Dating ทางวิชาการ : นวัตกรรมของการจัดการงานวิจัยในมหาวิทยาลัย


 

วันที่ ๓๑ มีนาคม - ๑ เมษายน ๒๕๖๗ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรม The Next Phase of Flagship Research Projects  ณ โรงแรมจอมเทียนปาล์มบีช จังหวัดชลบุรี   ผมมีบุญได้รับเชิญเข้าร่วมในฐานะที่ปรึกษา    จึงมีโอกาสได้เรียนรู้วิธีบริหารความร่วมมือข้ามศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ของมหาวิทยาลัย 

ขอปรบมือให้แก่ท่านรองคณบดีฝ่ายวิจัย รศ. นพ. สิทธิ์ สาธรสุเมธี และทีมงานฝ่ายวิจัยนำโดยคุณก้อย สรินยา งามทิพย์วัฒนา ในการออกแบบกิจกรรมที่โนเวลอย่างในวันครึ่งนี้ 

โดยเฉพาะคำพูดว่า เป็น “work in progress” จึงขอ feedback และคำแนะนำโดยสแกนคิวอาร์โค้ดเข้าไปแนะนำได้    สะท้อนท่าที humility ของฝ่ายบริหารที่น่าสรรเสริญ และช่วยลดความอึดอัดขัดข้องที่อาจมีในบางจุดจากการริเริ่มงานสร้างสรรค์   

เริ่มจาก ท่านคณบดี ศ. นพ. อภิชาติ อัศวมงคลกุล กล่าวเปิดและบรรยายวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์คณะฯ ที่สร้างพลังแรงบันดาลใจสูงยิ่ง    เชื่อมโยงเป้าหมายระดับชาติ  ระดับมหาวิทยาลัย  สู่ระดับคณะ และชี้โอกาสที่อาจารย์จะรวมตัวกันทำงานวิจัยที่มีผลกระทบสูง    ภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ว่า สถาบันการแพทย์ของแผ่นดิน ที่สร้างองค์ความรู้และบริการอันเป็นประโยชน์ต่อระบบสุขภาพระดับโลก   

ตามด้วย Strategic Research and Innovation Unit Mini Roadshow จำนวน ๙ หน่วยงานคือ 

  1. SiCORE-M (Siriraj Center of Research Excellence Management) 
  2. SiHP (Siriraj Health Policy Unit)
  3. SiRDMU (Siriraj Research Data Management Unit)
  4. SiEIC (Siriraj Excellent Innovation Center)
  5. SiCRES (Siriraj Institute of Clinical Research) 
  6. SiR2R (Siriraj Routine to Research Unit)
  7. SiMPC (Siriraj Metabolomics and Phenomic Center
  8. Siriraj Genomics
  9. VDCU (Value-Driven Care Unit) 

ทั้ง ๙ หน่วยงานทำหน้าที่หลักคือสนับสนุนการทำงานวิจัยและนวัตกรรมของหน่วยงานหลักคือภาควิชา    ฟังแล้วเห็นโครงสร้างด้านการจัดการกลไกสนับสนุนให้นักวิจัยที่มีโจทย์ดีๆ ที่จะนำไปสู่ผลงานวิจัยที่สร้างผลกระทบสูงทั้งด้านวิชาการ และด้านการพัฒนาระบบสุขภาพ ได้ทำงานยากๆ นี้ให้ลุล่วงไปได้   

ผมฟังแล้วคิดว่าตนเองเกิดเร็วไปครึ่งศตวรรษ   ตอนผมตั้งตัวทางวิชาการไม่มีกลไกช่วยเหลือและช่วยหนุนครบครันเช่นนี้    ผมเชื่อว่า อาจารย์ที่ไปร่วมประชุมคงจะคิดเช่นเดียวกัน ว่าตนโชคดีที่มีระบบช่วยสนับสนุนที่ดีเช่นนี้ 

โดยต้องไม่ลืมว่า ระบบเหล่านี้ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นในสมัยของคณบดีท่านก่อนๆ   และเร่งขึ้นมากในสมัย ศ. ดร. นพ. ประสิทธิ์ วัฒนาภา     

หลังกินอาหารเที่ยง เป็นกิจกรรมระดมสมองเพื่อ refine โจทย์วิจัยและสร้างกลุ่มร่วมวิจัย    โดยแต่ละภาควิชานำเสนอโจทย์วิจัย หรือ Knowledge gap  ที่จะเป็น Flagship research project   ภาควิชาละ ๑๐ นาที   

ตามด้วยกิจกรรม Research Speed Dating  ให้ทีมของแต่ละภาควิชาแยกย้ายกันไปจับคู่ เดท ทางโจทย์วิจัย   เพื่อปูทางสู่ความร่วมมือวิจัย   ที่รุ่งเช้า ตอนกินอาหารเช้าผมถามอาจารย์ท่านหนึ่งว่า การประชุมนี้ดีไหม  ท่านบอกว่าท่านเป็นคลินิเชียน มาประชุมนี้มีโอกาสได้พบอาจารย์ทางพรีคลินิก    ได้โอกาสที่จะร่วมมือทำวิจัยด้วยกัน    สะท้อนว่า กิจกรรมจับคู่นี้น่าจะได้ผล   

เช้าวันที่ ๑ เมษายน เป็นรายการนำเสนอแนวคิด Flagship Research Project ของแต่ละภาควิชา หลังการจับคู่เดท    ที่เห็นชัดเจนว่า กิจกรรมที่ใช้เวลาสองสามชั่วโมงคุยกันอย่างเป็นกันเองเพื่อแสวงหาความร่วมมือวิจัย ให้ผลดีมาก   

ผมสะท้อนคิดว่า ผลดีที่เกิดขึ้นมี ๒ ชั้น   คือผลดีด้านสาระของการปรึกษาหารือเพื่อร่วมมือกัน    กับผลดีด้านการเปลี่ยนใจ หรือเปลี่ยน mindset ด้านการทำวิจัย ที่จะต้องหาทางดำเนินการให้เกิดผลกระทบสูง ทั้งในลักษณะของ นวภาพ (novelty)  และความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว (uniqueness)     โดยต้องแสวงหาความร่วมมือทั้งภายในศิริราช และภายนอก    กล่าวใหม่ว่า การแสวงหาความร่วมมือต้องเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานวิจัย    ดังแสดงใน PowerPoint หลักของโครงการ Flagship Research Project

Dating ทางวิชาการของทีมวิจัยศิริราช ไม่เริ่มและจบที่พัทยา     ยังต้องมาเดทกันต่อที่ศิริราช   รวมทั้งชวนกันไปเดทกับคู่ร่วมมือพลังสูงนอกศิริราชด้วย   โดยฝ่ายบริหารงานวิจัยของศิริราชจะช่วยหาทางคุยกับแหล่งทุน หาทุนสนับสนุนด้วย   ทุนที่น่าจะมีพลังที่สุดคือทุนจากฝ่ายผู้นำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ทั้งที่ใช้ประโยชน์เชิงธุรกิจ และในเชิงสังคม

ขอบันทึกไว้ว่า Flagship Research Projects ของศิริราชริเริ่มโดยท่านรองคณบดีฝ่ายวิจัยท่านก่อน ศ. ดร. นพ. ประเสริฐ เอื้อวรากุล  เมื่อ ๕ ปีก่อน   และที่บริหารชุดใหม่จับมาดำเนินการต่อเป็น Phase 2 

วิจารณ์ พานิช

๒ เม.ย. ๖๗

 

หมายเลขบันทึก: 718047เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2024 17:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 เมษายน 2024 17:25 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท