๕. เมื่อผมเริ่มเป็น “ครู”


ผมรับราชการครูเมื่อปี ๒๕๒๐  ในโรงเรียนแห่งหนึ่งของจังหวัดลำปาง  วันที่ผมเข้ารายงานตัวต่อผู้อำนวยการโรงเรียน และผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนฝ่ายวิชาการ   ผมได้รับมอบหมายให้สอนวิชาภาษาไทยในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒  จำนวน ๕ ห้อง และเป็นห้องที่อยู่ลำดับท้ายๆของโรงเรียน

 

เป็นที่น่าเสียดายว่า  โรงเรียนในยุคนั้น ผู้บริหารส่วนมากแค่แนะนำการอยู่ร่วมกับครูคนอื่นๆ  และระเบียบกฎเกณฑ์ของโรงเรียนที่ครูต้องทำในแต่ละวัน   ส่วนวิธีการสอนต้องขวนขวายหาทางที่จะสอนเอาเอง (คงนึกว่าครูเรียนจบปริญญาตรีจากวิทยาลัยครูมาแล้ว  คงรู้ดี)  โดยไม่มีผู้ใดมาแนะนำว่าวิชาที่ผมต้องสอน ควรจะสอนแบบใด  ด้วยวิธีใด  มีจุดมุ่งหมายอย่างไร  และเด็กแต่ละชั้นของโรงเรียนตนเองเป็นเช่นไรบ้าง  ยิ่งเป็นเด็กวัยกำลังพยายามแสดง “ตัวเอง” ด้วยวิธีเฮี้ยวๆ  และนักเรียนแต่ละคนมีพื้นฐานการเรียนอย่างไร  มีที่ยังอ่อนไม่เพียงพอที่จะเรียนให้รู้เรื่องได้บ้างหรือไม่ (กว่าจะรู้จักนักเรียนดีพอ ก็คลำทางเอาจนเกือบสิ้นภาคเรียน)   จะอาศัยความรู้ที่เรียนมาในระดับปริญญาตรี  ก็ไม่ตรงกับบริบทนักเรียนในโรงเรียนที่ผมสอนอยู่  จึงจิตตกหมดกำลังใจไปหลายสัปดาห์

 

แต่…ด้วยความตั้งใจที่อยากเป็น “ครู” ไม่ใช่แค่มามี “อาชีพครู”  ผมจึงพยายามสังเกตถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องเรียนแต่ละชั่วโมง  ช่วงแรกๆ ผมเครียดและล้าเมื่อสิ้นสุดแต่ละวัน  หาครูอาวุโสที่จะปรึกษาทางวิชาการจริงๆ ไม่ได้เลยสักคน  มีแต่คำแนะนำว่า  สอนๆไปเหอะ  เดี๋ยวคุณก็เข้าใจและเก่งเอง 

 

ต่อมาเมื่อสอนไปได้ประมาณ ๓ สัปดาห์  ผมเริ่มมองเห็นปัญหาได้ว่า  นักเรียนส่วนใหญ่ทุกห้องที่ผมสอน  มีพื้นฐานที่อ่อนมากทั้งการอ่าน การเขียน ความเข้าใจต่อสิ่งที่เรียน  ปัญหาแรกที่เจอ คือ ลายมือ ที่เขียนหวัดและไม่ถูกต้อง  ผมจึงแก้ปัญหาโดยการกำหนดให้นักเรียนทุกคนคัดลายมือตัวบรรจงครึ่งบรรทัดหนึ่งหน้า  ส่งผมทุกวันในตอนเช้า ในไม่ช้าลายมือของนักเรียนก็ดีขึ้นมากใน ๒ เดือนผ่านไป  จนอยู่ในเกณฑ์ที่ถือว่าเขียนดีขึ้น

 

ส่วนปัญหาเรื่องการอ่าน   เมื่อถึงชั่วโมงเรียนภาษาไทย  ผมก็ให้นักเรียนฝึกอ่านออกเสียงทุกคนก่อน  (ช่วงนี้ผมยังไม่สอนหรืออธิบายเรื่องราวหรือตามหนังสือ) ผมไม่ให้นักเรียนอ่านหนังสือพร้อมกันเหมือนแต่เดิม  แต่เปลี่ยนให้นักเรียนอ่านคนละหนึ่งหน้า ตามหนังสือแบบเรียนภาษาไทย  ช่วงแรกให้อ่านตามเลขที่  เช่น เลขที่ ๑ อ่านหน้า ๑  เลขที่ ๒ อ่านหน้า ๒ ไปจนครบทุกเลขที่  แม้ว่าบางเลขที่จะอ่านหนังสือไม่คล่อง ตะกุกตะกักบ้าง  ผมก็รออดทนจนกว่านักเรียนคนนั้นจะอ่านจนจบหน้า  ช่วงแรกๆ ค่อนข้างช้า  ต่อมานักเรียนที่อ่านไม่คล่อง ก็จะได้รับการช่วยเหลือด้วยเสียงกระชิบจากเพื่อนๆ  และมีการติวการอ่านเกิดขึ้ันในห้องเรียน (เกิดคุณธรรมน้ำใจโดยไม่รู้ตัว) เพราะรู้ว่าตัวเองจะต้องอ่านหนังสือหน้าไหน ซึ่งผมพอใจมาก แสดงว่านักเรียนห้องนี้ต่างก็รักเพื่อน ห่วงเพื่อน การอ่านก็ดีขึ้นตามลำดับ   

 

หลังจากนั้น ผมให้อ่านตามเลขที่แบบนี้  อีก ๓ ครั้ง  จนครบทุกเลขที่  พอครั้งที่ ๔ ผมไม่ได้ให้อ่านตามเลขที่ แต่ใช้วิธีสุ่มด้วยการจับสลากเลขที่ เช่น  ครั้งที่แล้วคนสุดท้ายอ่านจบที่หน้า ๑๒๐   ครั้งนี้  หน้า ๑๒๑ จับได้เลขที่ ๖ เป็นคนอ่าน  โดยการจับสลากแบบนี้  จึงไม่รู้ว่าหน้าต่อไปใครจะเป็นคนอ่าน  เมื่อเป็นอย่างนี้หลายครั้งเข้า  ทุกคนจึงต้องหันมาช่วยกันติวเพื่อนที่อ่านไม่คล่องให้อ่านทุกหน้าไปด้วย ไม่งั้นทุกคนต้องเสียเวลามากกว่าที่เพื่อนคนนั้นจะอ่านจนครบหน้า  ดังนั้นจึงมีบรรยากาศการติววิชาการอ่านเกิดขึ้นทุกวัน และลามไปถึงการติววิชาอื่นๆให้เพื่อนตามมาด้วย   พอภาคเรียนที่ ๒ ทำให้นักเรียนห้องที่ผมสอนดูกระตือรือร้นในการเรียน  ดวงตาแจ่มใส มีความเชื่อมั่นตนเองเพิ่มขึ้น อาการเฮี้ยวๆ จึงน้อยลงไปเรื่อยๆ ตามลำดับ เพราะไม่มีเวลาว่างพอที่จะไปกวนเพื่อนได้มาก 

 

ส่วนผลพลอยได้ที่ทำให้นักเรียนห้องที่ผมสอนเก่งขึ้นในหลายวิชา  เป็นเพราะว่า ประมาณ ๒ สัปดาห์ นักเรียนอ่านหนังสือแบบเรียนภาษาไทยจบเล่มลง  เพราะชั่วโมงหนึ่งๆ นักเรียนสามารถอ่านได้ประมาณ ๒๐-๒๒ หน้า หลังจากนั้น ผมก็ให้ใช้หนังสือแบบเรียนภาษาไทยภาคเรียนที่ ๒ อ่านต่อไป   เมื่อจบหนังสือภาษาไทยแล้ว  ผมให้เอาหนังสือเรียนวิชาสังคมศึกษามาอ่านต่อ  จบหนังสือเรียนวิชาสังคม ฯ ก็ให้เอาหนังสือแบบเรียนวิชาอื่นๆ มาอ่านต่อ เช่น  วิทยาศาสตร์ สุขศึกษา ศิลปะ  วิชาอะไรก็ได้ที่มีหนังสือแบบเรียน  วิธีนี้ทำให้นักเรียนที่ไม่ได้อ่าน  ก็ได้ยินเสียง และดูตัวอักษรตามไปด้วย  ทำให้ได้ผลทั้ง ๒ ทาง คือการอ่าน และการฟังมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น    หลังขึ้นภาคเรียนที่ ๒ ไปประมาณ ๓ สัปดาห์ นักเรียนก็อ่านจนจบทุกวิชา ผมจึงให้เอาหนังสือแบบเรียนในระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๓ มาอ่านต่อไปเรื่อยๆ 

 

และอีกทางหนึ่ง ผมให้นักเรียนอ่านหนังสืออะไรก็ได้ที่บ้านในช่วงวันเสาร์อาทิตย์    ครั้งละ ๑ เล่ม  อ่านเสร็จให้ย่อส่งผมด้วย   ต่อมาผมให้ตอบคำถามว่าใคร ทำอะไร  ที่ไหน อย่างไร  ได้ข้อคิดอย่างไรจากหนังสือที่อ่าน

 

วิธีการนี้ ในยุคนี้พอจะกล้อมแกล้มเรียกว่าสอนแบบบูรณาการได้เหมือนกัน  แต่สิ่งที่ได้ทำให้นักเรียนของผมอ่านหนังสือเก่งขึ้น  เขียนได้ดีขึ้นทั้งลายมือและการใช้ภาษา  รวมทั้งทำให้สามารถจับใจความสำคัญจากการอ่านหนังสือ  ขอคุยอวดว่า หลังจากนักเรียนห้องที่ผมสอน  ปลายภาคเรียนที่ ๒ สามารถทำคะแนนดีกว่าห้องลำดับต้นๆ เกินกว่า ๑๐ % อย่างเห็นได้ชัด   นักเรียนผมจึงยิ่งมั่นใจตัวเองมากขึ้น  และพอขึ้นเรียน มศ.๓ ได้รับคำชมจากครูทุกคนว่า นักเรียนห้องท้ายๆ ตั้งใจเรียน พื้นฐานดีมาก  และเมื่อจบ ม.ศ.๓ ก็สามารถสอบเรียนต่อ ม.ศ.๔  หรือ ปกศ., ปวช. ในห้องเรียนที่ดีที่สุดของโรงเรียนนั้นๆ เกือบทุกคน   ต่อมาผมจึงรู้ว่าสิ่งที่ผมทำตอนนั้นก็คือ การสอนตามสภาพปัญหาของผู้เรียน  ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถพัฒนาประสิทธิภาพการเรียนให้สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

 

สิ่งนี้ ผมมารับรู้ภายหลังจากจดหมายที่นักเรียนเขียนมาขอบคุณผม  เมื่อผมย้ายโรงเรียนมาสอนอีกจังหวัดหนึ่งแล้ว  ถือว่าเป็นความภาคภูมิใจในชีวิตครูของผมครั้งแรกในชีวิต 

 

ทั้งหมดนี้  ถ้าในโรงเรียนแต่ละแห่งมีผู้บริหารสถานศึกษา ที่มีความรู้ความสามารถในการ “วางระบบ/มาตรฐานการจัดการเรียนการสอน” ให้ชัดเจนแน่นอน ตั้งแต่กำหนดให้มีการทดสอบความรู้ความสามารถพื้นฐานของนักเรียนในแต่ละวิชาไว้ก่อน  มีการสำรวจนิสัยใจคอพฤติกรรมการเรียนรู้ และพฤติกรรมส่วนตัวของนักเรียนทุกคนในแต่ละชั้น  กำกับควบคุมให้ครูผู้สอนวางแผนการสอนที่นำมาจากหลักสูตร  ออกแบบการประเมิน หรือแบบทดสอบที่สามารถกระตุ้นศักยภาพของผู้เรียน รวมทั้งให้มีการตรวจข้อสอบที่ใช้ในการประเมินว่ามีคุณภาพและตรงตามหลักสูตรหรือไม่  สุดท้ายนำผลการประเมินหรือการทดสอบมาวิเคราะห์ หรือวิจัย เพื่อหาทางพัฒนาการเรียนการสอนให้เต็มที่ในภาคเรียนต่อไป  ก็จะช่วยให้ครูผู้สอนทุกคนตระหนักว่า  ควรสอนนักเรียนที่รับผิดชอบแบบนี้อย่างไรให้ดีที่สุด  ที่จะทำให้ก้าวหน้าทั้งสติปัญญา  ความรู้ ทักษะความสามารถ   พัฒนาจิตใจยิ่งขึ้นทุกๆปี   

 

สรุป : โรงเรียนใดมีผู้บริหารที่สามารถวางระบบการจัดเรียนการสอนให้ได้มาตรฐานตามแนวทางการจัดการเรียนรู้ หรือ ทางจิตวิทยา  ถือว่าครูและนักเรียนโรงเรียนนี้โชคดี  ที่ไม่ต้องไปเสียเวลา และเสียความรู้สึกดีๆ รวมทั้งไม่ต้องลองถูกลองผิดไปอีกหลายเดือน หรือหลายปี  กว่าจะรู้ว่าทำอย่างไรจึงจะเรียนและสอนอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพได้

 

และปีนี้  ผมเริ่มมองเห็นลางๆ ได้ว่า “ความเป็นครู” ไม่ได้อยู่ที่สอนเก่ง  อธิบายเข้าใจง่ายเพียงอย่างเดียว  แต่อยู่ที่อยากช่วยเหลือเด็ก  อยากให้เด็กมีการพัฒนาที่ดีขึ้น  เมื่อเด็กดีขึ้นจริงๆ  ผมเองก็ภูมิใจ และมีความสุขทุกครั้งเมื่อนึกถึงเรื่องราวที่ผมช่วยแก้ปัญหาให้เด็ก   

  

             สิ่งที่เรียนรู้ในปีการศึกษานี้คือ  ถึงยังสอนไม่เป็นระบบ ยังไม่มีกระบวนการขั้นตอนในการสอนก็ตาม  

               แต่…ขอแค่ยังสงสารเด็ก  อยากช่วยเหลือเด็ก  กล้าเปลี่ยนแปลงวิธีการเดิมๆ ช่วยแก้ปัญหาให้เด็ก  

                               เท่านี้ก็พอจะเรียกแทนตัวเองว่า “ครู” ได้เต็มปากเต็มคำแล้ว 

หมายเลขบันทึก: 717785เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2024 11:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 เมษายน 2024 15:23 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท