สร้างปัญญาใส่ตนได้ทุกที่ทุกเวลา


 

บ่ายวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๗ สถาบันอาศรมศิลป์ มูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ และมูลนิธิสยามกัมมาจล จัดการประชุม เสวนาถอดองค์ความรู้จากการปฏิบัติ ทำจริง เรียนจริง จนรู้แจ้ง   เพื่อเปิดตัวหนังสือชุดไตรภาค การเรียนรู้ ‘ขั้นสูง’ จากประสบการณ์   ที่ห้องประชุมชั้น ๕ อาคารรพินทร สถาบันอาศรมศิลป์ 

กำหนดการระหว่าง ๑๓.๓๐-๑๖.๓๐ น.   แต่สนุกเสียจนเลยเวลา ๑๗ น. ที่ผมมีกิจประชุมเรื่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา    จึงต้องจากมาด้วยความเสียดาย    ว่าไม่ได้มีโอกาสสะท้อนคิดจากการฟังครูโรงเรียนรุ่งอรุณ ๖ คน เล่าเรื่องข้อเรียนรู้จากการนำแนวทางในหนังสือไปตีความกระบวนการและผลการเรียนรู้ของนักเรียน    รวมทั้งข้อสะท้อนคิดของผู้อำนวยการโรงเรียน ศน. และครู อีก ๑๔ ท่าน จากการอ่านหนังสือชุดนี้ 

เช้าตรู่วันที่ ๖ เมษายน ชื่อของบันทึกนี้ก็โผล่ออกมาระหว่างเดินออกกำลัง   

เห็นได้ชัดเจนว่า มีโรงเรียนจำนวนหนึ่ง (ที่เรียกกันว่าโรงเรียนทางเลือก) ที่จัดการเรียนรู้ตามในหนังสือชุดนี้อยู่แล้ว   และต้องฝ่ากระแสหลัก ถูกตั้งคำถาม อยู่เสมอว่าที่ทำอย่างนั้นมันดีอย่างไร     หนังสือชุดไตรภาค การเรียนรู้ ‘ขั้นสูง’ จากประสบการณ์  เข้ามาช่วยให้คำอธิบาย ยืนยันหลักการของการจัดการเรียนรู้แบบแหกคอกนั้น    ที่ในหนังสือเรียกว่า “การเรียนรู้  ‘ขั้นสูง’ จากประสบการณ์”   

คือไม่ใช่การเรียนรู้แบบผิวเผิน แค่รู้ หรือจำได้    แต่มีการเรียนรู้ทั้งเนื้อทั้งตัว     ทั้งจากประสบการณ์ภายนอก และประสบการณ์ภายในตัว    สู่การ “เปลี่ยนขาด” (transformation) ด้านกระบวนทัศน์    ที่ครูหลายคนนำมาเล่าอย่างภาคภูมิใจ    ดังกรณีครูวิภาดา แซ่โฮ่  ครูชั้นอนุบาล (ชั้นคละ) ที่ตั้งโจทย์ว่า ปลูกผักลงดินได้อะไรที่ไม่ใช่ผัก   เฉลยตอนจบว่า “ปลูกผักลงดิน ... เติบโตในตัวเด็ก”             

ครูโรงเรียนรุ่งอรุณ จากชั้นอนุบาล ประถม และมัธยม ทั้ง ๖ ท่าน   เอาตัวอย่างของการเรียนจากกิจกรรมที่เป็นรูปธรรม ที่ชวนนักเรียนออกแบบกิจกรรม    ที่ในที่สุดเห็นกับตาตนเอง ว่าศิษย์ได้เรียนรู้เชิงนามธรรม   เกิดการเรียนรู้ระดับ  “เปลี่ยนขาด”   

ตัวอย่างทั้ง ๖   และสาระในหนังสือ บอกเราว่า มนุษย์  “สร้างปัญญาใส่ตนได้ทุกที่ทุกเวลา”    หน้าที่ของการศึกษาหรือการเรียนรู้คือ    ช่วยฝึกให้เด็กไทยทุกคนมีทักษะนี้ ... ทักษะของการเรียนรู้จากประสบการณ์ 

วิจารณ์ พานิช

๖ เม.ย. ๖๗

 

 

หมายเลขบันทึก: 718067เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2024 16:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2024 16:46 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท