ชีวิตที่พอเพียง  4702. ความรู้มีอยู่ในความสัมพันธ์ระหว่างคน 


                                            

หนังสือ The Knowledge Delusion : Why We Never Think Alone (2017)  เขียนโดย Steven Sloman & Philip Fernbach   บอกว่าคนเราไม่ได้คิดคนเดียว หรือไม่ได้ฉลาดคนเดียว   การคิดและความฉลาดเป็นกิจกรรมทางสังคม   อ่านบทความสรุปและวิจารณ์หนังสือเล่มนี้ได้ที่ (๑)   

ผมคิดว่าข้อเสนอนี้ช่วยให้คนเราไม่หลงตัวเองว่าฉลาดอยู่คนเดียว    ช่วยให้รู้จักใช้ความฉลาดนอกตัว    ที่อยู่ในสังคม ในปฏิสัมพันธ์ระหว่างคน     

เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่มักคิดว่าตนเองรู้ดีกว่า หรือมากกว่า ที่ตนเองรู้จริงๆ   ซึ่งในความจริงแล้ว แม้สมองมนุษย์จะเป็นสิ่งมหัศจรรย์   แต่ก็มีข้อจำกัดที่เก็บข้อมูลหรือความรู้ไว้ได้ไม่มาก เมื่อเทียบกับความรู้ที่สั่งสมไว้ในโลก   

ผู้เขียนบอกว่า สมองมนุษย์วิวัฒนาการมาเพื่อการกระทำ   และที่มนุษย์ต่างจากสัตว์อื่นๆ คือ เราคิดไปข้างหน้าก็ได้ คิดทบทวนกลับไปในอดีตก็ได้  เขาเรียกกระบวนการนี้ว่า diagnostic reasoning   

การคิดหรือให้เหตุผลจากผลกลับไปหาเหตุทำได้ยาก   มนุษย์ก็คิดวิธีเล่าเรื่อง (storytelling) ขึ้นมาช่วย   ทำให้สื่อสารเรื่องที่ซับซ้อนได้   และช่วยให้ผู้ฟังสรุปหลักการที่ซับซ้อนนั้นได้เอง   

เราใช้เหตุผลหรือคิด ๒ แบบ คือแบบฉับไว หรือใช้ปัญญาญาณ (intuition)   กับแบบคิดช้าๆ ใคร่ครวญไตร่ตรอง (deliberation)    เรื่องนี้ตรงกับหนังสือ Thinking Fast and Slow

ที่น่าสนใจคือ เขาบอกว่า เราคิดด้วยร่างกายและโลกรอบตัวเรา    ตรงกันข้ามกับที่เราเชื่อว่าเราคิดด้วยตัวเราเอง ด้วยสมองหรือด้วยใจของเรา    เขากลับบอกว่า เราคิดด้วยกาย    ซึ่งตรงกับหลักการในหนังสือชุด การเรียนรู้ ‘ขั้นสูง’ จากการปฏิบัติ    ที่บอกว่า มนุษย์คิดทั้งด้วยปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอกร่างกาย   

พลังของความเป็นมนุษย์คือ ความสามารถในการร่วมมือ    ที่มีคำแนะนำมากมายเรื่องนี้   รวมทั้งเป้าหมายการพัฒนาสมรรถนะจากการศึกษา ให้ความสำคัญของสมรรถนะในการร่วมมือ (collaboration)  เหนือการแข่งขัน (competition)    และที่สำคัญคือ ความสามารถในการร่วมมือกับผู้เห็นต่าง   หรือเป็นขั้วตรงกันข้าม    ความสามารถในการดำเนินการให้คู่ขัดแย้งกลายเป็นคู่ร่วมมือนี้ เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ในการดำรงชีวิต   

เขาเสนอ social brain hypothesis  ว่าที่สมองมนุษย์อันสุดประเสริฐนี้ เป็นผลของการอยู่ร่วมกัน และร่วมมือกัน   ที่ผมทั้งเห็นด้วยและเถียง   ที่เถียงคือผมมองว่าเป็นความสัมพันธ์สองทาง ระหว่างสมองมนุษย์กับวิถีการดำรงชีวิต   และยังมีมือที่สาม คือสภาพแวดล้อมของมนุษย์ที่บีบบังคับให้มนุษย์ต้องรวมกลุ่มกัน   

นำสู่ประเด็นปัจจุบันว่า AI จะทดแทนหรืออยู่เหนือมนุษย์   เครื่องจักรก็คือเครื่องจักร  ไม่มีวิญญาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่มีวิญญาณของการรวมหมู่   

การฝึกคิดที่ดีอยู่ที่การตอบคำถาม why   ที่คนส่วนใหญ่ไม่ทำ คือหยุดอยู่แค่คำถาม what  และ how    การตั้งคำถาม why  จะช่วยฝึกการคิดเป็นเหตุเป็นผล ไม่เชื่อคนง่าย  ไม่ถูกชักจูงง่าย   

นำสู่การให้นิยามความฉลาดเสียใหม่    ให้ไม่มองเฉพาะความฉลาดในการทำกิจกรรมส่วนบุคคลเท่านั้น    ยังรวมความฉลาดในการใช้ความสามารถของผู้อื่น และของทั้งโลก ด้วย         

วิจารณ์ พานิช 

๒ เม. ย. ๖๗    

 

หมายเลขบันทึก: 717885เขียนเมื่อ 14 เมษายน 2024 17:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 เมษายน 2024 17:45 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท