อรกชาดก


ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อได้ซ่องเสพเจริญเมตตาเจโตวิมุติทำให้มาก ทำให้เป็นดังยาน ทำให้เป็นที่ตั้ง ไม่ให้ฟุ้งซ่าน สั่งสมเริ่มไว้ด้วยดีแล้ว พึงหวังอานิสงส์ ๑๑ ประการ

อรกชาดก

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑

๙. อรกชาดก (จากพระไตรปิฎก ลำดับเรื่องที่ ๑๖๙)

ว่าด้วยศาสดาอรกะสอนการแผ่เมตตา

             (พราหมณ์โพธิสัตว์บวชเป็นฤๅษี เมื่อจะสอนหมู่ฤๅษี จึงได้ประกาศอานิสงส์ของเมตตาว่า)

             [๓๗] ผู้ใดอนุเคราะห์ชาวโลกทั้งมวลด้วยเมตตาจิตหาประมาณมิได้ ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ และเบื้องขวาง (เบื้องบน คือแต่พื้นดินจนถึงพรหมโลกชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะ เบื้องต่ำ คือแต่พื้นดินถึงอุสสทนรกใต้พื้นดิน เบื้องขวาง คือในโลกมนุษย์อันหาประมาณมิได้) โดยประการทั้งปวง

             [๓๘] จิตเกื้อกูลหาประมาณมิได้ เป็นจิตบริบูรณ์อันผู้นั้นอบรมดีแล้ว กรรมใดที่เขาบำเพ็ญแล้วพอประมาณ กรรมนั้นจักไม่เหลืออยู่ในจิตของเขานั้น

อรกชาดกที่ ๙ จบ

--------------------

คำอธิบายเพิ่มเติมนำมาจากบางส่วนของอรรถกถา 

อรกชาดก

ว่าด้วย การแผ่เมตตา

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภเมตตสูตร ตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้.
               สมัยหนึ่ง พระศาสดาตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ตรัสว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อได้ซ่องเสพเจริญเมตตาเจโตวิมุติทำให้มาก ทำให้เป็นดังยาน ทำให้เป็นที่ตั้ง ไม่ให้ฟุ้งซ่าน สั่งสมเริ่มไว้ด้วยดีแล้ว พึงหวังอานิสงส์ ๑๑ ประการ คือหลับเป็นสุข ๑ ตื่นเป็นสุข ๑ ไม่ฝันร้าย ๑ เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย ๑ เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย ๑ เทวดาย่อมรักษา ๑ ไฟ ยาพิษ ศัสตราไม่ล่วงเกิน ๑ จิตได้สมาธิเร็ว ๑ สีหน้าผ่องใส ๑ ไม่หลงทำกาลกิริยา ๑ เมื่อยังไม่บรรลุ ย่อมเข้าถึงพรหมโลกชั้นสูง ๑
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อได้ซ่องเสพอบรมเมตตาเจโตวิมุติ ฯลฯ สั่งสมไว้ด้วยดีแล้ว พึงหวังอานิสงส์ ๑๑ ประการเหล่านี้
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมดา ภิกษุพึงอบรมเมตตาภาวนาซึ่งยึดอานิสงส์ ๑๑ ประการเหล่านี้ เจริญเมตตาไปในสัตว์ทุกชนิด โดยเจาะจง และไม่เจาะจง
               พึงมีจิตเกื้อกูลแผ่ไปยังสัตว์ทั้งที่มีจิตเกื้อกูล
               พึงมีจิตเกื้อกูลแผ่ไปยังสัตว์ทั้งที่ไม่มีจิตเกื้อกูล
               พึงมีจิตเกื้อกูลแผ่ไปยังสัตว์ทั้งที่มีอารมณ์เป็นกลาง
               พึงเจริญเมตตาในสรรพสัตว์ โดยเจาะจงและไม่เจาะจงอย่างนี้ พึงเจริญกรุณา มุทิตา อุเบกขา พึงปฏิบัติในพรหมวิหาร ๔ เพราะเมื่อทำอย่างนี้ แม้ไม่ได้มรรคหรือผล ก็ยังมีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า.
               แม้โบราณกบัณฑิตทั้งหลาย เจริญเมตตาตลอด ๗ ปี แล้วสถิตอยู่ในพรหมโลกนั่นเอง ตลอด ๗ สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัป แล้วทรงนำเรื่องในอดีตมาเล่า.
               ในอดีตกาล ในกัปหนึ่ง พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ ครั้นเจริญวัย จึงละกามสุขบวชเป็นฤๅษี เป็นครูชื่ออรกะ ได้พรหมวิหาร ๔ พำนักอยู่ในหิมวันตประเทศ. ครูอรกะมีบริวารมาก เมื่อจะสอนหมู่ฤๅษี จึงประกาศอานิสงส์เมตตาว่า ธรรมดาบรรพชิตควรเจริญเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เพราะเหตุชื่อว่าจิตเมตตานี้ เมื่อถึงความเป็นจิตแน่วแน่แล้ว ย่อมให้สำเร็จทางไปพรหมโลก ดังนี้
               จึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า 
               ผู้ใดแลย่อมอนุเคราะห์สัตว์โลกทั้งปวง ด้วยจิตเมตตาหาประมาณมิได้ ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำและเบื้องขวาง โดยประการทั้งปวง
               จิตเกื้อกูลหาประมาณมิได้ เป็นจิตบริบูรณ์อันผู้นั้นอบรมดีแล้ว กรรมใดที่เขาทำแล้วพอประมาณ กรรมนั้นจักไม่เหลืออยู่ในจิตนั้น.
               กรรมเล็กน้อยนั้น คือกรรมเป็นรูปาวจรซึ่งนับว่าจิตอันเกื้อกูลไม่มีประมาณนั้น ไม่เหลืออยู่ในจิตนั้น. อธิบายว่า เหมือนน้ำน้อยที่ถูกห้วงน้ำใหญ่ไหลบ่าเข้ามา จะถูกห้วงน้ำนั้นพัดพาไปมิได้ ย่อมไม่เหลืออยู่ คือตั้งอยู่มิได้ภายในห้วงน้ำ ที่แท้ห้วงน้ำใหญ่หุ้มห่อน้ำนั้นไว้ฉันใด กรรมอันเล็กน้อยก็ฉันนั้น ไม่มีโอกาสแห่งผลที่กรรมเป็นของใหญ่จะกำหนดยึดไว้ได้ ย่อมไม่เหลืออยู่ คือไม่ดำรงอยู่ ไม่สามารถให้ผลของตนภายในกรรมอันเป็นของใหญ่นั้นได้ ที่แท้กรรมอันเป็นของใหญ่เท่านั้น ย่อมหุ้มห่อกรรมนั้น คือให้ผล.
               พระโพธิสัตว์ ครั้นกล่าวถึงอานิสงส์เมตตาภาวนาแก่อันเตวาสิกทั้งหลาย อย่างนี้แล้ว เป็นผู้ไม่เสื่อมจากฌาน จึงบังเกิดในพรหมโลก มิได้กลับมายังโลกนี้อีกตลอด ๗ สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัป.
               พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประมวลชาดก
               หมู่ฤๅษีในครั้งนั้น ได้เป็นพุทธบริษัท ในครั้งนี้
               ส่วนครูอรกะ คือ เราตถาคต นี้แล.

               -----------------------------------------------------         

 

หมายเลขบันทึก: 717751เขียนเมื่อ 27 มีนาคม 2024 04:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มีนาคม 2024 04:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท