เสียงจากนิสิต : เกือบไปแล้ว เกือบยุบชมรมไปแล้ว (วชิรวิทย์  บุตรโน)


ผมได้เรียนรู้อะไรๆ หลายอย่างๆ ได้รู้ว่าทุกปัญหามีทางออกเสมอ เพียงแต่ต้องกล้าเผชิญกับความจริง ได้เรียนรู้ว่าการเปิดใจรับฟังข้อเสนอแนะจากคนอื่น หรือแม้แต่อาจารย์ที่ปรึกษาและเจ้าหน้าที่เป็นเรื่องที่ดี ได้เรียนรู้ว่าการเป็นผู้นำต้องรับผิดชอบต่อหน้าที่ รับผิดชอบต่อความฝันองสมาชิก มิใช่ละเลย หรือมัวแต่ไปสนใจเรื่องอื่นๆ จนลืมความฝันตัวเอง หรือลืมภารกิจขององค์กรตัวเอง

วันเวลาเดินเร็วมากครับ ผมและทีมงานเพิ่งจัดโครงการ “Talk about love” สดๆ ร้อนๆ ไปเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2567 ณ ตึกวิทยาลัยการเมืองการปกครอง ที่ว่าเวลาเดินเร็วมาก เพราะอีกไม่กี่วันก็สิ้นสุดปีการศึกษาและสิ้นสุดวาระการทำงานในชมรมรักษ์ปรัชญา

 

 

ย้อนกลับไปช่วงกลางปี 2566 ผมพร้อมด้วยพี่ๆ เพื่อนๆ จากวิทยาลัยการเมืองการปกครองและจากคณะนิติศาสตร์ในราว 10 คน ได้ร่วมกันตั้งชมรม “รักษ์ปรัชญา” ขึ้นมา เพื่อเป็นพื้นที่ให้นิสิตได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะแนวคิดอันเป็นปรัชญาการใช้ชีวิตของแต่ละคน รวมถึงการแลกเปลี่ยนทัศนคติเรื่องประวัติศาสตร์ การเมืองการปกครอง ศาสนา รวมไปถึงสังคมและวัฒนธรรม

 

 

 

แต่เอาเข้าจริงๆ การขับเคลื่อนชมรมมันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ไม่ใช่การไม่เข้าใจระบบการทำกิจกรรมของมหาวิทยาลัยเสียทั้งหมดหรอกนะครับ แต่ยอมรับว่าเป็นข้อจำกัดภายในองค์กรตัวเอง ทั้งเรื่องผู้นำที่แท้จริง ทั้งจำนวนสมาชิก ทั้งคนที่ใส่ใจร่วมหัวจนท้าย ทั้งประสบการณ์ของการออกแบบกิจกรรม หรือแม้แต่การมัวแต่วิ่งช่วยงานคนอื่น จนละทิ้งกิจกรรมของตัวเอง  มารู้สึกอีกครั้งก็แทบสิ้นหวัง รู้สึกผิดถึงขั้นคิดจะ “ยุบชมรม”

 

จนในที่สุดผมทนแบกรับความรู้สึกที่ว่าไม่ได้  -

ผมรวบรวมความกล้าแล้วเข้าไปพบเจ้าหน้าที่กองกิจการนิสิต (พี่พนัส ปรีวาสนา) ไปพบเพื่อหารือแนวทางที่จะยุบชมรม ไปทั้งที่รู้ว่าผมเคยเข้าไปปรึกษางานมาแล้วสองรอบ  พอไปปรึกษาแล้วผมก็เงียบหายไปเฉยๆ  ซึ่งผ่านมาผมรู้ว่าพี่แกติดตามผมและชมรมมาเป็นระยะๆ  บ่อยครั้งที่พี่แกฝากประเด็นมากับพี่ๆ เพื่อนๆ  ของชมรมต่างๆ  แต่ผมก็ไม่ได้ขยับอะไรสักอย่าง  ถึงชั้นว่าชมรมของผมเป็นชมรมสุดท้ายในระบบที่พี่แกดูแลที่ยังไม่ขออนุมัติจัดกิจกรรมใดๆ

 

 

การไปพบครั้งนั้นเป็นการไปพบครั้งที่สาม  และผมก็แจ้งพี่พนัสแบบไม่อายว่า “อยากยุบชมรม  พอยุบแล้วมีแนวทางที่จะัจดตั้งขึ้นใหม่ในปีหน้า หรือไม่” 

แทนที่จะได้รับคำตอบในสิ่งที่ผมแจ้งไป  กลับเป็นว่า ผมต้องมานั่งตอบคำถามพี่แกหลายเรื่อง เช่น  

  • ทำไมถึงต้องยุบ 
  • ติดขัดอะไร 
  • ไม่เสียดายความฝันของตัวเองและผองเพื่อนเลยเหรอ 

 

 

สารภาพตามตรงว่า ผมตอบความจริงกับพี่พนัสทุกเรื่อง  ส่วนใหญ่สะท้อนเรื่องปัญหาของตัวเองและทีมงานเป็นหลัก แต่ก็กัดฟันยืนยันกับแกว่า “ยังอยากทำชมรมต่อไป”  เพราะมันเป็นความฝันของผม  ผมรักปรัชญาจริงๆ และยังอยากที่จะค้นหาคนที่รักปรัชญาเหมือนกับผม – ผมอยากสร้างพื้นที่ให้นิสิตได้มานั่งพูดคุยเรื่องราวชีวิตอย่างสร้างสรรค์ร่วมกัน 

 

 

 

ถัดจากนั้นพี่พนัส ได้เริ่มอธิบายกฎระเบียบต่างๆ ให้ผมฟัง  มีทั้งอธิบาย มีทั้งชวนคิด ชวนตอบคำถามคลุกเคล้ากันไป หลายประเด็นพี่แกลากเรื่องเข้าวิชาชีพที่ผมเรียนก็บ่อย  มันเหมือน “ผมโดนตบ โดนหยิก โดนหยอก” แบบเนียนๆ  แต่ทั้งปวงนั้นผมสัมผัสได้ว่าพี่แกพยายามกระตุ้นให้ผมกล้าคิด กล้าฟัง และกล้าสนทนากับแก 

และในที่สุดพี่แกก็เสนอทางออกด้วยการบอกกับผมว่า “ถ้ายังอยากทำงานต่อก็ไม่ต้องยุบชมรม”  แต่ให้ผมกลับไปทบทวนตัวเองจริงจังว่า “จะไปต่อจริงไหม - ถ้าไปต่ออยากทำอะไรบ้าง”  พร้อมทั้งเสนอรูปแบบกิจกรรมต่างๆ ให้ผมเก็บเอาไปพิจารณาด้วย

 

 

ผมสัมผัสได้ว่าการพูดคุยกันในวันนั้นคือ “โอกาส” ที่ผมได้รับมา -  เป็นโอกาสที่ผมยังจะได้ทำตามความฝันของตนเองและเพื่อนๆ ผมรู้ดีว่าผมไม่มีสถานะที่เป็นแกนนำตามข้อบังคับที่พี่พนัสอธิบาย แต่พี่แกก็บอกชัดเจนว่าให้มองข้ามกฎกติกานั้น และให้กล้าที่จะตัดสินใจ เป็นการกล้าตัดสินใจร่วมกับเพื่อนๆ และพี่ๆ ที่เกี่ยวข้อง  

ซึ่งผมก็ตัดสินใจว่าจะทำกิจกรรมในนามชมรมรักษ์ปรัชญาต่อไป โดยจะเก็บเรื่องความคิดที่อยากจะยุบชมรมไว้เป็นความลับ  จากนั้นก็่ไปหารือกับอาจารย์ที่ปรึกษาและผองเพื่อนถึงแนวทางการจัดทำโครงการฯ  พร้อมๆ กับการ็เริ่มขีดเขียนโครงการขึ้นมาแล้วส่งให้พี่พนัสช่วยขัดเกลา  จนคลอดออกมาเป็นโครงการ “Talk about love” ได้ในที่สุด

 

 

จะว่าไปแล้ว ก่อนการคิดเขียนโครงการที่ว่านั้น  ผมพยายามทำตามที่พี่พนัสแนะนำหลายประเด็น  เช่น ทบทวนความต้องการที่แท้จริงของตัวเอง  ทบทวนเพื่อนร่วมอุดมการณ์  และการกล้าที่จะยกเครื่องทีมทำงานใหม่  ซึ่งผมก็ได้เริ่มจากจุดนั้นจริงๆ  มันเป็นการทำงานภายใต้เสียงในหัวใจของผมและเพื่อนๆ ก็ว่าได้ เป็นการทำงานที่ไม่ได้ยึดติดกับกฎระเบียบที่ว่าด้วยกรรมการและสมาชิกที่ส่งชื่อไว้กับมหาวิทยาลัย และนั่นก็ทำให้ผมเข้าใจคำว่า “อิงระบบ” มากยิ่งขึ้น

 

 

เป็นธรรมดานะครับ ทำอะไรย่อมมีปัญหาเสมอ -

แรกๆ ผมเสนอโครงการต่อสภานิสิตก็ชะงักอยู่นานพอสมควร  จนพี่พนัสเริ่มตามงานอีกรอบ  และกำชับให้ผมไปเอาโครงการที่ว่านั้นมาจากสภานิสิต  เพื่อเสนอต่อมหาวิทยาลัย  โดยพี่แกอธิบายให้รู้ว่า  กรณีเช่นนี้ “ตัดระบบขึ้นตรงกับกลุ่มงานกิจกรรมนิสิตได้เลย” 

ประเด็นนี้ ช่วยให้ผมเข้าใจกฎกติกาในอีกมุมเพิ่มขึ้นอีก  ช่วยให้ผมเริ่มมั่นใจว่าจะได้จัดกิจกรรมแล้วจริงๆ  ช่วยให้ผมมั่นใจว่าชมรมจะไม่ถูกยุบอย่างแน่นอน

 

 

ผมยอมรับว่า การทำโครงการนั้นมีความยากลำบากหลายเรื่อง  เพราะผมและทีมงานไม่มีประสบการณ์  แต่พวกเราก็ร่วมมือกันทุกอย่าง  หรือเรียกกันว่าทำงานด้วยความสามัคคี ทำงานอย่างเป็นเอกภาพ และกล้าที่จะเข้ามาติดต่องานในระบบด้วยตนเอง  มิใช่หลบๆ หลีกๆ เอาแต่ขลาดกลัวไม่กล้าเผชิญความจริง  ซึ่งถัดมาผมก็เริ่มเชิญเพื่อนอีกคนมาติดต่องานร่วมกัน เป็นการชวนมาตามคำแนะนำของพี่พนัส  เพราะพี่แกย้ำว่า  การทำงานต้องเปิดโอกาสให้คนอื่นๆ เข้ามาร่วมเรียนรู้ด้วย 

 

 

สำหรับโครงการ “Talk about love” ผมและเพื่อนๆ ได้ทำตามความฝันของตัวเอง  เราชวนนิสิตมาพบปะพูดคุยกันในเรื่อง “ความรัก” โดยไม่จำกัดประเด็น ใครอยากพูดถึงความรักในมิติใดก็พูดได้อย่างอิสระ ใช้กระบวนการหลักๆ มาหนุนเสริม เช่น สุนทรียสนทนา  เรื่องเล่าเร้าพลัง เรื่องเล่าจากภาพวาด ซึ่งเป็นกระบวนการที่ผมและเพื่อนๆ เตรียมการไว้แล้ว  

กระบวนการที่ว่านั้น  ส่วนหนึ่งก็ตรงกับแนวคิดที่พี่พนัสแนะนำ เพียงแต่พวกผมไม่รู้ว่ากระบวนการที่ออกแบบนั้นมีชื่อเรียกทางวิชาการว่าอย่างไรเท่านั้นเอง   ที่ตรงกันหลักๆ เลยก็คือ  การจัดกิจกรรมในลักษณะเชิงปฏิบัติการ โดยใช้ศิลปะเข้ามากล่อมเกลา เชื่อมั่นในพลังของเรื่องเล่าและประสบการณ์ของแต่ละคน  รวมถึงการประเมินผลก่อนการเรียนรู้ ประเมินผลระหว่างจัดกิจกรรม  และประเมินผลหลังการเรียนรู้  

 

 

ครับ -  ถึงแม้จะเริ่มต้นด้วยปัญหาและกิจกรรมก็ผ่านไปได้ด้วยดี  ผ่านไปด้วยความมุ่งมั่นของผมและทีมงาน ที่สำคัญคือสำเร็จได้ด้วยมวลนิสิตในเวทีที่เปิดใจที่จะเรียนรู้ร่วมกัน

 

 

 

โดยส่วนตัวของผม – ผมยืนยันว่า ผมได้เรียนรู้อะไรๆ หลายอย่างๆ  ได้รู้ว่าทุกปัญหามีทางออกเสมอ  เพียงแต่ต้องกล้าเผชิญกับความจริง ได้เรียนรู้ว่าการเปิดใจรับฟังข้อเสนอแนะจากคนอื่น หรือแม้แต่อาจารย์ที่ปรึกษาและเจ้าหน้าที่เป็นเรื่องที่ดี ได้เรียนรู้ว่าการเป็นผู้นำต้องรับผิดชอบต่อหน้าที่ รับผิดชอบต่อความฝันองสมาชิก มิใช่ละเลย หรือมัวแต่ไปสนใจเรื่องอื่นๆ จนลืมความฝันตัวเอง  หรือลืมภารกิจขององค์กรตัวเอง

 

 

ส่วนเรื่องทักษะชีวิต อันเป็น Soft skills นั้น ตลอดเส้นทางตั้งแต่ตั้งชมรมมาจนสิ้นสุดการดำเนินงานโครงการฯ   ผมได้เรียนรู้ทักษะหลายทักษะ ไม่ว่าจะเป็น การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า การยืดหยุ่นตามสถานการณ์จริง การสื่อสารพลังบวก การกล้าคิดเชิงสร้างสรรค์และแสดงความคิดอย่างสร้างสรรค์ การฟัง การจับประเด็นโดยไม่ด่วนตัดสินใจว่าคนอื่นผิดหรือถูก  ได้เรียนรู้วิธีการเข้าหาผู้อื่น ได้เรียนรู้หลักการและวิธีการของการเป็นวิทยากรไปในตัว

 

 

ท้ายที่สุดนี้ผมอยากจะบอกว่า ผมมีความสุขมาก -   ผมโล่งใจมากที่ได้ทำตามความฝันของตนเอง ได้ทำตามความฝันของเพื่อนๆ ผู้ร่วมก่อตั้งชมรม ผมดีใจที่ได้ทำให้นิสิตได้รู้ว่าในมหาวิทยาลัยยังมีกลุ่มคนที่พร้อมจะรับรู้-รับฟังเรื่องราวของทุกคนร่วมกัน 

 

และสำคัญมากๆ ก็คือ ผมดีใจที่ “ชมรมจะไม่ถูกยุบ” แล้วนั่นเอง 

 

 หมายเหตุ  

1.เรื่องเล่านี้เกิดจากการถอดบทเรียนแกนนำผู้ขับเคลื่อนโครงการ  ผ่านการสัมภาษณ์ เสวนา และข้อเขียนที่นิสิตเขียนบอกเล่ากลับมายังผม

2.คนต้นเรื่อง  คือ  วชิรวิทย์  บุตรโน ชั้นปีที่ 1 สาขารัฐประศาสนศาสตร์ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง

3.ภาพ จากชมรมรักษ์ปรัชญามหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 

หมายเลขบันทึก: 717615เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2024 09:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มีนาคม 2024 09:44 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

กิจกรรมแบบนี้จะทำให้ประทับใจ จนนักศึกษาเติบโตต่อไปค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท