๗. เมื่อผม “ไม่ได้เป็นครู  แต่กลายเป็นวิทยากร และนักจัดกิจกรรม”


            ระหว่างปีการศึกษา ๒๕๒๑ ทางกรมสามัญศึกษามอบหมายให้ศึกษาธิการจังหวัดตาก และผู้อำนวยการโรงเรียนตากพิทยาคม มาตรวจเยี่ยมโรงเรียนที่เปิดใหม่ในจังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร  ทำให้ได้มาเห็นผมทดลองการสอนแบบ Mastery Learning โดยมีครูเพียงคนเดียวก็สอนได้ แถมมีประสิทธิภาพสูงมาก เพราะนักเรียนสามารถตอบคำถามจากคณะผู้แทนกรมสามัญศึกษาได้เป็นที่น่าพอใจ  ทางศึกษาธิการจังหวัดตากจึงได้ขอให้ผมไปช่วยแนะนำโรงเรียนและครูในโรงเรียนมัธยมของจังหวัดตากบ้าง  เพราะจังหวัดตากยุคนั้นมีโรงเรียนที่ขาดแคลนครูเป็นจำนวนมาก  บางโรงเรียนก็มีครูเพียง ๒-๓ คน ซึ่งก็มีบริบทแบบเดียวกับที่โรงเรียนผมอยู่ในขณะนั้น 

            ในปีการศึกษา ๒๕๒๒  ผมจึงเดินทางไปอยู่ที่จังหวัดตาก โดยหวังแค่ให้คำแนะนำการจัดการเรียนการสอนแบบ Mastery Learning เป็นตัวอย่างกับโรงเรียนที่ขาดแคลนครูเท่านั้น  ช่วงแรกทางศึกษาธิการจังหวัดให้ผมไปทดลองการสอนที่โรงเรียนตากพิทยาคมก่อน  เพราะตอนนั้นทางศึกษานิเทศก์ กรมสามัญศึกษา เขต ๗ กำลังทดลองใช้วิธีการสอนแบบฐานการเรียนในโรงเรียนที่เข้าร่วม คมภ.  และให้แต่ละโรงเรียนที่ขาดแคลนครู ส่งครูมาเข้าร่วมสังเกตการทดลอง  ซึ่งก็สามารถทำงานทดลองร่วมกันได้ โดยให้มีทั้งห้องเรียนที่เรียนแบบฐานการเรียน และห้องที่เรียนแบบ Mastery Learning แล้วค่อยขยายวิธีการออกไปตามโรงเรียนต่างๆ ทั่วจังหวัด  ในขณะเดียวกันก็ให้ผมออกไปแนะนำและทดลองสอนตามโรงเรียนต่างๆ ทั้งจังหวัดไปด้วยพร้อมกัน  แต่...ไปๆมาๆ กลายเป็นว่าไม่ใช่ไปฝึกครูให้ทดลองสอนเป็นตัวอย่าง  กลับเป็นผมต้องออกเดินทางไปสอน(บรรยาย)ให้นักเรียนตามโรงเรียนมัธยมทั้งจังหวัดแทน  ทั้งที่ไม่ใช่เจตนาที่ทางศึกษาธิการจังหวัดต้องการ   ซึ่งตอนนั้นไม่รู้ว่าเป็นเพราะสาเหตุใด  แต่ภายหลังมาทบทวน  คงเกิดจากการที่ผมอยู่ที่โรงเรียนตากพิทยาคม ๓ วัน อีก ๒ วันต้องไปยังโรงเรียนต่างๆ โรงเรียนละ ๑ วัน  การไปทดลองสอนจึงไม่บรรลุผลตามที่ตั้งใจไว้  เพราะครูตามโรงเรียนต่างๆ ยังเข้าใจว่าการเรียนที่ดีต้องเกิดจากครูสอนอธิบายเท่านั้น  จะเรียนด้วยตนเองได้อย่างไร  พูดง่ายๆครูยังไม่เชื่อถือวิธีสอนของผม  แต่ผมคิดว่าครูยังไม่เชื่อมั่นตนเองมากกว่า เพราะถ้าไม่สอนตามหนังสือแบบเรียนตามระดับชั้นตนเอง  ก็ไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร เมื่อเด็กมีศักยภาพการเรียนรู้ต่างกันมาก  ในที่สุดผมก็ต้องกลายเป็นผู้ไปทดลองเองกับนักเรียน  ทั้งจัดทำข้อสอบประจำบท และตรวจสอบการทำแบบฝึกหัด และผลการสอบ โดยมีครูของโรงเรียนนั้นเป็นผู้ช่วย  ซึ่งเหนื่อยมากทั้งผมและครู   อีกประการหนึ่ง  วิธีการสอนของผมจำเป็นต้องควบรวมชั่วโมงการเรียนประมาณ ๓ ชั่วโมง  ทำให้โรงเรียนมีปัญหาในการจัดตารางสอนใหม่  ถ้าโรงเรียนใดผมไปวันศุกร์ก็มีปัญหาน้อยหน่อย (ครูส่วนใหญ่ชอบ เพราะจะได้กลับบ้านตั้งแต่เที่ยง เพราะมีผมรับผิดชอบอยู่แล้ว) โรงเรียนบางแห่งก็ไม่สามารถหาพื้นที่ที่นักเรียนมารวมกันทั้งระดับชั้นได้    

            ต่อมามีอุปสรรคในเรื่องยานพาหนะ  เพราะโรงเรียนมัธยมทั้งจังหวัดตาก มีโรงเรียนตากพิทยาคมเท่านั้นที่มีรถตู้ประจำโรงเรียน  ในระยะแรกโรงเรียนตากพิทยาคมได้เมตตาอนุเคราะห์รถตู้ส่งผมไปยังโรงเรียนต่างๆ บางครั้งก็ต้องไปพักแรมค้างคืน ต่อมาโรงเรียนตากพิทยาคมมีความจำเป็นต้องใช้รถตู้มากขึ้น  ไม่สะดวกที่จะไปรับส่งผมทุกโรงเรียนได้อีก  ผมจึงต้องเดินทางไปยังโรงเรียนต่างๆ ด้วยรถโดยสารของท้องถิ่น  ซึ่งก็มีความขัดข้องไม่สะดวกทั้งช่วงเวลาที่รถวิ่ง  และจำนวนผู้โดยสารที่เดินทาง  สุดท้ายโครงการที่จะทดลองการสอนแบบ Mastery Learning ในโรงเรียนที่ขาดแคลนครู จึงค่อยๆ เลิกทำกันไปโดยปริยาย   ส่วนโครงการฐานการเรียนของหน่วยศึกษานิเทศก์ กรมสามัญศึกษา เขต ๗ และ โครงการสอนแบบ Master Learning ของผมที่ทำอยู่ในโรงเรียนตากพิทยาคม  ก็เลือนหายไปตามกาลเวลาของระบบราชการที่ผู้รับผิดชอบเกษียณ หรือย้ายไปอยู่หน่วยงานอื่น  งานเดิมก็ไม่มีใครสานต่อ  เพราะมีเรื่องใหม่มาอบรม หรือมีการสั่งการให้โรงเรียนดำเนินการโครงการใหม่ๆ ตามนโยบายผู้บริหารที่มาใหม่แล้วก็เลิกทำ  คนใหม่มาก็สั่งใหม่ คนใหม่มาอีกก็สั่งใหม่อีก หมุนเวียนเช่นนี้เป็นวงจรอุบาทว์ของระบบราชการที่หาคนแก้ไข หรือยกเลิกไม่ได้ 

            แม้การสอนจะไม่ได้ผลดีนัก แต่ผมก็ได้ประสบการณ์จากการเป็นวิทยากรโดยไม่รู้ตัว  ได้เห็นผู้บริหารและครูหลายโรงเรียนมีความตั้งใจสูงที่จะผลิตเด็กให้มีคุณภาพตามที่รัฐต้องการ แต่ก็ขาดแคลนสื่ออุปกรณ์ที่เอื้อต่อการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ แม้กระทั่งเครื่องโรเนียวเอกสารก็ยังไม่มี   ส่วนที่ประทับใจไม่มีวันลืม คือ ได้ประสบการณ์การขึ้นรถโดยสารประจำท้องถิ่น หลายชั่วโมงที่แสนเหน็ดเหนื่อยวกวนตามภูเขาไปอำเภออุ้มผาง และ อำเภอท่าสองยาง  แต่ก็ทำให้ได้เห็นทิวทัศน์ สิ่งแวดล้อม และเข้าใจวิถีชีวิตชาวบ้านเพิ่มขึ้น จนเป็นความรู้ที่แสนวิเศษในเวลาต่อมา 

             ส่วนการสอนแบบ Mastery Learning ในโรงเรียนตากพิทยาคมนั้น พอไปได้แบบถูๆไถๆ เพราะทางโรงเรียนให้ทำในวิชาสังคมศึกษา ซึ่งได้ผลน้อย นักเรียนไม่มีความรู้ที่แตกต่างกันมากนัก และเนื่องจากตอนนั้นผมยังเข้าใจผิดไปว่าวิชาสังคมศึกษาเป็นวิชาแค่ศึกษาหาความรู้ ไม่ใช่วิชาที่ต้องใช้ทักษะในการเรียนรู้เหมือนวิชาคณิตศาสตร์ และภาษาไทย   จึงเน้นใส่ใจแต่เรื่องราวความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ และข้อมูลทางภูมิศาสตร์เท่านั้น  (ต่อมาปีการศึกษา ๒๕๒๔  เมื่อถูกให้สอนวิชาภูมิศาสตร์  จึงรู้ว่าตัวเองเข้าใจผิดไปมาก  เพราะการเรียนวิชาสังคมศึกษาที่ถูกต้อง  จะช่วยให้นักเรียนรู้จักคิดวิเคราะห์เพื่อเข้าใจถึงอิทธิพลสิ่งแวดล้อมที่มีต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และสังคม)

             แต่ที่ประสบความสำเร็จโดยไม่ได้ตั้งใจและคาดหวัง  ในขณะที่อยู่โรงเรียนตากพิทยาคม ๒ อย่างด้วยกัน คือ ๑. ได้จัดทำโครงการบัวบานขยายกลีบ เป็นโครงการพานักเรียนมาสวดมนต์ไหว้พระ นั่งสมาธิ และแนะนำหลักธรรมทางพุทธศาสนาด้วย ในลักษณะเป็นชมรมพุทธศาสตร์ ใช้เวลาภาคเช้าวันเสาร์ที่ห้องเรียนจริยธรรม ในโรงเรียนตากพิทยาคม ตอนแรกมีนักเรียนมาร่วมไม่ถึง ๑๐ คน  ภายหลังมาเข้าร่วมกันเกือบ ๖๐ คน (ที่จริงอยากไปทำที่วิหารหรือโบสถ์ของวัด  แต่วัดตอนนั้นยังไม่เข้าใจ  พระจึงไม่ให้ความร่วมมือ  อาจจะเป็นเพราะขาดพระที่มั่นใจในความรู้พอที่จะแนะนำ หรืออบรมทำสมาธิเป็นตัวอย่าง ทำนองกลัวเด็กเรียนซักถามจนจนมุมมากกว่าก็ได้)

            เมื่อมีนักเรียนเข้าร่วมมากขึ้น ใจก็อยากขยายกิจกรรมให้เป็นเหมือนโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ แบบวัดมหาธาตุที่กรุงเทพฯ ทำอยู่  โดยให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางแบบโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ของจังหวัดลพบุรี ที่ใช้โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย ลพบุรี  เป็นที่ดำเนินการเรียนการสอน  แต่มีเหตุให้ผมอยู่โรงเรียนนี้ภาคเรียนเดียว จึงทำได้แค่พาสวดมนต์ไหว้พระ นั่งสมาธิ และแนะนำหลักธรรมะที่สามารถนำไปใช้ในการเรียน และชีวิตประจำวันได้เท่านั้น  เมื่อได้ทบทวนดูก็พอเข้าใจว่าที่ประสบความสำเร็จนั้น  เพราะเป็นของใหม่ ยังไม่มีใครพานักเรียนสวดมนต์ไหว้พระ นั่งสมาธิ ที่เป็นกิจจะลักษณะ ช่วงที่แนะนำหลักธรรมะก็ยกตัวอย่างบุคคลที่ประสบความสำเร็จในชีวิตบ้าง  นิทานชาดกบ้างมาประกอบ และสรุปว่าสอดคล้องกับหลักธรรมข้อใดในที่สุด เด็กๆจึงชวนกันมาเข้าร่วมกิจกรรมมากขึ้นตามลำดับ  

            ส่วนโครงการที่ ๒ ตั้งขึ้นมาให้ชื่อว่า “โครงการมหาวิทยาลัยชีวิต”  เพราะอยากให้นักเรียนได้รับรู้การต่อสู้ฝ่าฟันชีวิตของคนรุ่นก่อน เช่น คนรุ่นปู่ย่าตายายว่าต้องผ่านอุปสรรคปัญหา ความยากลำบากเพียงใด กว่าที่บุคคลหนึ่งจะประสบความสำเร็จชีวิตได้  จึงขออนุญาตทางโรงเรียนจัดกิจกรรมนี้ทุกวันพุธ เวลา ๑๒.๐๐–๑๓.๐๐ น. ขณะนักเรียนพักรับประทานอาหารไปด้วย โดยใช้โรงอาหารเป็นที่จัดกิจกรรม โดยเชิญบุคคลที่ผมคิดว่าประสบความสำเร็จในด้านต่างๆ ในจังหวัดตาก  มาพูดบรรยายประสบการณ์ชีวิตตนเองทั้งด้านค้าขาย รับราชการ นักธุรกิจ ธนาคาร เจ้าของกิจการฯ ผมเรียนเชิญตั้งแต่ผู้ว่าฯ, ส.ส., ปลัดจังหวัด, ผู้จัดการธนาคาร, นายกเทศมนตรี, เจ้าของโรงแรม, พ่อเลี้ยงเจ้าของโรงเลื่อย ฯ โครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก  โรงอาหารทุกวันพุธจะแน่นขนัดไปด้วยนักเรียนทุกระดับชั้น  บรรยากาศบางครั้งก็เงียบสนิทเพราะผู้บรรยายเล่าประสบการณ์ที่ท่านเจอมาทุกรูปแบบ จนนักเรียนประทับใจมากเอามาเป็นหัวข้อสนทนาพูดจากัน หลังจากนั้นอีกหลายสัปดาห์  บางครั้งก็สนุกขำขันเพราะผู้บรรยายบางท่านมีมุกตลก และมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยชีวิตของท่านมาเล่าประกอบ 

            พอต้นเดือนกันยายน โรงเรียนได้ขอให้เลิกกิจกรรมนี้  โรงเรียนอ้างว่าการที่บรรยายที่โรงอาหารพร้อมนักเรียนรับประทานอาหารไปด้วย  เหมือนไม่ให้เกียรติผู้มาบรรยาย  (ประเด็นนี้ ตอนที่ผมไปเรียนเชิญผู้บรรยาย ได้อธิบายแล้วว่าจัดที่ไหน เวลาใด ท่านผู้บรรยายทุกคนต่างยินดีตอบรับด้วยความสนใจ คงเพราะเห็นว่าแปลกใหม่ดีก็ได้  แต่ไม่ได้คงเกรงใจผมหรอก และเมื่อผู้บรรยายเล่าจบ ต่างบอกว่าบรรยากาศแบบนี้สนุกกว่า ผ่อนคลายดี ผู้บรรยายชื่นชมที่นักเรียนกระตือรือร้น ตั้งใจฟังมากกว่าไปพูดในที่ประชุมอย่างเป็นทางการเสียอีก  บางคนก็บอกว่าเป็นการทดสอบว่า เรื่องราวที่ตนเองเล่า สามารถเร้าใจเด็ก  ให้เด็กได้สนใจฟังหรือไม่)   และโรงเรียนแจ้งว่า การที่จะไปเรียนเชิญผู้บรรยายแต่ละท่าน  ต้องให้โรงเรียนทำหนังสือเรียนเชิญก่อน (ประเด็นนี้ ตอนที่ผมเสนอโครงการได้อธิบายรายละเอียด แล้วว่าจะเชิญใครบ้าง วันไหน เวลาใด  โดยมีตารางกำหนดการชัดเจนครบถ้วน  เพียงแต่ตอนนั้นโรงเรียนไม่ได้ตระหนักว่าจะเกิดผลตอบรับมากเช่นนั้น  อีกส่วนหนึ่งผมก็ผิดเองที่เข้าใจไปเองว่า เมื่อโรงเรียนอนุมัติดำเนินการโครงการแล้วก็จบส่วนของโรงเรียน  นอกนั้นผมดำเนินการเอง  ตั้งแต่ติดต่อเรียนเชิญผู้บรรยายแต่ละท่านด้วยตนเอง  โดยไม่ได้ร่างหนังสือเรียนเชิญผู้บรรยาย ให้โรงเรียนลงนามก่อน  ตอนนั้นผมเองก็ยังไม่เข้าใจต่อระบบราชการดีพอ แถมไม่มีใครทักท้วงผมด้วย คงเข้าใจว่าผมทำตามระเบียบราชการปกติแล้วละมั๊ง จนพอเชิญมาเกือบ ๑๐ ท่าน โรงเรียนจึงตื่นตัวขอให้ผมเลิกโครงการนี้  แถมได้ข้อหาติดตัวมาอีกหลายปีว่า เป็นคนหัวรุนแรง จิตใจฝักใฝ่ระบอบคอมมิวสต์  ทั้งๆที่ผมคิดแต่เพียงอยากช่วยเด็กได้พัฒนาและมีโอกาสการเรียนรู้มากขึ้นอีกทางหนึ่ง   ถ้าเป็นยุคหลัง ๒๕๕๐ ผมคงได้รับการยกย่องว่าเป็นครูดีเด่น ที่มีนวัตกรรมส่งเสริมการสอนแน่เลย  ยุคนั้นใครหัวก้าวหน้า  อยากเปลี่ยนแปลงอะไร แบบคิดปุ๊บทำปั๊ป  ก็มีแนวโน้มจะได้ข้อหาแบบเดียวกับผมเช่นกัน (ผมเข้าใจว่าการที่ไปเรียนเชิญนักการเมือง และพ่อเลี้ยงเจ้าของกิจการทำไม้ โรงโม่หินนั่นแหละ ที่ทำให้โรงเรียนขอให้ผมยกเลิกโครงการฯ เพราะกลัวผู้มีอำนาจรัฐด้านความมั่นคงจะเข้าใจโรงเรียนผิดๆ) 

           หลังจากสิ้นสุดภาคเรียนที่ ๑  ผมได้ทบทวนตัวเองว่าจะเป็นครูสอนเท่านั้น หรือ เป็นครูด้วยวิทยากรด้วย ในใจผมยังอยากเป็นครูที่มีโอกาสพัฒนาเด็กนักเรียนมากกว่า  ผมจึงตัดสินใจขอย้ายไปโรงเรียนอีกจังหวัดหนึ่งที่อยู่ใกล้เคียง  เพราะได้ยินกิตติศัพท์ว่า โรงเรียนนี้มีผู้บริหารที่ชอบการสอนเด็ก  มุ่งมั่นปลูกฝังอบรมเด็กอย่างเต็มที่  และมีครูรุ่นหนุ่มสาวจบมาใหม่ กำลังไฟแรงมาบรรจุกันมากกว่าที่อื่น 

            ดังนั้น  ภาคเรียนที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๒๒ ผมจึงอำลาจังหวัดตากไปจังหวัดใหม่  เพื่อไปเป็น “ครูสอน” ตามความฝันของผม  แต่ภาระกิจคงยังไม่สิ้นสุด  ทำนองว่าผมคงยังใช้วิบากกรรมไม่หมด  ผมจึงมีโอกาสกลับมาทำงานที่จังหวัดนี้ใหม่อีกครั้งในปีการศึกษา ๒๕๓๕-๒๕๓๙ ทั้งสอนและอบรมนักเรียนทุกโรงเรียนทั้งจังหวัดเหมือนเดิม  เข้าใจว่าต้องได้มาทำงานแก้ตัวที่ยังค้างคาแน่เลย.

                                                                             …..

                       สิ่งที่เรียนรู้จากภาคเรียนนี้  คือ ต่อให้เราตั้งใจทำความดี หรือทุ่มเทเพียงใด

                                ถ้า…ไม่รู้จัก “กาละเทศะบุคคล  “สัปปุริสธรรม ๗ ประการ”  

                        ผลที่ได้รับย่อมไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง  กลับสร้างความท้อแท้ให้กับจิตใจได้นะ

หมายเลขบันทึก: 717828เขียนเมื่อ 6 เมษายน 2024 11:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 เมษายน 2024 00:09 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท