รุหกชาดก


ข้าแต่มหาราช เมื่อป่านอ่อนยังมีและเมื่อช่างทำยังมี ข้าพระองค์จักทำสายอื่น ไม่ต้องการสายเก่าที่ขาดแล้วนี้ ไม่มีประโยชน์อะไรสำหรับข้าพระองค์

รุหกชาดก 

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑

๕. รุหกวรรค

หมวดว่าด้วยรุหกปุโรหิต

๑. รุหกชาดก (จากพระไตรปิฎก ลำดับเรื่องที่ ๑๙๑)

ว่าด้วยรุหกปุโรหิต

             (พระราชาโพธิสัตว์ทรงหวังจะให้รุหกปุโรหิตยกโทษให้นางพราหมณี จึงตรัสว่า)

             [๘๑] พ่อมหาจำเริญรุหกะ สายธนูที่ขาดไปแล้วก็ยังต่อให้ติดอีกได้ ท่านจงคืนดีกับภรรยาเก่าเถิด อย่าลุอำนาจแห่งความโกรธเลย

             (รุหกปุโรหิตได้ฟังพระดำรัสนั้น จึงกราบทูลว่า)

             [๘๒] เมื่อสายป่านยังมีอยู่ นายช่างผู้กระทำสายธนูก็มีอยู่ ข้าพระองค์จักกระทำสายธนูใหม่ พอกันทีสำหรับสายธนูเก่า

รุหกชาดกที่ ๑ จบ

------------------------

คำอธิบายเพิ่มเติมนำมาจากบางส่วนของอรรถกถา 

รุหกชาดก

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภการเล้าโลมของภรรยาเก่า(ของภิกษุรูปหนึ่ง) ตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้.
               เรื่องราวจักมีแจ้งใน อินทริยชาดก ในอัฏฐกนิบาต.
               ก็ในเรื่องนี้ พระศาสดาตรัสกะภิกษุนั้นว่า ดูก่อนภิกษุ หญิงคนนี้ทำความพินาศให้แก่เธอ แม้เมื่อก่อน หญิงคนนี้ก็ได้ทำอาการให้เธออาย ในท่ามกลางบริษัท พร้อมทั้งพระราชา แล้วออกจากเรือนไป
               แล้วทรงนำเรื่องอดีตมาตรัสเล่า.
               ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ทรงบังเกิดในครรภ์ของพระอัครมเหสีของพระองค์ ครั้นทรงเจริญวัย เมื่อพระชนกสวรรคตแล้วทรงดำรงอยู่ในราชสมบัติ ทรงครองราชย์โดยธรรม. พระองค์มีปุโรหิตคนหนึ่งชื่อรุหกะ ภรรยาของรุหกะชื่อปุรณีพราหมณี.
               พระราชาพระราชทานม้าประดับเครื่องอลังการแก่พราหมณ์ เขาขี่ม้าไปทำราชการ. ลำดับนั้น ประชาชนผู้ยืนอยู่ในที่นั้นๆ เห็นเขานั่งบนหลังม้าที่ประดับแล้วผ่านไปมาอยู่ จึงสรรเสริญม้าเท่านั้นว่า แม่เจ้าโวย ม้านี้งามอย่างประหลาด.
               รุหกปุโรหิตมาถึงเรือน ขึ้นเรือนเรียกภรรยามาพูดว่า นี่น้อง ม้าของเรางามเหลือเกิน ประชาชนที่ยืนอยู่ทั้งสองข้าง สรรเสริญแต่ม้าของเราเท่านั้น. ฝ่ายพราหมณีนั้นเป็นหญิง ค่อนข้างจะเป็นชาตินักเลง เหลาะแหละ เพราะฉะนั้น นางจึงตอบเขาอย่างนี้ว่า นายท่านไม่รู้เหตุที่ทำให้ม้างาม ม้าตัวนี้งามเพราะอาศัยเครื่องม้าที่ประดับไว้ที่ตัว หากท่านประสงค์จะงามเหมือนม้า จงประดับเครื่องม้าแล้วขึ้นไประหว่างถนน แล้วซอยเท้าเหมือนม้าไปเฝ้าพระราชา. แม้พระราชาก็จักยกย่องท่าน แม้พวกมนุษย์ก็จักสรรเสริญท่านเท่านั้น.
               รุหกปุโรหิตเป็นพราหมณ์ค่อนข้างบ้าๆ บอๆ ฟังคำของพราหมณี ก็ไม่รู้ว่า นางพูดกะเรา เพราะเหตุนี้ มุ่งแต่จะงามจึงได้ทำตามนั้น. พวกมนุษย์ที่เห็นต่างพากันพูดเย้ยหยันว่า อาจารย์งาม. ส่วนพระราชารับสั่งกะเขาเป็นต้นว่า อาจารย์จิตใจไม่ปกติไปแล้วหรือ เป็นบ้าไปแล้วหรือ แล้วทรงทำให้ปุโรหิตละอาย.
               ในกาลนั้น พราหมณ์ละอายว่า เราทำสิ่งอันไม่สมควรเสียแล้ว จึงเกรี้ยวกราดนางพราหมณีว่า เราถูกนางทำให้ได้อายในระหว่างเสนากับพระราชานั้น เราจักโบยตีนาง แล้วขับไล่นางไปเสีย แล้วกลับไปเรือน. นางพราหมณีนักเลงรู้ว่า สามีโกรธกลับมา จึงออกไปทางประตูเล็กก่อน แล้วไปพระราชวัง พักอยู่ในพระราชวังสี่ห้าวัน.
               พระราชาทรงทราบเหตุนั้น จึงรับสั่งให้เรียกปุโรหิตมาตรัสว่า อาจารย์ ธรรมดาสตรีย่อมมีความผิดได้เหมือนกัน ควรยกโทษให้นางเสียเถิด เพื่อให้ปุโรหิตยกโทษ
               จึงตรัสคาถาแรกว่า :-
               ดูก่อนรุหกะ สายธนูถึงขาดแล้วก็ยังต่อกันได้อีก ท่านจงคืนดีเสียกับภรรยาเก่าเถิด อย่าลุอำนาจความโกรธเลย.
               ความย่อในคาถานั้นมีดังนี้
               รุหกะผู้เจริญ สายธนูแม้ขาดแล้ว ก็ยังคือทำให้ติดกันได้มิใช่หรือ ท่านก็เหมือนกันควรสมัครสมานกับภรรยาเก่าเสียเถิด อย่าลุอำนาจความโกรธเลย.
               รุหกะได้สดับพระราชดำรัสดังนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า
               เมื่อป่านอ่อนยังมีอยู่ ช่างทำก็ยังมีอยู่ ข้าพระบาทจักกระทำสายอื่นใหม่ พอกันทีสำหรับสายเก่า.
               ใจความแห่งคาถานั้นว่า
               ข้าแต่มหาราช เมื่อป่านอ่อนยังมีและเมื่อช่างทำยังมี ข้าพระองค์จักทำสายอื่น ไม่ต้องการสายเก่าที่ขาดแล้วนี้ ไม่มีประโยชน์อะไรสำหรับข้าพระองค์.
               ก็และครั้นปุโรหิตกราบทูลอย่างนี้แล้ว จึงไล่นางพราหมณีออกไป นำนางพราหมณีอื่นมา.
               พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศสัจธรรม แล้วทรงประชุมชาดก. เมื่อจบสัจธรรม ภิกษุกระสันตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล.
               นางปุราณีในครั้งนั้น ได้เป็นภรรยาเก่า ในครั้งนี้
               รุหกะได้เป็น ภิกษุกระสัน
               ส่วนพระราชาพาราณสี คือ เราตถาคต นี้แล.

               จบ อรรถกถารุหกชาดกที่ ๑               
               ------------------------------------------------    

 

คำสำคัญ (Tags): #พระราชาพาราณสี
หมายเลขบันทึก: 717910เขียนเมื่อ 18 เมษายน 2024 05:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 เมษายน 2024 05:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท