Sense of Belonging Theory


เมื่อสมัยที่ผมเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นปีที่ 1 นอกจากเรียนหนังสือ ฝึกวินัย ฝึกการต่อสู้ป้องกันตัวแล้ว สิ่งหนึ่งที่นักเรียนนายร้อยตำรวจต้องเข้าร่วมคือกิจกรรมชมรม กิจกรรมชมรมของนักเรียนนายร้อยตำรวจไม่แตกต่างไปจากมหาวิทยาลัยทั่วไปมากนัก มีชมรมประเภทชมรมกีฬาเช่น รักบี้ ฟุตบอล บาส กรีฑา ฟันดาบ ว่ายน้ำ ฯลฯ และชมรมอื่นๆ เช่น สโมสร ประชาสัมพันธ์ เชียร์ เป็นต้น สุดท้ายที่ขาดไปไม่ได้คือชมรมในหมวดดนตรี ซึ่งมีอยู่ 2 ชมรม คือ ดนตรีสากล และ ดนตรีไทย 

อย่างไรก็ดีสิ่งหนึ่งที่แตกต่างจากกิจกรรมชมรมของมหาวิทยาลัยทั่วไปของการเข้าร่วมกิจกรรมชมรมของนักเรียนนายร้อยตำรวจคือความเป็นสมาชิกชมรมนั้นๆ จะติดตัวเราไปตลอดชีวิต เป็นกลุ่มสมาชิกย่อยลงไปจากความเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจหรือการมีรุ่นนักเรียนนายร้อยตำรวจอีกที สิ่งเหล่านี้จะส่งผลอย่างมากในความเจริญก้าวหน้าในการรับราชการตำรวจ ผมเรียนรู้มาอย่างนั้นตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนเตรียมทหาร (จากคำบอกเล่าของรุ่นพี่) ความสัมพันธ์แบบเพื่อนพี่น้องในชมรมจะแนบแน่นกว่า เมื่อเรียนจบออกไปทำงาน หากมีโอกาสได้พบเจอรุ่นพี่ที่เคยอยู่ชมรมเดียวกัน การสนิทสนมจะง่ายขึ้น การทำงานจะราบรื่นขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ ผมรับรู้ความรู้สึกนั้นได้อีกครั้งเมื่อเรียนจบและได้ไปปฏิบัติงานจริงในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ผมเลือกเข้าชมรมดนตรีไทย ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือรุ่นพี่ท่านหนึ่งซึ่งผมรู้จักมาก่อนที่จะเข้ามาเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจเป็นสมาชิกของชมรมนี้ ผมไม่เคยเล่นดนตรีไทยมาก่อนแม้แต่ชิ้นเดียว แต่ก็เชื่ออย่างเดียวว่าสมัครเข้าร่วมไปก่อน เดี๋ยวก็เล่นได้เอง สุดท้ายผมได้เรียนรู้การเล่นเครื่องดนตรีจะเข้ ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีประเภทสายที่ได้รับอิทธิพลมาจากมอญ ได้เข้าร่วมบรรเลงดนตรีไทยในงานราชพิธีต่างๆ จำนวนมากจนกระทั่งจบการศึกษา สิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้จากชมรมดนตรีไทยไม่ใช่แค่การเล่นดนตรี แต่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน พี่น้อง และที่สำคัญที่สุดแม้จะเป็นชนรมไทย แต่คำขวัญของชมรมกลับเป็นภาษาอังกฤษ โดยชมรมดนตรีไทย โรงเรียนนายร้อยตำรวจ มีคำขวัญของชมรมว่า “Sense of Belonging” ซึ่งพี่ๆในชมรมได้ให้ความหมายภาษาไทยไว้ว่า “ความเป็นเจ้าของชมรมร่วมกัน” คำขวัญคำนี้ติดตัวผมมาตลอดจนกระทั่งผมเรียนจบ ทำงานรับราชการตำรวจ ศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก จนกระทั่งลาออกจากราชการมาเป็น อาจารย์มหาวิทยาลัยในสาขาวิชาอาชญาวิทยา 

เมื่อผ่านการสอนการทำวิจัยมาจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะการบรรยายในวิชาการรู้เท่าทันการคอร์รัปชั่น และการทำวิจัยหรือสืบค้นงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่นจำนวนมาก สิ่งหนึ่งที่ผมตั้งคำถามคือ ทฤษฎีอาชญาวิทยาในกลุ่มที่ใช้การกระทำความผิดในกลุ่มคอร์รัปชั่นนั้น มีทฤษฎีหลักเพียงทฤษฎีเดียวคือทฤษฎีทฤษฎีการคบหาสมาคมที่แตกต่าง (Differential Associations Theory, Sutherland, 1939, 1947) ซึ่งแม้ทฤษฎีดังกล่าวจะสามารถอธิบายสาเหตุของการคอรัปชั่นได้อย่างลึกซึ้ง แต่ในทางกลับกันในมุมของการป้องกัน หรือการตั้งคำถามเช่นเดียวกับนักทฤษฎีในกลุ่มทฤษฎีควบคุมทางสังคมที่ว่า “เหตุใดคนถึงไม่ประกอบอาชญากรรม” กลับไม่มีทฤษฎีใดที่มีสมมุติฐานเช่นนี้กับการกระทำผิดเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่น

และด้วยสาเหตุที่คำขวัญของชมรมดนตรีไทยตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจยังคงติดอยู่ในสามัญสำนึกของผมมาโดยตลอด จึงเกิดการตั้งสมมุติฐานขึ้นว่า ความรู้สึกเป็นเจ้าของ (Sense of Belonging) มีอิทธิพลต่อการไม่กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่นหรือไม่ โดยผมได้ทวนสอบกลับไปยังรายละเอียด บทเรียน กรณีศึกษา ที่หยิบยกมาบรรยายมาประกอบการวิจัยพบว่า กรณีศึกษาการคอร์รัปชั่นส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในองค์การภาครัฐ แต่จะเกิดขึ้นน้อยในองค์กรเอกชน ซึ่งเหตุผลหนึ่งตามสมมุติฐานของผม คือ ความรู้สึกเป็นเจ้าของนั่นเอง 

ผู้ดำรงตำแหน่งบริหารหรือตำแหน่งสูงสุดในองค์กรภาครัฐแต่ละองค์กรในประเทศไทยมักประสบปัญหาอย่างหนึ่งคือ การได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนั้นๆ มักจะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนั้นเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง และหลายครั้งผู้ได้รับการแต่งตั้งจะถูกย้ายข้ามมาจากหน่วยงานอื่น ซึ่งไม่มีความผูกพันใดๆ กับองค์กรที่ตัวเองได้รับมอบหมายให้ทำงาน ทำให้ความรู้สึกเป็นเจ้าขององค์กรดังกล่าวมีไม่มากพอที่จะสร้างความรู้สึกหวงแหนหรือรักษาผลประโยชน์ขององค์กรให้มากที่สุด ยังไม่นับรวมข้อครหาในการที่จะต้องอาศัยการวิ่งเต้นหรือการเสียเงินเพื่อให้ได้ดำรงตำแหน่งต่างๆในประเทศ ซึ่งมีส่วนอย่างมากในการเป็นแรงกระตุ้นให้กระทำความผิด เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินในการชดเชิญจำนวนเงินที่ได้ลงทุนไป ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะควบคุมไม่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งภาครัฐ กระทำความผิดในสมมุติฐานของผู้เขียนตามทฤษฎีนี้คือการสร้างความรู้สึกความเป็นเจ้าของให้กับผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญให้มากที่สุด รวมถึงผู้มีอำนาจควรคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งที่มีความผูกพันต่อหน่วยงานมาดำรงตำแหน่ง มากกว่าการแต่งตั้งโยกย้ายโดยไม่คำนึงถึงคุณสมบัติดังกล่าว

จิตสำนึกและความรู้สึกในการเป็นเจ้าของหรือ Sense of Belonging คำๆ นี้ส่งผลมากมายกับสังคมและองค์กรต่างๆ บางครั้งในองค์กร เราอาจจะได้ยินคำว่า Sense of Ownership หรือ Organization Ownership แต่ความหมายของคำดังกล่าวมีความหมายที่คล้ายคลึงกัน คือ การที่เรานั้น รู้สึกถึงการมีส่วนร่วมเปรียบเสมือนว่า องค์กร หรือธุรกิจนั้นๆ คือตัวตนของเรา 

Sense of Belonging ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ในการทำงาน เพราะไม่ว่าเราจะเก่งหรือมีความสามารถแค่ไหน แต่แค่การมีมุมมองของการเป็นเจ้าของเพิ่มเข้าไปด้วยแล้ว ปัญหาอุปสรรคหลายๆ อย่าง ก็จะมีทางออกเสมอ หรืออย่างน้อย เราก็จะมองหาวิธีการที่ดีที่สุดให้กับองค์กร ตัวอย่างหนึ่งของความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของก็คือ ช่วงเวลาการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติทุกรายการ เช่น การแข่งขันกีฬาโอลิมปิค ไม่ว่าคุณจะเป็นใครจังหวัดอะไร จนหรือรวย รสนิยมทางการเมืองเป็นแบบไหนไม่สำคัญ แต่ช่วงจังหวะเวลาที่น้องเทนนิส นักกีฬาเทควันโดหญิงทีมชาติไทย กำลังลุ้นเหรียญทองในช่วง 7 วินาทีสุดท้ายนั้น พวกเราทุกคนต่างร่วมกันเชียร์เหมือนกับว่าเหรียญที่ได้มาคือเหรียญของเราทุกคน ความรู้สึกแบบนี้แล่ะที่เรามี Sense of Belonging หรืออีกรูปแบบหนึ่งเช่นในด้อมต่างๆ ที่อยู่บนโซเชียล ทั้งของศิลปินไทยหรือเทศต่างๆ ที่จะมีแฟนคลับคอยอัพเดทข้อมูลข่าวสารของศิลปินที่ตนชื่นชอบ แบบว่าทำด้วยใจล้วนๆ ไม่ได้รายได้แถมบางทีอาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำอะไรแบบนี้ด้วยซ้ำ แต่ทุกคนก็มีความยินดี ที่ได้ทำ ได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนนั้นๆ หรือหากวันดีคืนดี ศิลปินของตนนั้นมีเรื่องราวดราม่าเกิดขึ้นเหล่าแฟนด้อมทั้งหมด ก็พร้อมที่จะคอยปกป้องศิลปินของตนเองอย่างสุดความสามารถ หลายๆคนที่เป็นผู้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานแบบที่ไม่ได้เป็นเจ้าของกิจการ คนที่เป็นเพียงลูกจ้าง ที่ทำงานรับเงินเดือน จากบริษัทหรือองค์กรต่างๆ แต่เรากลับได้เห็นว่าเค้านั้นได้รับโอกาสมากมายจากผู้บริหารหรือเจ้าของบริษัท นั่นเป็นเพราะเขาเหล่านั้นใช้ความรู้สึกของการเป็นเจ้าของในองค์กรขับเคลื่อนการทำงานของเค้า แบบที่เจ้าของไม่จำเป็นต้องมาคอยกำกับดูแล หรือบางคนแทบจะทำทุกอย่างแทนได้หมดและทำได้ดีกว่าเจ้าของด้วยซ้ำ อาจเป็นเพราะหากเราใช้หลักการตลาด หรือหลักการในการทำเงิน ทำกำไรให้กับธุรกิจเพียงอย่างเดียว เราก็จะได้รับผลลัพท์ที่เราโฟกัส แต่หากเราคิดเหมือนเป็นเจ้าของแล้ว ทำให้เรามองได้กว้างขึ้น รอบด้านขึ้น ไม่ได้มองแค่ตัวเลข แต่มองถึงความยั่งยืนที่องค์กรและธุรกิจจะแข็งแรงเติบโตไปกับสังคมได้ สร้างทั้งภาพลักษณ์และกำไรให้กับธุรกิจนั้นๆ (Chaivoot, 2021)

ในทางธุรกิจคำที่มักใช้ในความหมายเดียวกันนี้คือ Sense of Ownership หรือ ความรู้สึกเป็นเจ้าของของพนักงานต่อการทำงานในองค์กร Sense of Ownership เป็นมากกว่าความรับผิดชอบในหน้าที่ แต่เป็นความคิดหรือความรู้สึกของพนักงานที่ต้องการเห็นองค์กรของพวกเขาประสบผลสำเร็จในเป้าหมาย ก้าวผ่านอุปสรรค สร้างผลกำไรและเติบโต Sense of Ownership สามารถสังเกตง่าย ๆ จากพฤติกรรมต่อไปนี้ (Brightside, 2020)

  • สนใจหรือเกี่ยวกับเรื่องราวความเป็นมาขององค์กร
  • สนใจในงานด้านต่าง ๆ ขององค์กรนอกเหนือจากงานในหน้าที่ที่รับผิดชอบ
  • สนใจเกี่ยวกับเป้าหมายองค์กร และตัวชี้วัดในงานเพื่อสนับสนุนเป้าหมาย
  • สามารถการจัดการตนเองเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ในหน้าที่รับผิดชอบ
  • มีความต้องการที่จะศึกษาเรียนรู้เทคนิคเพื่อทำงานให้ง่ายขึ้นและดีขึ้น
  • เปิดรับคำติเตียน หรือความคิดใหม่ ๆ และใช้ในการพัฒนากระบวนการ และปรับปรุงผลลัพธ์ให้ดีขึ้น
  • นำเสนอความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงและพัฒนา
  • ไม่ลังเลที่จะช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหานอกเหนือความรับผิดชอบ
  • ไม่ย่อท้อเมื่อเกิดความผิดพลาดหรืออุปสรรค
  • กระตือรือร้นเพื่อสิ่งที่ดีกว่า

สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มาจากทัศนคติที่แตกต่างกันของพนักงานเท่านั้น แต่องค์กรก็สามารถส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดพฤติกรรมที่แสดงถึง Sense of Ownership ได้ด้วยวิธีการต่อไปนี้

1. ให้พนักงานมีส่วนร่วมในการกำหนดวิสัยทัศน์ (Vision) พันธกิจ (Mission) และ ค่านิยมหลัก (Core Values) 

หลายองค์กรอาจเติบโตมาด้วยวิสัยทัศน์ พันธกิจ และค่านิยมที่ถูกกำหนดมาจากผู้ก่อตั้งหรือผู้บริหารระดับสูง และพนักงานมีหน้าที่ปฏิบัติตามที่กำหนด แต่ถ้าพนักงานทุกระดับมีส่วนร่วมในการกำหนดสิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นการสร้าง Sense of Ownership ที่เพิ่มขึ้น องค์กรสามารถให้พนักงานมีส่วนร่วมโดยการใช้แบบสอบถามเพื่อสำรวจความคิดเห็นจากพนักงานอย่างทั่วถึง รวมถึงการคัดเลือกตัวแทนบุคคลจากแผนกต่าง ๆ เพื่อทบทวนข้อมูลเชิงลึก การมีส่วนร่วมในกระบวนการเหล่านี้และรับรู้ว่าได้ถูกนำไปใช้จริง และยิ่งถ้าพนักงานได้มีโอกาสเห็นการเปลี่ยนแปลง ความก้าวหน้า และผลสำเร็จแม้ว่าจะเล็กน้อยที่มาจากพวกเขาก็จะยิ่งสร้าง Sense of Ownership ที่แข็งแรงมากยิ่งขึ้น

2. สื่อสารแบบสองทางไม่มีเจ้าของกิจการคนไหนที่อยากจะทำอะไรตามใบสั่ง

คนเรามักจะเปลี่ยนแปลงก็ต่อเมื่อรู้เหตุผลว่าเปลี่ยนไปทำไม และฉันจะได้อะไรจากการเปลี่ยนแปลงนั้น เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ สิ่งที่จะช่วยให้พนักงานเกิด Sense of Ownership คือได้รับรู้จากการสื่อสารที่ชัดเจนถึงเหตุผลและและความสำคัญ รวมถึงการได้แสดงความคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะ รวมถึงการมีส่วนร่วมในการคิดวิธีการแก้ปัญหา และความรู้สึกถึงการมีส่วนร่วมในการพาองค์กรผ่านพ้นปัญหาร่วมกัน

3. ให้อิสระในการทำงานอีกแนวทางในการสร้าง Sense of Ownership

คือ การให้อิสระในการทำงาน เพื่อให้พนักงานรู้สึกถึงอิสระในหน้าที่รับผิดชอบและสามารถควบคุมได้ด้วยตัวเอง รวมถึงการสนับสนุนการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างทักษะ และความมั่นใจในการตัดสินใจในงาน ข้อควรระวังคือ เมื่อเกิดข้อผิดพลาดจากการมีอิสระในงาน หลีกเลี่ยงการกล่าวโทษ แต่เรียนรู้จากข้อผิดพลาดและหาวิธีแก้ปัญหาร่วมกัน

4. เชื่อมโยงผลงานกับความสำเร็จขององค์กร 

พนักงานจะรู้สึกถึง Sense of Ownership มากขึ้นก็ต่อเมื่อพวกเขาเข้าใจว่าผลงานของพวกเขามีผลกระทบโดยตรงต่อความสำเร็จขององค์กรอย่างไร ดังนั้นนอกเหนือจากการวัดผลงานที่กำหนดแล้ว ควรมีช่องทางที่พนักงานจะได้รับรู้ผลกระทบต่อองค์กรที่มาจากผลงานของพวกเขา นอกจากนี้ยังสามารถสนับสนุนโครงการที่เปิดโอกาสในการนำเสนอแนวคิดใหม่ๆ เพื่อการพัฒนางาน หรือพัฒนาธุรกิจที่เห็นผลลัพธ์ได้ชัดเจน เช่นการคิดผลิตภัณฑ์และนำไปขายได้จริงเป็นต้น

5. โอกาสเกี่ยวกับการปันผลกำไร

วิธีนี้เป็นอีกทางเลือกที่ค่อนข้างตรงไปตรงมาในการสร้าง Sense of Ownership สำหรับองค์กรที่มีความเป็นไปได้การปันผลกำไรจะช่วยให้พนักงานมีส่วนได้เสียในงานที่ทำ ยิ่งทำมากก็ยิ่งได้ผลลัพธ์ที่มากขึ้นตอบแทนอย่างชัดเจนโดยใช้รูปแบบที่แตกต่างกันเช่น Incentive Bonus ประจำปี หรือหุ้นบริษัท เป็นต้น

ตามทฤษฎีของผู้เขียนหากประยุกต์ใช้หลักการ Sense of Owenrship ของภาคธุรกิจ มาสู่การบริหารงานภาครัฐ จะสามารถลดกรณีการคอร์รัปชั่นในองค์กรรัฐลงได้ สิ่งหนึ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐขาดคือโอกาสเกี่ยวกับการปันผลกำไร ทำให้เกิดความรู้สึกที่ว่า ทำงานมาก ทำงานดีเท่าไร สุดท้ายก็ได้เงินเดือนเท่าเดิมอยู่ดี นอกจากนั้นยังมีความเชื่อที่ว่าการเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการทำงานเสมอไป การดูแลหรือการได้รู้จักใกล้ชิดผู้มีอำนาจจะส่งผลต่อความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานมากกว่า และสุดท้ายที่สำคัญที่สุดคือความรู้สึกที่ว่าเงินงบประมาณของรัฐที่ได้มานั้น ไม่ใช่เงินของเรา ไม่ใช่เงินขององค์กรเราเป็นเงินของภาษีประชาชนที่มาจากส่วนไหนก็ไม่สามารถทราบได้ ความรู้สึกเหล่านี้ส่งผลให้เจ้าหน้าที่รัฐ ไม่รู้สึกละอายในการเบียดบังงบประมาณดังกล่าวไปเป็นของตน แนวทางแก้ไขที่สำคัญที่สุดคือการกระจายอำนาจการจัดสรรงบประมาณ ให้สามารถสร้างความรู้สึกให้ได้ว่า เงินภาษีที่ถูกจัดเก็บมาจากคนในพื้นที่ เป็นเงินของคนที่เราพบเจออยู่ทุกวันหลังเลิกงาน และเป็นเงินที่มาจากครอบครัวของเราเองในพื้นที่ ความรู้สึกเหล่านี้จะสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของต่อเงินงบประมาณแผ่นดินมากขึ้น และจะส่งผลให้การคอร์รัปชั่นในระดับพื้นที่ลดน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ

จอมเดช ตรีเมฆ. (2567). Sense of Belonging Theory. สืบค้นจาก https://www.gotoknow.org/dashboard/posts/718156

Trimek, J. (2024). Sense of Belonging Theory. Retrieve form https://www.gotoknow.org/dashboard/posts/718156

อ้างอิง

Brightside. (2020). เริ่มต้นสร้าง Sense of Ownership ในพนักงานอย่างไรดี. สืบค้นจาก https://www.brightsidepeople.com

Chivoot, P. (2021). Sense of Belonging จิตสำนึกและความรู้สึกในการเป็นเจ้าของ. สืบค้นจาก https://chaivoot.com/sense-of-belonging

Sutherland, E. H. (1939). Principles of Criminology (3rd ed.). Philadelphia: Lippincott.

Sutherland, E. H. (1947). Principles of Criminology (4th ed.). Philadelphia: Lippincott.

 

หมายเลขบันทึก: 718156เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2024 11:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2024 11:57 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท