เรียนรู้ธรรมะจากประสบการณ์


 

ธรรมะสูงสุดไม่ใช่คำสอน   แต่เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ด้วยตนเอง จากการปฏิบัติ    นี่คือข้อสรุปของผม (ไม่ทราบว่าถูกหรือไม่) จากการอ่านหนังสือชุดธรรมะใกล้มือ เรื่อง ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน  ที่ท่านพุทธทาสบรรยายเมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๓๑   

เรียนธรรมะหมายความว่า เรียนรู้ความเป็นจริงของตัวเราเอง และของสรรพสิ่ง   โดยการเรียนรู้ที่ยากยิ่งที่สุดคือใจของตัวเราเอง   

การปฏิบัติ อานาปานสติภาวนา ๑๖ ขั้น ๔ หมวด  คือ หมวดที่ ๑ ฐานกาย   หมวดที่ ๒ ฐานเวทนา   หมวดที่ ๓ ฐานจิต   หมวดที่ ๔ ฐานธรรม    ท่านพุทธทาสเรียนจากการปฏิบัติ เอามาอธิบายทฤษฎีให้เข้าใจง่ายๆ   ซึ่งก็ยังยากอยู่ดี   ที่ว่ายากก็เพราะเรามักยึดติดทฤษฎีหรือถ้อยคำที่มักอ้างกันว่าเป็นคำสอนดั้งเดิมของพระพุทธเจ้า   ใครเอามาตีความผิดไปจากพุทธวัจนะถือว่านอกคอกหรือเดียรถีย์   ผมไม่ได้อยู่ในคอกจึงไม่มีทางได้เป็นเดียรถีย์

แต่ท่านพุทธทาสถูกคนกลุ่มหนึ่งกล่าวหาว่าเป็นเดียรถีย์    ผมได้มีโอกาสรับรู้โดยตรงเมื่อราวๆ ปี ๒๕๕๕  ตอนนั้นผมเป็นกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ ที่เป็นเอกชนรายใหญ่ที่บริจาคเงินสร้างหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ    ข่าวแพร่ออกไป ก็มีกลุ่มคนคณะหนึ่งส่งหนังสือมาทักท้วงกรรมการธนาคารว่า ไม่ควรสนับสนุนการให้เกียรติท่านพุทธทาสที่เป็นเดียรถีย์     

ผมตีความว่า อานาปานสติภาวนา เป็นการภาวนาโดยใช้ลมหายใจเข้าออกเป็นตัวยึดโยงสติระลึกรู้    เพื่อระลึกรู้ ๔ หมวดคือ มีสติระลึกรู้กาย   มีสติระลึกรู้อารมณ์ความรู้สึก   มีสติระลึกรู้จิต   และมีสติระลึกรู้ธรรม    ทั้งหมดนั้น หมายถึงรู้เท่าทันธรรมชาติของมัน ไม่ตกเป็นเหยื่อ   จนในที่สุดนำสู่การปล่อยวาง และหลุดพ้นจากอำนาจความครอบงำของโลภ โกรธ หลง ที่มาจากภายนอกตัวเรา และที่มาจากภายในตัวเราเอง   

ผมตีความว่า การฝึกอานาปานสติภาวนา เป็นการฝึกจิตให้เข้มแข็งคล่องแคล่ว    เอาไว้ปกป้องตนเองจากการจู่โจม ในลักษณะ “มารผจญ”  ในลักษณะมี procedural competency   ไม่ใช่เอาไว้อธิบายด้วยคำยากๆ เข้าใจยาก   ที่เรียกว่า declarative competency   คือเป็นการฝึกเพื่อเตรียมความเข้มแข็งภายในตนไว้รองรับอนาคตที่ไม่รู้ว่าจะมีอะไรมาท้าทาย    ในลักษณะของการฝึก future skills  หรือ transferable skills    เป็นการฝึกที่คนทุกคนควรได้ฝึก   ไม่ใช่เฉพาะสำหรับพระหรือคนเคร่งศาสนา   

รู้กาย  รู้อารมณ์ รู้จิต  รู้ปล่อยวาง คือสมรรถนะในการมีชีวิตที่ดี   สามารถอยู่ในปากงูได้อย่างดี เหมือนลิ้นงู ที่ไม่ถูกพิษจากเขี้ยวงู   

คือมนุษย์เราอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยพิษร้ายต่อความสุข   ต้องฝึกจิตให้เข้มแข็งสามารถอยู่กับพิษเหล่านั้นโดยรู้เท่าทัน ไม่ถูกกระทำโดยพิษร้าย คือโลภ โกรธ หลง   วิธีฝึกจิตอย่างง่ายวิธีหนึ่งคือฝึกจากลมหายใจ    ที่ทำเมื่อไรก็ได้   โดยต้องพยายามไปให้ถึงขั้นสุดท้ายธัมมานุปัสนาสติปัฏฐาน   คือ หมดความยึดมั่นถือมั่น  หมดตัวตน 

ทั้งหมดนั้น เรียนรู้ได้จากการปฏิบัติ   ร่วมกับการใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflection)    ทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ    จนในที่สุดสามารถบังคับใจตนเองได้   ให้ไม่ไขว้เขวแกว่งไกวไปตามเหตุการณ์      

วิจารณ์ พานิช

๑๗ ก.พ. ๖๗

 

หมายเลขบันทึก: 717638เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2024 16:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มีนาคม 2024 16:39 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท