่วยกันคิดต่อยอด เพื่อรวบรวมทุกความคิดเป็นแนวทางเดียวกัน)  o การมีจุดมุ่งหมาย (Purposeful) (การพูดคุยในชั้นเรียนแม้จะเปิดกว้างและคล้ายการเสวนา แต่มีการวางรูปแบบของการพูดคุยไว้อย่างมีเป้าหมายในการเรียนรู้ของแต่ละคาบ)

จะเห็นว่า จริงๆ แล้ว Dialogic Teaching  เป็น Activity-based learning   เพื่อนำเอาประสบการณ์มาสานเสวนากัน    ซึ่งก็คือ เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์    ครูจึงต้องฝึกหรือเรียนรู้การออกแบบกิจกรรมให้นักเรียนร่วมกันปฏิบัติ  เพื่อเอาประสบการณ์จากการปฏิบัติมาเสวนากัน    ซึ่งก็คือ การเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) นั่นเอง    

09.00 – 09.20 Warm up: ความสุขและสิ่งที่ไม่ใช่ความสุข 

จุดประสงค์ของกิจกรรม : การทำให้ผู้เข้าอบรมมีอารมณ์ร่วมกับกิจกรรมตั้งแต่แรกเริ่ม  ส่งเสริมให้ผู้เข้าอบรมเปิดใจและซื่อสัตย์ 

 ผมตีความว่า เป็นกุศโลบายให้ได้เคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อกระตุ้นสมอง   ตามหลักการที่ระบุในหนังสือ 30+ Strategies to Boost Cognitive Engagement    ไม่มีผู้เข้าร่วมท่านใดสะท้อนคิดสู่ ความเชื่อมโยงกิจกรรมทางกายกับกิจกรรมของสมองเลย      

09.15 – 10.45 Reconnecting activity มหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนแห่งสุขภาวะ  

จุดประสงค์ของกิจกรรม : ทำให้ผู้เข้าอบรมเข้าใจถึงปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อชีวิตและความเป็นอยู่อย่างลึกซึ้ง

แบ่ง ๕ กลุ่ม ให้ช่วยกันคิด ๑๐ คำหรือวลีที่จะยกระดับสุขภาวะที่มหาวิทยาลัย หรือที่โรงเรียนปลายทาง    ผมจ้องรอฟังว่าจะมีคนพูดเรื่องความสุขในการเผชิญความท้าทายหรือไม่     และสะท้อนคิดล่วงหน้าว่า ในบริบทไทย เราจะไม่ค่อยคิดถึงปิติสุขที่เป็นผลจากการได้ทำสิ่งที่ท้าทายหรือยาก จนสำเร็จ    เรามักจะนึกถึงกิจกรรมที่ราบรื่น   

แล้วก็ตรงกับที่คาด ๑๐ คำที่แต่ละกลุ่มบอก เป็นความสุขจากการเสพเป็นหลัก   ไม่มีความสุขจากการสร้าง   นี่คือผลของการหล่อหลอมโดยวัฒนธรรมไทย   ผมโชคดีมากที่เป็นคนนอกกรอบนี้   

แต่ก็มีกลุ่มหนึ่งเอ่ยถึงงานที่ชอบ ใกล้เคียงความสุขจากการสร้าง   กลุ่มนี้เอ่ยเรื่องเกี่ยวกับงานหลายข้อ   และหลายกลุ่มมีข้อเกี่ยวกับความสัมพันธ์   มีกลุ่มหนึ่งระบุ growth mindset ที่มีร่วมกัน   

ประชุมคราวนี้มีผู้สังเกตการจากปากีสถาน ๒ ท่าน    และท่านหนึ่งร่วมให้ ๑๐ คำด้วย   เราจึงมีโอกาสเปรียบเทียบว่าวัฒนธรรมที่ต่างกัน ส่งผลต่อ ๑๐ คำนี้อย่างไร   พบว่าท่านให้คำที่สะท้อนความสุขจากการสร้าง   

สรุปจากผลของ ๕ กลุ่ม   วิทยากร คือคุณพอล คอลลาร์ด จัดกลุ่มออกเป็น ๑๐ กลุ่มคือ (๑) สภาพแวดล้อมทางกายภาพ  อำนวยความสะดวก ให้ความรื่นรมย์   (๒) ลีลาชีวิตที่ดี   (๓) ได้รับการยอมรับ  ช่วยเหลือกัน เคารพเห็นคุณค่าต่อกัน   (๔) ความเป็นส่วนตัว  ความรู้สึกอิสระ  (๕) มีเวลา  (๖) มีสิทธิ์ มีโอกาสแสดงข้อคิดเห็น  (๗) ปฏิสัมพันธ์เชิงบวก  (๘) ได้รับการเห็นคุณค่า ให้คุณค่าซึ่งกันและกัน การมีงานที่ชอบ  คุณพอล เสริม (๙) มีชีวิตที่สนุก   (๑๐) เมตตาตนเอง  ได้ผ่อนคลาย 

วิจารณ์ พานิช

๑๙ เม.ย. ๖๗

ห้อง ๕๐๙   โรงแรมเดอะเซส   บางแสน 

    

หมายเลขบันทึก: 718284เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2024 17:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2024 17:35 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท