การเรียนการสอนแบบยืดหยุ่นในสถาบันอุดมศึกษา


 

บทความเรื่อง Flexible learning and teaching: an opportunity for growth  ในเว็บไซต์ University World News ฉบับวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗  เล่าการดำเนินการอย่างเป็นระบบของกลุ่มมหาวิทยาลัยกลุ่มหนึ่งในยุโรป (ภายใต้สมาคม EUA – European University Association)    เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาระบบการเรียนการสอนในลักษณะ Learning & Teaching Thematic Peer Groups    สำหรับปี 2023   หนึ่งใน Thematic Peer Group (TPG) คือกลุ่มพัฒนาการเรียนการสอนแบบยืดหยุ่น    ใน ๒ ระบบ  คือระบบการศึกษาแบบเป็นทางการ ที่นักศึกษาเรียนเต็มเวลา    กับระบบการศึกษาที่ไม่เป็นทางการ เช่น การเรียนแบบไม่เอาปริญญา  เพื่อรับ ไมโครเครดิต  หรือใบประกาศนียบัตร   

อ่านแล้วผมตีความว่า ในกรณีของบทความ การเรียนการสอนแบบยืดหยุ่นมีประโยชน์ (๑) ช่วยให้ความร่วมมือของสถาบันอุดมศึกษาข้ามประเทศในภูมิภาคเดียวกัน (ในกรณีนี้คือ อียู) ในเรื่องการศึกษาของนักศึกษา ทำได้สะดวกหรือง่าย  (๒) เอื้อต่อนักศึกษา ให้เลือกรูปแบบการเรียนได้เหมาะแก่บริบทของตนเอง 

ทำให้คิดว่า กลุ่มประเทศอาเซียนน่าจะมีโปรแกรมทำนองเดียวกัน   หรือมหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งในประเทศไทยน่าจะรวมตัวกันดำเนินการ TPG ในลักษณะคล้ายๆ กัน   ซึ่งก็คือ COP – Community of Practice ข้ามประเทศนั่นเอง   โดยแต่ละปีกำหนดหัวข้อที่จำเพาะ   อย่างกรณี EUA ในปี 2023 มี ๓ TPG  โดย Flexible Learning & Teaching เป็นหนึ่งในสาม TPG   แล้วเขานำผลของการทดลองและเรียนรู้ไปเสนอในการประชุม 2024 European Learning and Teaching Forum ที่ Ruhr University Bochum เยอรมนี  วันที่ ๘-๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ซึ่งผ่านไปแล้ว    ผมจะค้นรายละเอียดมาเล่าในโอกาสหน้า 

กลับมาที่ข้อเสนอเรื่องการเรียนและการสอนอย่างยืดหยุ่น    ที่มีความซับซ้อนหลากหลายมาก และมีพลวัตสูง   เขาเตือนว่าอย่าหลงคิดว่าเป็นเรื่องเดียวกับ การเรียนออนไลน์   ซึ่งเป็นส่วนย่อยนิดเดียวของการเรียนและการสอนอย่างยืดหยุ่น     

เขาถามความเห็นของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการ และนักศึกษาบอกว่าต้องการความยืดหยุ่นด้าน (๑) การเลือกวิชาเรียน  (๒) ความยืดหยุ่นในการจัดรูปแบบของ hybrid learning  (๓) มีการเรียนทางไกล (๔) มีรูปแบบการเรียนหลากหลาย  (๕) มีเทคโนโลยีที่หลากหลาย  

ถามความเห็นของอาจารย์  ได้รับคำตอบแบบสงวนท่าที   และไม่เห็นด้วยกับการให้ความสำคัญต่อการจัดการเรียนการสอนหลาย mode, method, และ technology   แต่แสดงความกังวลเรื่องงานล้นมือ และการรับมือนักศึกษาที่มีความแตกต่างหลากหลาย   

  ข้อเสนอแนะของ Learning & Teaching Thematic Peer Groups ได้แก่ 

ข้อเสนอแนะที่ ๑ การพัฒนายุทธศาสตร์ และสมรรถนะระดับสถาบัน     สร้างวัฒนธรรมความยืดหยุ่นและปรับตัว    ให้เวลาและทรัพยากรเพื่อร่วมกันตีความคำว่า “การเรียนรู้อย่างยืดหยุ่น”   

ร่วมกับหุ้นส่วนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (engaging stakeholders)    อันได้แก่นักศึกษา  อาจารย์ และหุ้นส่วนภายนอก ในการกำหนดลำดับความสำคัญ และกำหนดยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม

 สื่อสารกับหน่วยนโยบาย เพื่อการกำหนดกฎเกณฑ์กติกา และงบประมาณสนับสนุนการเรียนและการสอนแบบยืดหยุ่น   

ข้อเสนอแนะที่ ๒ ความเป็นผู้กระทำการ (agency) ของนักศึกษา    สถาบันเอื้ออำนาจให้นักศึกษาได้ตัดสินใจ (อย่างมีข้อมูลหลักฐานประกอบ) ในขั้นตอนของเส้นทางการเดินทางของการเรียนรู้ (learning journey) ของตน    โดยจัดให้ในหลักสูตรมีโมดูลเรื่อง การรับผิดชอบตนเอง (autonomy)  การจัดการเวลา (time management)  และ การกำกับตนเอง (self-regulation)  

สถาบันควรส่งเสริมให้มี “ชุมชนหรือกลุ่มเรียนรู้” (learning communities) ของนักศึกษา  และเครือข่ายนักศึกษาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน (peer support networks)   คือนำเอา KM – Knowledge Management - การจัดการความรู้ มาช่วยให้การเรียนรู้ของนักศึกษา มีความยืดหยุ่นมากขึ้น       

ข้อเสนอแนะที่ ๓  การออกแบบหลักสูตร    เชื้อเชิญนักศึกษาเข้าร่วมออกแบบหลักสูตร  เพื่อให้ความเห็นเรื่องความยืดหยุ่นจากมุมของนักศึกษา    และหลักสูตรยึดแนวนักศึกษาเป็นศูนย์กลาง (student-centered approach)

มีระบบเรียนเป็นโมดูล และระบบโอนย้ายหน่วยกิต  เพื่อส่งเสริม personalized learning ของนักศึกษาแต่ละคน    และสถาบันอุดมศึกษาร่วมกันกำหนดสมรรถนะของนักศึกษาเมื่อแรกเข้า และระบบการรับรองหน่วยกิต (credit recognition) ซึ่งกันและกัน    

ข้อเสนอแนะที่ ๔  ทรัพยากร     เน้นทรัพยากรสำคัญ ๒ อย่างคือ  (๑) เทคโนโลยีดิจิทัล  รวมทั้ง ปัญญาประดิษฐ์ ที่มีการส่งเสริมให้ใช้อย่างมีจริยธรรม (๒) ระบบตรวจสอบคุณภาพ ของการจัดการเรียนรู้อย่งยืดหยุ่น   

ข้อเสนอแนะที่ ๕ การพัฒนาอาจารย์    บูรณาการเรื่องการเรียนการสอนอย่างยืดหยุ่นอยู่ในระบบพัฒนาวิชาชีพอาจารย์    มีระบบแรงจูงใจ   ระบบพี่เลี้ยง (mentorship)    และระบบประเมิน 

กล่าวโดยสรุปสั้นที่สุด   บูรณาการเรื่องการเรียนการสอนอย่างยืดหยุ่นเข้าไว้ในระบบงาน    โดยมีกลไกเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ขับเคลื่อนโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย       

วิจารณ์ พานิช

๒๙ ก.พ. ๖๗

 

หมายเลขบันทึก: 717560เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2024 16:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มีนาคม 2024 16:27 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท