๘. เมื่อผมมี “วิญญาณครูเต็มเปี่ยม”


ผมได้มาช่วยสอนที่โรงเรียนกำแพงเพชรพิทยาคม ในภาคเรียนที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๒๒ จนสิ้นภาคเรียนที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๒๓ ซึ่งผมได้รับมอบหมายให้สอนวิชาศีลธรรม ม.ศ.๔ จำนวน ๙ คาบ (ม.ศ.๔/๑-๙), วิชาศีลธรรม ม.ศ.๓ จำนวน ๑๐ คาบ (ม.ศ.๓/๑-๑๐), วิชาประวัติวรรณคดีไทย จำนวน ๑๐ คาบ (ม.ศ.๕/๕-๙) รวมทั้งหมด ๒๙ คาบต่อสัปดาห์  มีเวลาพัก ๑ คาบในแต่ละวันช่วงรับประทานอาหารกลางวัน  แต่ตอนนั้นทั้งร่างกายและจิตใจพร้อมมาก จึงทำได้  อาจเป็นเพราะผมโชคดีที่ผู้บริหารมีใจวิชาการสนับสนุนเต็มที่  มีครูเก่าคอยให้กำลังใจและดูแลความเป็นอยู่  มีเพื่อนครูรุ่นใหม่ที่ไฟแรง ทุ่มเทการสอน อยากเห็นเด็กเรียนเก่งด้วยกัน  นักเรียนก็กระตือรือร้นในการเรียนมาก 

โรงเรียนสมัยนั้น มีท่าน ผ.อ.มานิตย์ ป้อมสุข เป็นผู้อำนวยการ (ดร.ก่อ สวัสดิพาณิชย์ ท่านบอกว่า ท่านเป็นผู้เลือกให้มาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนนี้โดยเฉพาะ) ท่านผ.อ. มานิตย์ เป็นผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์มุ่งเน้นการเรียนการสอน และบรรยากาศวิชาการอย่างเต็มที่  เช่น การสอนในชั่วโมงปกติ ท่านจะพยายามเดินเยี่ยมชมการสอนของครูแต่ละอาคารตลอด บางคาบถ้าท่านไปเจอยังไม่มีครูเข้าสอน ท่านก็จะเข้าไปพูดคุยกับนักเรียนถึงการเรียน  บางทีท่านสอนแทนเองเลยก็มี  ทำให้ครูส่วนมากต้องตื่นตัว ไม่กล้าทิ้งห้องเรียน หรือเข้าห้องเรียนสาย หรือสอนแบบไปเรื่อยๆเหมือนเดิมอีก ผมจึงเชื่อว่า โรงเรียนใดถ้ามีผู้บริหารเอาใจใส่เดินตรวจเยี่ยมห้องเรียนทุกห้องอย่างทั่วถึง  จะทำให้ทั้งครูและนักเรียนต่างตื่นตัวเอาใจใส่ในการสอนและการเรียนเพิ่มขึ้น  ต่อมาผมเห็นท่านผู้อำนวยการโรงเรียนหลายท่านทำเช่นนี้  เช่น อดีตผู้อำนวยการชงค์ วงษ์ขันธ์ โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย ลพบุรี, อดีตผู้อำนวยการชื่น ศรีสวัสดิ์ โรงเรียนนครสวรรค์ ฯลฯ ซึ่งถือว่าโรงเรียนในยุคที่ผู้อำนวยการเหล่านั้นบริหาร  ต่างประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงมากในด้านวิชาการ  นักเรียนสามารถเข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยได้จำนวนมากทุกปี 

ส่วนกิจกรรมเสริมการเรียนรู้ท่านก็สนับสนุนอย่างเต็มที่ เช่น ให้มีการแข่งขันตอบปัญหาความรู้ในช่วงพักกลางวัน  ที่ห้องโสตทัศนศึกษา และมีการถ่ายทอดกระจายเสียงการแข่งขันตอบคำถามไปทั่วโรงเรียนด้วย  ในแต่ละวันจะให้นักเรียนจับคู่มาแข่งขันตอบคำถาม  คู่นั้นจะเป็นนักเรียนห้องเดียวกัน ต่างห้อง หรือต่างระดับชั้นก็ได้ ครูก็จะเตรียมคำถามทุกวิชามาให้พิธีกรดำเนินรายการถาม (เหมือนรายการการบินไทยไขจักรวาล ของสถานีโทรทัศน์ ช่อง ๕ ดำเนินการโดย ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์) ได้ผู้ชนะเลิศ ก็จะให้เป็นตัวแทนไปแข่งขันตอบปัญหาในรายการการบินไทยไขจักรวาล หรือ รายการแข่งขันตอบคำถามในที่ต่างๆเสมอ ซึ่งในปีต่อมานักเรียน โรงเรียนกำแพงเพชรพิทยาคม ชนะเลิศ, ส่วนในด้านอื่นๆ ก็ส่งเสริม เช่น กีฬามีทุกประเภท ทั้งฟุตบอล วอลเล่ย์บอล บาสเกตบอล ตระกร้อ หมากรุก หมากฮอร์ส ฯ  แต่การแข่งกีฬาที่ประสบความสำเร็จและเป็นที่นิยมมาก คือ ฟุตบอล  หมวดพลานามัยจัดให้มีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างห้องในระดับชั้น ได้ผู้ชนะระดับชั้น ก็จะจัดให้แข่งขันระหว่างระดับชั้น เมื่อได้ผู้ชนะเลิศสุดท้าย ก็จะได้ถ้วยและรางวัลจากโรงเรียนมากมาย  แค่กิจกรรม ๒ อย่างนี้ สามารถกระตุ้นให้นักเรียนตื่นตัว กระตือรือร้นในการเรียน และการทำกิจกรรมเป็นอย่างมาก จนทั้งโรงเรียนมีบรรยากาศการเรียนรู้ ทั้งครูและนักเรียนต่างมีบุคลิกเชื่อมั่น องอาจในความรู้ มีดวงตาที่สดใส เปี่ยมความหวังในอนาคต  เป็นภาพทรงจำที่ผมประทับใจจนถึงทุกวันนี้  

ส่วนวิชาที่ผมได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบ  ผมได้วางแนวการจัดการเรียนการสอนแบบอุดมคติที่ว่า “มุ่งค้นหาและพัฒนาสมรรถภาพมนุษย์” ตามปรัชญาการวัดผลของศาสตราจารย์ ดร.ชวาล แพรัตกุล ที่วางไว้ ผมจึงไม่ใช้วิธีสอนแบบอธิบาย หรือให้ความรู้ ผมใช้ ๒ คาบแรกอธิบายถึงขอบเขตเนื้อหาวิชาที่เรียนมีอะไรบ้าง จะใช้วิธีเรียนแบบใด มีเกณฑ์การวัดผลประเมินผลอย่างไร และมีสาระสำคัญอะไรที่ต้องจดจำ และต้องทำความเข้าใจ ต่อจากนั้นในแต่ละคาบเรียน ผมใช้วิธีเรียนแบบตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นการคิดและความสามารถในการเรียนรู้ระดับต่างๆ โดยเน้นด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain) ตามแนวทฤษฎีการเรียนรู้ของ Bloom โดยให้นักเรียนตอบคำถามแบบอัตนัยที่ผมเตรียมมาครั้งละ ๕ คำถาม ซึ่งคำถามแต่ละข้อจะเป็นตัวแทนพุทธิพิสัย ๖ ระดับ มีด้านความเข้าใจ, การประยุกต์, การวิเคราะห์, การสังเคราะห์ และประเมินค่า และยังใช้วิธีการผ่านความรู้ของ Mastery Learning ประกอบด้วย  คือถ้ายังไม่ผ่านเกณฑ์ ๘๐% ในแต่ละบท ก็จะให้ตอบคำถามชิ้นเดิม จนกว่าจะผ่าน จึงจะไปตอบคำถามของชิ้นต่อไปได้  นักเรียนจึงเรียนแบบท้าทาย ตื่นเต้น แปลกใหม่ และเครียดไปพร้อมๆกัน 

ภายหลังมานึกถึงเรื่องราว  ผมรู้สึกว่าตอนนั้นผมเอาจริงเอาจัง แข็งมากเหมือนกัน  ต่อมาหลายปีเจอนักเรียนเก่าที่เคยเรียนกับผมในตอนนั้น ต่างพูดด้วยความขบขันว่า ผมเขี้ยวเกินไป ไม่ยอมใจอ่อน  ถึงว่าช่วงนั้นมีนักเรียนประท้วงหลายครั้งหลายครา ขอให้ลดหย่อนเกณฑ์ผ่านลงมาแค่ ๕๐% หรือ ๖๐% ก็พอ  ตอนนั้นผมไม่ได้ลดเกณฑ์  เพียงแต่ตะล่อมนักเรียนว่า  ผมมีเจตนาที่ดีอยากให้นักเรียนได้ผลจากการเรียนรู้จริงๆ  และอยากให้นักเรียนมีสมองพันธุ์ใหม่ที่ไม่ใช่มีแต่ความรู้เท่านั้น  และในเมื่อผมได้รับมอบให้สอนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย  ผมจึงมีเจตนาแอบแฝงเพิ่ม คือ อยากให้นักเรียนโรงเรียนนี้คุ้นเคยกับแนวข้อสอบที่สูงขี้น  แบบเดียวกับข้อสอบเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย  จะได้มีโอกาสทำคะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้มากขึ้น 

ช่วงนั้นผมถือว่าทุ่มเททั้งกายและใจเป็นอย่างมาก เพราะต้องออกคำถามแต่ละวิชา แต่ละชิ้น แต่ละบทของระดับชั้น ไม่ให้ซ้ำกัน รวมทั้งต้องตรวจกระดาษคำตอบของนักเรียนในแต่ละวัน วันละ ๕-๖ ห้องเรียน (ประมาณวันละ ๒๐๐ คนขึ้นไป) ให้เสร็จก่อนวันรุ่งขึ้น  เพื่อประกาศให้นักเรียนทราบว่าใครผ่านที่จะได้ไปตอบคำถามชิ้น/บทต่อไปได้ ผมนอนแค่วันละ ๔-๕ ชั่วโมงเท่านั้น แต่ผมมีแรงจูงใจที่จะทำงานในวันต่อไปได้อย่างกระฉับกระเฉง  เพราะผมเห็นนักเรียนหลายคนต่างก็ฮึดสู้กับวิธีการของผม  มีบางคนกว่าจะผ่านงานชิ้นแรก ใช้เวลาถึง ๒๒ ครั้ง แต่พอจับหลักได้ งานชิ้นต่อไปทำไม่กี่ครั้งก็ผ่าน บางคนจับหลักได้เร็ว ก็ผ่านเร็ว เพราะคำถามของผมเน้นความเข้าใจ และการวิเคราะห์เป็นหลัก เช่น พระพุทธเจ้าเกิดมาแล้วเดินได้ ๗ ก้าวจริงไหม ? ทำไมพระพุทธเจ้าต้องปลงพระเกศาเพื่อออกบำเพ็ญตบะด้วย, ชีวิตคืออะไร ?  ชีวิตเปรียบเหมือนอะไร ?  ชีวิตที่ดีควรเป็นอย่างไร ? ทำไมรู้อริยสัจ ๔ จึงช่วยให้พ้นทุกข์ และบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ ?  วรรณคดีข้อใดแตกต่างจากข้ออื่น (หลวิชัยคาวี-พระอภัยมณี-สังข์ทอง), วรรณคดีเรื่องใดช่วยให้เข้าใจสัจธรรมชีวิตได้ง่าย ฯลฯ แต่คนที่ไม่ผ่าน อุตส่าห์ไปถามเพื่อนที่ผ่าน มาตอบใหม่ก็ยังไม่ผ่านอยู่ดี เพราะเพื่อนที่ผ่านก็คงยังงงสงสัยตัวเองว่าผ่านได้อย่างไรเหมือนกัน สุดท้ายนักเรียนส่วนหนึ่งคงหงุดหงิด โมโหผมเป็นแน่  เพราะสงสัยว่าตอบอย่างไรจึงไม่ผ่าน   ในคาบเรียนก็มีนักเรียนซักถามผม  ผมก็บอกว่าผมไม่มีคำตอบที่ถูกต้องไว้   ผมต้องการวิธีการตอบของนักเรียนว่าได้ใช้หลักหรือเหตุผลอะไรมาตอบ และที่ตอบไปนั้นมีความเป็นไปได้สมเหตุสมผลเพียงไรมากกว่า  

แม้วิธีนี้ผมจะประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ที่ทำให้นักเรียนกลุ่มหนึ่งสามารถพัฒนาศักยภาพและสมรรถภาพการเรียนรู้ที่สูงขึ้นได้จำนวนมาก  แต่ผมมานึกเสียดายภายหลังว่า  ผมควรจะทำให้นักเรียนจำนวนมากประสบผลสำเร็จได้มากขึ้นกว่านี้  ถ้าผมเฉลยแนวทางการตอบของเก่าให้นักเรียนก่อนที่จะทำข้อสอบใหม่ทุกครั้ง  ก็จะช่วยให้นักเรียนได้รู้แนวทางที่ต้องใช้วิธีการเรียนรู้เชิงวิเคราะห์มาตอบคำถามได้เร็วขึ้น  แต่ที่ผมไม่ได้เฉลยเพราะตอนนั้นผมมีไม่มีเวลาเพียงพอที่จะออกคำถามใหม่ได้ทุกครั้ง อันที่จริงผมก็ได้บอกแนวทางการเรียนในช่วงแรกไว้แล้วว่า นักเรียนต้องใช้หลักหรือเหตุผลมาตอบ ไม่ควรใช้ความรู้ที่เคยเรียนมา หรือความเชื่อตามความเห็นมาตอบเพียงเท่านั้น ในบางคาบเรียนผมก็แนะแนวทางตอบเป็นนัยๆไว้อยู่แล้ว  เพียงแต่ยกเรื่องราวอื่นมาเป็นตัวอย่าง  แต่นักเรียนส่วนหนึ่งยังชินกับการเป็นผู้รับฟัง และชินกับการเรียนแบบจดจำเนื้อหาอยู่ดี  ไม่ยอมเปลี่ยนพฤติกรรมการเรียน  แม้ผมและเพื่อนๆที่ผ่านไปแล้วจะเตือนอย่างไรก็ไม่ฟัง  นักเรียนส่วนนั้นอ้างว่าวิชาผมไม่ใช่วิชาที่จะนำไปสอบเข้ามหาวิทยาลัยโดยตรง  ทำไมต้องจริงจังอย่างนี้  ทำให้มีอคติต่อวิธีการสอนของผมพอสมควร

ในปีนี้ ผมเป็นครูคนหนึ่งที่นักเรียนหลายคนอยากพูดคุยด้วย เพราะนักเรียนเหล่านี้ เชื่อว่าผมค่อนข้างเป็นคนรู้มาก รู้หลายเรื่อง รู้หลายวิชา และเป็นคนทันสมัย ใจกว้าง อดทนกับการซักถามแบบไม่คลายสงสัยไม่เลิกถาม(จิกกัด) ทั้งแนวคิดการเมือง การปกครอง แม้กระทั่งเรื่องความรัก เรื่องลึกลับก็นำมาถาม เช่น ภูตผีปีศาจ, จานบิน, วิชาตัวเบาในนิยายกำลังภายใน, อิทธิฤทธิ์ทางใจ ฯลฯ ก็เอามาถาม  ผมจึงต้องกลายเป็นคนขยันอ่านหนังสือสารพัด เพื่อมีความรู้เพิ่มขึ้นพอที่จะไปตอบคำถามนักเรียนได้  ถือว่าเป็นผลพลอยที่ดีในเวลาต่อมาที่ทำให้ผมมีความรู้กว้างขวางอย่างลึกซึ้งตามไปด้วย

และยังมีนักเรียนอีกหลายคนชอบมาพบปะพูดคุยเพิ่มเติมกับผมในวันเสาร์อาทิตย์ ทำให้ผมได้มีโอกาสถามถึงความมุ่งหวังหลังจากจบ ม.ศ.๕ จะไปที่ไหน  ส่วนมากอยากเรียนต่อมหาวิทยาลัย  แต่คิดว่าทำไม่ได้เพราะเรียนไม่เก่ง  ผมจึงสอบถามความรู้ที่มีอยู่ของนักเรียนก็พบว่า มีความรู้มากในระดับหนึ่ง  แต่คงทำคะแนนสอบไม่ถึงตามที่มหาวิทยาลัยต้องการแน่ๆ เพราะเจอโจทย์ที่แปลกไปจากความรู้ที่เรียนมาก็ทำไม่ได้แล้ว  จึงถามนักเรียนกลุ่มนี้ว่า สามารถทำตามที่ผมแนะนำ(สั่ง)ได้ไหม ถ้าทำได้ครบตามเวลาที่กำหนด  ผมสัญญาว่าจะทำให้สอบเข้ามหาวิทยาลัยในคณะหรือสาขาที่ต้องการได้   นักเรียนกลุ่มนี้จึงดีใจ และต่างให้คำมั่นสัญญาว่าจะทำตามผมทุกประการ  ผมจึงนำข้อสอบเข้ามหาวิทยาของรัฐย้อนหลัง ๕ ปี มาให้นักเรียนทำทุกวิชา  โดยปีแรกใช้ข้อสอบวิชาภาษาไทยที่ผมถนัดก่อนมาลองทำข้อทดสอบกัน  ผลปรากฏว่าไม่มีใครทำได้เกิน ๓๐ ข้อ  หลังจากนั้นผมจึงเฉลยทีละข้อ และอธิบายแต่ละคำตอบว่าทำไมถึงถูก ถึงผิด  พร้อมกับให้ความรู้แต่ละข้อเพิ่มไปด้วย  บางข้อก็ต้องวิเคราะห์โจทย์ก่อนว่าเขามีเจตนาถามอะไรกันแน่  มีอะไรที่จะทำให้อ่านโจทย์แล้วเขวไปได้  เฉลยจนครบทุกข้อ บางข้อก็ให้นักเรียนคนที่ทำถูกเป็นคนเฉลย และอธิบายวิธีตอบบ้าง วันต่อมาลองให้เขาทำวิชาภาษาไทยอีกปีหนึ่ง พบว่า นักเรียนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ทำได้ดีขึ้นทุกคน เฉลี่ยเกินร้อยละ ๔๐ บางคนทำได้ถึงเกือบ ๖๐ ข้อ พอนักเรียนเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการติวความรู้จากการสอบ จึงมีความหวังที่พอเป็นไปได้ ทำให้นักเรียนตั้งใจอ่านข้อสอบอย่างละเอียดมากขึ้น  ผมจึงพาทำข้อสอบวิชาภาษาไทยครบ ๕ ปีย้อนหลัง  แล้วเปลี่ยนไปเป็นวิชาสังคมศึกษา และวิชาอื่นๆ (วิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ทำข้อสอบได้แค่ ๒ ปี ถึงเวลาสอบพอดี) เมื่อผลสอบเข้ามหาวิทยาลัยทั้งโควตาภาค และส่วนกลางประกาศออกมา นักเรียนกลุ่มนี้สามารถสอบเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยในคณะที่ตนเองต้องการได้ทุกคน   ผมดีใจและชื่นใจกับการที่เขาเอาจริงไปกับผม  ทั้งๆที่ไม่น่าเชื่อว่าผมจะติววิชาคณิตศาสตร์ และวิชาภาษาอังกฤษให้เขาได้ด้วย (ที่จริงผมก็เรียนรู้เรื่องไปพร้อมกับพวกเขานั่นแหละ  เพียงแต่อ่านมาก่อนเขาเท่านั้น) และที่ได้ผลดีมาก คือ การให้เพื่อนที่ทำคะแนนได้ดีกว่า  เป็นคนอธิบายทบทวนความรู้  เพราะคนที่อธิบายก็ยิ่งเข้าใจเพิ่มมากขึ้น  และคนที่อธิบายเพื่อน  ปรากฏว่าสอบเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัยได้ทุกคน

เหตุการณ์นี้ ทำให้ผมตระหนักถึงจุดอ่อนของนักเรียนในต่างจังหวัด คือ นักเรียนส่วนหนึ่งมีความรู้พื้นฐานเนื้อหาอยู่ในระดับที่น่าพอใจบ้างแล้ว  แต่ยังขาดการทำข้อสอบที่ทดสอบสมรรถภาพการเรียนรู้ด้านความเข้าใจ การประยุกต์ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ การสรุปประเมินค่าบ่อยครั้ง  จึงทำให้สอบได้คะแนนน้อยเมื่อเทียบกับนักเรียนในกรุงเทพฯ หรือตัวจังหวัดที่เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย

และเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจอีกประการหนึ่งในชีวิตของความเป็นครู  เมื่อผมได้รับแจ้งจากโรงเรียนให้ช่วยออกข้อทดสอบวิชาภาษาไทย   เพื่อให้ทางมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  พิษณุโลก(ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยนเรศวร) นำไปคัดเลือกเป็นข้อทดสอบสำหรับนักเรียนที่จะเข้าศึกษาต่อของมหาวิทยาลัย   เรียกได้ว่าร้อยละ ๗๐ เป็นข้อสอบที่ผมเป็นคนออก  ซึ่งต่อมาทางมหาวิทยาลัยได้แจ้งให้ทราบว่าทางทบวงมหาวิทยาลัย  ชอบใจในแนวข้อสอบที่ผมออกว่าครอบคลุมสมรรถภาพการเรียนรู้ทางพุทธิพิสัยครบถ้วน  

                                                       ………………………………………….

สรุป : การเรียนรู้ที่ได้ 

๑. ผลลัพธ์การเรียนรู้  คือ ศักยภาพและสมรรถภาพชีวิตที่ได้รับการพัฒนาขึ้น

จากการพัฒนาตนเองตามเป้าหมายที่มีเกณฑ์และเวลากำหนด และการแข่งขันเปรียบเทียบกับผู้อื่นทุกระดับ

ยิ่งถ้าทำให้มนุษย์รู้ว่ากว่าจะได้สิ่งที่ต้องการ หรือประสบผลสำเร็จ ต้องทุ่มเท มุมานะอย่างเต็มที่  จึงจะทำให้สิ่งที่ได้นั้นเป็นของมีคุณค่า เกิดความภูมิใจ ปลื้มปีติ  นึกถึงคราใดก็มีความสุขอย่างแท้จริง

.

๒. การจะทำสิ่งใดจนประสบผลสำเร็จ  ไม่ใช่เกิดจากคนคนเดียวทำได้   ต้องอาศัยเพื่อน อาศัยผู้ใหญ่ที่มีเป้าหมายเดียวกันสนับสนุน

และคนเหล่านั้นต้องใจกว้าง และอดทนพอที่จะปล่อยให้คุณได้ทำงานตามที่คุณคิด

จงขอบคุณคนเหล่านั้นเสมอที่ให้กำลังใจ  เห็นคุณเป็นเพื่อนที่ต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ทำงานด้วยกัน

โชคดีแล้ว  ที่ผมและทุกคนต่างมีโอกาสทำงานตามที่ฝันจนเห็นผลลัพธ์ที่น่าพอใจ

หมายเลขบันทึก: 717863เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2024 16:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 เมษายน 2024 16:20 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท